เปิดใจเจน 2 ‘ฟู้ดแลนด์’ เตรียมลุยแฟรนไชส์ในภาคใต้ หลังถอนตัวภาคอีสาน มิ.ย.นี้ - Forbes Thailand

เปิดใจเจน 2 ‘ฟู้ดแลนด์’ เตรียมลุยแฟรนไชส์ในภาคใต้ หลังถอนตัวภาคอีสาน มิ.ย.นี้

“ฟู้ดแลนด์ซูเปอร์มาร์เก็ต” เตรียมลุยแฟรนไชส์ภาคใต้ หลังถอนตัวจากภาคอีสาน มิ.ย.นี้ จับมือ “วนาวัฒน์” ยักษ์ใหญ่วัสดุก่อสร้างและพาร์ทเนอร์ เปิดที่ “หาดใหญ่ วิลเลจ” เดสติเนชั่นไลฟ์สไตล์แห่งแรกภาคใต้ตอนล่างไตรมาสสุดท้ายปีนี้ เผยปิดร้านอาหารทั้ง 4 แบรนด์ หันกู้ภาพลักษณ์บริการ ขอโตยั่งยืนระยะยาว


    การขยายธุรกิจของฟู้ดแลนด์ในภาคใต้อยู่ในแผนธุรกิจของบริษัทมานานแล้ว โดย “สมศักดิ์ ตีระพัฒนกุล” ผู้ก่อตั้งฟู้ดแลนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตซึ่งเป็นคุณพ่อของ “อธิพล ตีระสงกรานต์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด เจน 2 ที่บริหารธุรกิจของฟู้ดแลนด์ในยุคปัจจุบัน ได้ซื้อที่ดินขนาด 19.5 ไร่ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาไว้ตั้งแต่ปี 2540

    ซึ่งนอกจากหาดใหญ่แล้ว ภูเก็ต สมุย ล้วนแต่อยู่ในแผนขยายสาขาของฟู้ดแลนด์ทั้งสิ้น แต่ความไม่พร้อมในหลายๆ เรื่อง เช่น การหาพาร์ทเนอร์ที่จะมาร่วมธุรกิจ การเข้าใจคนท้องถิ่น และอื่นๆ บริษัทจึงเน้นขยายธุรกิจในกรุงเทพฯ เป็นหลักในช่วงแรก และเริ่มขยายมายังเมืองท่องเที่ยว และหัวเมืองที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจบางจังหวัด อาทิ พัทยา และโคราช นครราชสีมา เป็นต้น

    “เราพร้อมแล้วที่จะขยายธุรกิจไปภาคใต้ โดยฟู้ดแลนด์สาขาแรกขนาด 1,200-1,500 ตารางเมตร ที่หาดใหญ่ วิลเลจ คอมมูนิตี้มอลล์ ผ่านระบบแฟรนไชส์ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เราขอทดลองฟอร์แมทแฟรนไชส์ในสงขลาก่อน หากประสบความสำเร็จและมีโอกาส เราจะคุยกับแฟรนไชส์ซอร์อีกครั้งว่าจะไปต่อในจังหวัดไหนได้บ้าง” อธิพลกล่าว

หาดใหญ่ วิลเลจ


    ทั้งนี้ สำหรับหาดใหญ่ วิลเลจ มีมูลค่าโครงการกว่า 500 ล้านบาท สร้างอยู่บนพื้นที่ 26.5 ไร่ ตรงข้ามสนามกอล์ฟค่ายเสนาณรงค์ บนถนนกาญจนวนิชตัดถนนนวลแก้วอุทิศ ภายใต้ความร่วมมือของ Southern Property ถือหุ้นโดยกลุ่มวนาวัฒน์ กลุ่มรวินคอนสตรัคชั่น และกลุ่มมังกรทอง

    นอกจากสาขาใหม่ที่ “หาดใหญ่ วิลเลจ” แล้ว บริษัทยังได้เช่าที่ในโครงการคอนโดมิเนียมของบริษัท เอสซีแอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในย่านวงเวียนใหญ่และย่านรัชดาภิเษก เพื่อเปิดสาขาเพิ่มขึ้น

    “เราเปิดกว้างที่จะคุยกับพาร์ทเนอร์ทุกราย ที่ต้องการให้เราเข้าไปเปิดฟู้ดแลนด์ที่โครงการ แต่มี criteria ว่า โครงการคอนโดมิเนียมนั้นต้องมีจำนวนห้องระหว่าง 700-800 ยูนิต จึงมีลูกค้ามากพอที่เราจะอยู่ได้” อธิพลบอก



    การเปิดสาขาฟู้ดแลนด์ในคอนโดมิเนียม จะทำภายใต้คอนเซ็ปต์ใหม่ ไม่สามารถเอาฟู้ดแลนด์ในคอนเซ็ปต์ปัจจุบันไปได้ เพราะฟู้ดแลนด์เน้นขายของสดเยอะ แต่ลูกบ้านไม่ได้ทำอาหาร จึงมีความเสี่ยงสูง ดังนั้น “ฟู้ดแลนด์โกรเซอรองท์” เป็นฟอร์แมทที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ในรอบ 5 ทศวรรษ เพื่อจะไปเปิดในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ถูกวิจัยมาอย่างดีจากผู้พัฒนาโครงการและมีลูกค้าจำนวนหนึ่งจากโครงการรออยู่แล้ว โดยเฉพาะฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่ จากเดิมที่ลูกค้าหลักของฟู้ดแลนด์จะอยู่ระหว่าง 30-50 ปี

    “ฟู้ดแลนด์โกรเซอรองท์” จะใช้เงินลงทุนสาขาละ 15 ล้านบาท มีพื้นที่ 300 ตารางเมตร เทียบกับสาขาปกติที่มีพื้นที่ทั้งหมด 1,200-1,300 ตารางเมตร เป็นร้านค้าปลีกลูกผสมระหว่างร้านมินิมาร์ทและร้านถูกและดี แต่จะลดจำนวนจากที่เมนูอาหารอยู่กว่า 100 เมนู เหลือเพียง 20-30 รายการเท่านั้น และมีที่นั่ง 20-30 ที่นั่ง การเปิดสาขาที่หาดใหญ่ วิลเลจ และที่วงเวียนใหญ่ในปีนี้ จะไม่นับอยู่ในแผนการเปิดสาขาใหม่ตามที่บริษัทกำหนดไว้ปีละ 2 สาขา

    “เมื่อ 10 ปีก่อน คุณพ่อเคยตั้งเป้าจะเปิดสาขาใหม่ปีละ 3-5 สาขา แต่หลังจากโควิด-19 เราปรับเหลือเปิดปีละ 2 สาขา เป็นการตั้งเป้าเอาไว้ก่อน จะเปิดหรือไม่เปิดก็ได้ เราไม่เร่งเปิดสาขาใหม่ เพราะต้องดูว่าเศรษฐกิจเอื้ออำนวยหรือเปล่า และคนยังระวังการใช้จ่ายเงินอีก


    “ปีนี้เราจะหันมาปรับปรุงสาขาเดิม 2 แห่งที่ลาดพร้าวและหัวหมาก ซึ่งจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นราว 40 ล้านบาทแทน” อธิพลกล่าว และว่า บริษัทจะใช้เงินลงทุนจาก cash flow ของบริษัท ไม่มีนโยบายกู้เงิน เพราะซูเปอร์มาร์เก็ตกำไรน้อย บางสาขาอาจจะต้องใช้เวลาคืนทุนถึง 8 ปี บริษัทอาจจะต้องมีต้นทุนดำเนินการสูงจากภาระดอกเบี้ยเงินกู้

    นอกจากไม่เร่งเปิดสาขาแล้ว อธิพลบอกว่าบริษัทตัดสินใจปิดร้านฟู้ดแลนด์ที่เทอร์มินอล 21 โคราชสิ้นเดือนมิถุนายนปีนี้ หลังจากทนขาดทุนมาหลายปี

    ทั้งนี้ ตั้งแต่เปิดฟู้ดแลนด์มา 52 ปี บริษัทมีปิดสาขาไปเพียง 5 แห่ง คือสาขาที่พัฒน์พงษ์ เพลินจิต ราชประสงค์ เอกมัย และพัทยา สาเหตุที่ปิดส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการขาดทุน แต่เพราะแลนด์ลอร์ดมีปัญหาด้านการเงินและขายที่ดินทิ้ง บางสาขาเจ้าของพื้นที่ขอขึ้นค่าเช่า จะมีเพียงฟู้ดแลนด์สาขารอยัลการ์เด้นพลาซ่า พัทยาเท่านั้นที่ขาดทุน เพราะตั้งอยู่ในทำเลย่านผับบาร์ จึงไม่ค่อยมีลูกค้าประจำ แม้ว่าจะทำโฆษณาประชาสัมพันธ์มากแค่ไหน ก็ไม่ค่อยได้ผลตอบรับตามที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม ฟู้ดแลนด์ในพัทยายังเปิดบริการอยู่อีก 2 แห่งและมีผลดำเนินงานดี

    “ผมตัดสินใจเปิดฟู้ดแลนด์ที่เทอร์มินอล 21 โคราชในปี 2559 เพราะเห็นแค่ความหนาแน่นของจำนวนประชากรที่นี่ก็มองเห็นโอกาสตลาดเลย ประกอบกับมีค้าปลีกรายใหญ่ๆ เข้าไปลงทุน ก็คิดว่าน่าจะลองดู แต่เปิดได้ 4 ปี ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน ก็เจอเหตุการณ์กราดยิงอีก เราต้องใช้เงินอีกหลายสิบล้าน ปรับปรุงเลย์เอาท์ฟู้ดแลนด์ โคราชใหม่ อีกครึ่งปี เพื่อลบภาพจำเดิมๆ ยอดขายดีขึ้นเล็กน้อยหลังกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง

    “แต่เมื่อดำเนินการมาเรื่อยๆ ธุรกิจเราไม่สามารถพ้นภาวะขาดทุนได้ เราพยายามยื้อต่อ เพราะไม่อยากให้พนักงานตกงาน และตามปกติการเปิดสาขาใหม่ๆ เราควรจะต้องสู้ซัก 5-6 ปี แต่การที่เราไม่เข้าใจพฤติกรรมการจับจ่ายของลูกค้าท้องถิ่น ที่จอดรถที่อยู่ไกลไป ทำให้ลูกค้าไม่สะดวกมาจับจ่ายที่เรา เราจึงตัดสินใจปิดสาขาในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ และจ่ายเงินชดเชยพนักงานทุกคนตามกฎหมาย” อธิพลเล่า


    ก่อนหน้านี้ในปีที่ผ่านมา ทางกลุ่มฟู้ดแลนด์ได้ตัดสินใจปิดกิจการธุรกิจอาหาร ซึ่งเป็นธุรกิจส่วนตัวของคุณพ่อที่มีอยู่ทั้งหมด 8 สาขาลง ได้แก่ ทิม โฮ วาน ร้านติ่มซำชื่อดังจากฮ่องกง 4 สาขา ร้านฮอกเกอร์ชาน ร้านอาหารจีนประเภทไก่ซีอิ๊วชื่อดังจากสิงคโปร์ 3 แห่ง และร้านพิซซ่าดังจากไต้หวันอีก 1 แห่งที่เก็บร้านราเมนสาขาพัทยาไว้เพียงแห่งเดียว

    “คุณพ่อชอบทำร้านอาหาร เปิดร้านอาหารมาหลายที่ตั้งแต่ร้านอาหารฝรั่งเศสแถวพัฒน์พงษ์ ร้านสุกี้ จนถึงร้านศาลาโฟร์โมสต์ที่ห้างไดมารูพระโขนง คุณพ่อท่านอายุมากแล้ว และการเปิดร้านอาหารในศูนย์การค้าในช่วงหลังขาดทุน เพราะลูกค้ามีทางเลือกเยอะ การแข่งขันก็สูง ธุรกิจอาหารเราก็ยื้อมาหลายปี ก่อนตัดสินใจปิดกิจการทั้งหมดตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพราะไม่อยากเจ็บตัวต่อ และเราอยากกลับมาโฟกัสธุรกิจหลัก เอาเวลามาปรับปรุงบริการ ซึ่งเป็นหนึ่งใน key success ของฟู้ดแลนด์มาตลอดที่เปิดดำเนินการในเมืองไทยมากว่า 5 ทศวรรษ” อธิพลบอก

    ด้วยปัญหาการขาดแคลนแรงงานในวงการค้าปลีก ทำให้อธิพลรู้สึกได้ถึงการให้บริการของฟู้ดแลนด์ในแต่ละสาขาเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็น

    “การให้บริการไม่เข้มข้นเหมือนแต่ก่อน ปัญหาหลักๆ ที่เราพบก็คือ เราไม่เคยหาพนักงานได้เต็มจำนวนและเพียงพอกับจำนวนร้านใหม่ที่ต้องการจะเปิด เราเปิดบริการมากว่าครึ่งศตวรรษ จึงมีพนักงานเกษียณอีกหลายคนในแต่ละปี โดยรวมเรามีพนักงานเข้าออกถึง 700-800 คนต่อปี หรือ 40 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพนักงานฟู้ดแลนด์ทั้งหมด” อธิพลบอก

    พนักงานใหม่ๆ ที่รับเข้ามาทำงานในฟู้ดแลนด์เป็นเจเนอเรชั่นใหม่ มีความอดทนน้อย มีความหวือหวา มีสิ่งยั่วใจ มีทางเลือกในการหาเงิน ฟู้ดแลนด์จึงไม่ใช่อาชีพทางเลือกแรกเหมือนที่เคยเป็นในอดีต การมีออนไลน์ทำให้พนักงานเหล่านี้ขายของได้โดยไม่ต้องเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ เด็กเจนนี้มีความอินดี้ในตัว เป็นตัวของตัวเองสูง ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระดับการบริการของฟู้ดแลนด์ดร็อปลง

    อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง บริษัทได้คัดเลือกพนักงานที่อยู่กับบริษัทมานาน ขึ้นมาเป็นพี่เลี้ยงพนักงานรุ่นหลังในทุกแผนกและทุกสาขา เพื่อรักษาการบริการที่ดีไว้

    แม้ฟู้ดแลนด์จะมาถึงจุดที่ต้องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้พนักงานทุกคนเป็นวันละ 450 บาท ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังหาคนทำงานยาก นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริษัทต้องปรับแผนการขยายสาขาเหลือแค่ 2 สาขาต่อปีเท่านั้น

    อธิพลบอกว่า แม้เป้าหมายการขยายสาขาจะถูกปรับลดลง แต่แนวคิดในการทำธุรกิจของฟู้ดแลนด์ยังเหมือนเดิม เน้นขายสินค้าคุณภาพ ให้บริการดี และจริงใจกับลูกค้า แต่รูปแบบการดีไซน์ร้านบางสาขาอาจจะมีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย เป็นฟอร์แมทที่ลูกค้าสะดวก รวมทั้งการเลือกทำเลในยุคนี้ก็ต่างจากยุคสมัยของคุณพ่อ

    “คุณสมศักดิ์ (คุณพ่อของอธิพล) จะไปสำรวจพื้นที่ 100 แห่งกว่าจะเลือกได้สักหนึ่งที่ แต่ละแห่งเขาไปดูทุกวัน วันละ 3-4 เวลา ตั้งแต่เช้า กลางวัน เย็น และกลางคืน ไปทั้งวันฝนตกและฝนไม่ตก เพื่อดูสภาพจราจรในแต่ละช่วง เพราะสมศักดิ์เชื่อว่าหากเลือกทำเลผิด สาขานั้นจะขาดทุนตั้งแต่แรก

    “ในสมัยของผม จะใช้ข้อมูลจากบริษัทวิจัยเพื่อเลือกลงทุนในแต่ละพื้นที่แทน เพราะสภาพของกรุงเทพฯ เปลี่ยน การจราจรติดขัด เราจะเปิดในกรุงเทพฯ ตรงไหนก็ได้ แต่ถ้าไม่มีโลเคชั่นที่ดี และค่าเช่าไม่คุ้ม เราก็ไม่จำเป็นต้องเปิด” อธิพลระบุ

    เขายังบอกอีกว่า บริษัทคาดว่ารายได้ของฟู้ดแลนด์ในปีนี้จะเติบโต 5% หรือมียอดขายเป็น 7,000 ล้านบาท เพิ่มจาก 6,400 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 211 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘พีทีจี’ เตรียมลงทุน 2,300-2,500 ล้าน ลุยต่อ Subway ในไทย ปูพรมเปิดอีก 500 สาขาใน 10 ปี

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine