เรือยอช์ต “Passion Catamaran” ความหรูที่สัมผัสได้ - Forbes Thailand

เรือยอช์ต “Passion Catamaran” ความหรูที่สัมผัสได้

เรือยอช์ตยังคงเป็นคำตอบของไลฟ์สไตล์หรูหราแต่เป็นความหรูหราที่วันนี้ผู้คนสัมผัสได้มากขึ้น เมื่อเรือยอช์ตมีทางเลือกให้ผู้ที่หลงใหลสามารถจองคิวล่องเรือพักผ่อนได้ตามความต้องการ ด้วยเรือที่มีขนาดใหญ่รองรับการใช้บริการได้ถึง 150 คนในลำเดียว

Passion Catamaran คือ เรือยอช์ตลำใหญ่ที่สุดที่ให้บริการแบบวันเดย์ทริปในทะเลอันดามัน ในรัศมีพื้นที่จังหวัดภูเก็ต กระบี่ และพังงา ยอช์ตลำนี้มีขนาด 111 ฟุต หรือกว่า 30 เมตร เป็นเรือ 2 ท้อง สูง 2 ชั้นขับเคลื่อนด้วย 4 เครื่องยนต์ รองรับผู้โดยสารได้ถึง 150 คน มีบริการจัดเลี้ยงที่หรูหราไลน์อาหารเทียบได้กับระดับโรงแรม 5 ดาว และที่พิเศษเหนือกว่าเรือยอช์ตทั่วไปคือ การออกแบบที่มีการแก้ไขจุดด้อยในเรือต่างๆ มาเป็นจุดเด่นในเรือลำนี้ด้วยฟังก์ชันพื้นที่บริการที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้ทุกรูปแบบ “อาหารเราขึ้นไลน์แบบโรงแรม 5 ดาวทุกอย่างปรุงสุกบนเรือเสิร์ฟแบบสดใหม่ร้อนๆ อาหารทะเลสดใหม่ทุกวัน นอกจากอาหารแล้วพื้นที่บริการต่างๆ เราพิเศษกว่าเรือลำอื่นๆ เช่น ห้องน้ำที่กว้างขวางและสะอาดเหมือนห้องน้ำในบ้าน ไม่คับแคบเหมือนเรือทั่วไป” นั่นคือสิ่งที่เจ้าของเรือภูมิใจนำเสนอ ภัชธชา ประดับศรีเพชร หรือ เชอรี่สาวหล่อเจ้าของกิจการวัย 42 ปี เธอเป็นผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมาหลายอย่าง ทั้งร้านจำหน่ายของที่ระลึก 5 สาขาบนหาดป่าตองก่อนถูกสึนามิถล่มเสียหายทั้งหมด หลังจากนั้น เธอหันมาเริ่มธุรกิจเกสต์เฮาส์เป็นเซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์ให้เช่า ก่อนจะขายออกไปและกลับมาเริ่มต้นใหม่ด้วยธุรกิจทรานสเฟอร์ รถรับส่งนักท่องเที่ยวในภูเก็ต กระบี่ พังงา ก่อนจะขยายมาจับธุรกิจเรือ “เริ่มธุรกิจเรือทีแรกเป็นเอเย่นต์ขายทริปเรือมาก่อน และมีโอกาสได้ทำเรือ HYPE ของต่างชาติ” เธอขายแพ็กเกจเรือ HYPE จนกระทั่งโด่งดังไปทั่วด้วยการตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก ไอจี ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าไม่ได้เริ่มจากกลยุทธ์ตลาดอะไรมากนักแต่ด้วยความเป็นเรือใบเท่ๆ มีนักท่องเที่ยว คนดังและดารามาเช่าล่องทะเลและโพสต์ภาพเผยแพร่ไปทั่ว ทำให้เรือลำนี้ติดตลาดกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในสื่อสังคมออนไลน์เธอจึงมั่นใจและตัดสินใจต่อเรือขึ้นใหม่เพื่อให้บริการตามฐานลูกค้าที่มีเข้ามา “เราต่อเรือเอง ออกแบบเองโดยคนไทยและใช้อู่ต่อเรือไทยย่านสารสินเป็นคนต่อให้ คนออกแบบก็คือ น้องชายรี่เอง เขาเป็นคนชอบออกแบบก็เก็บเอาประสบการณ์จากเรือต่างๆ มาประยุกต์ให้เป็นฟังก์ชันอย่างที่ต้องการ” เธอเล่าอย่างอารมณ์ดีแม้ที่ผ่านมาต้องเผชิญผลกระทบโควิด-19 ไม่ต่างจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั่วไป เพราะเรือ Passion Catamaran ต่อเสร็จด้วยเงิน 70 ล้านบาท เปิดบริการเมื่อเดือนกันยายน 2562 หลังเปิดตัวได้การตอบรับดีมากจองเต็มทุกวัน แต่โอกาสนั้นมีเพียงไม่กี่เดือน เพราะปลายปี 2562 โควิดเริ่มมาเยือนทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มหดหาย คิวเรือที่จองเต็มทุกวันค่อยๆ ลดลง กลายเป็นไม่มีการจองเลยใน 2 ไตรมาสแรกของปี 2563 ภัชธชาบอกว่า เธอต้องประคองกิจการให้อยู่ได้ ต้องจ้างทีมงานเพื่อรักษาคนไว้ให้พร้อมสำหรับวันที่จะกลับมาบริการได้อีกครั้งในที่สุดสถานการณ์ก็ดีขึ้นแม้ต่างชาติมาไม่ได้ แต่มีกรุ๊ปนักท่องเที่ยวไทยมาใช้บริการเพิ่มขึ้น ล่าสุดทริปของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาเป็นกลุ่มใหญ่ ก่อนหน้านี้เธอมีลูกค้าบริษัทใหญ่หลายรายมาใช้บริการ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, PwC, คิงเพาเวอร์ และอีกหลายบริษัทจองกรุ๊ปใหญ่นับ 100 คนมาล่องเรืออยู่บ่อยครั้ง ลูกค้าอีกกลุ่มที่มาเยือนและเป็นเสมือนพรีเซนเตอร์ชั้นดีให้กับ Passion Catamaran คือ คนดัง กลุ่มเซเลบริตี้และดารา เมื่อมาล่องเรือมักถ่ายภาพและโพสต์ผ่านไอจีและเฟซบุ๊ก ทำให้แฟนๆ ของคนเหล่านั้นได้เห็นบรรยากาศเรือ ซึ่งเป็นการช่วยสื่อสารขยายฐานลูกค้าไปด้วยในตัว “ดารามาเยอะมากค่ะ รี่ไม่ได้โปรโมตหรืออะไร แต่เป็นการมาโดยบอกต่อๆ กันแบบปากต่อปากมากกว่าล่าสุดก็มีทีมมาถ่ายละคร เรียกว่ามากันแทบทุกสัปดาห์เลยก็ว่าได้” เชอรี่เล่ากึ่งหัวเราะอย่างคนอารมณ์ดี ซึ่งเป็นบุคคลิกที่โดดเด่นของนักธุรกิจสาวมาดเข้มผู้นี้ ซึ่งในวัย 42 เธอผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากไม่ต่างจากกลุ่มนักธุรกิจ self-made ที่อาวุโสกว่าเธอ เพราะสิ่งที่เชอรี่ทำคือ ลองผิด ลองถูก ทำมาหลากหลายธุรกิจ ทั้งขายทัวร์ ขายของที่ระลึก ทำเกสต์เฮาส์ ทรานสเฟอร์ ซื้อขายอสังหาฯ แม้กระทั่งเปิดร้านกาแฟ ชีวิตการทำงานของเธอเริ่มต้นตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรีด้านการท่องเที่ยวจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในช่วงวิกฤตฟองสบู่แตกปี 2540 ครอบครัวซึ่งทำธุรกิจอสังหาฯ ล้มครืนแบกภาระหนี้กว่า 40 ล้านบาท ทุกอย่างถูกยึดหมดทั้งบ้านและรถ เธอตัดสินใจตามเพื่อนลงมาภูเก็ตเพื่อหาอาชีพ ที่จะหาเงินมาส่งให้น้องๆ เรียนต่อ ชีวิตผกผันกระทั่งได้เปิดร้านขายของที่ระลึกที่หาดป่าตองถึง 5 ร้านก่อนจะถูกสึนามิกวาดไปหมด ซ้ำยังถูกหลอกขายที่ดินมีปัญหา ทำให้เงินติดที่ดินอยู่ถึง 30 ล้านบาท ก่อนจะขายคืนได้โดยขาดทุนไปกว่า 10 ล้านบาท เธอเคยตัดสินใจขึ้นไปเชียงใหม่เพื่อหวังจะขุดทองอีกครั้ง แต่ทว่าไม่เป็นดังหวัง ค่าครองชีพเชียงใหม่ถูกกว่าภูเก็ต ร้านกาแฟที่เธอดั้นด้นไปเปิดแม้จะขายดี แต่รายได้เทียบไม่ได้กับภูเก็ต เธอตัดสินใจกลับมาภูเก็ตอีกครั้ง และรอบนี้เธอสร้างตัวด้วยธุรกิจเรือได้สำเร็จ แต่เพิ่งได้ลิ้มลองความสำเร็จยังไม่เท่าไรก็ต้องเผชิญโควิด-19 ทำให้ธุรกิจชะงักไป เพิ่งจะกลับมาฟื้นด้วยนักท่องเที่ยวไทยที่ยังคงตอบรับบริการหรูหราของการล่องเรือยอช์ตในทะเลอันดามัน สัมผัสการใช้ชีวิตเหมือนฝันกลางทะเลที่มาพร้อมความสะดวกสบายครบครันเธอหวังว่านี่จะเป็นธุรกิจใหม่ที่ต่อยอดไปได้อีกนาน เพราะนอกจาก Passion Catamaran แล้ว เชอรี่ยังมีแผนจะต่อเรือยอช์ตขนาดกะทัดรัดจำนวน 10 ลำ รองรับนักท่องเที่ยวได้ลำละ 50 คน เพื่อตระเวนเที่ยวเกาะแก่งต่างๆ ในรัศมีพื้นที่ภูเก็ต กระบี่ และพังงา “ต่อไปสปีดโบตจะลดความนิยมไปเรื่อยๆ คนจะเลือกใช้สปีดคาตามารัน ซึ่งเป็นเรือ 2 ท้องมากกว่า เพราะล่องได้นุ่มนวลไม่กระแทกเหมือนสปีดโบตแบบเดิมๆ” สปีดคาตามารันนี่เองคือ เป้าหมายฝูงเรือที่เชอรี่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งเธอเชื่อว่าการล่องเรือจะยังคงเป็นมนตร์เสน่ห์แห่งการท่องเที่ยวสไตล์หรูหราที่ได้รับความนิยมไปอีกยาวนาน     อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในรูปแบบ e-magazine