บทบาทเมืองรองกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ - Forbes Thailand

บทบาทเมืองรองกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ

ธนาคารโลกร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดทำงานศึกษา “การประเมินแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเมืองในประเทศไทย (Thailand Urban Infrastructure Finance Assessment)” 


    โดยการศึกษาฯ ชี้ถึงโอกาสและความสำคัญของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยรัฐบาลจะต้องมีแนวทางส่งเสริมให้เมืองรองเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนภาคเอกชนเพื่อมาใช้ในการลงทุนและการพัฒนาเมือง

    ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ จัดว่าเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างยาวนาน และโอกาสในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ เริ่มอิ่มตัว เมืองรองต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น และระยอง กําลังเจริญเติบโตและสร้างโอกาสให้กับคนในพื้นที่ อีกทั้งยังสามารถเป็นแกนหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ หากมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ เช่น ระบบขนส่งมวลชน พลังงานทดแทน และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ 

    อย่างไรก็ดี เมืองรองต่างๆ ไม่สามารถพึ่งพางบประมาณภาครัฐเพียงแหล่งเดียว และควรพิจารณาเครื่องมือการระดมทุนอื่นๆ เช่น การออกพันธบัตรสนับสนุนการลงทุนโครงการในท้องถิ่น และการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnerships: PPP) เป็นต้น

    การพัฒนาเมืองจะเป็นประโยชน์กับทั้งประชาชนที่อาศัยในเขตเมืองและประชาชนที่อยู่นอกเขตเมือง เช่น จากการพัฒนาระบบขนส่งและคมนาคม ระบบพลังงานและไฟฟ้า น้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อสร้างเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่ ทั้งนี้ การพัฒนาเมืองจะส่งผลให้การเคลื่อนย้ายคน สินค้า และบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งภายในเขตเมืองและระหว่างเมือง โดยจะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน การพัฒนาคุณภาพชีวิต และประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานที่ดีจะช่วยให้เมืองสามารถลดผลกระทบที่ตามมาจากอุบัติภัยและสาธารณะภัย เพื่อสุขภาวะที่ดีและการดำรงชีวิตของคนได้

    แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า “พื้นที่เมืองรองสามารถช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดปัญหาความยากจนในพื้นที่ชนบทได้โดยการสร้างโอกาสให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะนำผลการศึกษานี้มาสนับสนุนการพัฒนาเมืองเพื่อตอบสนองกับความต้องการของประชาชน ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมต่อไป”

    รายงานฯ ระบุว่า หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดหาแหล่งทุนได้ด้วยตนเอง จะสามารถช่วยลดภาระต่อสถานะทางการคลังของประเทศไทยได้ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันเมืองรองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยยังคงต้องพึ่งพาเงินงบประมาณในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและยังไม่มีอำนาจในการจัดหาแหล่งทุนได้ด้วยตนเอง แม้ว่ากฎหมายการกระจายอำนาจที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ได้ระบุเจตนารมณ์ให้ท้องถิ่นตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง อนึ่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำเป็นต้องสร้างความน่าเชื่อถือทางการเงินด้วยการมีฐานภาษีและการจัดเก็บรายได้ที่จะสร้างความั่นคงทางการเงินและคลัง เพื่อให้เกิดความมั่นใจให้แก่นักลงทุน

    ทั้งนี้ รายงานฯ เสนอแนะให้มีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ โดยให้เมืองรองได้มีอำนาจจัดหาแหล่งทุนได้ด้วยตนเอง สร้างเครื่องมือ และความเชี่ยวชาญในการจัดหาเงินทุนเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเมือง รายงานฯ ฉบับนี้เสนอให้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชน และการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อวางแผน พัฒนา และติดตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเมือง ในการนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำเป็นต้องมีอิสระทางการคลังในการดำเนินการมากขึ้นเพื่อสามารถพึ่งพาตนเอง มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้

    ดร.ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ความเป็นอิสระทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นตัวแปรสำคัญให้การพัฒนาเมืองของไทยมีความยั่งยืน โดยการส่งเสริมให้เมืองต่างๆ สามารถจัดเก็บและบริหารจัดการแหล่งรายได้และภาษี จะช่วยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม ความรับผิดชอบ และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน และสร้างเมืองให้มีความรู้รับปรับตัวและพึ่งพาตนเองมากขึ้นได้ในที่สุด”

    งานศึกษาฯ นี้ได้ประเมินถึงความเป็นไปได้ของข้อเสนอโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ระยอง นครสวรรค์ ขอนแก่น และภูเก็ต และได้มีการนำเสนอผลการศึกษาเชิงนโยบายและเชิงสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการกำกับการดำเนินการทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึง การระดมทุนสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

    รศ.ดร. ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า “การเสนอขายตราสารหนี้สำหรับโครงการลงทุนในท้องถิ่นและการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนเป็นแนวทางที่หลายประเทศทั่วโลกได้นำมาใช้ ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อความสำเร็จ คือการมีทิศทางและนโยบายระดับชาติที่ชัดเจนในการระดมทุนจากภาคเอกชนเพื่อลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเมือง”

    

    อ่านเพิ่มเติม :  

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine