'Bill Gates' มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Microsoft เตรียมวางแผนบริจาคเงินที่มีเกือบทั้งหมดราว 1.68 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมปิดมูลนิธิของตนเองในปี 2045 เขาให้เหตุผลว่า "อยากจากไปแบบเรียบง่าย ไม่อยากให้ผู้คนกล่าวถึงว่า ตายไปแบบร่ำรวยมหาเศรษฐี" โดยบุคคลซึ่งเป็นแรงบันดาลใจหลักให้เขารู้จักเป็น "ผู้ให้ มากกว่าผู้รับ" ก็คือ แม่ของเขา และ Warren Buffett มหาเศรษฐีนักลงทุนเพื่อนสนิทของเขานั่นเอง
หนึ่งในปัญหาหนักอกหนักใจของเหล่าคนรวยระดับมหาเศรษฐี ก็คือเรื่องบริหารจัดการทรัพย์สินความมั่งคั่งของตนเองทั้งตอนที่ยังมีชีวิตอยู่และเตรียมพร้อมวางแผนทุกอย่างหลังสิ้นอายุขัย โดย บิล เกตส์ (Bill Gates) มหาเศรษฐีวัย 69 ปี ที่หลายคนรู้จักกันดีในนามของผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง Microsoft ก็ประสบกับปัญหานี้เช่นกัน!
เห็นได้จากบทความที่เขาได้โพสต์ผ่านบล็อกของตนเองเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (8 พ.ค. 2025) มีใจความหลักๆ ว่า “ผู้คนจะพูดถึงผมมากมายเมื่อผมตาย แต่ผมมั่นใจว่า ‘การตายอย่างร่ำรวยระดับมหาเศรษฐี’ จะไม่มีผมอยู่ในรายชื่อนั้น” เพราะเขาได้วางแผนที่จะทยอยบริจาคทรัพย์สินส่วนตัวเกือบทั้งหมดที่มีอยู่ราวๆ 1.68 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการคาดการณ์ของสำนักข่าว Bloomberg หรือคิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ราวๆ 5.5 ล้านล้านบาท พร้อมปิดตัวมูลนิธิเกตส์ที่เขาก่อตั้งขึ้นมา ภายใน 20 ปีข้างหน้า หรือในปี 2045 นั่นเอง
นับตั้งแต่ปี 2000 ที่บิล เกตส์ ได้ก่อตั้งมูลนิธิการกุศลของตัวเองขึ้นมา เขาได้บริจาคเงินไปแล้วมากกว่า 100,000 ล้านเหรียญ เพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการแก้ไขปัญหาสุขภาพโรคภัย, ความยากจน, ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเรื่องการศึกษา เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน เกตส์ได้กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนสำหรับการเบิกจ่ายเงินของเขาและมูลนิธิเกตส์จะมีกำหนดปิดทำการในวันที่ 31 ธันวาคม 2045
ทั้งนี้ มหาเศรษฐีคนดัง ยังประมาณการด้วยว่า มูลนิธิของเขาจะสามารถเพิ่มจำนวนเงินดังกล่าวเป็นสองเท่า และสามารถแจกจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้มหาศาลเป็นจำนวน 200 ล้านเหรียญจนกว่าจะถึงปี 2045 แต่ทว่าตัวเลขดังกล่าวก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ด้วยเช่นกัน อาทิ เรื่องของอัตราเงินเฟ้อและประสิทธิภาพของตลาด นอกจากนี้ เกตส์ยังวางแผนที่จะเพิ่มงบประมาณประจำปีจากเดิมที่มี 6,000 ล้านเหรียญ ก็ขยับเพิ่มเป็น 9,000 ล้านเหรียญอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้เกตส์จะ "มีความหวัง" ว่ามูลนิธิจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวที่ตนเองวางไว้ได้ แต่เขาก็พยายามมองโลกตามความเป็นจริงเช่นกัน โดยเขาแสดงความเห็นผ่านบทความด้วยว่า "ความก้าวหน้าทั้งหมดนี้ จะไม่มีทางเป็นไปได้หากปราศจากความร่วมมือจากรัฐบาล"

สิ่งต่างๆ จะดีขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า
'บิล เกตส์' ยังบอกเล่าด้วยว่า บุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจและหล่อหลอมให้เขามุ่งมั่นในการบริจาคเพื่อการกุศล ก็คือ 'แมรี่ เกตส์' แม่ของเขา ซึ่งเสียชีวิตไปในปี 1994 นั่นเอง และตัวเขายังมีศรัทธาอย่างแรงกล้าในแนวคิดที่ว่า “ยิ่งมีมาก ก็ยิ่งต้องรู้จักเอื้อเฟื้อผู้อื่นให้มากขึ้น”
หลังจากบริษัทไมโครซอฟต์ประสบความสำเร็จและเกตส์กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกในช่วงหนึ่ง แม่ของเกตส์ได้เตือนเขาว่ "เขาเป็นเพียงผู้ดูแลความมั่งคั่ง ที่เขาสะสมไว้ และเขามีหน้าที่ทางศีลธรรมและสังคมที่จะต้องตอบแทนกลับไป" ซึ่งพ่อของเกตส์ก็มีทัศนคติความคิดเห็นเช่นเดียวกัน และยังเป็นประธานร่วมของมูลนิธิเกตส์จนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 2020
ทั้งนี้ จุดยืนของเกตส์เกี่ยวกับองค์กรการกุศลยังได้รับอิทธิพลมาจากวอร์เรน บัฟเฟตต์ เพื่อนเก่าแก่และยังเป็นมหาเศรษฐีเช่นเดียวกัน ที่บริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลไปแล้วหลายหมื่นล้านเหรียญ และยังมอบหมายให้ลูกๆ ของเขาบริจาคทรัพย์สินที่เหลือของเขา 99% หลังจากที่เขาเสียชีวิต เกตส์เขียนผ่านบทความถึงบัฟเฟตต์ว่า “เขายังคงเป็นแบบอย่างของความใจบุญอย่างที่สุด และบัฟเฟตต์ยังเป็นคนแรกที่แนะนำให้ผมรู้จักกับแนวคิดในการบริจาคให้ทุกสิ่งทุกอย่าง”
อย่างไรก็ตาม เกตส์และเมลินดา เฟรนช์ เกตส์ อดีตภรรยา ยังได้ร่วมกันก่อตั้งโครงการ Giving Pledge ร่วมกับบัฟเฟตต์ในปี 2010 และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มีมหาเศรษฐีมากกว่า 240 ราย ที่ร่วมลงนามในโครงการนี้ โดยให้คำมั่นว่าจะบริจาคทรัพย์สินส่วนใหญ่ในช่วงชีวิตของตน
“ผมหวังว่าคนรวยคนอื่นๆ จะพิจารณาว่าพวกเขาสามารถเร่งความก้าวหน้าให้กับคนจนที่สุดในโลกได้มากเพียงใด หากพวกเขาเพิ่มอัตราและขนาดของการให้ เพราะนั่นเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพอย่างมากในการตอบแทนสังคม” เกตส์ กล่าว
แปลและเรียบเรียงจากบทความ : POWER PLAYERS Bill Gates plans to close his foundation, give away nearly all of his fortune over 20 years: I don’t want people to say, ‘He died rich’
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “พาตัวเองไปอยู่กับคนเก่ง” คำแนะนำจาก Warren Buffett ถึงนักลงทุนรุ่นใหม่
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine