Wonderful Co. มหัศจรรย์ธุรกิจผึ้งพันล้าน - Forbes Thailand

Wonderful Co. มหัศจรรย์ธุรกิจผึ้งพันล้าน

บริษัท Wonderful ของมหาเศรษฐีคู่สามีภรรยา อย่าง Stewart และ Lynda Resnick คือหนึ่งในบรรดาผู้ครอบครองฝูงผึ้งขนาดใหญ่ระดับ Top 5 ของสหรัฐอเมริกา พวกเขาน่าจะยุ่งจนงานล้นมือไม่น้อยเพราะมีหน้าที่ต้องดูแลการผสมเกสรให้แก่หนึ่งในสามของแหล่งอาหารภายในประเทศ แต่เรื่องที่น่าสนใจและดูจะยุ่งสำหรับทั้งสองมากกว่า คือ พวกเขาใช้วิธีบริหารจัดการในการปล่อยเช่าฝูงผึ้งได้อย่างไร?


    ผึ้งหลายพันชีวิตพากันบินออกจากลังไม้ที่ตั้งอยู่เรียงราย มุ่งหน้าตรงเข้าสู่ป่าละเมาะอันกว้างใหญ่ไพศาลไปด้วยต้นอัลมอนด์ผลิดอกสีขาวบานสะพรั่ง กลิ่นหอมหวานของฤดูใบไม้ผลิอบอวลทั่วหุบเขาตอนกลางของรัฐแคลิฟอร์เนีย และเหล่าผึ้งตัวน้อยก็กำลังเตรียมผสมเกสรพืชพรรณที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศ

    Stewart และ Lynda Resnick คู่สามีภรรยาซึ่งเป็นเกษตรกรในระดับมหาเศรษฐีของสหรัฐฯ คือผู้ครอบครองอาณานิคมผึ้งและไร่อัลมอนด์ทั้งหมดนี้ พวกเขาดำเนินกิจการบริษัทด้านการเกษตรยักษ์ใหญ่นาม Wonderful โดยมียอดขายรายปี 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากสินค้าต่างๆ เช่น ส้ม Halos, น้ำดื่ม Fiji Water, น้ำทับทิม Pom Wonderful และเลมอนไร้เมล็ด

    Wonderful มีรังผึ้งราว 80,000 รัง และเต็มไปด้วยประชากรผึ้ง 4.5 พันล้านตัว นี่จึงทำให้พวกเขาเป็นหนึ่งในผู้เลี้ยงผึ้งรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ซึ่งมีบริษัทเพียงห้ารายเท่านั้นที่เป็นผู้มีอำนาจเหนืออาณานิคมผึ้งส่วนใหญ่ของประเทศแห่งนี้ บรรดาผึ้งของพวกเขาจะรับหน้าที่ผสมเกสรราวหนึ่งในสามของอาหารทั้งหมดที่ชาวอเมริกันบริโภคในแต่ละปี นับตั้งแต่แอ๊ปเปิ้ลและหัวหอมไปจนสตรอว์เบอร์รี่และแครอต

    ผู้ผลิตเนื้อวัวก็ต้องการผึ้งเช่นกันในการผสมเกสรพืชที่ใช้เป็นอาหารวัวอย่างหญ้าอัลฟัลฟ่า (Alfalfa) และถั่วเหลือง ความต้องการผึ้งนั้นสูงมาก สวนทางกับปริมาณผึ้งอันน่าเป็นห่วงเนื่องมาจากการตายของผึ้งในแต่ละปี ทำให้ Wonderful ปล่อยเช่าผึ้งแก่เกษตรกรในรัฐเมนอันห่างไกล

    “นักผสมเกสรเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการผลิตอาหาร” Rob Yraceburu หัวหน้าปฏิบัติการเลี้ยงผึ้งและประธานการทำไร่เกษตรกรรมของ Wonderful บอกกับ Forbes “พวกมันสำคัญต่อความมั่นคงของแหล่งผลไม้และถั่วที่พวกเราทั้งหมดจำเป็นต้องพึ่งพา”

    สองสามีภรรยา Resnick ร่วมกันสร้างอาณาจักรเกษตรกรรม พวกเขารู้ดีว่าพืชพรรณจะปราศจากความสุขเมื่อไร้ฝูงผึ้ง พืชที่เป็นอาหารจำนวนมากไม่อาจเติบโตสมบูรณ์ได้โดยไม่มีผึ้ง ถั่วและผลไม้มีขนาดเล็กลง ดอกไม้ก็แตกหน่อน้อยลงด้วยเช่นกัน

    ก่อนที่ Resnick ทั้งสองจะเป็นเจ้าของฝูงผึ้ง พวกเขาใช้บริการบริษัทผึ้งต่างๆ ถึง 75 บริษัทเป็นประจำทุกปีเพื่อให้พวกมันผสมเกสรในไร่อัลมอนด์ ความยุ่งยากด้านโลจิสติกส์นี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ดังนั้นในปี 2015 ทาง Wonderful จึงซื้อบริษัทเลี้ยงผึ้งขนาดเล็กสี่ราย และเริ่มต้นเลี้ยงผึ้งของตัวเองเสียที



    นับแต่นั้น Wonderful ก็สามารถพาตัวเองรอดพ้นจากปัญหาต่างๆ ที่คู่แข่งหลายรายต้องเผชิญได้ โดยในปี 2022 ที่ผ่านมา ผึ้งเลี้ยงทั่วประเทศได้ล้มตายเป็นจำนวนมากราว 40% ถือเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 11 ปี อ้างอิงจากกลุ่มอนุรักษ์ผึ้ง Bee Informed ที่ University of Maryland

    ขณะที่ Wonderful นั้นกลับตรงกันข้าม ประชากรผึ้งของพวกเขาสามารถเติบโตได้เองแบบธรรมชาติด้วยอัตรา 13% ต่อปี ทางบริษัทไม่ได้ซื้อผึ้งเพิ่มเลยตลอดห้าปี และจำนวนรังผึ้งที่เลี้ยงไว้เพื่อผสมเกสรก็เพิ่มขึ้นจาก 45,000 รัง ในปี 2021 เป็น 60,000 รัง ในปี 2022 โดยแต่ละรังมีผึ้งประมาณ 60,000 ตัว

    “ผึ้งของเราตายน้อยกว่าเพราะเราคอยดูแลพวกมัน” Yrace-buru เผย “การเติบโตทั้งหมดเป็นผลมาจากการที่เราให้ความสำคัญกับสุขภาพของผึ้ง และยังเน้นการย้ายฝูงผึ้งไปยังสถานที่ที่มีพืชพรรณเติบโต”

    หลังจากฝูงผึ้งของ Wonderful ได้ทำการผสมเกสรต้นอัลมอนด์ของทางบริษัทเสร็จเรียบร้อยในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ คนงานก็จะใช้รถบรรทุกควบคุมอุณหภูมิกระจายละอองเกสรไปยังไร่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีคนขับรถสองคนคอยสลับหน้าที่กัน ซึ่งรถจะจอดเพื่อเติมน้ำมันและทานอาหารเท่านั้น ส่วนรังผึ้งจะถูกคลุมด้วยตาข่ายเพื่อไม่ให้เหล่าบรรดาฝูงผึ้งบินหนีไประหว่างการเดินทาง

    ช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ พวกเขาเริ่มจากไร่บลูเบอร์รี่ที่รัฐเมน ต่อด้วยไร่แครนเบอร์รี่ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ในเดือนมิถุนายน ฝูงผึ้งจะไปยังรัฐเท็กซัส รัฐมิสซิสซิปปี และรัฐฟลอริด้าเพื่อแบ่งรังเพิ่มจำนวนประชากรขณะผลิตน้ำผึ้งไปด้วย แล้วจึงมุ่งหน้าสู่รัฐนอร์ธดาโคตา รัฐเซาธ์ดาโคตา และรัฐมินนิโซตาเพื่อผลิตน้ำผึ้งจากดอกโคลเวอร์ ดอกไม้ป่า และดอกคาโนล่า ต่อไปยังคลังเก็บผลผลิตที่รัฐไอดาโฮ ก่อนจะกลับบ้านที่รัฐแคลิฟอร์เนีย

    “มันกลายมาเป็นธุรกิจจริงจัง” Yraceburu กล่าว ซึ่งทาง Wondeful ยังเสริมด้วยว่าธุรกิจนี้ทำกำไรได้ดี แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยตัวเลขที่แน่นอน

    การผสมเกสรไม่ได้มีราคาถูกเลย บรรดาผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลว่าอัตราต่อพื้นที่ไร่อัลมอนด์หนึ่งเอเคอร์ต่ำสุดอยู่ที่ 400 เหรียญ

    ความตึงเครียดจากจำนวนผึ้งที่ลดลงสวนทางกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้าอาหารอย่างเบอร์รี่ต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย Barbara Bar-Imhoof จากศูนย์ประสานงานการวิจัยเกี่ยวกับผึ้ง (CIBER) แห่ง University of California, Riverside กล่าว


    “การผสมเกสรถูกนำมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการคำนวณราคาสินค้า หากเราสร้างความมั่นคงในการผสมเกสรและดูแลผึ้งให้แข็งแรง ก็จะช่วยให้ราคาพื้นฐานของสินค้าต่างๆ อยู่ในกรอบที่สมเหตุสมผลได้”

    ธุรกิจเลี้ยงผึ้งดูจะเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับธุรกิจรายเล็กที่ครอบครองรังผึ้งน้อยกว่า 1,000 รัง และมีแนวโน้มว่าจะเป็นธุรกิจครอบครัว โดยการจัดหาทรัพยากร ต้นทุน ตลอดจนการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ในการเลี้ยงผึ้งอาจเป็นปัญหาสำหรับพวกเขาได้

    นั่นคือสาเหตุหนึ่งที่อุตสาหกรรมนี้เอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจรายใหญ่เสียมากกว่า ผลสำรวจรายปีของ Bee Informed พบว่า ธุรกิจของผู้เลี้ยงผึ้งขนาดเล็ก 95% ดูแลผึ้งเพียง 7% ของประเทศเท่านั้น ในขณะที่ธุรกิจของผู้เลี้ยงผึ้งขนาดใหญ่มีเพียงแค่ 2% กลับครอบครองรังผึ้งสูงถึง 88% จากจำนวนรังผึ้งทั้งหมด 2.3 ล้านรังในสหรัฐฯ


    ตัวเลขที่เห็นนี้ชี้ว่าอุตสาหรรมผึ้งมีความเสี่ยง


    Adee Honey Farms กิจการเอกชนของครอบครัวในรัฐเซาธ์ดาโคตาซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เลี้ยงผึ้งรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ต้องตั้งต้นใหม่หลังเผชิญหายนะ ในปี 2007 ผึ้งในรังของ Adee Honey Farms ราวร้อยละ 90 พากันล้มตาย ตอนนี้เป้าหมายของพวกเขาคือลดอัตราการตายของผึ้งในแต่ละปีให้ต่ำกว่าร้อยละ 18 จากอาณานิคมทั้งหมด

    Bret Adee หลานของ Richard Adee ผู้ก่อตั้งบริษัทในปี 1957 เผยว่าเป็นเรื่องน่าตกใจอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับความคาดหมายในอดีต “ถ้าผึ้งของผมต้องตายมากกว่า 5% ในฤดูหนาว ผมก็ต้องเสียใจอยู่แล้ว” Bret Adee บอกกับ Forbes “พอมาเจอผึ้งตายเยอะมากแบบในตอนนี้อีกน่ะหรือ? โอ้โห”

    ช่วงปี 1990 ตอนที่ Adee อายุ 29 ปี เขาต้องการหาจุดยืนของตนเองในธุรกิจครอบครัว ดังนั้นเขาจึงบรรทุกรังผึ้งจำนวนหนึ่งไปยังรัฐแคลิฟอร์เนียที่ซึ่งการผสมเกสรอย่างรวดเร็วกลับกลายเป็นส่วนที่ทำกำไรแก่ Adee Honey Farms จำนวนมาก การผสมเกสรอัลมอนด์ที่นั่นเป็นประจำทุกปีสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทประมาณสองในสามของรายได้รวมในแต่ละปี และยังทำกำไรได้ดีอีกด้วย

    พวกเขายังคงทำธุรกิจขายน้ำผึ้งตามชื่อบริษัท โดยผลิตภัณฑ์ที่มีกำไรขั้นต้นต่ำ (Low-margin) อาจได้รับผลกระทบจากการแทรกแซงตลาดในช่วงที่มีของปลอมราคาถูกไหลทะลักออกมาจำหน่าย

    “ธุรกิจนี้ก็เหมือนกับการทำไร่อื่นๆ ในสหรัฐฯ” Bret Adee ว่า “กำไรขั้นต้นเล็กน้อยมากเสียจนตอนนี้มันกลายเป็นเรื่องของขนาดไปหมดแล้ว”

    ขณะที่ Wonderful ทำทุกสิ่งอย่างยิ่งใหญ่ เช่น พวกเขาเป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนผู้ครอบครองระบบจัดการทรัพยากรน้ำรายใหญ่ที่สุดของประเทศ และยังขึ้นชื่อเรื่องการพัฒนาแบรนด์ที่มีความผูกพันกับผู้บริโภคอย่างเหนียวแน่น แต่กระทั่งตอนนี้ก็ยังไม่มีผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งของ Wonderful วางอยู่บนชั้นตามซูเปอร์มาร์เก็ตเลย

    Yraceburu ให้ข้อมูลว่า Wonderful ขายส่งน้ำผึ้งให้กับตัวแทนต่างๆ ที่จะนำมันไปบรรจุขายภายใต้แบรนด์อื่น ทางบริษัทยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจขายผลิตภัณฑ์จากผึ้งอื่นๆ ไม่ว่าจะสารสกัดโพรโพลิส (Propolis) อันอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ หรือขี้ผึ้ง

    กลับมาที่เรื่องการตายของผึ้งซึ่งยังคงเป็นปัญหาสำคัญ ยาฆ่าแมลงและสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรอื่นๆ รวมถึง ปรสิต โรคใหม่ๆ ต่อเนื่องไปถึงภาวะโลกร้อนที่ยังคงส่งผลกระทบคุกคามประชากรผึ้งในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องและแผ่ขยายออกเป็นวงกว้าง ในบรรดาพืชพรรณที่ใช้เป็นอาหาร 100 อันดับแรกนั้น มี 80 ชนิดที่ต้องใช้ผึ้งช่วยในการผสมเกสร แต่ผึ้งป่าและผึ้งพื้นถิ่นก็มีเหลืออยู่ไม่มากแล้ว ส่วนผึ้งที่อยู่รอดได้ก็ถูกบริษัทต่างๆ ครอบครองมากขึ้นเรื่อยๆ

    ผึ้งในสหรัฐฯ จำนวนมากสืบเชื้อสายมาจากผึ้งยุโรปซึ่งมาเยือนดินแดนแห่งนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1622 ที่อาณานิคม Jame-stown ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมือง Williamsburg รัฐเวอร์จิเนียในปัจจุบัน ชาวอังกฤษที่ย้ายมาตั้งรกรากที่นี่ใช้ผึ้งในการผสมเกสรผักผลไม้ที่พวกเขานำมาด้วย พืชพรรณธัญญาหารที่ชาวอเมริกันพื้นเมืองปลูกส่วนใหญ่ เช่น ข้าวโพด และมะเขือเทศ ล้วนไม่ต้องพึ่งพาผึ้งจากยุโรป แต่แน่นอนว่าพวกมันไม่ใช่พืชที่เกษตรกรจากอังกฤษปลูกและขยายพันธุ์ ซึ่งนั่นคือสาเหตุว่าทำไมแหล่งผลิตอาหารในอเมริกาทุกวันนี้จึงขาดผึ้งยุโรปไม่ได้

    บริษัทใหญ่ เช่น Wonderful ต่างก็มีศักยภาพในการดูแลผึ้งอย่างดี สองสามีภรรยา Resnick และผู้เลี้ยงผึ้งรายใหญ่อื่นๆ ต่างก็พยายามป้องกันผึ้งไม่ให้เป็นโรคตลอดวงจรชีวิตของพวกมันโดยการรักษาอุณหภูมิให้เหมาะสม

    สามเดือนตลอดฤดูหนาวเหล่าประชากรผึ้งจะถูกเลี้ยงในโกดังควบคุมอุณหภูมิซึ่งช่วยยืดวงจรชีวิตของพวกมัน ส่วนช่วงฤดูร้อนหลังเสร็จงานผสมเกสรเรียบร้อยแล้ว ผึ้งจำนวนมากจะพากันออกไปสังสรรค์ในทุ่งหญ้าแพรรี (Prairie) เพราะมีพื้นที่ปศุศัตว์อันกว้างขวางเต็มไปด้วยดอกไม้ป่าบานสะพรั่ง กอปรกับมีการใช้ยาฆ่าแมลงและยากำจัดวัชพืชในปริมาณน้อย

    อย่างไรก็ตามภัยแล้งที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ได้ส่งผลร้ายต่อเหล่าผู้เลี้ยงผึ้งที่ต้องอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์

    “ทุกคนต่างก็สูญเสียรายได้และขาดทุนกันเป็นจำนวนมาก” Bret Adee กล่าว “ผู้ประกอบธุรกิจเกือบ 90% ของอุตสาหกรรมหรือมากกว่านั้นต้องขาดทุนสูญเสียทรัพย์สินส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเงินเก็บ หรือเงินที่ได้จากการขายน้ำผึ้งในบัญชี”

    อย่างไรก็ตาม แม้ผลประโยชน์จากธุรกิจผึ้งจะมาพร้อมกับความใหญ่โตของบริษัท แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเหล่าบริษัทผู้เลี้ยงผึ้งรายใหญ่จะคว้าผลประโยชน์เหล่านั้นมันมาโดยง่าย เพราะเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน หลังกระแสการควบรวมและเข้าซื้อเพื่อขยายกิจการ บริษัทหน้าใหม่มากมายต่างก็ดำเนินธุรกิจล้มเหลวไม่เป็นท่า

    Roger Starks ที่ปรึกษาด้านประกันภัยร่วมด้วยสำนักงานสาขา Sioux Falls รัฐเซาธ์ดาโคตาของบริษัทบริหารธุรกิจ Marsh McLennan ซึ่งเพิ่งจะเกษียณหลังทำงานมา 51 ปีกล่าวว่า เขาเคยเฝ้ามองบริษัทใหญ่ซื้อธุรกิจเล็กๆ มารวมกัน แต่แล้วก็ต้องขายคืนให้เจ้าของเดิมสองปีจากนั้นในราคาต่ำกว่าที่ซื้อมากว่า 25% โดย Starks ชี้ว่าที่บริษัทเหล่านั้นล้มเหลวเพราะเหล่าเจ้าของไม่ได้เข้าถึงกิจการอย่างใกล้ชิด

    “ธุรกิจด้านการเกษตร คือ วิถีชีวิตอย่างแท้จริงเลยล่ะ” Starks บอกกับ Forbes “การขยายกิจการผ่านการควบรวมจะส่งผลดีเยี่ยมหากคุณรู้ตัวเองดีว่ากำลังทำอะไรอยู่”


    แปลและเรียบเรียงจากบทความ Inside A Billionaire Bee Colony ซึ่งเผยแพร่บน Forbes


    อ่านเพิ่มเติม : สมาคมการตลาดฯ เผย 4 เทรนด์การตลาด รับมือความต้องการของผู้บริโภค

    ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine