หรือเปียโนจะสูญสิ้น? เมื่อออสเตรเลียขาดแคลนช่างจูนเสียง - Forbes Thailand

หรือเปียโนจะสูญสิ้น? เมื่อออสเตรเลียขาดแคลนช่างจูนเสียง

มีเปียโนมากมายตั้งอยู่ที่บ้าน โรงเรียน พื้นที่สาธารณะ และห้องแสดงดนตรีในประเทศออสเตรเลีย แต่การจะหาใครสักคนมาคอยจูนเสียงเครื่องดนตรีดังกล่าวกลับเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

    

    Caroline Sharpen ซีอีโอแห่ง Tasmanian Symphony Orchestra (TSO) กล่าวว่า “แรงงานสำคัญที่คุณอาจไม่เคยรู้” เหล่านี้กำลังพากันเกษียณจากอาชีพ

    “และในประเทศนี้ก็มีคอร์สสอนอาชีพแก่ผู้สนใจให้ได้เข้าเรียนเพียงเพียงที่เดียวเท่านั้น” เธอเล่า

Caroline Sharpen ซีอีโอแห่ง TSO


    หากผู้ดูแลขยันและใส่ใจ เปียโนแบบอัพไรท์ (Upright Piano) ตามบ้านต้องมีการจูนเป็นประจำทุกปี ส่วนที่โรงเรียนเครื่องดนตรีบรรเลงด้วยนิ้วเหล่านี้จะมีรอบการจูนทุกๆ หกเดือน แต่แกรนด์เปียโน (Grand Piano) ณ สถานที่จัดแสดงดนตรีขนาดใหญ่ต้องได้รับการดูแลโดยช่างเทคนิคผู้เชี่ยวชาญทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการแสดงรวมถึงช่วงซ้อมด้วย

    ทางใต้ของรัฐแทสเมเนีย คนผู้หนึ่งรับหน้าที่ดูแลเครื่องดนตรีเหล่านี้ เขาคือ Rod Collins และเขากำลังวางแผนเกษียณอายุ

    Sharpen ชี้ว่า “เปียโนจะให้เสียงที่ไพเราะก็ต่อเมื่อได้รับการดูแลใส่ใจอย่างดีพอๆ กับฝีมือของนักดนตรีที่เป็นผู้บรรเลง”

    

ช่างเปียโนกับทักษะระดับสูง

     

    ด้วยประสบการณ์สอนเปียโนกว่า 50 ปี รองประธานสมาคมครูสอนดนตรีแห่งแทสเมเนีย Jody Heald กล่าวว่าการทำนุบำรุงเปียโนเปรียบได้กับการแข่งรถ Formula 1 เลยทีเดียว 

    “เราต้องการทั้งช่างเปียโนระดับสูงซึ่งสามารถทำงานเฉพาะทางนี้ได้อย่างดีเยี่ยม แล้วก็ช่างที่พร้อมสำหรับงานในทุกวัน” Dr.Heald อธิบาย “เราอยู่ในสถานการณ์ที่ขาดแคลนช่างทั้งสองประเภท โดยเฉพาะที่ทางใต้ของแทสเมเนีย” 

    ความกังวลที่เธอมีต่ออนาคตของเปียโนในแทสเมเนียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เธอเผยว่าคงเป็นเรื่องน่าเศร้าหากเครื่องดนตรีเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลรักษาและต้องเสื่อมโทรมลง 

    “ฉันนึกไม่ออกเลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น มันอาจจบลงด้วยการจ่ายเงินราคาแพงเพื่อดึงตัวคนจากรัฐอื่นๆ มาทำงาน แต่ความเป็นไปได้ก็มีไม่มากนัก” เธอกล่าว “เราเหมือนจะดึงดูดนักแสดง ศิลปิน และบุคคลที่สนใจให้มาเยือนและพำนักที่นี่ได้ แต่เราไม่สามารถหาช่างจูนเปียโนได้เลย” 

    Dr.Heald นำความกังวลนี้ไปปรึกษา Sharpen แห่ง TSO และทางองค์กรก็คิดหาทางแก้ปัญหาขึ้นมาได้หนึ่งวิธี นั่นคือการให้ทุนนำร่องสองทุนเพื่อฝึกฝนในต่างรัฐ และกลับมาทำงานเป็นช่างจูนเปียโนที่พร้อมด้วยคุณสมบัติในแทสเมเนีย 

    แต่การจะหาจุดหมายที่จะส่งคนไปเรียนรู้ทักษะดังกล่าวก็ไม่ง่ายเช่นกัน

กลไกน่าอัศจรรย์ภายในแกรนด์เปียโน


    “ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา คอร์สเรียนจูนเสียงและดูแลเปียโนมีจำนวนลดลงต่อเนื่อง” Sharpen เผยข้อมูลอันน่าหนักใจ 

    ศาสตร์การบำรุงรักษาเปียโนเคยถ่ายทอดกันมาในครอบครัว ก่อนจะมีการเรียนการสอนในวิทยาลัยเฉพาะทาง แต่ตอนนี้ TSO กลับสามารถหาสถานที่ที่เปิดสอนวิชานี้ได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในออสเตรเลีย นั่นคือคอร์ส 10 เดือนทางตะวันตกของซิดนีย์ที่ซึ่งผู้เข้าร่วมจะได้เรียนพื้นฐานทั้งหมด ก่อนจะกลับไปให้ Collins ช่วยฝึกฝนต่อ

    

พร้อมฝึกฝนคนใหม่

     

    Sharpen การประมาณของ TSO ว่าพื้นที่ Greater Hobart ในแทสเมเนียต้องการตัวช่างจูนเปียโน 6-7 คนเพื่อคอยบำรุงรักษาเปียโนทั้งหมดในอาณาบริเวณดังกล่าว แต่จำนวนช่างจูนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ณ ขณะนี้มีเพียง 2-3 คนเท่านั้น

    “ชัดเลยว่ามันไม่พอ” เธอกล่าว พร้อมเสริมว่าที่ TSO เองก็มีเปียโนถึง 10 หลังที่ต้องการการทำนุบำรุงเป็นประจำ “ในสัปดาห์ที่มีการแสดง เราอาจมีการซ้อมประมาณ 4 ครั้ง เปียโนต้องได้รับการจูนทั้งก่อนและหลังซ้อมเสร็จ”

    ระหว่างการแสดงก็ต้องคอยจูนเปียโนสม่ำเสมอเช่นกัน เธอบอกด้วยว่าทักษะเฉพาะที่ Collins เชี่ยวชาญนั้นล้ำเป็นที่ต้องการมากเสียจนยากจะหาใครมาแทนที่

    “ปัญหาจริงๆ เกิดขึ้นตอน Rod ไม่อยู่ในวันหยุด เรามักขาดคนและต้องให้ใครสักคนบินมาจากซิดนีย์หรือเมลเบิร์น” ซึ่ง Rod Collins ก็กำลังหวังจะหยุดพักในปีหน้าด้วย

Rod Collins ผู้ดูแลเปียโนมากประสบการณ์


    “ตอนนี้มีแรงกระตุ้นสำคัญให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง เราจะได้เริ่มฝึกฝนคนรุ่นใหม่มาทำหน้าที่แทนเขา” Sharpen

    Martin Tucker คืออีกหนึ่งช่างจูนเปียโนชาวแทสเมเนีย แม้มีประสบการณ์เกือบ 40 ปีในวงการ เขายังคงไม่หยุดพักและคอยดูแลเปียโน 400-500 หลังต่อปีทั้งในแทสเมเนียและ Northern Territory ของออสเตรเลีย คอยเยี่ยมเยือนบ้าน โบสถ์ โรงเรียน กระทั่งคอกข้างสนามม้า เพื่อให้มั่นใจว่าเปียโนทุกหลังอยู่ในสภาพดี

    

เปียโนคือส่วนหนึ่งของชีวิต

    

    ออสเตรเลียยังคงนำเข้าเปียโน 5,000 หลังทุกปี โดย Sharpen กล่าวว่าเครื่องดนตรีชนิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวมากมาย มีการส่งต่อกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า

    “เราจึงมีเปียโนในประเทศและที่นำเข้ามาใหม่อีก 5,000 หลังทุกปี ทว่าไม่มีอาชีพที่จะคอยดูแลพวกมันอีกต่อไป” เธอเผย “จำนวนเปียโนยังคงเพิ่มขึ้น เราจำเป็นต้องต่อลมหายใจและเพิ่มจำนวนช่างจูนเปียโน”

    เธอบอกด้วยว่า “เปียโนคือส่วนหนึ่งของชีวิต และมีอายุยืนยาวมาก”

    หากถามว่าเปียโนมมูลค่ามากแค่ไหน ในป 2021 ชาวออสเตรเลียใช้จ่ายเงินมูลค่า 60 ล้านเหรียญออสเตรเลียไปกับอัพไรท์เปียโน แกรนด์เปียโน และเปียโนดิจิทัล ส่วนเครื่องดนตรีที่ใกล้เคียงกันอย่างคีย์บอร์ดก็มีตัวเลขใช้จ่ายสูงถึง 66 ล้านเหรียญ

    

    แปลและเรียบเรียงจาก Scholarship created by Tasmanian Symphony Orchestra to address piano tuner shortage ซึ่งเผยแพร่บน abc.net

    

    อ่านเพิ่มเติม : Katy Perry จากนักร้องสาวผู้โด่งดังสู่มหาเศรษฐีนีคนใหม่

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine