Praveen Penmetsa เจ้าของสตาร์ทอัพ “รถไถ EV” หุ่นยนต์กู้เกษตร - Forbes Thailand

Praveen Penmetsa เจ้าของสตาร์ทอัพ “รถไถ EV” หุ่นยนต์กู้เกษตร

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Dec 2023 | 09:30 AM
READ 2648

ยามบ่ายแก่จัดช่วงต้นฤดูร้อนที่ไร่องุ่น Wente Vineyards ในเมือง Livermore รัฐ California ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Monarch Tractor ชื่อ Praveen Penmetsa กำลังโฆษณารถแทรกเตอร์หุ่นยนต์ของเขาอย่างน้ำไหลไฟดับ


    เขาร่ายยาวถึงข้อดีของรถแทรกเตอร์ราคา 89,000 เหรียญสหรัฐฯ ของเขา ซึ่งใช้ไฟฟ้าทั้งหมด ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ตัดหญ้าได้ กำจัดวัชพืชได้ และแม้ราคาจะแพงขึ้นไปอีกประมาณ 80% จากรถแทรกเตอร์เครื่องดีเซลที่ทำงานคล้ายกัน แต่ในที่สุดแล้วรถแทรกเตอร์ของเขาจะช่วยให้ชาวไร่ประหยัดเงิน เพิ่มประสิทธิภาพงานในฟาร์ม และลดการพึ่งพาแรงงานจากภายนอกกับน้ำมันเชื้อเพลิงได้

    Penmetsa วัย 45 ปี ผู้จับงานด้านรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไร้คนขับมาเกือบ 2 ทศวรรษ ก่อนจะผันตัวมาสู่ภาคการเกษตร ต้องต่อสู้ไม่เว้นแต่ละวันเพื่อจะทำให้ชาวไร่ นักลงทุน และผู้ออกกฎหมายเชื่อให้ได้ว่าการเปลี่ยนมาใช้รถแทรกเตอร์ไฟฟ้าไร้คนขับนั้นทั้งมีความสำคัญและทำได้จริง

    การเปิดบริษัทเครื่องจักรกลการเกษตรเป็นเรื่องยากเพราะใช้เงินทุนเยอะ และเกษตรกรที่ไม่ค่อยมีเงินก็มักจะเป็นกลุ่มคนหัวเก่าที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง แต่ Monarch แห่งเมือง Livermore ซึ่งระดมเงินจากนักลงทุนได้ 116 ล้านเหรียญ และมีมูลค่าประเมิน 271 ล้านเหรียญในการระดมทุนรอบล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน

    ตัวเลขดังกล่าวช่วยให้ในปีนี้ Monarch ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเข้ามาในทำเนียบรายชื่อ Next Billion-Dollar Startups ของ Forbes ซึ่งเป็นทำเนียบรายปีที่นำเสนอ 25 บริษัทที่เราคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่มูลค่าประเมินจะถึง 1 พันล้านเหรียญได้


    Penmetsa เชื่อว่า เขาจะขายรถแทรกเตอร์ได้หลายหมื่นคันและทำรายได้ “หลายร้อยล้านเหรียญ” ภายใน 3 ปี และพา Monarch เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ในที่สุด

    เพื่อเตรียมรับความต้องการของตลาด เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว Monarch ได้เซ็นสัญญากับ Foxconn บริษัทไต้หวันที่สร้างชื่อจากการเป็นผู้ผลิต iPhone ส่วนใหญ่ของโลกให้มาผลิตเจ้าสัตว์เหล็กตัวเท่ารถ SUV พวกนี้ และ Monarch ยังอนุญาตให้บริษัทอื่นใช้สิทธิในเทคโนโลยีของบริษัทด้วย ซึ่งผู้ได้รับสิทธิรายใหญ่ที่สุดคือ CNH Industrial จาก London ที่เป็นบริษัทผลิตแทรกเตอร์รายใหญ่อันดับ 2 ของโลกผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ Case IH และ New Holland

    Penmetsa เกิดที่เมือง Guntur ในอินเดีย สมัยเด็กเขาหลงใหลรถยนต์ความเร็วสูง หลังจากจบปริญญาโทด้านวิศวกรรมเครื่องกลจาก University of Cincinnati เมื่อปี 2002 เขาได้งานที่ MillenWorks ในเมือง Huntington Beach รัฐ California ซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์ล้ำสมัยที่ก่อตั้งโดยนักแข่งรถระดับตำนานชาวนิวซีแลนด์ Rod Millen

    ที่ MillenWorks เขาช่วยพัฒนาหุ่นยนต์รุ่นทดลองให้ Darpa ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของแผนกยุทธภัณฑ์และออกแบบชุดแบตเตอรี่ที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้ายุคแรกที่ Mitsubishi เปิดตัวในงานแสดงรถยนต์ Detroit Auto Show ปี 2004

    ต่อมาเมื่อ Millen ขายบริษัทให้ Textron ในปี 2010 Penmetsa จึงตัดสินใจตั้งบริษัทของตนเองชื่อ Motivo ร่วมกับอดีตเพื่อนร่วมงานที่ MillenWorks คือ Omohundro พวกเขาช่วยกันพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและทำโครงการสาธิตที่นำ Toyota Prius มาดัดแปลงเป็นเครื่องปั่นไฟฉุกเฉินด้วย

    เมื่อ Omohundro ทราบว่าองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาเกษตรกรรมในประเทศกำลังพัฒนา ในปี 2013 เขากับ Penmetsa จึงรับคำท้า พวกเขาสร้างแทรกเตอร์ไฟฟ้าคันแรกของ Motivo ชื่อ Harvest ซึ่งเป็นรถคันเล็กที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นส่วนใหญ่ ในที่สุดพวกเขาก็สร้างแทรกเตอร์ 3 คัน และนำ 2 คันไปทดสอบที่บ้านตายายของ Penmetsa ที่หมู่บ้าน Maharajpei

    จากการพูดคุยกับเกษตรกรในอินเดียและสหรัฐฯ พวกเขาได้ยินคำบ่นซ้ำๆ แบบเดียวกันคือ ทำไร่นาไปก็ไม่มีอนาคต “แรงงานภาคการเกษตรขาดแคลนทั่วโลก เกษตรกรต้องดิ้นรนเพราะกำไรน้อย แถมยังโดนแรงกดดันเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น” Penmetsa กล่าว

    เมื่อกลับมาที่สหรัฐฯ พวกเขาจึงสร้างหุ่นยนต์เกษตรกรรมรุ่นทดลองคือ หุ่นยนต์ย้ายต้นกล้ามันฝรั่งและหุ่นยนต์กำจัดวัชพืชในแปลงผักกาด แต่มันแพงมาก (เกิน 500,000 เหรียญ) จนเป็นได้แค่โครงการสาธิตสวยหรู แต่สิ่งที่เหมาะสมในเชิงพาณิชย์มากกว่านั้นคือยานพาหนะไร้คนขับ

    ในช่วงที่พวกเขาทำงานให้ DriveAI (ซึ่ง Apple ซื้อกิจการไปเมื่อปี 2019) และ Faraday Future พวกเขาเริ่มฝันถึงรถแทรกเตอร์ไฟฟ้าอัตโนมัติในราคาที่เกษตรกรจับต้องได้

    จากนั้นไม่นานทั้ง 2 คนก็ดึง Schwager วัย 39 ปีเข้ามาร่วมทีม จากนั้นก็มี Mondavi วัย 43 ปี ซึ่งเป็นหลานชายของ Robert Mondavi และปัจจุบันมีไร่องุ่นของตนเองในรัฐ California และอิตาลีเข้ามาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งคนที่ 4 และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเกษตรกรรม

    พวกเขาจึงก่อตั้ง Monarch ในเดือนธันวาคม ปี 2018 โดยตั้งชื่อบริษัทตามชื่อของผีเสื้อจักรพรรดิ (monarch butterfly) อพยพย้ายถิ่น ซึ่งกำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เนื่องจากการใช้สารเคมีในฟาร์ม

    เมื่อได้ Mondavi เข้ามาช่วย พวกเขาจึงเล็งตลาดไร่องุ่นซึ่งปลูกองุ่นเป็นแถวอยู่ใกล้กัน มีต้นทุนค่าแรงสูง และมีลูกค้าที่ยินดีจะจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ “สีเขียว” สิ่งที่ Mondavi มุ่งหวังคือ เมื่อรถแทรกเตอร์หุ่นยนต์ของ Monarch ช่วยให้การทำไร่มีความแม่นยำขึ้น เกษตรกรจะลดการใช้สารเคมีลงได้โดยไม่ทำให้ผลผลิตหรือกำไรลดลง

    การสร้างรถแทรกเตอร์ไฟฟ้าเป็นงานยากและการทำให้ได้ในราคาที่ชาวไร่จ่ายไหวยิ่งยากกว่า ในช่วงแรกวิศวกรของ Monarch ตั้งเต็นท์อยู่ในไร่องุ่น Wente Vineyards เพื่อพัฒนาและทดสอบรถ แต่ Monarch ยังสร้างรถแทรกเตอร์ได้แค่ 2 คันในราคาคันละครึ่งล้านเหรียญ

    ต่อมาในปี 2021 บริษัทเปิดตัวรถแทรกเตอร์รุ่นที่ 2 ด้วยราคา 250,000 เหรียญ และเริ่มให้เกษตรกรไร่องุ่นกับฟาร์มโคนมทดลองใช้ พวกเขาลดความซับซ้อนลงด้วยการมุ่งเน้นระบบอัตโนมัติสำหรับงานพื้นฐานที่สุดงานหนึ่งในฟาร์ม นั่นคือการตัดหญ้า

    แต่มีปัญหาใหญ่อยู่ข้อหนึ่งคือ การชาร์จไฟ ที่ตอนนี้หุ่นยนต์ส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งสถานีชาร์จไฟซึ่งอาจมีต้นทุนการติดตั้งหลายพันเหรียญ นอกจากนี้ อาจมีอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งคือ กฎข้อบังคับของรัฐ California ยังไม่อนุญาตให้ใช้แทรกเตอร์อัตโนมัติอย่างสมบูรณ์และยังต้องมีคนขับนั่งไปด้วย แต่ Monarch ยื่นคำร้องขอให้รัฐยอมรับแทรกเตอร์อัตโนมัติเต็มรูปแบบแล้ว และรัฐก็ตกลงจะพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง

    ไม่ว่าอย่างไร หากมองในระยะยาวยุคของหุ่นยนต์จะต้องมาถึงอย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อพิจารณาจากปัญหาขาดแคลนแรงงานที่เรื้อรังมานานในอุตสาหกรรมนี้

    Penmetsa เล่าว่า ในช่วงแรกๆ มีนักลงทุนเรียกพวกเขาว่า เป็นพวกชอบความเจ็บปวด “พวกนั้นมีความเชื่อต่อๆ กันมาหลายอย่างซึ่งเราฟังแล้วปวดใจชะมัด เช่น ชาวไร่น่ะไม่ยอมใช้เทคโนโลยีหรอก” เขากล่าว “เกษตรกรมีความรู้ดีมากนะ และพวกเขายอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ แน่ถ้าลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนคุ้มค่า”


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : SentiLink สตาร์ทอัพผู้ใช้ AI ต่อสู้กับการโกงเงินสินเชื่อรูปแบบใหม่

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine พิเศษ! ฉบับนี้แถมฟรี Forbes Life