ลูกตุ้มยักษ์เงินสหรัฐฯ แข็งค่าและผลต่อตลาดเอเชีย - Forbes Thailand

ลูกตุ้มยักษ์เงินสหรัฐฯ แข็งค่าและผลต่อตลาดเอเชีย

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Oct 2022 | 06:54 PM
READ 5375

การแข็งค่าของสกุลเงินสหรัฐฯ ถือเป็นประเด็นใหญ่ตลอดช่วงเวลาสิบเดือนแรกของปี 2022 ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของทิศทางเศรษฐกิจของเอเชีย แม้ว่าตลาดประเทศเกิดใหม่ทุกแห่งจะได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้า แต่ตลาดเอเชียซึ่งพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก อีกทั้งยังเป็นภูมิภาคที่ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มากที่สุด จึงนับว่ามีความเสี่ยงเฉพาะ


เมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์การเงินที่ผ่านมา เงินสหรัฐฯ ซึ่งแข็งค่าอย่างหนักมักนำเศรษฐกิจของเอเชียไปสู่จุดจบที่ไม่สวยงามนัก โดยจะเห็นได้จากวิกฤตการเงินในช่วงปี 1997-1998 อันเป็นผลมาจากการขึ้นนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ในปี 1994-1995

ณ เวลานั้น ค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่ทะยานสูงขึ้นเป็นคล้ายแม่เหล็กดึงดูดเงินลงทุนจากทั่วโลก ส่งผลให้ทรัพย์สินที่เป็นสกุลเงินของสหรัฐฯ ได้รับผลพลอยได้จากเหล่านักเทรดซึ่งกลัวการตกกระแส เว้นไว้แต่เศรษฐกิจโลกซึ่งได้ย่ำอยู่กับที่

ในประเทศแถบเอเชียอย่างไทย, อินโดนีเซีย, เกาหลีใต้และประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินในช่วงเวลาดังกล่าว ได้ขาดแคลนเงินทุนเป็นอย่างมาก ทางเศรษฐกิจของมาเลเซียและฟิลิปปินส์เจ็บตัวอย่างสาหัสจากการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน

สิ่งที่น่าเป็นกังวลนั่นคือการที่ปรากฏการณ์ทางการเงินในลักษณะนี้กำลังเริ่มก่อตัวอีกครั้ง ซึ่งแม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่างจีนยังไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบได้เหมือนดังเช่นตอนช่วงท้ายของศตวรรษ 90

ย้อนกลับไปเวลานั้น การที่รัฐบาลจีนได้อ่อนค่าเงินหยวนนั้นได้ทำให้ทั้งกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ และ IMF ร้อนรนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเกิดความกังวลว่าจะเกิดการลดค่าเงินอีกรอบและทำให้สถานการณ์ทางการเงินนั้นแย่ลงกว่าเดิม

ปัจจุบัน ประเทศจีนกำลังทำให้ทั้งตลาดโลกตกอยู่ในความหวาดผวา เพียงแต่บริบทนั้นแตกต่างออกไปจากเดิม หรือกล่าวคือ สถานการณ์ในตอนนี้ไม่ใช่เรื่องของการปั่นค่าเงิน แต่เป็นการที่เหล่านักลงทุนเริ่มทยอยถอนตัวหลังพบว่าจีนซึ่งมีสถานะตลาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียเริ่มปรากฏสัญญาณอ่อนแอทางเศรษฐกิจ

บาดแผลทางเศรษฐกิจภายในจีนส่วนมากนั้นอาจอธิบายที่มาได้ว่า เกิดจากนโยบายที่รัฐบาลจีนออกมาบังคับใช้ภายในประเทศ โดยเฉพาะนโยบาย “zero-Covid” หรือโควิดเป็นศูนย์ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลายภาคส่วน อีกทั้งข้อกำหนดและระเบียบควบคุมกลุ่มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ภายในประเทศที่คล้ายว่าจะขัดแย้งกับปณิธานของประธานาธิบดี Xi ในการปฏิรูปภาคเอกชนของจีน

การแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ ในปัจจุบันได้ดึงเงินลงทุนออกจากประเทศจีนในช่วงเวลาซึ่งนับว่าเป็นจังหวะที่เลวร้ายที่สุดสำหรับประธานาธิบดี Xi Jinping โดยสถานการณ์เงินหยวนซึ่งลดลงมาเกือบร้อยละ 13 ในปีนี้ ยิ่งทำให้บริษัทในประเทศสูญเสียความสามารถในการชำระหนี้ที่เป็นสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ และเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระ

ในขณะที่ราคาสินค้าสูงขึ้นเรื่อยๆ ภูมิภาคเอเชียได้เริ่มต่อสู้ในสนามรบเงินเฟ้อโดยใช้กลยุทธ์ “Reverse Currency War” หรือ สงครามอัตราแลกเปลี่ยนย้อนกลับ ทำให้ธนาคารกลางต่างๆ ต้องแข่งกันทำให้ค่าเงินของประเทศตัวเองแข็งค่า แตกต่างจากระยะเวลาในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาซึ่งหลายประเทศได้ลดอัตราแลกเปลี่ยนลงเพื่อกระตุ้นการส่งออก นโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในปัจจุบันจึงทำให้ธนาคารกลางทั้งใน Beijing และ Jakarta ต่างต้องดิ้นรนตรึงค่าเงิน

รูปโดย Getty


ความน่ากังวลในสถานการณ์ปัจจุบันคือ สภาวะเกมเศรษฐกิจแบบ zero-sum กำลังจะกลับมาอีกครั้ง และค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่พุ่งสูงขึ้นยิ่งทำให้ตลาดเศรษฐกิจทั้งประเทศพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

“ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจของเรากำลังเข้าสู่ช่วงวิกฤตเงินเหรียญสหรัฐฯ แข็งค่าเป็นครั้งที่สามในรอบ 50 ปี” Paul Gruenwald หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่บริษัทเครดิตเรตติ้ง S&P Global Ratings กล่าว “ปัญหานี้มันไม่มีทางแก้ที่เป็นสูตรสำเร็จ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นยิ่งทำให้ผลผลิตและอัตราการจ้างงานลดลงในขณะที่การออกนโยบายแทรกแซงน่าจะยิ่งทำให้ทุนสำรองร่อยหรอลง​”

Gruenwald กล่าวว่าการแก้ไขปัญหาเงินเหรียญสหรัฐฯ แข็งค่าอย่างในช่วงยุค 80 ต้องอาศัยทั้งการอนุมัติเงินจากทำเนียบขาวที่กรุง Washington และพันธมิตรจากประเทศทั่วโลก การดำเนินตามสนธิสัญญา “Plaza Accord” อย่างเช่นปี 1985 เพื่ออ่อนค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ นั้นยิ่งดูจะไม่ใช่ทางออกที่เป็นไปได้ อันจะเห็นได้จากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงเพื่อรักษาค่าเงินเยนเมื่อเดือนที่แล้วอย่างไม่ประสบความสำเร็จนัก

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้สกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ เป็นสกุลเงินซื้อขายหลักของโลกนั้นเกิดจากความขาดแคลนของตัวเลือกอื่นๆ ในปีนี้ ทางสกุลเงินเยนได้ร่วงลงมาร้อยละ 27 หลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ พยายามเร่งดำเนินการตามนโยบายกระตุ้นการเงิน

ในส่วนของสกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิงได้ร่วงลงมาเท่าค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ เมื่อนายกรัฐมนตรีอังกฤษ Liz Truss ได้ทำการชำแหละนโยบายเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วหลังจากที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings ได้ประเมินให้สถานะหนี้สาธารณะของสหราชอาณาจักรลดลงมาอยู่ในระดับเสี่ยง

แม้ว่าจีนจะเป็นชาติที่การค้าเติบโตเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทว่า สถานะของเงินหยวนยังไม่สามารถไต่ระดับขึ้นมาเป็นสกุลเงินสำรองหลักได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงินหยวนยังขาดคุณสมบัติในการแลกเปลี่ยนได้อย่างเสรี หรือ “full convertibility” นอกจากนี้ ประเทศจีนยังขาดความเชื่อมั่นจากเหล่านักลงทุนทั่วโลก เนื่องมาจากการดำเนินนโยบายภายในประเทศอันยากที่จะคาดเดา

ทั้งนี้ แม้ว่า Fed จะทำให้ตลาดโลกสะเทือนด้วยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นมากเท่าไหร่ เหล่าผู้ลงทุนยิ่งสะสมเงินเหรียญสหรัฐฯ มากขึ้นเท่านั้น

จากรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ได้เตือนสั้นๆ ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังเลวร้ายได้มากกว่านี้อีกและปี 2023 อาจเป็นปีที่เหมือนเศรษฐกิจถดถอยสำหรับหลายๆ คน โดย IMF คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2023 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.7

การแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ นั้นก็เปรียบเหมือนกับลูกตุ้มเหล็กยักษ์ ทุกครั้งที่ลูกตุ้มเหล็กลูกนี้เริ่มแกว่งตัวทุกครั้ง ความเสี่ยงต่อการเกิดความผันผวนของกระเเสเงินทุนและวิกฤตหนี้ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น


แปลและเรียบเรียงโดย สิรินนรี อ๋องสกุล จากบทความ Strong Dollar Is “Wrecking” Asia’s 2023 Hopes, Too เผยแพร่บน Forbes.com

อ่านเพิ่มเติม:


​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine

TAGGED ON