แนวโน้มเทคโนโลยีที่ต้องจับตามองในปี 2020 - Forbes Thailand

แนวโน้มเทคโนโลยีที่ต้องจับตามองในปี 2020

FORBES THAILAND / ADMIN
03 Feb 2020 | 06:20 PM
READ 9754

ในปีที่ผ่านมา เราได้เห็นถึงความตื่นตัวขององค์กรไทยในการนำ Disruptive Technologies เข้ามาใช้ในธุรกิจ เพื่อให้พร้อมรับมือกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และเพื่อให้องค์กรพร้อมก้าวนำในคลื่นดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

เหล่านี้ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะต่อจากนี้ เทคโนโลยี จะยิ่งเข้ามามีบทบาทในชีวิตและธุรกิจมากขึ้น โดยเทคโนโลยีที่ไอบีเอ็มคาดว่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในปี 2020 และปีต่อๆ ไป มีดังนี้

 

เพื่อนร่วมงานที่มีชื่อย่อว่า AI

- จากการศึกษาโดย MIT-IBM Watson AI Lab เมื่อไม่นานมานี้ เกี่ยวกับอนาคตของการทำงาน พบว่า AI จะเข้ามาช่วยเราทำงานประเภทที่ใช้ระบบอัตโนมัติ (automation) แทนได้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การจัดตารางเวลา การจัดการเอกสารที่มีกระบวนการซ้ำๆ เป็นต้น แต่จะไม่ค่อยส่งผลกระทบต่องานที่ต้องใช้ทักษะของมนุษย์ อย่างการออกแบบที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ หรือการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ - บุคลากรจะได้รับประโยชน์เพราะงานประเภทที่ช่วยเสริมการทำงานของโซลูชั่น AI จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และให้ค่าตอบแทนสูงขึ้นด้วย  -เทคโนโลยี AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากร รวมถึงประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตในแง่มุมต่างๆ  

เปิดรับระบบ Hybrid Cloud ที่ทั้งอิสระและยืดหยุ่น

-นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าไฮบริดคลาวด์จะมีโอกาสทางการตลาดสูงถึง 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และผู้มีอำนาจตัดสินใจด้าน IT เกือบ 80% มองถึงการนำระบบคลาวด์แบบไฮบริดมาใช้ในอนาคต -เมื่อต้องใช้คลาวด์หลายระบบ องค์กรจะมองหาวิธีจัดการกับข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ในหลายสภาพแวดล้อมและความซับซ้อนที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ระบบไฮบริดมัลติคลาวด์จะกลายเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อระบบคลาวด์สาธารณะในสภาพแวดล้อมแบบไฮบริดนั้น ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถรองรับข้อกำหนดด้านความปลอดภัย การปกป้องข้อมูล และการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับได้อย่างที่ธุรกิจต้องการ -ไฮบริดคลาวด์จะใช้งานได้ดีก็ต่อเมื่อระบบนั้นใช้มาตรฐานแบบเปิด เพราะช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถสร้างแอปพลิเคชั่นเพียงครั้งเดียวแล้วนำไปใช้ได้ทุกที่ และนั่นก็คือเหตุผลที่ในปี 2019 ไอบีเอ็มเข้าซื้อกิจการของ Red Hat ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีไฮบริดคลาวด์ใช้มาตรฐานแบบเปิดชั้นนำของวงการ ด้วยมูลค่า 3.4 หมื่นล้านเหรียญ  

ควอนตัมเดินหน้าสู่โลกแห่งการใช้งานจริง

-ในปี 2019 ไอบีเอ็มเร่งการพัฒนาควอนตัมคอมพิวติ้งมากยิ่งขึ้น โดยการเปิดศูนย์คอมพิวเตอร์ควอนตัมไอบีเอ็ม และเปิดตัวระบบควอนตัมมากถึง 14 ระบบ และหนึ่งในนั้นคือคอมพิวเตอร์ควอนตัมขนาด 53 คิวบิต ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นระบบ Universal Quantum ที่ใหญ่ที่สุดระบบเดียวที่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าใช้งาน -ในปี 2020 ควอนตัมจะไม่ใช่แค่เพียงทฤษฎีอีกต่อไป แต่จะเข้าสู่โลกของการทดลองและการใช้งานจริง เพราะคอมพิวเตอร์ควอนตัมมีศักยภาพที่จะยกระดับการคาดการณ์ทางการเงินและการค้นพบองค์ประกอบทางเคมีให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการแก้ปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่ยังคงซับซ้อนเกินไปสำหรับคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน  

บล็อกเชนกลายเป็นเรื่องพื้นฐานในโลกธุรกิจ

-บล็อกเชนสามารถลดความซับซ้อนของระบบซัพพลายเชนด้านอาหาร ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกที่แต่ละปีมีผู้คนถึง 50 ล้านคนต้องเจ็บป่วยจากอาหารปนเปื้อน ก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์สูงถึง 1.5 หมื่นล้านเหรียญต่อปี -ในปี 2019 ไอบีเอ็มร่วมมือกับเมอส์กในการขยายโครงการที่พลิกโฉมธุรกิจซัพพลายเชนด้วยบล็อกเชน โดยปัจจุบันมีบริษัทชิปปิ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก 5 จาก 6 ราย ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือระดับโลก 15 ราย หน่วยงานต่างๆ กว่า 100 แห่ง รวมถึงกรมศุลกากรจากไทยและหลายประเทศทั่วโลก เข้าร่วมอยู่บนแพลตฟอร์ม TradeLens นี้ -ในทศวรรษนี้ เราจะได้เห็นการนำบล็อกเชนเข้ามาใช้ในแวดวงการดูแลสุขภาพ โดย ดร.ลอรา เอสเซอร์แมน ผู้อำนวยการของ UCSF Carol Franc Buck Breast Care Center กล่าวกับ FORTUNE ว่าบล็อกเชนสามารถลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนายารักษาโรคมะเร็งได้มาก อีกทั้งยังขับเคลื่อนให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ในการรักษามะเร็งเต้านมด้วย เป้าหมายสูงสุดคือการลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนายารักษาโรคมะเร็งให้เหลือเพียง 500 ล้านเหรียญ โดยใช้เวลา 5 ปี หรือครึ่งหนึ่ง จากปัจจุบันที่ต้องใช้ระยะเวลา 10 ปีและเงินเกือบ 1 พันล้านเหรียญ  

การประมวลผลกำลังจะย้ายไปสู่ Edge มากยิ่งขึ้น 

-ในทศวรรษหน้า Edge Computing จะแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาคโทรคมนาคมเริ่มให้บริการเทคโนโลยี 5G ซึ่งเป็นรูปแบบการสื่อสารแบบไร้สายความเร็วสูงความหน่วงต่ำ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของระบบประมวลผล Edge Computing ที่อยู่ใกล้กับแหล่งข้อมูลได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ คอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ขนาดกะทัดรัดที่มีประสิทธิภาพ ที่ตั้งอยู่บริเวณขอบของเครือข่าย ก็ช่วยให้สามารถนำพลังการประมวลผลไปไว้ในจุดที่เกิดประโยชน์สูงสุดได้อีกด้วย -อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ใช้ทั่วไป รถยนต์และยานยนต์ระบบไฟฟ้า เครื่องจักรโรงงาน รวมถึงอุปกรณ์ดิจิทัลอีกมากมายหลายประเภทที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ต่างก็มาพร้อมเซ็นเซอร์ที่เมื่อรวมกันแล้วทำให้เกิดข้อมูลปริมาณหลายเพทาไบต์ ปัจจุบันคาดว่ามีอุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้อยู่แล้วประมาณ 1.5 หมื่นล้านเครื่องในบริเวณขอบนอกของเครือข่าย และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.5 หมื่นล้านภายในปี 2022 ซึ่งสำหรับภาคธุรกิจแล้ว การมีอุปกรณ์บริเวณขอบเครือข่ายเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัวถือเป็นโอกาสอันดีในการเข้าถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์ในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่สภาพการจราจร ไปจนถึงการตรวจสอบว่าหุ่นยนต์ในโรงงานต้องซ่อมบำรุงแล้วหรือไม่  -ซัมซุงและไอบีเอ็ม ร่วมกันนำระบบคลาวด์และเทคโนโลยี Edge ของไอบีเอ็มมาใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ Galaxy ของซัมซุง เพื่อช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ นักดับเพลิง และหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐและองค์กรสามารถสร้างระบบติดตามข้อมูลสุขภาพที่สำคัญของบุคลากรในพื้นที่ห่างไกลหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียด เพื่อดูว่าบุคคลนั้นมีระดับความเครียดสูงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้แล้วหรือไม่ เพื่อจะได้ช่วยเหลือได้ทัน   อ่านเพิ่มเติม  
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine