TAE Technologies รักษามะเร็งด้วยนิวเคลียร์ - Forbes Thailand

TAE Technologies รักษามะเร็งด้วยนิวเคลียร์

TAE Technologies บริษัทพลังงานฟิวชัน กำลังเป็นที่หมายตาจากนักธุรกิจชื่อชั้นระดับ Rockefellers, Charles Schwab และ Buzz Aldrin และอีกมาก

การเดินชมห้องปฏิบัติการพื้นที่ราว 5 ไร่ของ Michl Binderbauer ให้ความรู้สึกเหมือนเดินชมโรงงานช็อกโกแลตของ Willy Wonka ที่มุมหนึ่งของห้องปฏิบัติการ Binderbauer หัวหน้าผู้บริหาร TAE Technologies อวดเครื่องจักรเครื่องใหม่ที่สามารถทำลายก้อนเนื้อมะเร็งด้วยลำแสงนิวตรอน วิศวกรเบียดเสียดกันอยู่ในห้องควบคุม เหนือหน้าต่างของพวกเขาคือ Norman

นั่นคือ ชื่อของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันต้นแบบความยาว 100 ฟุต ซึ่งประกอบขึ้นอย่างล้ำเลิศจากเหล็กกล้าไร้สนิมทรงกระบอก แม่เหล็กไฟฟ้าและเครื่องเร่งอนุภาค ทุกๆ 8 นาที Norman จะปล่อยเสียงดังแกร๊งขณะที่เครื่องเปลี่ยนกระแสไฟฟ้า 20 ล้านวัตต์เป็นพลาสมาและระเบิดมันด้วยลำแสงโปรตอน (ซึ่งเป็นธาตุลำดับที่ 1 ของไฮโดรเจน) พลาสมาและโปรตอนจะเข้าชนกันด้วยพลังมากพอที่จะหลอมให้เกิดฮีเลียม และปลดปล่อยพลังงานมหาศาลออกมาในขั้นตอนนั้น

TAE ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Tri Alpha Energy จนถึงเมื่อปี 2018 สามารถระดมทุนเป็นเงิน 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และล่าสุดได้รับการประเมินมูลค่าที่กว่า 2 พันล้านเหรียญ นักลงทุนของบริษัทมีตั้งแต่ Vulcan Capital ของ Paul Allen ผู้ล่วงลับ Venrock ของตระกูล Rockefeller และ Big Sky Capital ซึ่งเป็นเงินครอบครัวของ Charles Schwab มหาเศรษฐีนักเล่นหุ้น พวกเขาเดิมพันว่า TAE จะสามารถเปลี่ยนพลังงานฟิวชันให้เป็นพลังงานไฟฟ้า

ปฏิกิริยาฟิชชันซึ่งปัจจุบันใช้ในการสร้างพลังงานแก่โรงพลังไฟฟ้านิวเคลียร์หลายร้อยแห่งนั้น มีความเสี่ยงในการหลอมละลายและก่อเกิดกัมมันตภาพรังสี ซึ่งสามารถอยู่ได้ยาวนาน 10,000 ปี ขณะที่ปฏิกิริยาฟิวชันนั้นตรงกันข้าม ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ไม่หลอมละลายและไม่มีกัมมันตภาพรังสีหลงเหลือทิ้งไว้

Tri Alpha Energy เริ่มต้นพร้อมกับ Norman Rostoker (ค.ศ. 1925-2014) อาจารย์ชาวแคนาดาที่ University of California วิทยาเขต Irvine เขาได้รับรางวัล Maxwell Prize ด้านฟิสิกส์พลาสมาในปี 1988 เขาและ Glenn Seaborg ผู้ค้นพบธาตุพลูโตเนียมและเจ้าของรางวัลโนเบล มองเห็นข้อจำกัดทางเทคนิคของวิธีการผู้คนเห็นพ้องกันในการเข้าหาพลังงานฟิวชัน ซึ่งก็คือ การกระทบกันของไอโซโทปหนักของไฮโดรเจนจนหลอมรวมกันเป็นฮีเลียม ขณะเดียวกันก็กักให้อยู่ในรูปทรงโดนัทที่เรียกว่า Tokamak โดยใช้สนามแม่เหล็ก พลังงานจำนวนมากที่ปล่อยออกจากปฏิกิริยานี้ จะมาในรูปนิวตรอนความเร็วสูง ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปจะกัดกร่อนถังปฏิกรณ์นิวเคลียร์

TAE ทำการทดลองแล้วกว่า 12,000 ครั้ง ผ่านเครื่องชนอนุภาคมูลค่า 100 ล้านเหรียญ ชื่อ Norman

Rostoker ได้พบกับ Harry Hamlin นักแสดงหนุ่มบุตรชายนักวิทยาศาสตร์การผลิตจรวดอวกาศที่แม้นิตยสาร People จะยกให้เป็นหนุ่มเซ็กซี่ที่สุดในปี 1987 กลับเลือกที่จะสมาคมกับนักฟิสิกส์พลาสมาในงานปาร์ตี้ค็อกเทล

Hamlin กลายมาเป็นประธานของ Tri Alpha จากนั้น Buzz Aldrin ซึ่งเป็นหนึ่งในนักบินอวกาศในภารกิจเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษยชาติจึงขอร่วมวงด้วย Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้ง Google ได้ไปเยี่ยมชมบริษัท และให้ยืมตัวบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ทำงานกับเขาเพื่อช่วยในการจัดการกับข้อมูล Jeffrey Immelt ซึ่งเกษียณจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการของ General Electric เป็นคนดังรายล่าสุดที่เข้าร่วมกับบริษัท

คนดังมาพร้อมกับเงินทุน และ TAE ก็ได้อานิสงส์อยู่มาก ค่าใช้จ่ายสำหรับอาคารและอุปกรณ์ที่ Foothill Ranch ใน California คิดเป็นเงิน 150 ล้านเหรียญ (หรือ 250 ล้านเหรียญ เมื่อรวมค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่อง Norman) และต้องใช้เงินอีกปีละ 50 ล้านเหรียญในการเดินเครื่อง

ตอนนี้ Binderbauer ต้องการอีกราวๆ 200 ล้านเหรียญ เพื่อสร้างต้นแบบไฮโดรเจน-โบรอนชิ้นแรก ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญก้าวสุดท้ายในการวิจัยพลาสมาก่อนจะไปถึงเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันเชิงพาณิชย์ โดยจะทำงานที่อุณหภูมิสูงกว่ามาก

Binderbauer ฝันหวานถึงเรื่องความคุ้มทุน การผลิตเซลล์แสงอาทิตย์สามารถทำได้ที่ต้นทุนหนึ่งเหรียญต่อกำลังการผลิตในช่วงต้องการไฟฟ้าสูงสุด 1 วัตต์ บางที TAE อาจสามารถลดต้นทุนการสร้างเครื่องผลิตพลังงานฟิวชันลงไปที่ 1.50 เหรียญต่อวัตต์

แต่คงจะเป็นการรอคอยที่ยาวนานก่อนที่นักลงทุนจะมองเห็นโรงพลังงานไฟฟ้าของ TAE และเพื่อไม่ให้พวกเขาเบื่อกันเสียก่อนระหว่างที่รอ Binderbauer ได้ก่อตั้งบริษัทลูกที่ผลิตเครื่องเร่งอนุภาคเพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง (หลักการคือยิงนิวตรอนไปยังก้อนเนื้อมะเร็งที่ได้ดูดกลืนสารประกอบโบรอนไว้ ทำให้เกิดความร้อนขนาดที่สามารถฆ่าเนื้อร้ายได้)

  อ่านเพิ่มเติม   เรื่อง: Christopher ภาพ: Tim Pannel เรียบเรียง: เอมวลี อัศวเปรม
คลิกอ่านฉบับเต็ม "นิวเคลียร์ใหม่" ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับมกราคม 2563 ได้รูปแบบ e-magazine