ทำเงินจากความเสี่ยงฉบับ "David Berns" และ "Paul Kim" หัวกะทิแห่ง Simplify - Forbes Thailand

ทำเงินจากความเสี่ยงฉบับ "David Berns" และ "Paul Kim" หัวกะทิแห่ง Simplify

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Jan 2023 | 08:00 PM
READ 3209

คุณต้องการประกันความเสี่ยงจากความปั่นป่วนทางการเงินไหม? "David Berns" และ "Paul Kim" ได้ออกแบบกองทุนเพื่อตอบโจทย์นักลงทุนแบบคุณโดยเฉพาะ กองทุนของพวกเขาจะจ่ายผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นและพันธบัตรในสภาวะที่แตกต่างไปจากรูปแบบการลงทุนเดิมๆ


    ในฤดูใบไม้ผลิปี 2020 Paul Kim ชายกลางคนที่มีลูก 3 คน อาศัยอยู่ในบ้านย่านชานเมือง และมีงานประจำที่มั่นคงในบริษัทประกันแถบ Midwest ได้ตัดสินใจทำสิ่งที่ดูคล้ายจะบ้านิดๆ ด้วยการลาออกจากงานประจำเพื่อมาเริ่มตั้งบริษัทของตัวเอง

    “การจะโดดหนีออกมาในช่วงต้นของตลาดขาขึ้นก็เป็นเรื่องหนึ่ง” เขาพูดถึงการตัดสินใจในขณะนั้น “แต่ตอนนั้นทุกคนต่างก็ตื่นตระหนกกันไปหมด ตลาดดิ่งแรงมันดูเหมือนสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ต้องถูกหามเข้าห้องฉุกเฉินอย่างไรอย่างนั้น”

    อันที่จริงจังหวะที่เขาตัดสินใจแบบนั้นก็ไม่ถือว่าบ้าเสียทีเดียว เพราะ Kim ได้ก่อตั้ง Simplify Asset Management ขึ้นมาเพื่อเน้นขายกองทุนประเภท exchangetraded fund (ETF) ที่จะทำหน้าที่คุ้มครองพอร์ตการลงทุนจากหายนะภัย เช่น กรณีที่ตลาดหุ้นดิ่งเหวและอัตราดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้น ซึ่งจังหวะที่ดีที่สุดที่จะขายกองทุนประเภทนี้ก็คือช่วงที่สถานการณ์กำลังสุกงอมและตลาดกำลังจะล่ม ทั้งนี้ท่ามกลางวิกฤตโควิดที่กำลังลุกลามรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ Kim บอกกับตัวเองว่า ถ้าไม่เริ่มตั้งบริษัทอย่างที่คิดไว้เสียตั้งแต่ตอนนั้น ชาตินี้เขาก็คงไม่มีวันทำสำเร็จได้ และคงนอนตายตาไม่หลับกับไอเดียที่ไม่ได้ลงมือทำนี้

    ในช่วงปีที่เขายื่นเอกสารเพื่อขออนุญาตตั้งบริษัทการลงทุนขึ้นมานั้นเอง ตลาดก็กลับมาฟื้นตัวขึ้น ถ้าตลาดกลับมาดีขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ธุรกิจใหม่ของเขาก็คงจะเจ๊งไม่เป็นท่า แต่ตลาดฟื้นตัวได้ไม่เท่าไรทั้งหุ้นและพันธบัตรก็กลับมาปักหัวลงอย่างแรงอีกครั้ง

    การที่ทั้งหุ้นและพันธบัตรร่วงแรงทั้งคู่สร้างความตื่นตะลึงให้กับบรรดาผู้ที่ออมเงินเพื่อการเกษียณซึ่งมีความเชื่อว่าการลงทุนในพันธบัตรจะช่วยชดเชยความเสี่ยงของการลงทุนในหุ้นได้ ดังนั้น พวกเขาจึงอยากหาเครื่องมือใหม่ๆ มาช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และเครื่องมือประเภทนี้ก็คือสิ่งที่ Simplify ขายนั่นเอง

    ในบรรดากองทุนของ Kim นั้น Simplify Interest Rate Hedge ETF เป็นกองทุนที่จะทำเงินได้เมื่อราคาพันธบัตรร่วงหนัก โดยกองทุนนี้ขยับขึ้นมาแล้วถึง 50% ในปีนี้ ในขณะที่อีกกองหนึ่งของ Kim ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นควบคู่ไปกับการประกันความเสี่ยงบางส่วนในกรณีที่ตลาดอยู่ในขาลงมีมูลค่าลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดถึงครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ Simplify สามารถระดมทุนมาได้แล้วถึง 1.4 พันล้านเหรียญในกองทุน 21 กอง ซึ่งแต่ละกองจะมีรูปแบบของความเสี่ยงและผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น พันธบัตร สินค้าโภคภัณฑ์ และเงินสกุลคริปโตที่แตกต่างไปจากกองทุนตามปกติ


- ผู้ร่วมอุดมการณ์ของ Simplify -

    David Berns ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยของ Simplify เรียนจบมาทางด้านฟิสิกส์ ถึงแม้ว่าทั้ง Berns และ Kim จะเคยผ่านการทำงานในธุรกิจประกันมาเหมือนกัน แต่เส้นทางสายอาชีพของทั้งคู่แตกต่างกันไปคนละทิศละทาง ในขณะที่ Kim ซึ่งมีอายุ 45 ปี มีเส้นทางการศึกษาตามสูตรสำเร็จ โดยจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยระดับ Ivy League (Dartmouth) และจบปริญญาโท MBA จาก Wharton แล้วเข้าทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายการผลิตของ Pimco ก่อนที่จะขยับไปทำที่ Principal Financial Group แต่ Berns ซึ่งมีอายุ 43 ปี โตมาในครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่เป็นตำรวจใน New York ทั้งคู่ เขาบอกว่า ชีวิตของเขาคงหนีไม่พ้นต้องเป็นตำรวจตามพ่อกับแม่แน่นอนถ้าหากว่าแม่ของเขาไม่ยืนยันเสียงแข็งให้เขาไปยื่นใบสมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Tufts

    หลังจากที่ Berns จบจาก Tufts แล้ว เขาได้ศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์จาก MIT ในปี 2008 โดยหัวข้อวิทยานิพนธ์ของเขาเกี่ยวกับการนำวงจรตัวนำยิ่งยวด (superconducting circuit) มาใช้สร้างควอนตัมที่เทียบได้กับทรานซิสเตอร์ ทั้งนี้ในขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นของเขาหลายคนจบแล้วเข้าไปทำงานเกี่ยวกับการวิจัยคอมพิวเตอร์คอนตัม ซึ่งจะเป็นเครื่องคำนวณทางคณิตศาสตร์ขั้นสูง ในอนาคตที่มีประสิทธิภาพเหนือล้ำกว่าเครื่องคำนวณในปัจจุบัน แต่ Berns กลับฉีกแนวไปทางด้านการคิดค้นทฤษฎีเกี่ยวกับการสร้างพอร์ตการลงทุนแทน

    ว่าแต่ว่าฟิสิกส์กับเงินมันเกี่ยวข้องกันด้วยหรือ? มันเกี่ยวกันได้นะ ยกตัวอย่างเช่น การแพร่กระจายความร้อนในช่วงเวลาหนึ่งก็เปรียบได้กับการแพร่กระจายของราคาหุ้น ซึ่งการจะนำงานวิจัยของเขามาประยุกต์ใช้ให้เห็นผลในทางปฏิบัตินั้น Berns อธิบายว่า ทั้งหมดทั้งสิ้นมันเป็นเรื่องของความเสี่ยงและมุมมองที่ผู้คนมีต่อความเสี่ยงนั้นนั่นเอง

    ตัว Kim และ Berns เองก็ต้องแบกรับความเสี่ยงในตอนที่พวกเขาเริ่มก่อตั้งบริษัทกันขึ้นมาเองโดยที่ไม่มีนักลงทุนประเภท angel investor มาคอยหนุนหลัง ซึ่งบางทีอาจจะเป็นเพราะ Kim ต้องการพิสูจน์อะไรบางอย่างด้วยตัวเองก็ได้ Kim พูดถึงตอนที่เขาทำหน้าที่ออกจำหน่ายกองทุน ETF สมัยที่ทำงานที่ Pimco ว่า “เมื่อคุณสร้างแพลตฟอร์มที่มีมูลค่า 2 หมื่นล้านเหรียญขึ้นมาแล้ว คุณมีอะไรบ้าง? คุณไม่ได้เป็นเจ้าของมัน มันก็เป็นแค่งานชิ้นหนึ่งเท่านั้นเอง”

​David Berns และ Paul Kim หัวกะทิแห่ง Simplify


​- ก้าวแรกและกลยุทธ์ของ Simplify -

    ในช่วงต้น Kim และ Berns อาศัยเงินทุนจากครอบครัวและเพื่อนฝูงเพื่อให้ธุรกิจของพวกเขาเริ่มเดินหน้าได้ และเมื่อสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของพวกเขาเพิ่มขึ้นมาจนถึง 500 ล้านเหรียญ พวกเขาก็ได้รับความเชื่อถือมากพอที่จะสามารถระดมเงินทุนจากภายนอกได้แล้ว มีเศรษฐีพันล้านคนหนึ่งซึ่ง Kim ไม่ได้บอกว่าเป็นใครได้ใส่เงินเข้ามาในบริษัทของพวกเขา 10 ล้านเหรียญเพื่อแลกกับการถือหุ้น 25%

    ในกองทุนป้องกันความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยของพวกเขาซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์ 296 ล้านเหรียญ ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในตราสารที่เคลื่อนไหวสวนทางกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กองทุนนี้ถือพุทออปชันที่ในปัจจุบันมีสถานะ out-of-the-money อยู่ โดยพุทออปชันนี้จะทำเงินให้กับกองทุนอย่างมาก ถ้าหากว่าอีก 6 ปี นับจากนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 20 ปีขยับสูงขึ้นจากระดับปัจจุบัน 1 จุดเปอร์เซ็นต์

    ทั้งนี้แม้อัตราดอกเบี้ยจะยังไม่ขยับไปจนถึงระดับที่จะทำให้มีการใช้สิทธิ์ตามออปชัน แต่ก็สามารถทำให้ออปชันมีมูลค่ามากขึ้นได้ เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยขยับสูงขึ้นเหมือนกับในปีนี้ก็ทำาให้มีโอกาสอย่างมากที่พุทออปชันที่มีอายุยาวจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาออปชันสูงขึ้นด้วย

    Simplify ไม่ได้สร้างภาพเกินจริงเลยว่ากองทุนป้องกันความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยของบริษัทเป็นวิธีหนึ่งที่ทำเงินให้กับบริษัท ซึ่งมันก็เหมือนกับการทำประกันอัคคีภัยนั่นแหละ เมื่อซื้อประกันติดเอาไว้สักหน่อยแล้วถือมันไว้คู่กับสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ปกติอย่างพอร์ตการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นที่มีอายุยาว ก็จะทำให้คุณถือสินทรัพย์นั้นเอาไว้ได้อย่างสบายใจมากขึ้น ไม่ว่าตลาดจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง

    แต่ในกรณีของกองทุน Simplify Hedged Equity ETF จะใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างออกไป โดยกองนี้จะมีการถือพุทออปชันที่เป็นเหมือนยาถอนพิษในกรณีที่ตลาดอยู่ในขาลง ซึ่งถูกใส่เข้ามาในพอร์ตการลงทุนหุ้น S&P 500 ที่พวกเขาออกแบบมาเพื่อคุ้มครองผลตอบแทนเอาไว้ในช่วงขาลง การนำพุทออปชันดังกล่าวเข้ามาใส่ไว้ในพอร์ตก็เพื่อประชันกับการบริหารกองทุนเกษียณอายุด้วยแนวคิดแบบดั้งเดิมที่แบ่งเงินลงทุนในหุ้น/พันธบัตรออกเป็นสัดส่วน 60/40 

    ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปี 2022 เป็นต้นมาดัชนี S&P ลดลงมาแล้ว 16% ในขณะที่ตลาดพันธบัตรโดยรวมปรับลดลงมา 10% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นว่า ผลตอบแทนกองทุนของ Simplify ดูดีขึ้นมาทันที โดยกองทุน Hedged Equity ลดลงเพียง 8% ในขณะที่กองทุน Vanguard Balanced Index Fund ลดลง 15%

    Berns บอกว่า นักลงทุนมักจะมีมุมมองแปลกๆ กับเรื่องของความเสี่ยง ซึ่งทำให้ท้ายที่สุดแล้วพวกเขาต้องติดอยู่กับพอร์ตการลงทุนที่พวกเขาไม่สามารถทนถือเอาไว้ได้ในช่วงที่ตลาดเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง และที่ปรึกษาของพวกเขาก็มักจะไม่ได้เตรียมตัวพวกเขาให้พร้อมกับกรณีเช่นนี้ Berns เสริมอีกว่า ที่จริงแล้ว “พวกคนที่อยู่ใน Wall Street ต่างก็พยายามอย่างหนักที่จะซ่อนความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ (ทางการเงิน) ของพวกเขาเอาไว้”

    หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดกระบวนการดังกล่าวขึ้นก็เพราะคนเกือบทั้งตลาดมักจะวัดค่าความเสี่ยงโดยใช้ตัวเลขเพียงตัวเดียว คือค่าความแปรปรวนที่คำนวณจากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยการหาค่าความแปรปรวนจะเป็นการรวมค่ายกกำลัง 2 ของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของราคาหุ้น ที่เคลื่อนออกไปจากจุดตั้งต้น 

    แต่ในกรณีของ Berns เขาเลือกที่จะให้ความสนใจกับค่ายกกำลัง 3 แทน เพราะหากพิจารณาเฉพาะค่าความแปรปรวนจะทำให้คุณพอใจกับกลยุทธ์ที่นำผลตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ มารวมกัน แล้วนานๆ ทีก็จะเกิดผลขาดทุนหนักๆ ขึ้นมาสักครั้ง

    และนั่นก็คือสิ่งที่คุณได้รับจริงๆ เช่น ในกรณีของกองทุนพันธบัตรประเภทตราสารหนี้ขยะ หรือกองทุนที่ใช้วิธีหารายได้รายเดือนเพิ่มด้วยการออกคอลออปชัน การที่กองทุนลักษณะนี้ขายได้ก็เพราะมันทำให้นักลงทุนหลงคิดว่าตัวเองกำลังได้รับผลตอบแทนที่มีความเสี่ยงต่ำ และในขณะเดียวกันก็ได้รับรายได้เพิ่มไปพร้อมๆ กันด้วย

    การคำนวณค่ายกกำลัง 3 หรือที่นักสถิติเรียกว่า “ความเบ้” (skewness) ทำให้เราทราบว่าเราต้องระมัดระวังให้ดีกับการใช้กลยุทธ์ดังกล่าว การคำนวณในลักษณะนี้ให้ความสำคัญกับภาพมุมกลับของรูปแบบผลตอบแทนมากกว่า กล่าวคือกลยุทธ์ที่ยอมเสียประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ หลายๆ ครั้งเพื่อแลกกับการได้รับผลตอบแทนก้อนใหญ่นานๆ ครั้งแทน 

    ทั้งนี้ตัวอย่างของความเบ้ในเชิงบวกคือ กองทุน Simplify U.S. Equity Plus Downside Convexity ETF ซึ่งมีมูลค่ารวม 449 ล้านเหรียญ กองทุนนี้ถือพุทออปชันที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนอะไรมากนักในช่วงที่ตลาดปรับฐานเล็กๆ อย่างที่เกิดกับตลาดหุ้นในปี 2022 แต่จะให้ผลตอบแทนก้อนโตเมื่อตลาดถล่มทลาย รูปแบบของกลยุทธ์ในลักษณะนี้ไม่ได้เหมาะกับนักลงทุนทุกกลุ่ม แต่เหมาะกับนักลงทุนที่สามารถกัดฟันรับผลขาดทุน 20% ได้ แต่ทนรับผลขาดทุน 50% ไม่ไหว

    ทั้งนี้กองทุน ETF ของ Simplify มีต้นทุนสูงกว่ากองทุน index fund แบบเดิมๆ แต่ยังต่ำกว่ากองทุนไพรเวท เฮดจ์ฟันด์ที่เสนอการกระจายผลตอบแทนแบบที่ลูกค้ากำหนดได้เองอย่างมาก โดยค่าธรรมเนียมของกองทุน rate hedge ETF อยู่ที่ปีละ 0.5% ของกองทุน ขณะที่ hedged equity fund อยู่ที่ปีละ 0.53% และของกองทุน downside convexity fund อยู่ที่ 0.28%

    “ETF เป็นกับดักหนูที่ดีกว่า (กองทุนเฮดจ์ฟันด์)” Kim กล่าว “มันถูกกว่า โปร่งใสมากกว่า และช่วยประหยัดภาษีได้มากกว่าด้วย”


เรื่อง: William Baldwin เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา ภาพ: Tim Tadder

อ่านเพิ่มเติม:

>> 10 งานที่องค์กรต้องการมากที่สุดในอนาคต

>> Trend Micro เผย ข้อมูลสำคัญต่อองค์กรก่อนก้าวสู่ระบบคลาวด์รับปี 2023


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine