ภาวะลงทุนไม่สดใส ปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน - Forbes Thailand

ภาวะลงทุนไม่สดใส ปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปิดตัวต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติ จากความกังวลการตรีงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐ รวมถึงความเสี่ยง Government Shutdown ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ขณะในประเทศไทย หลายหน่วยงานปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือเติบโตไม่เกินร้อยละ 3 รวมทั้งการดำเนินมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นขึ้นมาได้ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ไทย ปิดตัวต่ำสุดในรอบ 3 เดือน


    วันศุกร์ที่ 29 ก.ย. 2566 ปิดที่ระดับ 1,471.43 จุด ลดลง 3.36% จากปลายสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 55.326.11 ล้านบาท สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 25-29 ก.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 3,025 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 11,695 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 6,520 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 5,175 ล้านบาท)


จับตาตลาดทั่วโลกยังผันผวน

    หุ้นไทยปรับตัวลงเกือบตลอดสัปดาห์จากแรงเทขายจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ และการตรึงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานของเฟด โดยคาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือนพ.ย. 2566 และคงอยู่ในระดับสูงไปอีกนานในปี 2567 และปี 2568 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ จากหลังก่อนหน้านี้กระทบสถาบันการเงินไปแล้วหลายแห่ง ดังนั้นภาวะความกังวลเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐยังคงมีอยู่

    โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐพุ่งสูงถึง 33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ร่างงบประมาณกำลังเดินทางมาถึงเส้นตายอีกครั้ง หลังจากความขัดแย้งของสภาคองเกรส ทำให้เกิดความเสี่ยง Government Shutdown อีกครั้ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ตลาดหุ้นมีความผันผวน แต่เชื่อว่าเป็นปัจจัยระยะสั้น เมื่อตกลงกันได้ ตลาดหุ้นจะกลับมาดีดตัว แต่ยังคงต้องดูปัจจัยด้านราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น และอาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง

    ขณะที่ตลาดหุ้นจีน ยังคงมีความกังวล จากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ แม้ล่าสุดธนาคารกลางจีนสั่งลดอัตราเงินสำรองตามกฎหมาย (RRR) ของธนาคารพาณิชย์จีนลง เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจแต่ต้องรอดูว่าจะได้ผลมากน้อยเพียงใด รวมถึงในยูโรโซน ที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง ซึ่งกระทบเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยุโรป ทำให้เกิดชะลอการลงทุน


ไทยยังคงมีความไม่แน่นอน

    สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจของไทย แม้จะมีรัฐบาลอย่างเป็นทางการ แต่ตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ ยังคงไม่ดีขึ้น โดยล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2566 เหลือขยายตัว 2.8% โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตามได้แก่ตัวเลขส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ่ที่มีต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรของไทย เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2567 รวมถึงนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาลจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด

    ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังไม่กระเตื้องเท่าใดนัก เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนชะลอมากกว่าที่คาดจากการระมัดระวังการใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวในหลายสัญชาติปรับเพิ่มขึ้น อาทิ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เยอรมนี และออสเตรเลีย ตามอุปสงค์การเดินทางท่องเที่ยวที่ยังมีต่อเนื่อง สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากจำนวนวันพักของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

    ส่วนด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยนั้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากหมวดพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเบนซิน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและหมวดอาหารสดปรับลดลง ตามราคาอาหารสำเร็จรูป และราคาเนื้อสุกรตามอุปทานในตลาดที่เพิ่มขึ้น ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น

    ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยอ่อนค่าลง ลงไปทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 10 เดือนครึ่งที่ 36.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจาก 1) ตลาดปรับเพิ่มการคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ 2) การอ่อนค่าของค่าเงินหยวนตามตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ต่ำกว่าตลาดคาด และ 3) ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ออกมาต่ำกว่าตลาดคาด

    สำหรับสัปดาห์นี้ (2-6 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,460 และ 1,440 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,485 และ 1,500 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย. ของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI การจ้างงานภาคเอกชนของADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนก.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือนก.ย. ของญี่ปุ่น อังกฤษและยูโรโซนตลอดจนยอดค้าปลีกและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนส.ค. ของยูโรโซน



อ่านเพิ่มเติม : แนวทางสร้างองค์กรอย่างยั่งยืน แบบฉบับ ‘กมลวรรณ วิปุลากร’ เบาด์ แอนด์ บียอนด์

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine