ธนาคารกรุงเทพ เผยไตรมาส 1 ปี 68 กำไรสุทธิพุ่ง 12,618 ล้านบาท โต 19.9%YoY ผลดีจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 66.4% ส่วนหนี้เสียยังเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 97,793 ล้านบาท
ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2568 เริ่มมีสัญญาณชะลอตัว โดยมีสาเหตุหลักจากการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก ภาคการผลิตยังคงเผชิญแรงกดดัน แม้ว่าการผลิตในกลุ่มยานยนต์จะเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวแต่ระดับการผลิตโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ภาคบริการยังคงขยายตัว แม้จะได้รับแรงกดดันจากการปรับลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและค่าใช้จ่ายต่อหัว โดยยังมีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก
ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังคงเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญหลายประการ ได้แก่ ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา ความผันผวนของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และระดับหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจมีผลกระทบในระดับที่สำคัญต่อกำลังซื้อของประชาชนและความเชื่อมั่นของภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของธนาคารกรุงเทพ ไตรมาส 1 ปี 2568 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
- กำไรสุทธิ อยู่ที่ 12,618 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)
- รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ อยู่ที่ 31,909 ล้านบาท ลดลง 4.5%YoY
- ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 2.89% (ต่ำกว่าช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ที่อยู่ 3.06%)
- รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย อยู่ที่ 13,745 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66.4%YoY
- ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน อยู่ที่ 20,752 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8% อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 45.5%
- สินเชื่อรวมที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (หนี้เสีย หรือ NPL) ณ สิ้นเดือน มี.ค. 68 อยู่ที่ 97,793 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.9% จากสิ้นเดือน ธ.ค. 67
- อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.0% ส่วนอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 300.3%
- ธนาคารตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 9,067 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน

ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2568 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2.72 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% จากสิ้นปีก่อน จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ ส่วนเงินรับฝาก อยู่ที่ 3.22 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% จากสิ้นปีก่อน และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 84.4%
ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 21.0%, 16.5%, และ 15.8% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ภาพ: BBL
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กลุ่มทิสโก้ เปิดผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 68 กำไรสุทธิ 1,643 ล้าน ลดลง 5.2%YoY
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine