Made in Thailand: เนื้อหาไทยสำหรับคนไทย - Forbes Thailand

Made in Thailand: เนื้อหาไทยสำหรับคนไทย

FORBES THAILAND / ADMIN
11 Oct 2016 | 12:30 PM
READ 4206
หลายปีมาแล้วที่ชาวไทยนำอินเทอร์เน็ตมาเป็นตัวช่วยสำคัญในการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ เพื่อเข้าถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ ในการขายและส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ และเพื่อเชื้อเชิญให้องค์กรธุรกิจ จากทั่วโลกมาสำรวจและสร้างโอกาสทางธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งก่อให้เกิดชุมชนในท้องถิ่นที่มีความตื่นตัว เข้มแข็งและมีส่วนร่วมซึ่งกันและกันที่คนไทยสามารถพูดได้อย่างภาคภูมิใจว่าทุกคนมีส่วนให้เกิดขึ้นมา วันนี้อินเทอร์เน็ตสร้างคลื่นลูกใหม่ที่นำพามาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย โดยปัจจุบันอาจเป็นเพียงความสำเร็จเริ่มต้นแต่จะรวมกันเป็นรากฐานใหม่ให้กับเมืองไทยในอนาคต การเปลี่ยนแปลงนี้นำโดย ศิลปิน คอเกม และธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากที่มีเป้าหมายเดียวกันคือการสร้างสรรค์ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่สื่อให้กับคนไทยด้วยกันได้เข้าใจ ซี่งความคิดสร้างสรรค์และองค์ความรู้ต่างๆ เหล่านี้สามารถเห็นได้ชัดเจนจากทุกที่ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตในทุกๆ วัน เมื่อเทียบกับที่อื่นๆ ในโลกแล้ว สถิติการใช้ YouTube ในไทยนั้นน่าทึ่งมาก โดยระยะเวลาการชม YouTube ของคนไทยรวมกันแล้วสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ซึ่งนี่คือผลจากความมุ่งมั่นของบรรดาผู้ผลิตรายการบนวิดีโอออนไลน์ที่ย่อมไปไกลกว่าสิ่งที่ผู้คนพบเห็นในข่าวทั่วไป แต่นอกเหนือจากเวลาที่ผู้ชมชาวไทยใช้บนอินเทอร์เน็ตแล้วมันน่าสนใจและน่าทึ่งมากเมื่อเห็นสิ่งที่คนไทยผลิตและสร้างสรรค์คนไทยก้าวไปอีกขั้นด้วยการนำเสนอเรื่องราวและสิ่งต่างๆ ผ่านการสร้างสรรค์เนื้อหาในท้องถิ่นที่ผลิตเพื่อคนไทย เมื่อเร็วๆ นี้ เราเปิดตัวเครื่องมือสำหรับชุมชนนักสร้างสรรค์ที่ให้คนไทยใส่คำบรรยายในวิดีโอและสามารถแปลเนื้อหาของวิดีโอจากทั่วโลกได้ ทว่าทุกวันนี้ YouTube ในไทย เต็มไปด้วยเนื้อหาที่ผลิตมาเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ และยังจะเป็นเช่นนี้ต่อไปกิจกรรมส่วนใหญ่บน YouTube มักเกี่ยวกับความบันเทิง ซึ่งพบว่านักสร้างสรรค์ชาวไทยมีผลงานและนำเสนอเรื่องราวอื่นๆ อีกมากมายนอกจากเนื้อหาด้านดนตรีหรือภาพยนตร์อาทิ Orm School ที่เปิดช่องของตัวเองด้วยวิดีโอ 712 คลิป มาวันนี้มีวิดีโอในช่องนี้มากกว่า 10,000 คลิปและมีแฟนๆ ชมวิดีโอของ Orm School บน YouTube กว่า 40,000,000 นาทีหรือตีเป็นเวลาเกือบ 82 ปีเลยทีเดียว ในจำนวนนี้มีนักเรียน 6 คนที่เป็นสมาชิกของช่องนี้ที่ได้คะแนนสอบระดับประเทศ GAT Thai เต็ม 150 คะแนน (100%) อีกด้วย แน่นอนการชม Orm School ไม่ได้รับประกันว่าผู้ชมทุกคนจะได้คะแนนดีเยี่ยม แต่เป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นว่านักเรียนจำนวนมากสามารถเข้าถึงเนื้อหาสาระที่ช่วยให้พวกเขาเรียนดีขึ้นได้ ซึ่ง วิสัยทัศน์ที่น่าทึ่งของ Orm School คือความตั้งใจที่จะสร้างวิดีโอเพื่อการศึกษาที่จะก้าวข้ามข้อจำกัดด้านความรู้ต่างๆ และ YouTube ยืนอยู่เคียงข้างเพื่อช่วย Orm School ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ความคิดสร้างสรรค์ของวงการเกมในไทยก็น่าตื่นตาตื่นใจเช่นกัน ขณะที่ผู้คนมากมายมองว่าการเล่นเกมนั้นเสียเวลา แต่ความจริงคือธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูงสุดอย่างหนึ่งบนโลกอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ TeamGaryMovieThai หรือลุงพี ภควัต ลือพัฒนสุข เป็นนักสร้างสรรค์เนื้อหาเกี่ยวกับเกมบน YouTube ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในไทย เขาค้นพบว่าสามารถเพิ่มศักยภาพการพัฒนาตัวเองเมื่อตอนใช้ชีวิตออนไลน์และได้เรียนรู้หลายสิ่ง รวมถึงการเรียนภาษาอังกฤษจากการเล่นเกมออนไลน์ ประสบการณ์เป็นแรงผลักดันให้เปิดช่องเพื่อสอนคนอื่นว่ามันเป็นเรื่องปกติที่จะแตกต่างกับผู้อื่น และไม่มีอะไรผิดถ้าจะใช้วิดีโอเกมเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ วันนี้เขามีผู้ติดตามมากกว่าหนึ่งล้านคนและยังเปิดเวิร์คช็อปเพื่อสอนภาษาอังกฤษผ่านเกมใหักับเด็กในกรุงเทพฯ อีกด้วย ลุงพีเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกมได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่ากับการศึกษา และวงการเกมของไทยก็ให้การสนับสนุนด้วยการผลิตเกมที่ช่วยพัฒนาการศึกษามากขึ้นอีกด้วย เมื่อลองขยายความคิดนี้ไปทั่วระบบเศรษฐกิจก็แทบเป็นไปไม่ได้ว่าจะไม่เห็นโอกาสที่น่าตื่นเต้น เมื่อลองแสกนแผนที่ในอาคารของศูนย์การค้า ก็จะละลานตาไปกับจำนวนร้านค้ามากมายที่ต่างแข่งขันเพื่อให้ลูกค้าสนใจแต่เมื่อธุรกิจเหล่านั้นเริ่มค้าขายออนไลน์แล้วเศรษฐกิจไทยก็เริ่มเปลี่ยนรูปแบบไปด้วย จากผลการศึกษาร่วมกันระหว่าง Google และ Temasek คาดว่าโอกาสด้านดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะโตถึง 200 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2025 ในฐานะประเทศที่อยู่ในภูมิภาคที่ขณะนี้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความน่าสนใจทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก เมืองไทยสามารถเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ ทั้งนี้ประเทศไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 39 ล้านคนซึ่งคาดการณ์ว่าจะไปถึง 58 ล้านคนในปี 2020 ด้วยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เร็วกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมกับความคิดสร้างสรรค์ในแต่ละคน ประเทศไทยสามารถสร้างตัวเองให้เป็นผู้นำในการผลิตเนื้อหาดิจิทัลได้ไม่ยาก คนไทยเข้าใจว่าคลื่นลูกต่อไปของเนื้อหาดิจิทัลจะส่งผลต่อการใช้ชีวิต โดยเนื้อหาด้านการศึกษาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว และโอกาสในการสร้างสรรค์เนื้อหาดิจิทัลเพื่อคนในท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ นั้นมีอยู่มากมาย เนื้อหาที่ผลิตโดยคนไทยเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการต่างๆ ของไทย จะมีบทบาทอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ แนวความคิดหลักไม่เพียงแค่ทำธุรกิจที่มีอยู่ให้เป็นดิจิทัล แต่ธุรกิจที่ไม่เคยมีมาก่อนสามารถเกิดขึ้นมาได้ Papapha DIY เริ่มสอนผู้ชมปั้นตุ๊กตาจากดินวิทยาศาสตร์ผ่านวิดีโอที่เธอใช้เวลาว่างถ่ายจากโทรศัพท์มือถือในอะพาร์ตเมนต์เล็กๆ แต่เพียงหนึ่งปีช่องของ ”ปาปา ภา” โตขึ้นอย่างรวดเร็วจนเธอหันมาเป็น YouTube creator แบบเต็มตัวและยังขยายไปสู่ธุรกิจ ซึ่งทำให้เธอมีรายได้ในฐานะนักสร้างสรรค์บน YouTube และขายสินค้าของเธอจนทำให้วันนี้เธอสามารถซื้อบ้านของตัวเองได้ แม้แต่ธุรกิจแบบออฟไลน์ก็ยังมีโอกาสเติบโตทางออนไลน์ได้เช่นกัน ดังเช่น Meet N Lunch เป็นต้น Meet N Lunch เป็นบริการหาคู่แห่งหนึ่งที่เปิดเมื่อปี 2006 ซึ่งบริการหาคู่และนัดพบไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในไทยโดยเฉพาะผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต เมื่อบริษัทใช้สิ่งนี้ให้เป็นโอกาศและใช้ความได้เปรียบของโฆษณาออนไลน์โปรโมตธุรกิจก็พบว่ามีการเติบโตจากบริษัทที่มีรายได้ไม่กี่พันบาทต่อเดือนเป็นบริษัทที่มีมูลค่าถึง 130 ล้านบาท (5 ล้านเหรียญสิงค์โปร์) ในปัจจุบัน เมื่อก่อนนี้การโฆษณาห้องโรงแรมของคนไทยให้กับลูกค้าชาวเยอรมันแสนจะง่าย ประหยัดและคุ้มค่ากว่าที่เอสเอ็มอีไทยรายหนึ่งจะขายของให้กับเพื่อนบ้านคนไทยด้วยกันที่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตเสียอีก แต่โฆษณาดิจิทัลทำให้สนามแข่งขันนี้มีความเสมอภาคกันที่ทั้งธุรกิจไทย ศิลปินไทยหรือนัก-สร้างสรรค์ไทยต่างก็เข้าถึงคนไทยทุกคนด้วยการติดต่อซื้อขาย การรับชมวิดีโอหรือผ่านบทเรียนต่างๆ ที่นำเสนอในเวลาที่เหมาะสมได้ นี่คือตัวอย่างเล็กน้อยของการที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และนักสร้างสรรค์ไทยสามารถเติบโตบนโลกออนไลน์ได้อย่างมั่นคง พวกเราที่ Google เชื่อในโอกาสต่างๆ มากมายในประเทศและในความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ซึ่งผมมั่นใจว่าตลอดปีนี้เราจะมีส่วนร่วมไปกับเรื่องราวและสิ่งต่างๆ ที่น่าตื่นเต้นจากประเทศไทย พร้อมๆ ไปกับผู้ผลิตและนักสร้างสรรค์ชาวไทยที่นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ผ่านพลังของอินเทอร์เน็ต และเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยจะสร้างหมุดหมายที่สำคัญบนเวทีระดับภูมิภาคแห่งนี้ได้อย่างแน่นอน Ben King Country Head, Google Thailand
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ Fobes Thailand Magazine ฉบับ SEPTEMBER 2016