ธุรกิจความงามเติบโตไม่หยุด ทำให้กลุ่มทุนด้านความงามจากไต้หวันขยายธุรกิจเข้าไทย โดยลงทุนกว่า 2.5 พันล้านบาท ตั้งโรงงานผลิตภัณฑ์ความงามแห่งแรก หวังผลักดันให้ไทยเป็นฮับด้านความงามของภูมิภาค

นายแพทย์อารอน เชีย-เซียน เซีย (Dr. Aaron Shia-Hsien Hsia) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไดมอนด์ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนา และผลิต เครื่องมือทางการแพทย์และเวชศาสตร์จากไต้หวัน ได้เปิดเผยแผนการลงทุนตั้งโรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์และเวชศาสตร์ความงามในไทย หลังจากได้ศึกษาตลาดในไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย โดยร่วมมือกับพันธมิตรไทย 5 ราย ได้แก่ บริษัท เค.เอ็น.เอ. อินเตอร์ฟาร์มา จำกัด, นายแพทย์รัสมิ์ภูมิ สุเมธีวิทย์ แพทย์ผิวหนังเฉพาะทาง และผู้ก่อตั้ง Rassapoom Clinic, นายแพทย์ปิยวัฒน์ หิรัญนาท ผู้บริหาร และผู้ก่อตั้ง Kay Hay Clinic, แพทย์หญิงนาตยา รักพ่วง แพทย์เฉพาะทางด้านนรีเวชวิทยา และผู้ก่อตั้ง Dr. Aomthong Clinic และนายแพทย์กิตติธัช สินพิพัฒน์พร ผู้บริหาร และผู้ก่อตั้ง La Ferly Clinic
การร่วมทุนครั้งนี้ได้จัดตั้งบริษัท Aesthetic Alliance All จำกัด (AAA) ด้วยทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท บริษัท ไดมอนด์ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด เข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 49% ในขณะที่พันธมิตรทั้ง 5 ท่านถือหุ้นในสัดส่วน 51% บริษัทจะมีการตั้งโรงงานที่จังหวัดปทุมธานี บนพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ โดยใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท
นายแพทย์อารอน กล่าวว่า โรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์ โดยเม็ดเงินลงทุน 2,000 ล้านบาท จะนำไปใช้ในการลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องจักร การวิจัยและพัฒนา และสิทธิบัตรการผลิต 4 รายการ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ในกลุ่มความงาม (Aesthetic)
โดยโรงงานจะเริ่มก่อสร้างในวันที่ 1 มกราคม 2569 และคาดว่าจะสามารถเริ่มขบวนการผลิตได้ในปี 2570 เบื้องต้นจะผลิต 4 ผลิตภัณฑ์ โดย 2 ผลิตภัณฑ์แรกคือ เส้นใยไหมสำหรับกระชับหน้า (Miracal Thread Lifting) โดยจะมีกำลังการผลิตในปีแรก 100,000 เส้นต่อเดือน
อีกผลิตภัณฑ์ คือ NeoFilera นวัตกรรมใหม่ของการฉีดฟิลเลอร์กระตุ้นคอลลาเจน ลดเลือนริ้วรอย ซ่อมแซมผิวอย่างล้ำลึก ปรับสีผิวให้กระจ่างใส ด้วยพลังของ Poly-D, L-lactic-acid (PDLLA) คืนความยืดหยุ่นของผิว ลิขสิทธิ์ของ บริษัท ไดมอนด์ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด จำนวน 100,000 ขวดต่อปี โดยที่โรงงานยังคงสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ตามความต้องการของตลาด
ส่วนอีก 2 ผลิตภัณฑ์ นายแพทย์อารอน กล่าวว่า อยู่ระหว่างการพัฒนาและจะสามารถนำมาผลิตได้หลังจากโรงงานสร้างเสร็จ
ปั้นไทยฐานผลิตในภูมิภาค
"โรงงานในประเทศไทย จะเป็นฐานในการผลิตเพื่อขายในประเทศไทยและส่งออกไปในต่างประเทศโดยเฉพาะในเอเชีย และตะวันออกลาง" โดยในระยะแรกจะส่งออกไปใน จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม และในระยะถัดไปจะส่งออกไปใน ประเทศกัมพูชา ลาว พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และตะวันออกกลาง โดยสัดส่วนการส่งออกจะอยู่ที่ 70% และ 30% ขายภายในประเทศไทย
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายรายได้ในปีแรกไว้ที่ 500 ล้านบาท และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 20% ต่อปี โดยคาดว่าภายใน 3 ปี จะสามารถคืนทุนจากเม็ดเงินลงทุนที่ลงไปได้
โรงงานในไทยจะจ้างงานคนไทยในปีแรกประมาณ 50 คน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 200 คนในระยะต่อไป พร้อมกับจะมีการพัฒนาบุคลากรไทย ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการวิจัยและพัฒนา ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงาม จากบริษัทแม่ในไต้หวัน
นายแพทย์อารอน กล่าวว่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีศักยภาพ ในการเป็นศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาล (Medical Hub) โดยเฉพาะในเรื่องของเวชศาสตร์ความงาม เพราะประเทศไทยมีความพร้อม ด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถ ตลาดด้านความงามมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านภาษี และการส่งเสริมลงทุนที่เอื้ออำนวย
เหตุผลสำคัญอีกประการ คือความร่วมมือ และความสัมพันธ์อันยาวนาน รวมถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของ เค.เอ็น.เอ. ในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจกว่า 3 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ได้ร่วมมือกัน บริษัทฯ เห็นถึงความเชี่ยวชาญด้านการจัดการ การตลาด และเครือข่ายพันธมิตรแพทย์ด้านความงามที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการขยายตลาดในประเทศไทย และการผลักดันให้โรงงานในประประเทศไทยสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงออกสู่ภูมิภาคเอเชีย และตะวันออกกลาง
"การเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียในครั้งนี้ จะทำให้เราสามารถครอบคลุมการให้บริการผลิตภัณฑ์ได้ทั่วโลก" นายแพทย์อารอน กล่าวว่า โรงงานในประเทศไทยจะดูแลตลาดในเอเชียทั้งหมด รวมถึงตะวันออกกลาง ส่วนศูนย์การผลิตในไต้หวัน จะดูแลการผลิตและจำหน่ายในไต้หวัน พร้อมส่งออกในโซนยุโรปและอเมริกา
ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการแบ่งมาร์เก็ตแชร์ที่เหมาะสม และบริษัทฯ คาดหวังว่าประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ด้านความงามในเอเชีย สร้างรายได้และเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศได้อย่างมหาศาล นายแพทย์อารอน กล่าว
บริษัทไดมอนด์ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ประเทศไต้หวัน มีรายได้ปี 2567 อยู่ที่ 25 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 850 ล้านบาท) และมีเป้าหมายรายได้ที่ 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (1,020 ล้านบาท)ในปี 2568

ชิงเค้กตลาดความงามโลก
ด้านพันธมิตรไทย นายนาดิ้รชา ปาทาน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เค.เอ็น.เอ. อินเตอร์ฟาร์มา จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนวิสัยทัศน์ ในการเป็น ผู้นำด้านนวัตกรรมความงามแบบครบวงจร และตอกย้ำความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมความงามไทย ให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดย เค.เอ็น.เอ. มองเห็นศักยภาพของไดมอนด์ ไบโอเทคโนโลยี ในฐานะผู้บุกเบิกเทคโนโลยีชีวการแพทย์ที่ทันสมัย และเล็งเห็นถึงโอกาสอันยิ่งใหญ่ ในการนำเทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญด้านการผลิตเครื่องมือแพทย์ ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานในระดับสากลมาสู่ประเทศไทย
"ความร่วมมือนี้ไม่ได้เป็นเพียงการลงทุนร่วมกัน แต่เป็นการผนึกกำลังเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม พัฒนายกระดับมาตรฐานวงการเครื่องมือแพทย์ด้านความงามในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาต้องพึ่งพาการนำเข้า ต่อไปเราจะเป็นผู้ส่งออก" รวมทั้งส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในเวทีโลกในฐานะผู้ผลิต
"ตลาดเวชศาสตร์ความงามมี มูลค่าตลาดทั่วโลกมากกว่า 1 แสนล้านบาท การลงทุนในครั้งนี้ จะทำให้ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในตลาดนี้จากทั่วโลก" นาดิ้รชา กล่าว
ด้านนายแพทย์รัสมิ์ภูมิ สุเมธีวิทย์ แพทย์ผิวหนังเฉพาะทาง และผู้ก่อตั้ง Rassapoom Clinic และเป็นอีกหนึ่งหัวเรือใหญ่ในส่วนพันธมิตรผู้ร่วมลงทุนไทย กล่าวเสริมถึงแนวโน้มตลาดธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามของไทย กล่าวว่า ตลาดความงามของประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีศักยภาพสูง ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ธุรกิจความงามในประเทศไทยเติบโตต่อเนื่อง 5 ปี และเป็นหนึ่งใน 10 ธุรกิจดาวเด่นประจำปี 2568
จากรายงานการศึกษาของศูนย์วิจัย กสิกรไทย คาดการณ์ว่า ตลาดศัลยกรรมและเวชศาสตร์ความงามในประเทศไทย จะมีมูลค่าประมาณ 76,500 ล้านบาท ในปี 2568 มีอัตราการเติบโต 2.8% เมื่อเทียบกับปี 2567
นายแพทย์รัสมิ์ภูมิ กล่าวว่า ความร่วมมือกับไดมอนด์ ไบโอเทคโนโลยี ครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือครั้งสำคัญระดับประเทศ ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่จะนำ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระดับโลก มาสู่ประเทศไทย นอกจากจะช่วยยกระดับมาตรฐานการรักษาในคลินิกความงามแล้ว ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในไทย ภายใต้เทคโนโลยีระดับโลกจะได้รับการยอมรับมากขึ้น การย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย ก็จะทำให้ผู้บริโภคได้รับบริการด้วยต้นทุนที่ถูกลง ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจึงเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศ และยังเป็นการสร้างงานให้กับตลาดแรงงานไทย