สรุปมุมมองแบงก์ชาติ กรณีสงครามการค้ากระทบไทย เมื่อ ‘ใจ’ ทรัมป์เปลี่ยนไปมา - Forbes Thailand

สรุปมุมมองแบงก์ชาติ กรณีสงครามการค้ากระทบไทย เมื่อ ‘ใจ’ ทรัมป์เปลี่ยนไปมา

โลกการเงินการลงทุนปรับตัวมาตลอด หลังจากมีสัญญาณว่า Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะจุดชนวนสงครามการค้าผ่านการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า กระทั่ง 2 เม.ย. 68 ถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีฯ กับนานาประเทศ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ทำให้ทั้งตลาดทุน ผู้ประกอบการ และภาครัฐต่างเร่งหาทางเจรจา อย่างไรก็ตาม ล่าสุด Trump ประกาศชะลอการใช้ภาษีฯ อัตราใหม่ออกไป 90 วัน แม้จะทำให้มีช่วงเวลาหายใจหายคอ แต่ทุกคนต่างรู้ว่า โลกยังคงอยู่บนความไม่แน่นอน


    ในมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีบทบาททั้งด้านเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน และการกำกับดูแลด้านต่างๆ จะมองผลกระทบต่อไทยอย่างไร

    สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เล่าว่า ความไม่แน่นอนต่างๆ จากนโยบายการขึ้นภาษีฯ อาจกลายเป็น Shock ที่ไม่ได้กระทบแค่ระยะสั้น ซึ่งอาจส่งผลให้เงินเฟ้อของสหรัฐเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอลง รวมถึงอาจกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ให้ทิศทางการค้าเปลี่ยนแปลงไป

    แต่เมื่อความชัดเจนของนโยบาย และการเจรจากับนานาประเทศ ยังไม่เกิดขึ้น จึงทำให้การคาดการณ์ได้ยากว่า ผลกระทบต่อไทยในเชิงตัวเลขเศรษฐกิจจะเป็นเท่าใด

‘การขึ้นภาษีฯ สหรัฐฯ’ กระทบไทยอย่างน้อย 5 ด้าน

    สักกะภพ กล่าวว่า ธปท. วิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นของนโยบายการค้าโลกจะกระทบต่อไทยใน 5 ช่องทาง คือ

    1. ตลาดการเงิน ตั้งแต่ 2 เม.ย.สินทรัพย์ต่างๆ ผันผวนมากยิ่งขึ้น ช่วงแรกตลาดหุ้นปรับตัวลดลง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง (จากความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอ) ทำให้สกุลเงินอื่นๆ แข็งค่าขึ้นรวมถึงค่าเงินบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี

    2. การตัดสินใจทางธุรกิจและการลงทุนชะลอออกไป (wait and see) จากความไม่แน่นอนที่ยังสูงต่อเนื่องทำให้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นหลัก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และยานยนต์

    3. การส่งออก แม้ช่วงครึ่งปีแรก 2568 ส่งออกไทย อาจยังเติบโตจากการเร่งส่งออกในไตรมาส 2/68 แต่เชื่อว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบในช่วงครึ่งปีหลังไปจนถึงปีหน้า ทั้งนี้ สัดส่วนการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ อยู่ที่ 18% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และคิดเป็น 2.2% ของ GDP โดย sector หลัก ๆ ที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหารแปรรูป นอกจากนี้ จะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยที่อยู่ใน supply chain ของโลก ที่ผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ด้วย (ราว 4.3% ของการส่งออกไทย)

    “ถ้าคำนวนจาก (การส่งออกไทยไปสหรัฐ) 2.2% ของ GDP กรณีร้ายแรง หากส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ลดลงไป 20% อาจจะกระทบต่อ GDP ไทยราว 0.4% ซึ่งเป็นผลกระทบภายใน1 ปี”

    4. สินค้าไทยต้องแข่งขันกับประเทศอื่นมากขึ้น เพราะประเทศอื่นส่งออกไปสหรัฐฯ ได้น้อยลง อาจเข้ามารุกตลาดอื่นๆ จึงอาจกระทบมากในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โลหะ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาในภาคการผลิตที่มีอยู่เดิม

    5. เศรษฐกิจโลกที่จะชะลอลง ดังนั้นการส่งออกโดยรวมและรายรับการท่องเที่ยวอาจถูกกระทบจากเศรษกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกจะปรับลดลง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าและเงินเฟ้อของไทยชะลอลงจากปัจจัยด้านอุปทาน

แบงก์ชาติมีแนวทางรับมืออย่างไร

    เศรษฐกิจไทย ปี 2568 คาดการณ์เดิมของ ธปท. คือ 2.5% แต่เมื่อเกิดประเด็นการขึ้นภาษีฯ ของสหรัฐฯ คาดว่า GDP จะลดลงต่ำกว่าเดิม แต่ยังขึ้นอยู่กับพัฒนาการของสถานการณ์ เพราะ Shock ครั้งนี้อาจจะยาว และเริ่มเห็นชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง

    ที่ผ่านมา ธปท. เข้าดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อมีความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติจากปัจจัยพื้นฐาน หรือดูแลเมื่อเกิดความผันผวนสูง ขณะที่ทุนสำรองฯ ของแบงก์ชาติยังมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีอยู่แล้ว

    ท่ามกลางไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น ธปท. ต้องติดตามสถานการณ์ภาพรวมอย่างใกล้ชิด และจะดูแลการทำงานของกลไกตลาดต่าง ๆ (market functioning) ให้ดำเนินเป็นปกติอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดูแลความผันผวนในตลาดการเงินที่สูงกว่าปกติในช่วงนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริง

    นอกจากนี้ ต้องจับตาโอกาสที่อาจเกิด disruption ใน sector สำคัญที่ส่งออกไปสหรัฐฯ รวมถึงการเข้ามาแข่งขันของสินค้านำเข้า โดยจะติดตามข้อมูลเร็วด้าน 1) การค้า อย่าง ธุรกรรมการส่งออกและนำเข้า 2) การผลิตและการจ้างงาน เช่น การแจ้งหยุดกิจการชั่วคราว ตาม ม.75 พรบ. คุ้มครองแรงงานฯ 3) ภาวะการเงิน เช่น ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ และต้นทุนการกู้ยืมผ่านหุ้นกู้ภาคเอกชน รวมถึง 4) sentiment การลงทุน เช่น การขออนุมัติส่งเสริมการลงทุน และการขอขยายเวลาการออกบัตรฯ เพื่อเลื่อนการลงทุนออกไป

    อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเสนอถึงการออกมาตรการระยะสั้นเพื่อรับมือ ทั้งการแข่งขันของสินค้าจากต่างประเทศ และป้องกันการนำเข้าสินค้ามาเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ผ่านไทย (transshipment) ได้แก่ กำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้าและความคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ ป้องกันการสวมสิทธิจากประเทศที่สาม ฯลฯ ส่วนระยะยาว ควรขยายสู่ตลาดใหม่ๆ และต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้แข่งขันได้มากขึ้น

ประชุมกนง. 30 เม.ย. 68 เร่งทบทวนตัวเลขคาดการณ์

    ภายใต้การประชุมครั้งล่าสุดของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้รวมความเสี่ยงสงครามการค้าที่คาดการณ์ว่า ไทยจะเจออัตราภาษีที่ 10% แต่เมื่อตัวเลขจริงออกมาสูงกว่าคาด (36%) ทำให้การประชุม 30 เม.ย. 68 จะมีการทบทวนเป้าหมาย และประกาศคาดการณ์เศรษฐกิจอีกครั้ง

    ปัจจุบันผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยยังไม่มาก เพราะไทยมีเสถียรภาพทางการเงิน แต่ยังต้องติดตามช่องทางอื่นๆ เช่น การส่งออกทางตรงไปสหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มเห็นผลกระทบในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งในภาพรวมการขึ้นภาษีฯ รอบนี้ถือเป็น Shock ที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจที่มีการส่งออกไปสหรัฐฯ สูง ต่างจากตอนวิกฤตโควิดที่ส่งผลกระทบต่อทุกกลุ่ม

    อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าผลกระทบต่อไทยจะมากน้อย หรือกระทบนานเท่าไร ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ รวมถึงการเจรจาต่อรองที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น ถ้าไทยเจอขึ้นภาษีสูง ท่ามกลางประเทศอื่นได้รับอัตราภาษีฯ ที่ต่ำกว่า ไทยอาจกระทบมากขึ้น เช่นกัน



ภาพ: ธปท., AFP, Adobe Firefly



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : อัปเดต! แบงก์ชาติเผยส่งชื่อ Virtual bank ถึงคลังแล้ว จับตาประกาศรายชื่อจริงภายใน 19 มิ.ย. นี้

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine