"บิสกิต โซลูชั่น" เผย 5 เทรนด์ AI แนะธุรกิจเตรียมรับมือ - Forbes Thailand

"บิสกิต โซลูชั่น" เผย 5 เทรนด์ AI แนะธุรกิจเตรียมรับมือ

บิสกิต โซลูชั่น เผย 5 เทรนด์ AI เติบโตสูง มูลค่ากว่า 2.4 ล้านล้านบาท เอเชียแปซิฟิกขยายตัวกว่า 40% แนะธุรกิจเตรียมรับมือ เมื่อเทคโนโลยีช่วยคิดแทนคน ช่วยทรานฟอร์มธุรกิจ ตั้งเป้าขยายบริการ 5 ประเทศ ปีนี้รายได้ 150 ล้านบาท โตเท่าตัว

สุทธิพันธุ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิสกิต โซลูชั่น จำกัด หรือ BIZCUIT เปิดเผยว่า เทคโนโลยี AI โดยเฉพาะด้าน Machine learning เป็นที่จับตามองไม่เฉพาะแค่ภาคธุรกิจ แต่เป็นนวัตกรรมที่จะสามารถขับเคลื่อนในทุกหน่วยของโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจาก Machine learning สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจในสิ่งที่มนุษย์ถ่ายทอด จนเสมือนเป็นมนุษย์ สามารถต่อยอดด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย จนทำในสิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้ ปัจจุบัน กระแสความนิยมสะท้อนจากมูลค่าของธุรกิจ AI ในตลาดโลก ที่มีมูลค่าถึง 74,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 2.48 ล้านล้านบาท ในปี 2564 ที่ผ่านมา โดย 60% ของตลาด เป็น Application หรือ โซลูชันที่มีการใช้ Machine Learning AI คิดเป็นมูลค่า 1.48 ล้านล้านบาท ส่งผลให้เกิดเทรนด์เทคโนโลยี AI ด้าน Machine Learning ที่นำไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างประสิทธิภาพและขยายขีดความสามารถให้กับธุรกิจและองค์กรของภาครัฐได้

เผย 5 เทรนด์ AI รุ่ง

สุทธิพันธุ์ กล่าวว่า เทรนด์ของเทคโนโลยี AI ด้าน Machine Learning ของโลก ที่เน้นพัฒนาให้ AI ทำในสิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้ แบ่งออกเป็น 5 เทรนด์สำคัญ คือ
  1.  Voice is the new hand เสียงจะเป็นเสมือนแขนที่สามของมนุษย์ที่จะคอยสั่งการสิ่งต่างๆ แบบไร้การสัมผัสข้อมูลเสียง จะทำให้เราสั่งงานระบบต่างๆ พร้อมยืนยันตัวตน และแจ้งตำแหน่งของเราด้วยการพูดเพียงอย่างเดียว ทำให้ก่อเกิดการใช้งานใหม่ๆ มากมาย
  2. Computer Generated Content การสร้างคอนเทนต์หรือเนื้อหาด้วย AI ที่เกิดจากเทคโนโลยี Natural Language Generation หรือ NLG ซึ่งเป็นอีก 1 สาขาของ Machine Learning AI โดยปัจจุบันสามารถสอนให้ AI คิดเนื้อหาขึ้นมาเอง เพื่อตอบโต้ความต้องการของมนุษย์แบบอัตโนมัติ หรือสร้างความบันเทิงให้กับมนุษย์
  3. Natural Language Understandingจะถูกใช้ร่วมกับ IoT ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในอนาคต AI จะสามารถเข้าใจสิ่งที่มนุษย์ต้องการ ไม่ใช่แค่เข้าใจคำสั่ง แต่เข้าใจความต้องการของเรา ประสบการณ์ที่จะได้จาก IoT จะยิ่งทวีคูณ เช่น เมื่อพูดว่าน้ำส้มหมด ตู้เย็นสามารถวิเคราะห์ได้ว่าต้องการซื้อน้ำส้ม และจะสืบค้นร้านค้าออนไลน์ เปรียบเทียบราคาและเสนอตัวเลือกที่ดีที่สุดให้ เป็นต้น
  4. Computer Vision การวิเคราะห์ภาพเรียลไทม์จะถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยสามารถเพิ่มขีดความสามารถของกล้องCCTV ที่มีอยู่แล้ว ให้มีความสามารถเป็น AI Vision Analytic ตรวจจับวิเคราะห์ภาพเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ
  5. ระบบการประมวลผลแบบใหม่ เช่น Quantum Computer กำลังจะยกขีดความสามารถของ AI ไปแบบก้าวกระโดด เนื่องจากศักยภาพในการประมวลผลของ AI ขึ้นอยู่กับความสามารถของฮาร์ดแวร์ และ Quantum Computer คืออนาคตที่ทรงพลังของ  AI
“แนวโน้มดังกล่าวเป็นทิศทางที่ AI จะพัฒนาไปและทำในสิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้ ซึ่งเป็นโอกาสของภาคธุรกิจและภาครัฐของไทยในการนำ AI มาใช้ในประเทศไทย โดยเฉพาะคนไทยใช้การสื่อสารผ่านการพิมพ์เยอะ Text สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้” สุทธิพันธุ์ กล่าว ปัจจุบันเทคโนโลยี AI ที่มีการใช้งานสูงสุด คือ Natural Language Understanding หรือ NLU โดยในประเทศไทย ในภาคอุตสาหกรรมการเงินมีการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าว 100% อุตสาหกรรมค้าปลีก 60% ภาคการผลิตมีการใช้ AI แต่ไม่ใช่แมชชีน เลิร์นนิ่ง เป็นเป้าหมายของบิสกิตที่จะขยายในส่วนของภาคการผลิตเพิ่มเติม

กลุ่มบุญรอดฯ ร่วมทุน

สุทธิพันธุ์ กล่าวว่า บิสกิตฯ เป็นบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งในปี 2564  กลุ่มบุญรอดซัพพลายเชน ได้ร่วมลงทุนกับบริษัทเพื่อนำเทคโนโลยี AI ไปต่อยอดให้กับกลุ่มลูกค้าและบริษัทในเครือ นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าคู่สัญญารายใหม่ โดยคิดมูลค่ารวมกว่า 150 ล้านบาท ปัจจุบัน บิสกิตฯ มีลูกค้ามากกว่า 60 องค์กร แบ่งสัดส่วนเป็นลูกค้าในประเทศ 80 % และลูกค้าในต่างประเทศ 20% ครอบคลุมในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มธุรกิจรีเทลค้าปลีก กลุ่มธุรกิจอาหาร กลุ่มอีคอมเมิร์ซ กลุ่มภาคการผลิต กลุ่มการเงินและประกันภัย หรือ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยให้บริการโซลูชันของบิสกิตฯใน 5 ประเทศในภูมิภาค ได้แก่ ประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ “ความสามารถของ AI ด้านภาษาของบิสกิตฯนั้น ครอบคลุมไปถึงภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศรวม 3 ภาษา คือภาษาไทย อังกฤษ และบาฮาซาอินโดนีเซียอีกด้วย” สุทธิพันธุ์ กล่าว อ่านเพิ่มเติม: “นารายณ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป” รีแบรนด์โรงแรมในเครือสู่ “หลับดี”

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine