รถบัสไฟฟ้าพันธุ์รักษ์โลก - Forbes Thailand

รถบัสไฟฟ้าพันธุ์รักษ์โลก

Proterra เล็งเป้าพารถบัสไฟฟ้าเดินหน้าสู่ตลาดที่อาจมีมูลค่ามหาศาล แล่นก้าวข้ามอุปสรรคด้านกำลังการผลิต

กลิ่นคละคลุ้งของน้ำมันเชื้อเพลิงที่สกปรกและผ่านการกลั่นแบบไม่ได้มาตรฐานยังคงวนเวียนอยู่ในความทรงจำของ Ryan Popple ซึ่งทำให้เขาย้อนนึกถึงอดีตสมัยปฏิบัติภารกิจคุ้มครองยานพาหนะขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและยุทธปัจจัยให้กับกองทัพสหรัฐฯ ในช่วงสงครามอิรัก การได้สัมผัสโลกตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิดทำให้เขาตระหนักถึงปัญหาอันไม่สิ้นสุดของการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงจากธรรมชาติ ความคิดนี้ฝังลึกอยู่ในใจของเขาเช่นเดียวกับกลิ่นฉุนของน้ำมันเชื้อเพลิงอันสกปรกแม้จะผ่านเหตุการณ์ในอิรักมานานหลายปี อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่จุดประกายให้เขาหันมาสนใจพลังงานทางเลือกที่จะสามารถเข้ามาทดแทนพลังงานน้ำมันและเบนเข็มเปลี่ยนเส้นทางอาชีพ หลังออกจากกองทัพเขาเริ่มต้นด้วยการคว้าปริญญา M.B.A. จาก Harvard และเข้าทำงานกับ Chevron อยู่ระยะหนึ่งก่อนย้ายไปร่วมงานกับบริษัทเชื้อเพลิงชีวภาพหน้าใหม่และรับตำแหน่งในทีมการเงินบริษัท Tesla Motors ของ Elon Musk ในเวลาต่อมา
(จากซ้าย) Josh Ensign ประธานฝ่ายปฏิบัติการของ Proterra, Dustin Grace ผู้เชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่ และ Ryan Pobble ประธานบริหาร
เมื่อมาถึงปี 2010 Popple ซึ่งปัจจุบันอายุ 39 ปีได้ร่วมเป็นหุ้นส่วนในกลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาดของ Kleiner Perkins Caufield & Byers ที่ได้เข้าลงทุนในธุรกิจรถบัสโดยสารพลังไฟฟ้าหน้าใหม่อย่าง Proterra ในอีก 1 ปีให้หลัง Proterra ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ Burlingame รัฐ California ได้รับเงินทุนสนับสนุนผ่านการระดมทุน 185 ล้านเหรียญจากนักลงทุนที่รวมถึง GM Ventures, Mitsui ยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น และ Kleiner ในสายตาของ Popple Proterra คือบริษัทขนาดเล็กที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพในการทำการใหญ่ นั่นคือการยกเครื่องรถโดยสารสาธารณะในสหรัฐฯ เปลี่ยนมาเป็นรถบัสพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ในช่วงเวลา 2 ปีหลังจาก Kleiner เข้าร่วมลงทุนบริษัทได้เปลี่ยนตัวซีอีโอไปแล้ว 2 ครั้ง เนื่องจากดูเหมือนว่าทั้งสองไม่สามารถเร่งเครื่องบริษัทให้ขยายกำลังการผลิตได้ทันความต้องการ (Dale Hill ผู้ก่อตั้งธุรกิจลงจากตำแหน่งในปี 2008) ดังนั้นในปี 2014 Popple จึงออกจากงานที่ Kleiner และรับหน้าที่กุมบังเหียนด้วยตัวเอง ข้อมูลจาก American Public Transportation Association เผยว่าในสหรัฐฯ มีรถโดยสารสาธารณะวิ่งให้บริการอยู่ราว 71,000 คันทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงดีเซลหรือแก๊สธรรมชาติอัด (CNG) มีเพียงส่วนน้อยที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2014 ระบุว่ามีรถบัสไฟฟ้าเพียง 1% ขณะที่รถโดยสารระบบไฮบริดและแก๊สธรรมชาติอยู่ที่ราว 35% กระทรวงคมนาคมแห่งสหรัฐฯ ประเมินว่ามีรถบัสโดยสารพลังงานสะอาดเพียง 300 คันในอเมริกา แต่เมื่อแผนอุดหนุนของรัฐและหน่วยงานท้องถิ่นเริ่มมีการบังคับใช้ (มูลค่าอาจอยู่ที่ราว 150,000 เหรียญต่อคัน) จำนวนรถโดยสารไร้มลพิษในเขตอเมริกาเหนือน่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 6,900 คัน ในปี 2022 ตามการประเมินของบริษัทวิจัย Frost & Sullivan
(photo credit: proterra.com)
ราคาสุทธิของรถบัสพลังงานไฟฟ้าสูงกว่าระบบเครื่องยนต์ดีเซลหรือแก๊สธรรมชาติ 200,000 เหรียญเป็นอย่างต่ำ แต่ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการวิ่งประหยัดกว่าอย่างน่าทึ่ง ค่าเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 9,075 เหรียญต่อปีสำหรับรถโดยสารเครื่องยนต์ดีเซล เทียบกับ 1,770 เหรียญสำหรับรถบัสไฟฟ้า ในแต่ละปีผู้ประกอบการขนส่งมวลชนในสหรัฐฯ จ่ายเงินซื้อรถใหม่มากกว่า 5,000 คันรวมมูลค่าราว 2.3 พันล้านเหรียญ ขณะที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นระบบดีเซล แต่ทิศทางเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อปี 2006 รัฐ California อนุมัติผ่านร่างกฎหมาย Assembly Act 32 ที่ได้กำหนดเป้าหมายการลดมลพิษและมีผลบังคับใช้ทั่วทั้งรัฐ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยส่งแรงหนุนยานยนต์พลังงานสะอาดที่ไม่มีการปล่อยมลพิษ ด้วยนโยบายดังกล่าวทำให้รัฐ California กลายเป็นตลาดแห่งแรกในอเมริกาของ Proterra ไปโดยปริยาย ซึ่งบริษัทดำเนินการส่งมอบรถบัสไฟฟ้าคันแรกไปยัง Foothill Transit ในย่านรอบนอก Los Angeles เมื่อปี 2010 อุปสรรคใหญ่ของ Proterra คือการขยายกำลังผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการ ทั้ง New York, Los Angeles, Chicago และ Philadelphia (ยังไม่รวมถึง Duluth และ Louisville ในรัฐ Kentucky) เป็นตลาดของรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าที่มีความต้องการเกินปริมาณการผลิต Proterra ได้ส่งมอบรถโดยสารไฟฟ้าให้กับลูกค้าในสหรัฐฯ เพียง 88 คันนับจากปี 2010 ถึง 2016 การจ่ายเงินจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสินค้าถูกส่งมอบแล้วเท่านั้น ทำให้ตัวเลขรายได้ของบริษัทไม่สม่ำเสมอ จากช่วงต้นปีจนถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2016 Proterra รับรู้รายได้เพียง 19 ล้านเหรียญจากรถโดยสารที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่คันละ 750,000 เหรียญ และไม่ได้ยืนยันว่าขณะนี้บริษัทมีกำไรและกระแสเงินสดเป็นบวกหรือไม่ ตลาดรถโดยสารในสหรัฐฯและแคนาดา New Flyer จาก Winnipeg รัฐ Manitoba ของแคนาดาคือรายใหญ่อันดับหนึ่ง โดยครองส่วนแบ่งตลาด 45% สำหรับรถโดยสารที่เน้นการใช้งานหนัก ในปี 2015 ยอดขายรถในภูมิภาคนี้ของ New Flyer ทะลุระดับ 1.2 พันล้านเหรียญ ส่วนทางด้าน Gillig จาก Hayward รัฐ California ตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่งตลาดประมาณ 33% ทั้งสองบริษัทป้อนรถโดยสารสู่ตลาดปีละหลายพันคัน
(photo credit: proterra.com)
รถโดยสารขนาดความยาว 40 ฟุตของ Proterra ใช้โครงสร้างตัวถังที่ผลิตจากวัสดุไฟเบอร์กลาสและคาร์บอนไฟเบอร์ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องมีน้ำหนักเบา โดย Proterra มุ่งไปที่การผลิตเครื่องยนต์ระบบไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ทำให้บริษัทสามารถพัฒนาการออกแบบและระบบส่งกำลังให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่นเดียวกับ Model S จาก Tesla ที่มีเครื่องยนต์ระบบไฟฟ้าเป็นหัวใจหลัก อีกสิ่งหนึ่งเหมือนกับ Tesla คือการที่ Proterra ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้าเอง โดยมีหน้าตาเป็นก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้าทรงแบนบรรจุในกรอบอลูมิเนียมที่ติดตั้งอยู่ใต้พื้นรถ เพื่อให้พื้นที่ภายในกว้างขวางที่สุด Proterra เร่งเครื่องขยายปริมาณการผลิตเป็นสองเท่าในปีนี้ด้วยเป้าหมายที่ 2 คันต่อสัปดาห์ หลังจากนั้นจะเบนเข็มไปที่โรงงานแห่งที่สองไม่ไกลจาก Los Angeles ซึ่งจะเปิดในช่วงต้นปี ภายในปี 2017 Popple ต้องการให้ Proterra สามารถผลิตรถโดยสารป้อนตลาดที่ 250 คันต่อปี ถ้าสามารถทำได้ตามเป้า รายได้ของบริษัทน่าจะแตะ 190 ล้านเหรียญในปี 2018 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่ารายได้ปี 2016 ถึง 10 เท่า เนื่องจากต้องใช้เงินทุนเพื่อขยายโรงงานแห่งใหม่จึงเป็นไปได้ว่าบริษัทอาจพิจารณาออก IPO ในอีกสองปีข้างหน้า สำหรับตอนนี้เป้าหมายของ Popple คือการเร่งมือผลิตรถโดยสารไฟฟ้าให้มากขึ้นและเปิดเกมรุกตลาดที่ยังใหม่สำหรับเทคโนโลยีแห่งอนาคต “ถ้าย้อนเวลากลับไป” Popple กล่าว “และบอกกับ Ryan Popple ในอดีตว่า ‘คุณจะกลายเป็นซีอีโอของบริษัทยานยนต์ที่จะเป็นผู้ปฏิวัติวงการด้วยการลดปริมาณการใช้พลังงานน้ำมัน’ ผมคงตอบว่า ‘ฟังดูเข้าท่านะ ว่าแต่ผมจะไปสมัครได้ที่ไหน?’” เรื่อง: Alan Ohnsman เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนา
คลิกอ่านฉบับเต็ม "รถบัสไฟฟ้าพันธุ์รักษ์โลก" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ กุมภาพันธ์ 2560