iPrice สำรวจคนกรุงเทพ ค่าครองชีพพุ่ง ติดอันดับบนในอาเซียน - Forbes Thailand

iPrice สำรวจคนกรุงเทพ ค่าครองชีพพุ่ง ติดอันดับบนในอาเซียน

iPrice สำรวจภาวะค่าครองชีพชาวอาเซียนภายใต้สถานการณ์โควิด พบคนกรุงเทพ ค่าครองชีพพุ่ง สวนทางรายได้ลด ค่ากิน ค่าอยู่เป็นรองสิงคโปร์ เวียดนาม สวรรค์ของอีคอมเมิร์ซ สตาร์ทอัพ ค่าตอบแทนสูง ด้านกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เมืองที่มีราคาน่าคบหา

iPrice Group บริษัทวิจัยตลาดออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ numbeo.com และเก็บข้อมูลจากชาวต่างชาติ (คละสัญชาติ) กว่า 500,000 คน ที่อาศัยอยู่ ณ เมืองหลวงของประเทศนั้นๆ ทั้งหมด 6 ประเทศหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, เวียดนาม รวมไปถึงประเทศไทย ได้ข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้   กรุงเทพฯ ค่าครองชีพพุ่ง มีค่าใช้จ่ายเกินรายรับ จากการเก็บข้อมูล พบว่า เงินเดือนโดยเฉลี่ยของชาวกรุงเทพฯ อยู่ที่ 26,502 บาท แต่กลับมีข้อมูลค่าครองชีพรวมโดยเฉลี่ยสูงถึง 33,032 บาท ถือว่ามีรายจ่ายเกินรายรับพื้นฐานอยู่มากพอตัว และเมื่อนำเมนูอาหาร Fast Food ยอดนิยมอย่างชุดเซ็ตชีสเบอร์เกอร์จากแมคโดนัลมาเปรียบเทียบใน 6 ประเทศ ยังพบว่า อาหารเมนูนี้ในกรุงเทพฯ มีราคาแพงเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรองแค่สิงคโปร์เท่านั้น (กรุงเทพฯ 150 บาท และสิงคโปร์ 175 บาท) ผลสำรวจ ยังพบด้วยว่า ค่าครองชีพหลักๆ ที่จำเป็น เช่น ค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่กรุงเทพฯ สูงเป็นอันดับที่ 3 (12,942 บาท) และค่าเดินทางสูงเป็นอันดับที่ 2 (1,040 บาท) ซึ่งเป็นรองเพียงสิงคโปร์อีกเช่นเคย นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจคือ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีค่าเทอมโรงเรียนนานาชาติสูงเป็นอันดับที่ 1 (25,000 บาท) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่างกันเกือบครึ่งจากเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนามที่สูงเป็นอันดับที่ 2 (14,666 บาท) ซึ่งอาจมีเหตุผลจากการที่ไทยเป็นประเทศ Non-speaking นั่นเอง ขณะที่ สิงคโปร์ เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูง แต่คุณภาพชีวิตสูงตามไปด้วย ซึ่งจากข้อมูล พบว่า ถึงแม้ค่าครองชีพจะสูงแต่ก็สมน้ำสมเนื้อกับรายรับ และรายจ่าย โดยชาวสิงคโปร์มีอัตราเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 118,075 บาท แต่มีค่าเช่าที่อยู่อาศัยเฉลี่ย 46,686 บาท หรือราวร้อยละ 39 ของเงินเดือน ต่างจากค่าเช่าที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ที่สูงถึงร้อยละ 48 ของเงินเดือน หรือค่าเช่าที่อยู่อาศัยในเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนามที่แพงที่สุดในภูมิภาคถึงร้อยละ 71 ของเงินเดือน แต่ทั้งนี้ถ้าเปรียบเทียบค่าครองชีพที่ว่าสูงในสิงคโปร์ยังไม่เกินรายรับ (เงินเดือนโดยเฉลี่ย) เหมือนเมืองหลวงส่วนใหญ่ในภูมิภาค และค่าครองชีพโดยรวมของสิงคโปร์ คือ 76,770 บาท เป็น 1 ใน 2 ประเทศของภูมิภาคที่มีรายรับมากกว่ารายจ่าย (อีกเมืองคือกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย)   กัวลาลัมเปอร์ เมืองที่มีค่าครองชีพน่าคบหาในภูมิภาค มาเลเซีย เป็นประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทยในแบบที่ว่านั่งรถไปได้ และเป็นอีกหนึ่งประเทศ English Speaking ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลสำรวจค่าครองชีพในกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย พบว่า กัวลาลัมเปอร์มีค่าเช่าที่พักอาศัยถูกที่สุดในภูมิภาคโดยเฉลี่ยเพียง 9,044 บาทเท่านั้น ขณะที่มีเงินเดือนเฉลี่ยสูงเป็นอันดับที่ 2 (34,209 บาท) เป็นรองเพียงสิงคโปร์ นอกจากค่าที่พักถูกแล้ว ค่าสินค้าและบริการต่างๆ เช่น บัตรชมภาพยนตร์ (91 บาท) และค่าน้ำดื่มขนาด 1.5 ลิตร (11 บาท) ถือว่าถูกที่สุดด้วยเช่นกัน รวมทั้งกัวลาลัมเปอร์เป็นเมืองที่มีรายจ่ายน้อยกว่ารายรับ 1 ใน 2 เมืองจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อีกเมืองคือสิงคโปร์) โดยมีค่าครองชีพเฉลี่ยรวม 24,566 บาท ในขณะที่เงินเดือนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 34,209 บาท ขณะที่ ฟิลิปปินส์ ถือเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพถูกที่สุดในภูมิภาค โดยข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในมะนิลาจะมีราคาถูก แต่ก็เป็นเมืองที่มีอัตราเงินเดือนโดยเฉลี่ยน้อยที่สุดในภูมิภาคด้วยเช่นกัน (12,277 บาท) ในขณะที่มีค่าเช่าที่พักอาศัยเฉลี่ยที่ 14,137 บาท ซึ่งสูงกว่าเงินเดือน และมะนิลายังเป็นเมืองที่มีค่าตั๋วหนังเฉลี่ยแพงเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์อีกด้วย (มะนิลา 162 บาท และสิงคโปร์ 280 บาท) อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการออกไปหาประสบการณ์ที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ คือ การได้ฝึกภาษาแบบจัดเต็ม เพราะแทบจะทุกคนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ และยังใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ เป็นเหตุผลที่ค่าเทอมในโรงเรียนนานาชาติของเมืองมะนิลามีราคาถูกที่สุด (9,750 บาท) ถ้าเทียบกับประเทศ English Speaking ทั้งหมดในภูมิภาค และมะนิลายังเป็นเมืองที่มีค่าอาหาร Fast Food ชุดเซ็ตชีสเบอร์เกอร์จากแมคโดนัลถูกที่สุดในภูมิภาคอีกด้วย (78 บาท)   โฮจิมินห์ ฐานทัพของอี-คอมเมิร์ซ สำหรับเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม อาจไม่เหมาะสำหรับการย้ายถิ่นฐานไปหาประสบการณ์ โดยมีค่าเช่าที่พักอาศัยเฉลี่ยสูงถึง 10,767 บาท สูงที่สุดในภูมิภาคเมื่อนำมาเทียบกับเงินเดือน ในขณะที่เงินเดือนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 15,071 เท่านั้น ยังไม่นับรวมค่าครองชีพพื้นฐานโดยรวมที่สูงถึง 25,396 บาท ซึ่งสูงกว่ารายรับเกือบเท่าตัว ค่าเดินทางแม้จะถูกที่สุดในภูมิภาคที่ 135 บาท แต่อาจเป็นเพราะไม่มีรถไฟฟ้า หรือการโดยสารที่คล่องตัวนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม คือ หากอยากลองหางานแนวอีคอมเมิร์ซ หรือสตาร์ทอัพ ที่นี่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดทั้งเจ้าเล็ก เจ้าใหญ่ โดยปีที่ผ่านมา มีอัตราคนเข้าชมเวบไซต์อีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น 11% เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย อ้างอิงจากงานวิจัย Map of E-commerce ของ iPrice Group ยิ่งถ้ามีทักษะทางภาษา อาจลองยื่นเรื่องไปฝึกงาน หรือหางานที่มีตำแหน่งสูง ๆ ได้ไม่ยาก สำหรับจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย คืออีกหนึ่งประเทศที่มีค่าใช้จ่ายเกินรายรับ มีค่าครองชีพโดยรวมเฉลี่ยถึง 26,305 บาท ในจำนวนค่าครองชีพนี้มีค่าเช่าที่พักอาศัยรวมอยู่ 9,610 บาท ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อดีของจาการ์ต้า เพราะมีค่าเช่าที่พักอาศัยน้อยที่สุดรองจากเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีเงินเดือนโดยเฉลี่ยพื้นฐานอยู่ที่ 14,922 บาท น้อยที่สุดในภูมิภาค สำหรับค่าสาธารณูปภาคพื้นฐานอย่าง ค่าน้ำ 1.5 ลิตร (11 บาท), ค่าเดินทาง (216 บาท), ค่าอาหาร Fast Food (108 บาท), หรือค่าตั๋วหนัง (108 บาท) ในจาการ์ต้าถือว่ามีราคาน่าคบหา แม้จะไม่ถูกที่สุดในภูมิภาค แต่ก็อยู่ในเรตราคาต่ำ ไปถึงราคากลางเท่านั้น การระบาดของโควิด 19 เริ่มเห็นแสงสว่างจากจำนวนการฉีดวัคซีนที่มากขึ้นในหลายประเทศ ทำให้หลายประเทศเริ่มเข้าสู่สภาวะฟื้นตัว คนเริ่มวางแผนชีวิตหลังโควิดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม และหนึ่งในแผนการยอดนิยมก็คือ ‘การออกไปเรียนรู้และหาประสบการณ์นอกประเทศ’ และหนึ่งในข้อมูลที่ได้รับการค้นหามากที่สุดก็คือ ‘ค่าครองชีพ’ ของแต่ละประเทศ ที่ส่วนใหญ่ผู้คนจะนำมาเปรียบเทียบกับคุณภาพชีวิตในประเทศไทยเพื่อประกอบการตัดสินใจ ค่าครองชีพพุ่ง อ่านเพิ่มเติม: “พฤติกรรมผู้บริโภค” หลังเศรษฐกิจเปิดใหม่อีกครั้ง
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine