ก้าวข้ามบาร์เรล - Forbes Thailand

ก้าวข้ามบาร์เรล

FORBES THAILAND / ADMIN
27 Dec 2022 | 06:27 PM
READ 5552

โรคระบาดฆ่าอุปสงค์น้ำมันและก๊าซ และยังทำให้โลกยิ่งปวกเปียกขึ้นอีกเมื่อถูก Vladimir Putin ต่อยซ้ำเข้าไป แต่ข้อดีน่ะเหรอ? ภาวะขาดแคลนในวงกว้างและราคาเบนซินแกลลอนละ 8 เหรียญสหรัฐฯ จะบังคับให้เกิดการลงทุนอย่างจริงจังในพลังงานทางเลือกได้เสียที ไม่เว้นแม้แต่ในเชื้อเพลิงน่ารังเกียจอย่างนิวเคลียร์และไม้

 

    ย้อนกลับไปในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 เมื่อยุโรปยังไม่เริ่มใช้มาตรการจำกัดการเดินทาง คนใหญ่คนโตแห่งวงการน้ำมันมารวมตัวกันที่ London เพื่อร่วมการประชุม International Petroleum Week และในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่มีเฉพาะแขกรับเชิญเท่านั้น นักค้าสินค้าโภคภัณฑ์ Pierre Andurand ได้ทำนายเรื่องน่าตกใจไว้เรื่องหนึ่ง นั่นคือเมื่อโควิด-19 ระบาดประเทศต่างๆ จะล็อกดาวน์ น้ำมันจะเหลือเต็มถังเก็บและราคาน้ำมันจะเหลือศูนย์

    ชาวฝรั่งเศสผู้เป็นนักคณิตศาสตร์คนนี้จบจาก Oxford ได้ศึกษารายงานการแพทย์ที่ออกมาจากเมือง Wuhan ของจีนตั้งแต่ช่วงแรก เขามั่นใจมากว่าสถานการณ์นี้เกิดขึ้นแน่ ถึงขนาดที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ของเขาซึ่งปัจจุบันมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ 1.7 พันล้านเหรียญ ตั้งรับด้วยการขายชอร์ตน้ำมันดิบล่วงหน้า และเมื่อราคาน้ำมันร่วงลงไปจนต่ำกว่าศูนย์จริงเมื่อวันที่ 20 เมษายน กองทุนต่างๆ ของ Andurand Capital จึงโกยกำไรไปตั้งแต่ 60-155%

    ต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ นักค้าคนเดิมพูดเรื่องที่ทุกคนต้องสนใจอีกครั้งนั่นคือ ราคาน้ำมันดิบปี 2022 จะพุ่งไปถึง 150 เหรียญต่อบาร์เรล เพราะอุปสงค์หลังพ้นช่วงโรคระบาด โดยมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งมโหฬารของธนาคารกลางเป็นตัวกระทุ้ง สวนทางกับการลงทุนในพลังงานฟอสซิลลดลงมาหลายปีแล้ว

    ในขณะที่การลงทุนกับพลังงานทางเลือกก็ยังไม่มากพอ แถมคำทำนายนี้ยังพูดไว้ก่อนที่ Vladimir Putin จะต่อยซ้ำเข้าที่ด้านอุปทานอย่างจังด้วยการบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ คราวนี้ Andurand (กองทุนใหญ่ที่สุดของเขาโตขึ้นอีก 112% สะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนเมษายน) คาดว่าราคาน้ำมันอาจพุ่งขึ้นไปอีกจนถึง 200 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งถ้าศูนย์ชายฝั่งขายราคานี้ก็แปลว่าราคาหน้าปั๊มจะเท่ากับ 8 เหรียญต่อแกลลอน 

    “สงครามเร่งให้เรามาถึงจุดที่รู้สึกว่าเรากำลังจะเกิดภาวะขาดแคลน และจากนี้ไปจะยิ่งแย่ลง ทั่วโลกลงทุนน้อยเกินไปอย่างน่าเศร้า นโยบายเปลี่ยนผ่านไปสู่แหล่งพลังงานอื่นยังกระเตาะกระแตะ และอุปสงค์ก็ยังไม่มากพอ ผมเห็นด้วยกับพลังงานสีเขียวเต็มที่เลย แต่เราต้องวางแผนอย่างจริงจัง” เศรษฐีพันล้าน John Goff ประธานกรรมการของ Crescent Energy จากเมือง Fort Worth รัฐ Texas แสดงความคิดเห็น หลังกว้านซื้อสินทรัพย์ในธุรกิจน้ำมันที่ราคาตกมาตั้งแต่ปี 2019 


เติมเชื้อเพลิงให้ยุโรป

    ปัญหาท้าทายเร่งด่วนของชาติตะวันตก คือ การหาเชื้อเพลิงมาแทนก๊าซธรรมชาติของรัสเซียซึ่งเป็นแหล่งพลังงานแหล่งใหญ่ให้ยุโรป เพื่อให้โรงงานยังเดินเครื่องได้และบ้านเรือนยังอุ่นต่อไปในฤดูหนาวที่จะมาถึง ทวีปแห่งนี้หวังว่าจะหาอะไรมาทดแทนก๊าซที่เคยนำเข้าจากรัสเซียก่อนเกิดสงครามปีละ 1.55 แสนล้านลูกบาศก์เมตร (5.4 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต) ได้ 2 ใน 3 ของทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้

    โดยครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้จะมาจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เทียบกับพลังงานหมุนเวียนที่ยังมีแค่ร้อยละ 20 กระบวนการผลิต LNG ทำโดยนำก๊าซมาแช่เย็นให้มีอุณหภูมิ -260 องศาฟาเรนไฮต์ จนกลายเป็นของเหลวที่ขนส่งข้ามมหาสมุทรได้ด้วยเรือบรรทุกก๊าซหุ้มฉนวนลำยักษ์ และชาวยุโรปก็กำลังเตรียมตัวรับ LNG เหลวเข้ามาแปรสภาพกลับเป็นก๊าซโดยใช้โรงงานกลางน้ำ

    การหาซื้อ LNG ให้เพียงพอ (และเรือบรรทุกก๊าซเพื่อขนส่ง) จะเป็นเรื่องลำบาก “ผมไม่คิดว่าจะยังมีผู้ผลิต LNG รายไหนในโลกที่ไม่เร่งผลิตก๊าซแบบเต็มกำลังทุกโมเลกุลเท่าที่ทำได้” เศรษฐีพันล้าน Michael Smith กล่าว

    เขาเป็นทั้งประธานกรรมการ ซีอีโอ และผู้ถือหุ้น 63% ของ Freeport LNG โรงงานแปรสภาพ LNG เป็นของเหลวซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐฯ โดยขายก๊าซเหลวส่วนใหญ่ที่คอมเพล็กซ์แห่งนี้ผลิตได้ให้เอเชีย โดยทำสัญญาระยะยาวและแม้ว่าปัจจุบัน LNG ของที่นี่ส่วนใหญ่จะถูกขายต่อให้ยุโรปแต่ก็ยังไม่พอ

    การหาสิ่งอื่นมาทดแทนผลผลิต 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน (bpd) ของรัสเซียที่หายไปจากตลาดคงทำได้ไม่เร็วนัก เพราะ Bernstein Research ประเมินว่า ปัจจุบันกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) มีกำลังการผลิตเหลืออีกแค่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่ง Saudi Aramco มีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปี 2027 แต่ไม่ว่าจังหวะเวลาจะเป็นอย่างไรประวัติศาสตร์ก็ชี้มาแล้วว่า ชาติตะวันตกคงโง่จริงถ้ายังคิดจะหวังพึ่งประเทศอัตตาธิปไตยยิ่งกว่าเดิม


ขายหมดเกลี้ยง
Michael Smith วัย 67 ปี เซ็นสัญญาระยะยาวขายก๊าซซึ่งผลิตโดย
ดอมเพล็กซ์ผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว มูลค่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญที่เขาสร้างเสร็จเมื่อปี 2019

ถึงเวลานิวเคลียร์

    “ไม่มีใครเชื่อเรื่องนี้จนกระทั่งมันเกิดขึ้นจริง” Ajay Royan หุ้นส่วนบริหารของ Mithril Capital ซึ่งลงทุนด้วยเงินของเศรษฐีพันล้านนักร่วมลงทุน Peter Thiel กล่าว ย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 Mithril ลงทุนประมาณ 1 ล้านเหรียญใน Helion Energy จากเมือง Everett รัฐ Washington ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่กำลังขยับเข้าใกล้ความฝันอันยาวนานหลายทศวรรษที่จะผลิตไฟฟ้าด้วยปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน (การยิงอะตอมของไฮโดรเจนเข้าชนกับฮีเลียม ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในแกนกลางดวงอาทิตย์)

    Helion มี Dustin Moskovitz ผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook และ Reid Hoffman ผู้ร่วมก่อตั้ง LinkedIn รวมอยู่ในกลุ่มนักลงทุนของบริษัทด้วย และเพิ่งระดมทุนได้ 500 ล้านเหรียญไปเมื่อไม่นานมานี้ด้วยมูลค่าประเมิน 3 พันล้านเหรียญ

    นอกจากนี้ ยังมี Commonwealth Fusion Systems จากเมือง Cambridge รัฐ Massachusetts ที่ลงแข่งด้านฟิวชันเช่นกัน บริษัทนี้ระดมทุนได้ 1.8 พันล้านเหรียญจากเศรษฐีพันล้านอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งรวมถึง Bill Gates, Laurene Powell Jobs, John Doerr, George Soros และ John Arnold ซีอีโอของทั้ง Helion และ Commonwealth ทำนายว่า การนำนิวเคลียร์ฟิวชันมาผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์จะเกิดขึ้นได้ในอีก 1 ทศวรรษ

    นอกจากเป้าหมายไกลลิบของบริษัทเหล่านี้แล้ว บรรดาเศรษฐีพันล้านยังเทเงินลงทุนให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิชชันแบบใหม่ที่ปลอดภัยกว่าเดิมด้วย เพราะการที่พลังงานนิวเคลียร์จะกลับสู่ยุครุ่งเรืองนั้นดูจะเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ

    Gates เป็นผู้สนับสนุนไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ อธิบายว่า นิวเคลียร์คือแหล่งพลังงานปลอดคาร์บอนเพียงชนิดเดียวที่ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกที่บนโลก เมื่อปี 2008 เขาร่วมก่อตั้ง TerraPower ผู้พัฒนา (ร่วมกับ GE Hitachi Nuclear Energy) เตาปฏิกรณ์นาเทรียม ซึ่งเป็นเตาปฏิกรณ์เร็วที่ใช้แหล่งพลังงานคือ ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะต่ำ ในบ่อเกลือหลอมเหลวที่ป้องกันการหลอมละลายของแกนเตาปฏิกรณ์ได้ และเตานี้ยังทำอีกหน้าที่หนึ่งเป็นเครื่องกักเก็บพลังงานในระยะยาวด้วย ในปี 2018 เมื่อความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเพิ่มขึ้นรัฐบาลสหรัฐฯ สั่งหยุดแผนของ TerraPower ที่จะสร้างเตาปฏิกรณ์นาเทรียมตัวแรกในจีน

    แต่ตอนนี้กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ ตกลงสนับสนุนเงิน 2 พันล้านเหรียญ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของค่าก่อสร้าง เพื่อให้บริษัทสร้างเตาปฏิกรณ์นาเทรียมขนาดใหญ่สำหรับใช้งานในเชิงพาณิชย์เป็นตัวแรก โดยสร้างในรัฐ Wyoming ในสถานที่ตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังถ่านหินที่ปลดระวางแล้ว ซึ่งบริษัทย่อยของ Berkshire Hathaway ที่มี Warren Buffett เป็นเจ้าของ


ดวงอาทิตย์ ลม และไม้

    ไม่ใช่แค่นิวเคลียร์ฟิวชันเท่านั้นที่ต้องการความอดทนและนักลงทุนกระเป๋าหนัก Phil Anschutz นักธุรกิจใหญ่จากเมือง Denver กล่าวว่า เขาต้องใช้เวลา 16 ปี ในการขอใบอนุญาตและขอสิทธิ์ทุกอย่างเพื่อสร้างกังหันผลิตไฟฟ้าพลังลม 700 ตัวบนพื้นที่ 100,000 เอเคอร์ในรัฐ Wyoming บวกกับสายไฟฟ้าแรงสูงสำหรับส่งพลังงานไปให้ถึงเมือง Las Vegas และยังต้องขอใบอนุญาตฆ่าอินทรีทองจำนวนหนึ่งรวมถึงขอสิทธิ์ตัดผ่านถิ่นที่อยู่ของไก่ป่าเซจ แต่ในที่สุดการก่อสร้างก็เริ่มต้นได้

ไล่ตามความฝัน
Phil Anschutz วัย 82 ปี หลังฟันฝ่ากระบวนการของหน่วยงานรัฐมา 16 ปี 
เขาได้ก่อสร้างทุ่งกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ 
คาดว่าต้องใช้เงินถึง 8 พันล้านเหรียญ และใช้เวลาถึง 4 ปี ถึงจะสร้างเสร็จ 


    การผลิตไฟฟ้าพลังลมทั่วโลกของปีที่แล้วเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 และพลังแสงอาทิตย์โตร้อยละ 21 ถึงแม้จะยังผลิตได้ไม่เร็วพอแต่ก็มีการพัฒนาที่น่าสนใจเกิดขึ้นหลายอย่าง รวมถึงความก้าวหน้าที่สำคัญด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ซึ่งจำเป็นต่อการกักเก็บไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และลมที่ผลิตได้เป็นช่วงๆ แต่ผู้ผลิตแบตเตอรี่ก็ยังคงต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนทองแดงนิกเกิลและลิเทียมทั่วโลก

    Jeffrey Ubben วัย 58 ปี วางมือจาก ValueAct กองทุนเฮดจ์ฟันด์สายเคลื่อนไหวมูลค่า 1.25 หมื่นล้านเหรียญที่เขาบริหารมา 20 ปี เพื่อมาบริหาร Inclusive Capital Partners ที่มีสินทรัพย์ 3 พันล้านเหรียญ เขานั่งอยู่ในคณะกรรมการของ ExxonMobil และยังเป็นกรรมการของ Enviva บริษัทผลิตเชื้อเพลิงไม้อัดแท่งรายใหญ่ที่สุดของโลก โรงงาน 10 แห่งของ Enviva ที่อยู่ใน 6 รัฐทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ นำต้นไม้และเศษไม้จากการทำป่าไม้อย่างยั่งยืนมาอัดเป็นเชื้อเพลิงแท่งยาว 3 นิ้วได้ปีละ 6 ล้านตัน ส่งขายให้ลูกค้าในสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่นนำไปเผาในโรงไฟฟ้าแทนถ่านหิน 

    John Keppler ซีอีโอของ Enviva กล่าวว่า เขาสามารถเพิ่มผลผลิตเป็นเท่าตัวได้ภายในปี 2027 แม้นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะไม่สบายใจ แต่ Ubben มองว่านี่คือทางแก้ปัญหาระยะสั้นที่ฉลาด 

    ยังมี “ทางแก้” ระยะสั้นตามธรรมชาติอีกอย่างนั่นคือ เมื่อแหล่งพลังงานจากรัสเซียหายไปจากตลาด ราคาจะพุ่งขึ้นจนถึงจุดที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากพอจะทำให้อุปสงค์ลดลง แล้วเมื่อเวลาผ่านไปปัญหาก็จะคลี่คลายเอง แต่ต้องยอมเจ็บหนักในระยะสั้นและต้องมีการลงทุนมหาศาล โดยเฉพาะในเชื้อเพลิงชนิดอื่นนอกเหนือจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

    องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดว่า ทั่วโลกจะต้องใช้เงินลงทุนกับพลังงานทางเลือกเป็นเท่าตัวของปัจจุบัน และต้องลงทุนรวม 12 ล้านล้านเหรียญภายในปี 2030 ถ้าอยากจะมีโอกาสยื้อภาวะโลกร้อนไว้ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส

    ถึงกระนั้น John Arnold กล่าวว่า เรายังพอคาดหวังเรื่องดีได้อยู่บ้าง ถ้านำแนวทางเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกทั้งหมดที่กล่าวถึงข้างต้นมาใช้ และอย่าปล่อยให้กฎระเบียบของรัฐบาลที่เยอะเกินเหตุกับพวก NIMBY จอมประท้วงมาคอยขวางทาง เขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าหากมองในระยะยาวแล้ว “สังคมของเราทำได้ดีมากในเรื่องการส่งมอบพลังงานที่ราคาถูกลง”

 

เรื่อง: CHRIS HELMAN เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง 

ภาพประกอบ: HARRY C AMPBELL, MATTHEW MAHON, JAMEL TOPPIN 


อ่านเพิ่มเติม:

>> ดิศนิติ โตวิวัฒน์ DOS ผสานพลังปั้นแบรนด์มหาชน

>> Aviator Nation แบรนด์อเมริกันสุดเก๋สไตล์นักเซิร์ฟ


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine