100 To Watch บริษัทขนาดเล็กและสตาร์ทอัพมาแรงแห่งเอเชีย 2023 - Forbes Thailand

100 To Watch บริษัทขนาดเล็กและสตาร์ทอัพมาแรงแห่งเอเชีย 2023

ท่ามกลางกิจการร่วมลงทุนที่ขาดท่อน้ำเลี้ยงทั่วโลกก็มิอาจยับยั้งการกำเนิดของสตาร์ทอัพทั่วเอเชียได้


    รายชื่อ Forbes Asia 100 to Watch ประจำปีนี้ฉายแสงไปยังบรรดาบริษัทขนาดเล็กและสตาร์ทอัพที่มุ่งเป้าลูกค้าที่เข้าถึงได้ยากในท้องตลาด หรือไม่ก็ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ตั้งแต่ Generative AI ไปจนการวินิจฉัยมะเร็งจากเลือด

    ทั้งยังรวมถึงนวัตกรรมรักษ์โลก เช่น การพัฒนาโปรตีนทางเลือกจากแมลง และการพากระบวนการผลิตนมเข้าสู่วิถีดิจิทัลเพื่อยกระดับอัตราผลตอบแทนต่างๆ นอกจากนี้ยังมีผู้ให้บริการโซเชียลคอมเมิร์ซ ซึ่งช่วยเหลือผู้ใช้งานในการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค

    บรรดาบริษัทจากประเทศและดินแดนทั้งหมด 11 แห่ง ถูกแบ่งเป็น 11 หมวดหมู่ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพและสุขภาพ อีคอมเมิร์ซและค้าปลีก การเงิน เป็นต้น โดยประเทศที่นำมาเป็นปีที่สองติดต่อกันคือสิงคโปร์พร้อมจำนวนบริษัท 20 แห่งบนทำเนียบ ตามด้วยฮ่องกง 15 แห่ง และจีนอีก 11 แห่ง

    ศูนย์กลางนวัตกรรมกำเนิดใหม่ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์พาให้ทั้งสองประเทศมีบริษัทในรายชื่อ 11 และ 9 แห่งตามลำดับ

    สำหรับไฮไลต์ 10 บริษัทขนาดเล็กและสตาร์ทอัพมาแรงบนทำเนียบ Forbes Asia 100 to Watch ได้แก่

    

    Abillion



    ประเทศ: สิงคโปร์

    ประเภทธุรกิจ: เทคโนโลยีเพื่อผู้บริโภค

    ปีที่ก่อตั้ง: 2017

    ซีอีโอ: Vikas Garg

    ผู้สนับสนุนหลัก: 1/0 Capital, 500 Global, Brinc, Blue Horizon, The Mills Fabrica และ SDG Impact Japan

    แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดีย Abillion ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถแบ่งปันเนื้อหาเกี่ยวกับความยั่งยืนและซื้อสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น อาหารมังสวิรัติ และเครื่องสำอางที่ไม่มีการทดลองกับสัตว์

    ทางบริษัทกล่าวว่าพื้นที่ซื้อขายแบบ peer-to-peer ของพวกเขาครอบคลุมกว่า 40 ประเทศ ทั้งยังมีการจับมือเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานการกุศลด้านสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนสวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์ม สิ่งมีชีวิตในทะเล และอีกมากมาย จนตอนนี้ Abillion ระดมทุนได้ 16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว

    

    Beleaf



    ประเทศ: อินโดนีเซีย

    ประเภทธุรกิจ: เกษตรกรรม

    ปีที่ก่อตั้ง: 2019

    ซีอีโอ: Amrit Lakhiani

    ผู้สนับสนุนหลัก: Alpha JWC Ventures, BRI Ventures, MDI Ventures และ Openspace Ventures

    Beleaf ฟาร์มระบบไฮโดรโปนิกส์ปลูกพืชผักใบเขียว สมุนไพร และพืชหัวส่งให้บรรดาคู่ค้า เช่น ร้านหม้อไฟ Haidilao และยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ Sho-pee

    ในปี 2022 แพลตฟอร์ม Farming as a Service (FaaS) ของพวกเขายังช่วยเหลือเกษตรกรชาวอินโดนีเซียมากมาย ด้วยคำแนะนำทางการเกษตร การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี และบริการตลาด งานของ Beleaf ดำเนินไปบนพื้นที่ฟาร์มอันกว้างใหญ่ 5 เฮกตาร์ โดยทางบริษัทกล่าวว่ามีพาร์ทเนอร์ FaaS จำนวน 20 ราย

    

    Care Concierge


    ประเทศ: มาเลเซีย

    ประเภทธุรกิจ: เทคโนโลยีสำหรับองค์กร
ปีที่ก่อตั้ง: 2017

    ซีอีโอ: Martin Yap

    ผู้สนับสนุนหลัก: Bintang Capital Partners, Gobi Partners และ OSK Ventures International

    บริษัทที่ตั้งเป้าไปยังประชากรผู้สูงอายุของมาเลเซีย Care Concierge นำเสนอสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะเข้ามาช่วยเหลือในการดำเนินชีวิต พร้อมด้วยบริการดูแลผู้สูงอายุ

    บนแอปพลิเคชัน Care Concierge ผู้ใช้งานสามารถเลือกพยาบาล นักบำบัด และผู้ดูแลจากจำนวนกว่า 2,000 คน ทั้งลูกค้ายังสามารถตรวจดูสัญญาณชีพของผู้สูงอายุที่พวกเขาห่วงใยซึ่งผู้ช่วยเหล่านี้จะคอยอัปเดตให้ กระทั่งตอนนี้ Care Concierge ระดมทุนได้ 4 พันล้านเหรียญแล้ว

    

    Dat Bike



    ประเทศ: เวียดนาม

    ประเภทธุรกิจ: โลจิสติกส์และการขนส่ง

    ปีที่ก่อตั้ง: 2019

    ซีอีโอ: Son Nguyen

    ผู้สนับสนุนหลัก: Delivery Hero Ventures, GSR Ventures, Hustle Fund, ISeed Ventures, Jungle Ventures, TVS Motor และ. Wavemaker Partners

    Dat Bike ผู้ผลิตจักรยานไฟฟ้าในเมืองดานังโดยใช้ชิ้นส่วนต่างๆ ที่จัดหาได้ในเวียดนาม สตาร์ทอัพรายนี้เผยว่าโมเดลล่าสุดของพวกเขา Weaver++ สามารถเดินทางได้ไกลถึง 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จเพียงสามชั่วโมง

    ด้วยการระดมทุนรวม 16.5 ล้านเหรียญ Dat Bike จับมือกับยักษ์ใหญ่วงการเทคโนโลยี GoTo ให้นำจักรยานของพวกเขาไปใช้ในงานบริการต่างๆ เช่น ส่งอาหาร โลจิสติกส์ และการคมนาคม

    

    Fleet Space Technologies



    ประเทศ: ออสเตรเลีย

    ประเภทธุรกิจ: เทคโนโลยีสำหรับองค์กร

    ปีที่ก่อตั้ง: 2015

    ซีอีโอ: Flavia Tata Nardini

    ผู้สนับสนุนหลัก: Artesian, Blackbird, Grok Ventures, Horizons Ventures และ Momenta

    Fleet Space Technologies ซึ่งตั้งอยู่ชานเมืองเอดิเลดอันเป็นบ้านขององค์กร Australian Space Agency ดำเนินการควบคุมดาวเทียมขนาดเล็กที่บรรดาลูกค้าใช้ในการหาลิเธียม ทองแดง และแร่ธาตุอื่นๆ

    อ้างอิงจากทางบริษัท เทคโนโลยี ExoSphere ของพวกเขาช่วยให้บริษัทเหมืองหาแหล่งแร่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ตั้งแต่เปิดตัว ExoSphere เมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา Fleet เผยว่าพวกเขาได้เซ็นสัญญากับ 30 บริษัท ซึ่งรวมถึงผู้สำรวจหาลิเธียมสัญญชาติออสเตรเลียน Core Lithium และ Talon Metals ผู้จัดหาทรัพยากรแก่ Tesla ในแคนาดา

    Fleet ยังบอกว่าพวกเขากำลังพัฒนาความสามารถในการป้องกันจากอวกาศ และทำงานร่วมกับ Defence Space Command ของออสเตรเลียเพื่อออกแบบและใช้งานดาวเทียมวงโคจรต่ำ โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Fleet ระดมทุนได้ 50 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยมีมูลค่าประเมินกว่า 350 ล้านเหรียญออสเตรเลีย

    

    Good Food Technologies



    ประเทศ: ฮ่องกง

    ประเภทธุรกิจ: อาหารและบริการ

    ปีที่ก่อตั้ง: 2020

    ซีอีโอ: Joshua Ng

    ผู้สนับสนุนหลัก: Alibaba Entrepreneurs Fund, Brinc, CGV Ventures, DayDayCook, Gobi Partners, Lever VC และ Tao Heung Holdings

    สตาร์ทอัพเทคโนโลยีอาหาร Good Food Tech พัฒนาเนื้อทางเลือกจากพืชสำหรับอาหารเอเชีย แบรนด์ Plant Sifu ของพวกเขาใช้เนื้อหมูจากเห็ดชิทาเกะทำติ่มซำแบบจีนชนิดต่างๆ เช่น ขนมจีบ และซาลาเปาหมูแดง สตาร์ทอัพรายนี้กล่าวว่ามีร้านขายผลิตภัณฑ์ของพวกเขากว่า 500 แห่งในฮ่องกง

    

    Idein



    ประเทศ: ญี่ปุ่น

    ประเภทธุรกิจ: เทคโนโลยีสำหรับองค์กร

    ปีที่ก่อตั้ง: 2015

    ซีอีโอ: Koichi Nakamura

    ผู้สนับสนุนหลัก: DG Daiwa Ventures, Global Brain, Hakuhodo DY Ventures, Innovation Growth Ventures, Japan Associated Finance Co., KDDI Open In-novation Fund, Miyabi Ventures และ Sony Innovation Fund

    บริษัทที่ตั้งอยู่ในโตเกียว Idein พัฒนาซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์สำหรับอุปกรณ์ที่เชื่อมโยงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต (IoT) เพื่อให้วิเคราะห์ข้อมูลที่ป้อนเข้าไปได้ด้วยตัวของมันเอง

    แพลตฟอร์ม Actcast ของพวกเขาช่วยให้กล้องต่างๆ สามารถระบุจำนวนคนใน Video Feed ได้รวมไปถึงบอกเพศและอายุ โดยตอนนี้ Idein เผยว่าพวกเขาเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทกว่า 130 ราย หนึ่งในนั้นคือยักษ์ใหญ่ด้านการค้าของญี่ปุ่น Itochu

    

    Kaleidofin



    ประเทศ: อินเดีย

    ประเภทธุรกิจ: การเงิน

    ปีที่ก่อตั้ง: 2017

    ซีอีโอ: Sucharita Mukherjee

    ผู้สนับสนุนหลัก: Bharat Fund, Blume Ventures, Flourish Ventures, Bill & Melinda Gates Foundation, Michael & Susan Dell Foundation, Oikocredit และ Omidyar Network

    สตาร์ทอัพฟิคเทค Kaleidofin นำเสนอวิธีการแก้ปัญหาการเงินแบบดิจิทัลแก่ประชากรที่ยากจะเข้าถึงหรืออาจเข้าไม่ถึงบริการของธนาคารในอินเดีย ผู้ใช้งานสามารถสมัครบัญชีธนาคารออนไลน์ บัตรเดบิต ตรวจสอบสุขภาพเครดิตทางการเงิน และบริการอื่นๆ ของ Kaleidofin

    พวกเขายังสามารถลงทะเบียน KaleidoPay แอปจ่ายเงินแบบ peer-to-peer ได้อีกด้วย โดยตอนนี้ทางบริษัทระดมทุนเป็นจำนวน 23 ล้านเหรียญแล้วจากนักลงทุนมากมายและกลุ่มผู้ใจบุญอย่างมูลนิธิ Bill & Melinda Gates

    

    Lifegoeson



    ประเทศ: เกาหลีใต้

    ประเภทธุรกิจ: อาหารและบริการ

    ปีที่ก่อตั้ง: 2018

    ซีอีโอ: Sungwoo Cho

    ผู้สนับสนุนหลัก: Altos Ventures, DS Asset Management, H&Q Korea, Korea Development Bank, Korea Investment Partners, Samsung Venture Investment และ SoftBank Ventures Asia

    Lifegoeson ดำเนินบริการซักรีดด้วยเทคโนโลยีอันหลากหลาย เช่น LaundryGo แอปพลิเคชันรับและส่งผ้าซักรีด (ซึ่งมียอดดาวน์โหลดกว่า 100,000 ครั้งบน Google Play Store) และเครื่องแยกผ้าด้วยปัญญาประดิษฐ์

    จากการศึกษาข้อมูลผู้ใช้งาน Lifegoeson วางแผนขยายไปยังอีคอมเมิร์ซและสร้างความสำเร็จอีกครั้งในแวดวงเสื้อผ้า อาหาร และบ้าน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 พวกเขาระดุมทุนรอบ series C ได้ 37 ล้านเหรียญ โดยมีผู้ลงทุนรายสำคัญอย่าง H&Q Korea เข้าร่วมด้วย

    

    SariSuki



    ประเทศ: ฟิลิปปินส์

    ประเภทธุรกิจ: เกษตรกรรม

    ปีที่ก่อตั้ง: 2021

    ซีอีโอ: Brian Cu

    ผู้สนับสนุนหลัก: Credit Saison, Foxmont Capital Partners, Global Founders Capital, Kickstart Ventures, Openspace Ventures, JG Digital Equity Ventures และ Susquehanna International Group

    สตาร์ทอัพโซเชียลอีคอมเมิร์ซ SariSuki ขายผักผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของพวกเขา ตั้งเป้าปฏิรูปภูมิทัศน์การค้าปลีกของฟิลิปปินส์ ลูกค้าสามารถสมัครบัญชีเพื่อสั่งซื้อผลิตภัณฑ์สดใหม่จากฟาร์มในท้องถิ่น โดยจะแจกจ่ายผ่านตัวแทนของ Sarisuki สตาร์ทอัพรายนี้เผยว่าระดมทุนได้รวมเป็น 30 ล้านเหรียญ และมีลูกค้ากว่า 800,000 คนแล้ว

    

    วิธีการจัดทำ

    

    ในการคัดเลือก 100 to Watch ของเรานั้น Forbes Asia เปิดให้มีการสมัครทางออนไลน์ ทั้งยังได้เชื้อเชิญบรรดาพร้อมเชิญบรรดาองค์กรบ่มเพาะผู้ประกอบการ องค์กรที่ให้การสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมลงทุน และอื่นๆ ให้ร่วมเสนอชื่อบริษัทด้วยเช่นกัน

    ผู้เข้ารอบ 100 ถูกคัดกรองจากรายชื่อ 550 ราย เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างเหมาะสม บริษัทเหล่านี้ต้องมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นบริษัทเอกชน แสวงหาผลกำไร มีรายได้ประจำปีล่าสุดไม่เกิน 50 ล้านเหรียญ และระดมทุนรวมจนถึงวันที่ 7 สิงหาคมไม่เกิน 100 ล้านเหรียญ

    ทีมงานของเราประเมินแต่ละบริษัทโดยอ้างอิงเกณฑ์ต่างๆ เช่น ผลกระทบเชิงบวกต่อภูมิภาคหรืออุตสาหกรรม บันทึกย้อนหลังการเติบโตของรายได้ที่มั่นคงหรือความสามารถในการดึงดูดเงินลงทุน โมเดลธุรกิจหรือตลาดที่มีอนาคต และเรื่องราวน่าสนใจ

    ทีมบรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์ในการแทนที่หรือนำรายชื่อบริษัทหรือบุคคลใดในทำเนียบออก หากมีข้อมูลใหม่ทำลดทอนความเหมาะสมของพวกเขา

    

    แปลและเรียบเรียงจาก Forbes Asia 100 To Watch 2023 ซึ่งเผยแพร่บน Forbes

    

    อ่านเพิ่มเติม : KKP ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยเหลือ 2.8% เหตุท่องเที่ยวฟื้นตัวต่ำกว่าคาด

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine