5 วิธีรับมือพฤติกรรม HENRY "กินหรู อยู่สบาย" รายได้สูง แต่ไม่มีเงินเหลือเก็บ - Forbes Thailand

5 วิธีรับมือพฤติกรรม HENRY "กินหรู อยู่สบาย" รายได้สูง แต่ไม่มีเงินเหลือเก็บ

ด้วยไลฟ์สไตล์และยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่จำนวนหลายรายจึงมีพฤติกรรมเข้าข่ายที่ถูกจัดว่าเป็น "HENRY" (High Earner, Not Rich Yet) หรือกล่าวคือ กลุ่มคนที่มีรายได้สูง ใช้จ่ายเยอะ จนไม่มีเงินเหลือเก็บ ด้านผู้เชี่ยวชาญนักวางแผนทางการเงินจึงแนะวิธีรับมือกับพฤติกรรมดังกล่าวเพื่อสร้างวินัยการออมและสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้มั่นคงในอนาคต


    สวัสดี HENRY! เริ่มต้นกันด้วยประโยคทักทาย...แต่ทว่าบทความชิ้นนี้เรามิได้ตั้งใจจะเล่าเรื่องหรือเอ่ยถึงตัวบุคคลที่มีนามว่า Henry แต่อย่างใด เพราะ "HENRY" ที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้ เป็นคำที่มีความหมายและย่อมาจากวลี "High Earner, Not Rich Yet" ซึ่งถูกกล่าวถึงในนิตยสาร Fortune มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จากฝีมือของนักเขียนที่ชื่อ Shawn Tully เขาได้ให้คำนิยามของกลุ่มคนที่ถูกจัดให้เป็น "HENRY" ว่า เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีรายได้สูง ควบคู่ไปกับการจับจ่ายใช้สอยในด้านต่างๆ ที่สูงตามไปด้วยเช่นกัน นั่นจึงเป็นสาเหตุหลักที่ให้พวกเขาเหล่านั้นไม่มีเงินเหลือเก็บและ "ทำไมถึงไม่รวยสักที" !!! 

    สหรัฐอเมริกา ได้ตีความของกลุ่มคน HENRY ด้วยฐานรายได้เฉลี่ยประมาณ 700,000-1,400,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ในประเทศไทยนั้น จัดหมวดหมู่ของกลุ่ม HENRY ไว้ที่รายได้เฉลี่ยประมาณ 100,000-300,000 บาทต่อเดือน ซึ่งคิดตามอัตราค่าเงินและค่าครองชีพที่ต่ำกว่า 

    หนังสือพิมพ์ The New York Post ยังเคยรายงานถึงพฤติกรรมของคนกลุ่ม HENRY ไว้ให้ผู้อ่านลองสำรวจตัวเองกันด้วยว่าจะเข้าข่ายหรือไม่ โดยสังเกตได้จาก "พฤติกรรมชอบกินหรู อยู่สบาย" หรือการนิยมใช้เงินซื้อความสุขให้แก่ตนเองแบบเห็นได้ชัด เช่น เลือกนอนในโรงแรมหรูระดับ 5 ดาวเท่านั้น ขึ้นเครื่องก็ต้องเลือกชั้น Business class ต่อเนื่องไปถึงไลฟ์สไตล์ในการชอบกินอาหารตามร้านดังๆ แพงๆ ระดับมิชลินสตาร์ และการสมัครเป็นเมมเบอร์ฟิตเนสสุดหรูใจกลางเมือง เป็นต้น

    ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่ผันผวนอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายอย่างประมาทไม่ระมัดระวัง อาจจะส่งผลกระทบให้เกิดการสร้างหนี้โดยไม่จำเป็นหรือขาดความมั่นคงในเสถียรภาพทางการเงินในอนาคตได้ แม้ว่าบุคคลดังกล่าวจะทำงานมีรายได้สูงมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานอยู่แล้วก็ตาม


วิธีต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อและหลีกเลีี่ยงพฤติกรรม "HENRY"

ไม่ใช่แค่กลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้ที่มีรายได้สูงเท่านั้นที่จะพลาดพลั้งตกหลุมพราง "กินหรู อยู่สบาย" ตามแบบฉบับไลฟ์สไตล์ของกลุ่ม HENRY เพราะพฤติกรรมเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เพราะเมื่อวันเวลาผ่านไป รายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ก็อาจจะทำให้ใครหลายๆ คน อยากที่จะจับจ่ายใช้สอยซื้อความสุขจากสิ่งต่างๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานของชีวิตตัวเองให้ดียิ่งขึ้นตามไปด้วย


1. วางแผนเพิ่มหรือเพิ่มรายได้

    "ยิ่งรายได้เพิ่มขึ้น รายจ่ายที่มีก็จะขยายตัวเพิ่มตามไปด้วย ถ้าไม่รู้จักวางแผนการเงินให้ดีBrittney Castro ผู้เชี่ยวชาญวางแผนทางการเงินในสหรัฐฯ อธิบาย นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมคุณจึงต้องวางแผนล่วงหน้าสำหรับรายได้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นก่อนที่คุณจะเริ่มมีรายได้นั้นเข้ามาในบัญชีด้วยซ้ำ เธอยังแนะนำด้วยว่า เงินที่ได้เพิ่มขึ้นควรนำไปใช้สำหรับการออม การเกษียณอายุ หรือการลงทุน แทนที่จะใส่ไว้ในบัญชีกระแสรายวัน ทั้งนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการนำเงินที่ได้เพิ่มขึ้นเหล่านั้นมาใช้จ่ายมากเกินจำเป็น


2. ปลูกฝังการออมตั้งแต่เยาว์วัย

    จากข้อมูลของ Gideon Drucker นักวางแผนทางการเงินของ Drucker Wealth Management และผู้เขียนหนังสือ "How to หลีกเลี่ยง HENRY Syndrome" บอกเอาไว้ว่า การขาดวินัยทางการเงินหรือไม่วางแผนการใช้จ่ายให้ดี จะถูกบ่มเพาะเป็นนิสัยและเริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตอย่างเห็นได้ชัดก็ตอนที่คุณเริ่มอายุย่างเข้าวัย 40-50 ปีตอนปลาย และใกล้จะเกษียณอายุ ดังนั้น หนึ่งในวิธีป้องกันความเสี่ยงเรื่องสถานะทางการเงินที่ดีที่สุด ก็คือการสร้างนิสัยรักการออมและการลงทุนที่แข็งแกร่งให้แก่เด็กๆ “แม้ว่าจะเป็นเงินออมในช่วงเริ่มต้นเพียงเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปบวกกับตัวเลขของเงินที่เพิ่มมากขึ้น เราก็ยังรู้สึกเป็นปกติที่ได้เห็นเงินงอกเงยขึ้นแบบเป็นธรรมชาติ โดยไม่ได้ตื่นเต้นเพื่อนำไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจนเกินกำลังแต่อย่างใด


3. จ่ายตัวเองก่อนตั้งแต่ต้น

    แทนที่จะเก็บออมเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายต่างๆ ตอนสิ้นเดือน ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นการแบ่งเงินสำหรับเก็บออมแยกเอาไว้ก่อนเลยในทันที ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่า "การจ่ายเงินให้ตัวเองก่อน" และเมื่อคุณเริ่มคุ้นชินมากขึ้นกับการมีรายได้เพียงจำนวนหนึ่งหลังจากหักเงินแยกเอาไว้สำหรับเก็บออมแล้ว ความอยากในการนำเงินไปใช้จ่ายเพื่อปรนเปรอตัวเองก็จะเริ่มลดน้อยลง "คนที่ประสบความสำเร็จทางการเงินส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนเส้นทางของรายได้ที่เพิ่มขึ้นและเลือกที่จะใช้จ่ายในชีวิตในรูปแบบที่ชัดเจน" Brittney Castro กล่าวเสริม

    แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า คุณจะไม่มีวันได้ด่ำดื่มกับความสุขจากเงินเดือนหรือรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นเลย เพราะเมื่อคุณมีวินัยและรู้จักวางแผนทางการเงินได้เป็นอย่างดี คุณก็จะเรียนรู้ในการบริหารจัดการจำแนกเงินเข้าสู่บัญชีออมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงหรือเป้าหมายทางการเงินอื่นๆ โดยอัตโนมัติ

    "ถ้าไม่วางแผนการเงินล่วงหน้าอะไรเลย เดี๋ยวคุณก็หาเหตุผลต่างๆ เพื่อเอาเงินเหล่านั้นไปใช้จ่ายสนองความสุขจนหมดเองนั่นแหละ" Drucker อธิบายแบบให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น


4. เแบ่งสรรปันส่วนไว้สร้างความสุข

    เมื่อคุณมีรายได้เพิ่มขึ้น การให้รางวัลสร้างความสุขแก่ตัวเองบ้างถือเป็นเรื่องปกติ "มันเป็นเรื่องของการสร้างสมดุลให้แก่ชีวิตเสมอ" Drucker กล่าว ทั้งนี้เราสามารถจำแนกวางแผนทางการเงินได้ทั้งเรื่องที่จำเป็นต้องใช้จ่าย และลิสต์รายการสิ่งของที่คุณอยากได้และอยากซื้อ “สมมติว่าคุณได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น 4% บางทีคุณอาจแบ่งเอาเงิน 1 % ที่ได้มาของจำนวนนั้นแล้วนำไปใช้จ่าย” Castro แนะนำวิธีง่ายๆ ให้หลายคนสามารถเอาไปปรับใช้เพื่อป้องกันการใช้จ่ายเกินตัว


5. ย้อนกลับไปวิธีการเบสิก

    หากคุณพบว่าตัวเองมีปัญหาเรื่องการดำเนินชีวิต นักวางแผนทางการเงินทั้งสองคนแนะนำให้กลับไปสู่พื้นฐานของการจัดทำงบประมาณและการวางแผน “ลองย้อนดูตัวเลขค่าใช้จ่าย แล้วลองดูสิ่งที่คุณสามารถกำจัดได้ พร้อมทั้งตั้งงบประมาณ แล้วติดตามดู เพราะนี่เป็นวิธีเดียวจริงๆ สำหรับการแก้ไข” Castro บอก 

    ขณะเดียวกัน Drucker ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ลองพิจารณาจากค่าใช้จ่ายต่อเดือนของคุณจริงๆ ว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่ และส่วนไหนคือส่วนที่จำเป็นจริงๆ รวมทั้งส่วนไหนที่ยังสามารถตัดทิ้งออกได้เพื่อแบ่งไว้เก็บออม" โดยทั้งสองคนยังเห็นพ้องต้องกันว่า สิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องของการมีเงินเหลือเก็บเพื่อสร้างความมั่งคั่งต่อเสถียรภาพทางการเงินในอนาคต ก็คือ เรื่องวินัยในการออม เพราะต่อให้คุณมีรายได้เพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ แต่ไม่รู้จักวางแผนทางการเงินหรือเก็บออม คุณก็จะยังรู้สึกจนและ "ทำไมถึงไม่รวยสักที"


แปลและเรียบเรียงจากบทความ : Financial planners explain how to avoid becoming a HENRY: 'high earner, not rich yet' 

และ It's a terrible time to be a HENRY


​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ศึกยุติทำงานไกล เมื่อบรรดา CEO อยากให้พนักงานกลับออฟฟิศ

​​คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine