SHH Pendulum ทุ่ม 500 ล้าน คัดสรรแบรนด์หรู rare item ตอบโจทย์มหาเศรษฐีนักสะสมนาฬิกา - Forbes Thailand

SHH Pendulum ทุ่ม 500 ล้าน คัดสรรแบรนด์หรู rare item ตอบโจทย์มหาเศรษฐีนักสะสมนาฬิกา

บริษัท เพนดูลัม จํากัด เปิดตัว SHH Pendulum ร้านบูติกคอนเซ็ปต์แห่งแรกในไทย ทุ่มงบกว่า 500 ล้านบาท คัดสรรนาฬิกาแบรนด์อิสระสุดหรู เน้นดีไซน์รุ่นหายาก rare item ตอบโจทย์เหล่านักธุรกิจ มหาเศรษฐี และนักสะสมงานศิลป์สุดประณีตบนข้อมือ


    ช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ผ่านมา ทีมงาน Forbes Thailand มีโอกาสได้สัมภาษณ์พูดคุยกับ มร.โจเซฟ วี (Joseph Wee) ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เพนดูลัม จํากัด ณ ร้านบูติกคอนเซ็ปต์ SHH Pendulum ที่เพิ่งเปิดตัวแห่งแรกในไทยไปไม่นานมานี้ โดยร้านบูติกคอนเซ็ปต์ดังกล่าวตั้งอยู่ภายในห้างดังย่านใจกลางเมืองอย่างสยามพารากอน บรรยากาศภายในร้านแบ่งออกเป็น 3 โซน ตกแต่งไว้ได้อย่างหรูหราสวยงาม ตู้โชว์เรือนเวลาแห่งศิลป์แต่ละส่วนยังบอกเล่าเรื่องราวของนาฬิกาแบรนด์อิสระ (Indy Watch) ที่ผลิตออกมาด้วยความประณีตในแต่ละปีเป็นจำนวนน้อยมากๆ ถือเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่มีมูลค่าที่เหล่าบรรดานักสะสมรายได้สูงต่างหมายปองมีไว้ในครอบครอง




SHH Pendulum แห่งแรกในไทย

​    มร.โจเซฟ เล่าถึงที่มาในการเปิดตัวบูติกคอนเซ็ปต์ SHH Pendulum แห่งแรกในไทย ให้ฟังว่า จากเดิมเพนดูลัมมีร้านบูติกจำหน่ายนาฬิกาแบรนด์ชั้นนำระดับโลกมากมายกว่า 30 แบรนด์ เป็นจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ เพนดูลัม เซ็นทรัลเวิลด์ และ เพนดูลัม เซ็นทรัล เชียงใหม่ หลังจากนั้นได้เพนดูลัมได้เข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทแม่อย่าง ซินเซีย กรุ๊ป (Sincere Group) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2497 และยังถือเป็นบริษัทชั้นนำในวงการค้าปลีกนาฬิการะดับลักซ์ชัวรีของประเทศสิงคโปร์

    ทั้งนี้ หลังจากที่ ซินเซีย กรุ๊ป (Sincere Group) ได้เปิดตัวบูติกคอนเซ็ปต์ SHH Pendulum ณ มารีนาเบย์แซนด์ ประเทศสิงคโปร์ไปเมื่อปีก่อน ทางบริษัทมองเห็นศักยภาพการเติบโตในธุรกิจและกำลังซื้อของกลุ่มเป้าหมายระดับ Hi-end ในประเทศไทย จึงได้ทำการเปิดตัว SHH Pendulum บูติกคอนเซ็ปต์แห่งแรกในวันที่ 7 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งคอนเซ็ปต์หลักของบูติกแห่งนี้มีการยกระดับความหรูหราให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าระดับ hi-end มากขึ้นกว่าเดิม 

    โดยทำการคัดสรรแบรนด์นาฬิกาหรูระดับโลกและแบรนด์นาฬิกาอิสระ (Indy Brand) ที่ผลิตผลงานในแต่ละปีออกมาน้อยมากๆ ถือเป็นของสะสมหายาก rare item จำนวนทั้งสิ้น 17 แบรนด์ ประกอบด้วย Angelus, Armin Strom, Arnold & Son, Christiaan van der Klaauw, Blancpain, Breguet, Credor, Cvstos, Czapek, Fredinand Berthoud, Greubel Forsey, Gronefeld, H. Moser & Cie., Lang & Heyne, Laurent Ferrier, Louis Moinet และ Moritz Grossmann



    "เหตุผล 3 ข้อหลักของการเปิด SHH Pendulum แห่งแรกในไทย คือ 1. กลุ่มลูกค้าคนไทยที่สะสมนาฬิกาหรูมีความหลงใหลในเรื่องราวประวัติต่างๆ ของแต่ละแบรนด์เป็นอย่างมากและยังชื่นชอบหาข้อมูลของแบรนด์ที่อยากมีไว้ในครอบครองได้เป็นอย่างดี 2. ลูกค้าในไทยหลายรายมีการเดินทางไปเลือกซื้อนาฬิกาแบรนด์อิสระ (Induy Watch) รุ่นหายาก rare item ที่สิงคโปร์อยู่บ่อยครั้ง และ 3. เพื่อตอบโจทย์บริการหลังการขายหลังจากลูกค้าคนไทยที่เคยซื้อนาฬิกาที่สิงคโปร์แล้วต้องการ service บริการต่างๆ ในภายหลัง ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะช่วยสร้างความสะดวกสบายให้แก่กลุ่มลูกค้าระดับ Hi-end ที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูงในไทยได้เป็นอย่างดี" มร.โจเซฟ กล่าว


ทุ่ม 500 ล้าน ตอบโจทย์นักสะสม Rare Item

    สินค้าหรือบริการสำหรับกลุ่มลูกค้าระดับ Hi-end ทางเพนดูลัมจึงจำเป็นต้องสร้างประสบการณ์ที่เหนือระดับด้วยการทุ่มงบเนรมิตร้านบูติกคอนเซ็ปต์ให้มีพื้นที่ใช้สอยโดยรวมแบ่งออกเป็นสามโซน โดยโซนแรกจะเป็นตู้จัดแสดงแบบไอส์แลนด์ขนาดใหญ่ใจกลางบูติก ถือเป็นไฮไลต์สำหรับจัดแสดงเรือนเวลาชิ้นพิเศษจากแบรนด์ระดับเอ็กซ์คลูซีฟ ถัดมาในโซนที่สองมีการติดตั้งแท่นโพเดียมติดผนังลักษณะคล้ายแคปซูล พร้อมแผงควบคุมดิจิทัลแบบอินเตอร์แอคทีฟ ให้ความรู้สึกเสมือนกำลังเยี่ยมชมเรือนเวลาสุดหรูจากแบรนด์ต่างๆ ภายในนิทรรศการ ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยมชมในโซนนี้จะสามารถอ่านรายละเอียดและศึกษาข้อมูลต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย 

    และในส่วนของโซนสุดท้าย private zone ซึ่งลูกค้าระดับสุด Exclusive หรือ Top Spender ที่มียอดใช้จ่ายต่อปีตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป สามารถใช้เลือกจองใช้เป็นห้องรับรองส่วนตัวสำหรับชื่นชมเรือนเวลาที่คัดสรรมาพิเศษในบรรยากาศผ่อนคลาย พร้อมมีบริการสะดวกสบายด้วยไวน์บาร์ให้บริการเครื่องดื่มนานาชนิดได้ปีละ 2 ครั้ง ทั้งที่ไทยและสิงคโปร์ได้อีกด้วย

    นอกเหนือจากบรรยากาศและประสบการณ์อันหรูหราภายในร้าน SHH Pendulum ยังใส่ใจในการคัดสรรพนักงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องของนาฬิกาไว้ให้บริการข้อมูลต่างๆ แก่ลูกค้าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังทุ่มงบกว่า 500 ล้านบาท ในการคััดสรรนาฬิการุ่นพิเศษสุด Exclusive จากแบรนด์ดังต่างๆ ซึ่งเป็นดีไซน์การผลิตด้วยความประณีต และในแต่ละปีจึงมีผลงานออกมาน้อยมากๆ ถือเป็นเรือนเวลาแห่งงานศิลป์ของหายากหรือเรียกได้ว่าเป็น rare item นำมาเก็บไว้ในสต็อกเพื่อให้กลุ่มลูกค้าระดับบนซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีกำลังซื้อสูง เช่น นักธุรกิจระดับ CEO, มหาเศรษฐี รวมถึงเหล่านักสะสมนาฬิกาแบรนด์หรูที่นิยมแบรนด์อิสระ (Indy Brand) มีไว้เป็นทางเลือกที่หลากหลายก่อนจะตัดสินใจซื้อนำมาสะสมไว้ในครอบครอง


เรือนเวลารุ่น Limited Edition ที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อฉลองการเปิดบูติกใหม่ของ SHH 
ซ้าย : Christiaan van der Klaauw รุ่น CVDK Planetarium Eise Eisinga Black DLC SHH Edition
กลาง : Lang & Heyne รุ่น Georg SHH Edition II
ขวา : Cvstos รุ่น Metropolitan PS Skeleton Sapphire SHH Edition

    "บูติกคอนเซ็ปต์ของเราโดดเด่นและแตกต่างจากที่อื่นอย่างแน่นอน เฉพาะแบรนด์ Greubel Forsey ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับตำนานมีอายุเก่าแก่กว่า 250 ปี เรามีนาฬิการุ่นพิเศษของแบรนด์นี้ในราคาเรือนละ 20 ล้านบาท เก็บอยู่ในสต็อกไว้ให้ลูกค้าได้เลือกชมก่อนตัดสินใจซื้อถึง 5 เรือน นอกจากนี้ยังมีรุ่น Limited Edition สุดพิเศษที่ทางแบรนด์ต่างๆ รังสรรค์ผลิตขึ้นให้เราได้นำมาเสนอแก่ลูกค้าอีกมากมาย 

    ซึ่งร้านบูติกจำหน่ายนาฬิกาแบรนด์อื่นจะมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ราวๆ 3-5 แสนบาท แต่ของเราจะเริ่มต้นที่ 5 แสนบาท ขณะที่ดีไซน์หรือแบรนด์ที่มีความหรูหราเพิ่มขึ้นมาอีกระดับของเราจะมีราคาอยู่ที่เรือนละ 1.5-2 ล้านบาท ถือเป็นราคาและรุ่นพิเศษสุด Exclusive ที่หาจากที่ไหนไม่ได้จึงมีราคาแพงกว่าร้านบูติกทั่วไปราวๆ 3 เท่า" มร.โจเซฟ บอกเล่ารายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมกับหยิบนาฬิกาแบรนด์ต่างๆ ที่มีมูลค่าสูงถึง 15-20 ล้านบาท มาให้ทีมงาน Forbes Thailand ได้สัมผัสพร้อมเชยชมความงามแห่งศิลป์ของกลไลบอกเวลา


คนรวยยุคใหม่ สะสม "สินทรัพย์" ประดับข้อมือ

    หลังจากเปิดตัวร้านบูติกอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ผู้บริหารของเพนดูลัมซึ่งเป็นคนสิงคโปร์แต่พูดภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่วเล่าว่า ได้ผลตอบรับดีเกินคาดโดยลูกค้าหลักส่วนใหญ่ 95% เป็นคนไทย ที่เหลืออีก 5% เป็น นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง, กัมพูชา และสิงคโปร์ ทั้งนี้ เมื่อดูจากฐานลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมภายในร้าน 70% เป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ walk in เดินเข้ามาหลังจากสะดุดตาจากนาฬิการุ่นต่างๆ ที่วางโชว์ให้เห็นผ่านกระจกหน้าร้าน ส่วน 30% ที่เหลือเป็นกลุ่มลูกค้าเก่า

    ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับกลุ่มลูกค้าของ SHH Pendulum ระหว่างสิงคโปร์กับไทย จะเห็นได้ว่ากลุ่มลูกค้าระดับ Hi-end ของไทยจะมีช่วงอายุเริ่มตั้งแต่ 28-30 ปีขึ้นไป ถือเป็นกลุ่มคนรวยมีฐานะรุ่นใหม่ หรือ Young Entrepreneur ที่เริ่มมีความสนใจหลงใหลศิลปะผ่านเรือนเวลาบนข้อมือด้วย แตกต่างจากสิงคโปร์ที่กลุ่มลูกค้าจะมีอายุเริ่มตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป

    สำหรับเทรนด์ของการเลือกซื้อนาฬิกาแบรนด์หรูไว้สะสมหรือประดับบนข้อมือนั้น มร.โจเซฟ บอกว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักสะสมนาฬิกาส่วนใหญ่จะนิยมนาฬิกาที่มีหน้าปัดขนาดใหญ่ 42-48 มม. แต่ ณ ปัจจุบัน ผู้คนเริ่มหันมาสนใจหน้าปัดขนาด 38 มม. แทน เพราะเมื่อหน้าปัดมีขนาดเล็กลง วิธีการผลิตก็จะต้องพิถีพิถันใช้เวลานานมากขึ้นในการสร้างกลไกต่างๆ ให้ออกมาสวยงามประณีต และต้องบอกเวลาได้อย่างแม่นยำ เที่ยงตรง 

    ซึ่งในส่วนของการใช้จ่ายเงินไปกับนาฬิกาแบรนด์หรูหายากระดับ rare item ที่บางคนอาจจะบอกว่าสามารถดูเวลาผ่านมือถือสมาร์ทโฟนทั่วไปก็ได้นั้น ทาง มร.โจเซฟ ให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า "นาฬิกาแบรนด์หรูระดับตำนานที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถือเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่ผู้มีความมั่งคั่งส่วนใหญ่หันมานิยมสะสมกันมากขึ้น เพราะนาฬิกาดังกล่าวไม่ได้มีแค่คุณสมบัติในการบอกเวลา แต่ยังถือเป็นงานศิลปะแห่งเรือนเวลาสุดล้ำค่าที่ยิ่งเก็บไว้นานก็ยิ่งมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และยังถือเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์เคลื่อนที่ที่สามารถสวมใส่ติดตัวไปได้ทุกที่แตกต่างจากบ้านหรือคอนโดฯ รวมถึงรถซูเปอร์คาร์ อีกทั้งยังเป็นเครื่องบ่งบอกฐานะ ความน่าเชื่อถือ และรสนิยมของผู้ที่สวมใส่ได้เป็นอย่างดี"



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : นันท์มนัส วิทยศักดิ์พันธ์ SINO ผสานน่านน้ำการค้าโลก

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine