Toto Wolff ปั้นทีม F1 ของ Mercedes ขึ้นหิ้งวงการแข่งรถ - Forbes Thailand

Toto Wolff ปั้นทีม F1 ของ Mercedes ขึ้นหิ้งวงการแข่งรถ

FORBES THAILAND / ADMIN
13 Sep 2023 | 11:00 AM
READ 3684

Toto Wolff ปั้นทีม F1 ของ Mercedes จนเป็นทีมขึ้นหิ้งแห่งวงการแข่งรถ วันเวลาแห่งการเป็นแชมป์ของพวกเขาอาจเป็นอดีตไปแล้ว แต่นายใหญ่ที่เป็นนักแข่งระดับพันล้าน คนนี้กลับประสบความสำเร็จยิ่งกว่าเคย


    ขณะที่ Toto Wolff สำรวจห้องขนาดใหญ่ที่สำนักงานใหญ่ของ Mercedes-AMG Petronas ในเมือง Brackley ประเทศอังกฤษ สายตาของเขาจับจ้องไปที่เพลาหลังของรถสีเงินคันหนึ่ง ล้อข้างขวาของมันหักและมันกวนใจเขามาก เขาจึงเรียกคนมาซ่อมทันที แต่เศรษฐีพันล้านผู้เป็นทั้งเจ้าของร่วมและหัวหน้าทีม F1 ของ Mercedes ไม่ได้กำลังอยู่ในโรงงานของตัวเอง และที่เขากำลังประเมินก็ไม่ใช่รถ Formula 1 ของจริงมูลค่า 8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ Wolff กำลังไม่พอใจกับโมเดลรถ Mercedes รุ่นคลาสสิกที่มีความยาวเพียงไม่กี่นิ้ว “มันสะดุดตาผมอย่างจัง” เขาอธิบาย “ในชีวิตปกติของผมนี่ถือเป็นสิ่งกวนใจในสภาพแวดล้อม เพราะผมอดใจไม่จัดการกับความไม่สมบูรณ์แบบไม่ได้”

    การแสวงหาความสมบูรณ์แบบอย่างหมกมุ่นนั้นอาจเป็นเรื่องหนักหนาสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ในการแข่งรถ Formula 1 ที่ความสำเร็จอาจเฉือนกันด้วยเวลาไม่ถึงเสี้ยววินาทีมันเป็นสิ่งที่ทำให้ทีมของ Wolff ยังอยู่บนโพเดียมมาตลอด ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาชาวออสเตรียวัย 51 ปีรายนี้ได้คว้า Constructors, Championship 8 ครั้ง, Drivers, Championship 7 ครั้ง และชัยชนะอันน่าทึ่งในการแข่งกรังปรีซ์อีก 115 ครั้ง ต้องยกความดีความชอบให้เครื่องยนต์อันไร้ที่ติของเขา และ Lewis Hamilton นักขับมือพระกาฬของ Mercedes นี่ถือเป็นผลงานที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในกีฬาชนิดนี้ และเทียบเคียงได้กับทีมระดับตำนานของทีมกีฬาอื่นๆ เช่น New York Yankees และ Boston Celtics

    แต่สิ่งที่ไม่เหมือนคือ Mercedes ไม่ได้ชนะอีกต่อไป ทีมหลุดไปอยู่ที่ 3 เมื่อปีที่แล้ว โดยคว้าธงตราหมากรุกในการแข่งกรังปรีซ์ไปเพียงรายการเดียว การกลับสู่จุดสูงสุดนั้นดูไม่น่าเป็นไปได้ในปี 2023 เนื่องจากทีม Red Bull Racing กำลังครองที่ 1 อย่างเหนียวแน่น และการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ด้านการเงินของ F1 ในปี 2021 ซึ่งจำกัดการใช้จ่ายหรือเพดานต้นทุนยังขัดขวางแนวทางของผู้นิยมความสมบูรณ์แบบอย่าง Wolff ทำให้มีโอกาสน้อยลงที่จะฟื้นตัวจากความผิดพลาด

    ในขณะที่เพดานต้นทุนได้สร้างความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ให้กับการแข่งบนลู่ในสนาม แต่กระนั้นก็ได้ส่งผลดีอย่างเหลือเชื่อในนอกลู่แข่ง ในปี 2021 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ Mercedes คว้าแชมป์ Constructors ทีมมีผลประกอบการดีที่สุดที่เคยมีมาภายใต้การนำของ Wolff โดยมีรายได้ 529 ล้านเหรียญ และ EBIDTA 128 ล้านเหรียญ แม้ว่าองค์กรไม่ได้เปิดเผยตัวเลขของปี 2022 แต่ Forbes ประเมินว่า น่าจะสูงกว่าตัวเลขดังกล่าวประมาณ 10% และ 30% ตามลำดับ

    รายได้ที่ทะยานขึ้นดังกล่าวได้แปลงเป็นมูลค่าของทีมโดยตรง Forbes ประเมินมูลค่าทีม Mercedes ในปี 2019 ไว้ที่ 1 พันล้านเหรียญ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยอีกเท่าหลังจากนั้น Wolff ถือหุ้น 33% ของทีมซึ่งส่วนใหญ่เขาซื้อมาในปี 2013 ด้วยราคาราว 50 ล้านเหรียญ และถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความมั่งคั่ง 1 พันล้านเหรียญของเขา สรุปก็คือเขาได้สร้างแบรนด์ที่คล้ายกับ Dallas Cowboys ซึ่งยังคงเป็นทีมกีฬาที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกอยู่ที่ 8 พันล้านเหรียญ แม้ว่าจะห่างหายจาก Super Bowl นานถึง 27 ปีก็ตาม

    “ผมยอมทิ้งกำไรทุกบาททุกสตางค์เพื่อคว้าชัยชนะ” เขาบอก “ดังนั้น ถ้าให้เลือกระหว่างความสำเร็จด้านการเงินกับความสำเร็จด้านกีฬา ทุกวันตลอดสัปดาห์ ทุกวันตลอดปี ผมก็ยังเลือกความสำเร็จด้านกีฬา”

    ความหมกมุ่นในชัยชนะนั้นหยั่งรากลึกในตัว Wolff เขาเกิดใน Vienna และใฝ่ฝันที่จะเป็นนักแข่งรถตั้งแต่เด็ก เขาไล่ตามความชอบได้อยู่พักเดียว ส่วนหนึ่งเพราะเขาสูง 6 ฟุต 5 นิ้วซึ่งสูงเกินไป ไม่นานนักเขาก็หันไปสนใจการทำธุรกิจ เขาก่อตั้งศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยีชื่อ Marchfifteen ที่ Vienna ในปี 1998 โดยใช้เวลาเป็นวันๆ โทรนัดคนที่อาจสนใจร่วมลงทุน 

    2 ปีต่อมาขณะที่อายุได้ 28 ปี Wolff ทำกำไรได้มากกว่า 30 ล้านเหรียญ โดยเกือบทั้งหมดมาจากยอดขายของบริษัทพัฒนาโปรแกรมรับส่งข้อความ UCP และบริษัทจัดจำหน่ายวิดีโอเกม JoWooD พอมีเงินมากมายเขาก็ปิดบริษัทแล้วกลับไปหาการแข่งรถที่เป็นรักแรกของเขา และเริ่มต้นการเป็นผู้จัดการนักแข่งรุ่นจูเนียร์ นั่นทำให้เขาได้รู้จักผู้ผลิตเครื่องยนต์ HWA AG ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องยนต์ที่ทีมระดับรองลงไปของ Mercedes ใช้ เขาซื้อหุ้น 49% ของ HWA ในปี 2006 และต่อมาได้ช่วยผลักดันจนเป็นบริษัทมหาชน สามารถระดมทุนได้ 175 ล้านเหรียญจากการเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งทำให้ตัวเขาเองมีรายได้เพิ่มอีก 85 ล้านเหรียญ

    ไม่กี่ปีต่อมา Wolff ลงทุนในทีมแข่งรถ F1 ของ Williams และช่วยให้ชนะได้อย่างน่าทึ่งในงานแข่ง Spanish Grand Prix ในปี 2012 และในปีเดียวกันนั้น Mercedes กำลังประสบปัญหาและเชิญ Wolff ไปที่ Stuttgart เพื่อพึ่งพาความเชี่ยวชาญของเขา ซึ่งเขาก็บอกไปตรงๆ ว่า พวกเขาให้งบประมาณกับทีมน้อยเกินไป และ Mercedes ก็ตอบกลับด้วยการเสนอตำแหน่งระดับสูงให้เขา “เขาไม่ใช่พวกขี้โม้” René Berger เพื่อนเก่าแก่ของ Wolff และกรรมการบริษัท Mercedes F1 กล่าว “Toto จะไม่บอกคุณในสิ่งที่เขาไม่เชื่อว่าจริง และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาถึงโน้มน้าวเก่ง”

    Wolff ตอบตกลงภายใต้เงื่อนไขว่า เขาสามารถกว้านซื้อหุ้นได้ในฐานะเจ้าของร่วม ในปี 2013 เขาถอนตัวจาก Williams และซื้อหุ้นส่วนของเจ้าของ 30% ใน Mercedes ด้วยมูลค่า 165 ล้านเหรียญตามประเมินของ Forbes ช่วงเวลาของการย้ายส่งผลดีต่อ Mercedes ด้วยเนื่องจากมีการเปลี่ยนกฎโดยขยายขอบเขตการใช้เครื่องยนต์ไฮบริดใน F1 ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันรายนี้ใช้เงินไปแล้วกว่า 100 ล้านเหรียญในการพัฒนามัน รางวัลต่างๆ ตามมาอย่างรวดเร็วโดย Mercedes ได้แชมป์ทั้งประเภท Constructors และ Drivers ในปี 2014 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีของค่ายนี้ “เป็นการเดินเกมที่สมบูรณ์ที่สุดของ Mercedes ในช่วงนี้” Frédéric Vasseur หัวหน้าทีม Scuderia Ferrari กล่าว “และพวกเขาก็เป็นผู้นำด้านเครื่องยนต์อย่างแท้จริง”

    การใช้จ่ายเชิงกลยุทธ์แบบนี้ทำได้ยากขึ้นในปัจจุบัน จากการกำหนดเพดานค่าใช้จ่ายในปี 2023 ทำให้ทีมใช้เงินได้แค่ประมาณ 150 ล้านเหรียญซึ่งรวมค่าอุปกรณ์ วิศวกรรม และพนักงาน ส่วนเงินเดือนนักแข่งอย่าง Hamilton ซึ่งอยู่ราวๆ 55 ล้านเหรียญไม่ถูกรวมอยู่ด้วย ณ ตอนนี้ 

    ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทีมที่มีงบมหาศาลอย่าง Mercedes, Ferrari และ Red Bull ต่างใช้เงินหลายร้อยล้านต่อปีโดยถือว่าต้นทุนดังกล่าวคือ ค่าทำการตลาดทั่วโลก ส่วนทีมระดับล่างตกอยู่ในหายนะทางการเงินเพราะพยายามก้าวให้ทันกับตัวท็อปของ F1 ทั้งนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับ Liberty Media Corporation ซึ่งเข้าซื้อ Formula 1 ในปี 2017 ด้วยเงินสดและหุ้นมูลค่า 4.7 พันล้านเหรียญ และ FIA หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันที่เข้ามาจำกัดค่าใช้จ่ายซึ่งทำให้เกิดความเสมอภาคระหว่างทีมมากขึ้น

    F1 พยายามสร้างความนิยมอย่างหนักผ่าน Netflix โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาที่ซึ่งกีฬาดังกล่าวไม่ค่อยได้รับความนิยม ซีรีส์สารคดีชื่อ Drive to Survive เปิดตัวในปี 2019 โดยเป็นการบันทึกเรื่องราวแต่ละฤดูกาลของ F1 และเน้นเจาะกลุ่มผู้ชมรุ่นใหม่ที่โตมาในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ ยังสร้างดาวรุ่ง F1 ใหม่ๆ รวมถึง Wolff เจ้าเสน่ห์ที่มาพร้อมคำเปรียบเปรยทางทหาร ความสามารถในการแข่งขันอันร้อนแรง และคำขออาหารเช้าที่ละเอียดมาก (“แฮมและไข่ใส่เบคอนเล็กน้อย และพัมเปอร์นิเกิล 2 แผ่น ปิ้งแข็งจนแตก”) และ F1 จะยิ่งใหญ่ขึ้นอีกในปีนี้เมื่อมีการจัด US Grand Prix ครั้งที่ 3 ที่ Las Vegas ในเดือนพฤศจิกายน (Miami และ Austin ใน Texas เป็นเจ้าภาพอยู่แล้ว) “กีฬาประเภทนี้กำลังเติบโต” Wolff กล่าว “แต่คุณจะมาทำเล่นๆ ไม่ได้”

    เขาไม่ได้มองความโชคดีของ Mercedes เป็นเรื่องเล่นๆ เช่นกัน รวมถึงการรักษาอนาคตอันรุ่งเรืองแม้ว่าจะไม่ได้เป็นแชมป์โลกก็ตาม สปอนเซอร์ยังคงเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญที่สุด Mercedes มี Ritz-Carlton เครื่องดื่ม Monster Energy และนาฬิกา IWC อยู่ในกลุ่มพันธมิตรด้วย นอกจากนี้ ก็ยังขายอุปกรณ์ให้ทีมอื่นๆ ซึ่งรวมถึงกระปุกเกียร์ให้กับ Aston Martin แต่ไม่ได้แปลว่า Wolff มีแผนที่จะชะลอการผลักดันเพื่อชัยชนะ

    “ตราบใดที่เรายังแข่งขันในแนวหน้า ขับรถเพื่อชัยชนะ และอยู่ท่ามกลางทีมชั้นนำ” เขากล่าว “ทุกคนจะมาคาดหวังให้เราได้แชมป์ทุกปีไม่ได้หรอกนะ”

    

    อ่านเพิ่มเติม :

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine