เจาะอินไซต์ ‘ทาสหมา-แมว’ สู่ 5 ธุรกิจขาขึ้นในตลาดสัตว์เลี้ยง ‘โรงพยาบาล-อีเวนต์-โรงแรม-บัตรเครดิต-ประกัน’ - Forbes Thailand

เจาะอินไซต์ ‘ทาสหมา-แมว’ สู่ 5 ธุรกิจขาขึ้นในตลาดสัตว์เลี้ยง ‘โรงพยาบาล-อีเวนต์-โรงแรม-บัตรเครดิต-ประกัน’

ทุกวันนี้ ‘น้อง’ กลายเป็นคำที่ใช้เรียกสัตว์เลี้ยงด้วยความเอ็นดู เรื่องนี้ยังสะท้อนถึงแนวคิด Pet Humanization หรือการเลี้ยงที่เปรียบเสมือนคนในครอบครัว ไม่ว่าจะอาหาร ขนม ที่นอน เสื้อผ้า ล้วนต้องใช้ของคุณภาพสูง ไปจนถึงการพาไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆ นี่จึงกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่มีมูลค่าตลาดหลักหมื่นล้านบาท


‘ทาสหมา ทาสแมว’ สู่ตลาดสัตว์เลี้ยงไทยทะลุ 75,000 ล้านบาท

    ในภาพใหญ่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics เคยเล่าไว้ว่า ถ้าย้อนหลังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (CAGR) มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยเติบโต 17.5% และในปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่าราว 75,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.4% จากปี 2566

    สาเหตุที่ตลาดนี้เติบโตขึ้นก็เพราะการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเหมือนคนในครอบครัว เลี้ยงแบบตามใจ (Petriarchy) ไปจนถึงการมี Pet Celebrity ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลน้องๆ ทั้งหลายเพิ่มขึ้นไปด้วย โดยในแต่ละเดือนคาดว่าเจ้าของจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 41,100 บาท/ตัว/ปี ซึ่งอาจสูงกว่าการเลี้ยงดูแบบปล่อยอิสระที่จะมีค่าใช้จ่ายเพียงราว 7,745 บาท/ตัว/ปี

    จากการเติบโตที่รวดเร็วนี้ยังทำให้หลายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยงขยายตัวตามไปด้วย โดยข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง 5,009 ราย และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา ttb analytics


Pet Expo คนเข้าร่วมทะลุ 2 แสน ‘จ่อเพิ่มพื้นที่งาน - จัด Cat Expo’

    หนึ่งในสิ่งที่สะท้อนว่าคนให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น อาจเห็นได้จากงาน Pet Expo Thailand ที่คนยังเข้าร่วมมากมาย ‘ยุภา ดำรงคงวิทยานุกูล’ ผู้จัดการโครงการ Pet Expo Thailand บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เล่าว่างานในปี 2568 ที่เพิ่งจบไปมีคนเข้าร่วมมากกว่า 227,700 คน และใช้พื้นที่เต็มทั้ง 4 ฮอลล์แล้ว (กว่า 22,000 ตร.ม.)

    ขณะที่ด้านการใช้จ่ายภายในงานยังสูงถึงครอบครัวละ 30,000 - 50,000 บาท โดย 3 อันดับแรกที่คนมักใช้จ่ายคือ 1) ขนมและอาหารสัตว์เลี้ยง 2) อุปกรณ์สัตว์เลี้ยง 3) หมวดโรงพยาบาล-การรักษา

    ที่ผ่านมางาน Pet Expo ขยายขึ้นต่อเนื่องทั้งฝั่งผู้เข้าชมงาน และร้านค้า โดยเริ่มเห็นงานที่เน้นสัตว์เลี้ยงบางประเภทหรือบางสายพันธุ์โดยเฉพาะ รวมถึงกระแสการเลี้ยงสัตว์พิเศษ หรือ Exotic pets ดังนั้นภายในปีนี้จะมีการจัดการเฉพาะทางโดยเริ่มที่ Cat Expo ช่วงปลายปี 2568 นี้ เพื่อมองถึงโอกาสในการขยายตลาดใหม่ๆ

ที่มา KTC


KTC เผยกลุ่มรายได้ยิ่งสูง ยิ่งพร้อมเปย์สัตว์เลี้ยง

    เมื่อค่าใช้จ่ายเพื่อการดูแลสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะมองหาความคุ้มค่าในการจ่ายมากขึ้น จนทำให้ธุรกิจบัตรเครดิตต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป

    ‘สิรีรัตน์ คอวนิช’ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เล่าว่า หากดูอินไซต์ของลูกค้าจะพบว่ากลุ่มรายได้สูงเกิน 50,000 บาทต่อเดือน มีการใช้จ่ายฯ ในหมวดสัตว์เลี้ยงสูงขึ้น โดยในปี 2567 เติบโต 23% สูงกว่ากลุ่มรายได้อื่นๆ ที่เฉลี่ยเติบโตราว 10%

    ถ้าดูในกลุ่มอายุจะพบว่ากลุ่มสมาชิกอายุ 30 - 34 ปีมีสัดส่วนการใช้จ่ายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมากที่สุดถึง 17% รองลงมาคือกลุ่มสมาชิกอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนที่ 16% และทั้ง 2 กลุ่มจะใช้จ่ายในหมวดสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ

    นอกจากนี้ แม้ในปี 2567 การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต KTC หมวดสัตว์เลี้ยงมียอดรวมที่ 1,012 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 13% จากปี 2566) แต่ยอดใช้จ่ายที่แท้จริงของตลาดสัตว์เลี้ยงยังมีมากกว่านี้ เพราะยอดที่เห็นมาจากข้อมูลฝั่ง Petshop และโรงพยาบาลเท่านั้น ปัจจุบันคนยังซื้ออาหารอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงบน e-commerce และร้านค้าในห้างสรรพสินค้าทำให้ยอดใช้จ่ายบางส่วนจะถูกจัดไปอยู่หมวดอื่นๆ

    ดังนั้นยังมองแนวโน้มของอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงยังเติบโตต่อเนื่อง โดยเดือนม.ค. - เม.ย. 2568 การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต KTC เติบโตที่ 10% โดยเดือน เม.ย. มีการเติบโตถึง 12% ในระยะต่อไป KTC ยังคงออกโปรโมชันใหม่ๆ ร่วมกับพันธมิตรเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บัตรอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในหมวดสัตว์เลี้ยงปี 2568 การใช้จ่ายผ่านบัตรฯ จะขยายตัว 10-15%


ยุภา ดำรงคงวิทยานุกูล (ซ้ายสุด), จตุพร วิไลแก้ว (ลำดับ 2 จากซ้าย), 
สิรีรัตน์ คอวนิช (กลาง), ธนัชชา วงษ์เจริญสิน (ลำดับ 2 จากขวา), สพ.ญ. นวพร ชวนปรีชา (ขวาสุด)


ธุรกิจโรงพยาบาลฯ ไม่ใช่แค่รักษา เร่งขยาย Preventive

    สพ.ญ. นวพร ชวนปรีชา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและลูกค้าสัมพันธ์ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ เล่าว่า ปัจจุบันธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์ในปัจจุบันไม่ได้เน้นเฉพาะการรักษาเท่านั้น แต่ยังมีเวชศาสตร์ด้านการป้องกันเหมือนคน เช่น การฉีดวัคซีน ฯลฯ ซึ่งเป็นอีกขาหลักในการสร้างรายได้ ดังนั้นในอนาคตจะขยายบริการใหม่ๆ อาทิ เวชศาสตร์เฉพาะบุคคลตามสายพันธุ์ รวมถึงบริการเสริม เช่น กายภาพบำบัด และบริการปรึกษาผ่านช่องทางดิจิทัล

    ปัจจุบันโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อมี 21 สาขา (และมีที่เวียดนามอีก 1 แห่ง) โดยมีแผนที่จะขยายสาขาไปยังต่างจังหวัด โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ รวมถึงขยายรูปแบบจากโรงพยาบาลไปเป็นคลินิกขนาดเล็กที่สามารถให้บริการขั้นพื้นฐานสำหรับสัตว์เลี้ยง เพื่อให้ครอบคลุมการให้บริการที่มากยิ่งขึ้น รวมถึงการเพิ่มผลิตภัณฑ์ด้านสัตว์เลี้ยง

จับเทรนด์ Gen Y - Gen Z ขับรถพาหมา-แมวออกเที่ยว

    ไม่เพียงแต่ของใช้ต้องดีที่สุด แต่เทรนด์การพาน้องหมาน้องแมวไปท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจและคลายเครียดยังเพิ่มมากขึ้นด้วย

    ‘จตุพร วิไลแก้ว’ Head of Hotel Asset Management and Operations โรงแรม GO Hotel ในเครือเซ็นทรัลพัฒนา (CPN) กล่าวว่า ในช่วงหลังเกิดแผ่นดินไหวเดือน มี.ค. จนถึงเม.ย. 2568 ที่ผ่านมายอดเข้าพักโรงแรม GO Hotel ในโซน EEC อย่างชลบุรี พัทยาเพิ่มขึ้นสูงมาก อาจเพราะลูกค้าพาน้องหมา น้องแมวมาพักผ่อนจากที่เจอภัยพิบัติมา ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาเทรนด์การเดินทางแบบ Road Trip หรือ Staycation พร้อมสัตว์เลี้ยงของ Gen Y และ Gen Z ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

    ดังนั้นทาง GO Hotel ได้ปรับกลยุทธ์โดยมีการแบ่งสัดส่วนห้องพักแบบ Pet Friendly 10-15% ของจำนวนห้องพักทั้งหมด ซึ่งภายในห้องจะมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกเฉพาะ เช่น ชามอาหาร (อาหารเป็นพันธมิตรจัดเตรียมไว้ให้) ถุงเก็บมูลสัตว์เลี้ยง ผ้าปูรองนอน และมีพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยงได้เดินเล่นอย่างปลอดภัย ที่สำคัญคือการอบรมให้ความรู้แก่พนักงานเพื่อดูแลทุกคนได้อย่างรอบด้าน ปัจจุบันราคาเข้าใช้บริการของสัตว์เลี้ยงอยู่ที่ 500 บาท/ตัว/คืน

    อย่างไรก็ตามมองว่าแนวโน้มของการท่องเที่ยวไปกับสัตว์เลี้ยงจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่สามารถ Road Trip ใกล้กับกรุงเทพฯ อย่างพื้นที่ตะวันออก EEC

ที่มา KTC


ปี 69 เริ่มฝัง Microchip ในสัตว์เลี้ยง ทิพยฯ คาดเบี้ยประกันลดลง

    เมื่อสัตว์เลี้ยงเหมือนคนในบ้าน ย่ิงต้องเป็นห่วงว่าหากอายุมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นไหม ทำให้ช่วง 5-7 ปีที่ผ่านมาธุรกิจประกันภัยเกิดแบบประกันเพื่อสัตว์เลี้ยงขึ้นมา

    ‘ธนัชชา วงษ์เจริญสิน’ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจธนาคาร 2 บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ปัจจุบันผู้ปกครองของน้องหมา น้องแมวต่างตระหนักถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลและรักษาสัตว์เลี้ยงที่สูงขึ้น โดยค่ารักษาพื้นฐาน เช่น การฉีดวัคซีนหรือการตรวจสุขภาพอยู่ที่ 1,000 บาท – 5,000 บาทต่อครั้ง ส่วนการผ่าตัดหรือรักษาเฉพาะทางอาจสูงถึง 10,000 บาท – 50,000 บาท ทำให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงเริ่มมองหาทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงผ่านประกันภัย ทำให้แต่ละปีมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยปีละ 15 - 20%

    ปัจจุบันยังมีเพียงการทำประกันสัตว์เลี้ยงเฉพาะสุนัข และแมว โดยคาดการณ์ตลาดประกันภัยสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยปี 2568 จะมีมูลค่าประมาณ 100 - 200 ล้านบาท โดยในปี 2569 นี้เมื่อทางการจะเริ่มฝัง Microchip ในสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว คาดว่าจะมีส่วนช่วยให้เบี้ยประกันฯ ต่ำลงและเข้าถึงผู้เอาประกันได้มากขึ้น

    ในด้านธุรกิจ บมจ. ทิพยประกันภัยมีส่วนแบ่งการตลาดราว 30% ในประกันภัยสัตว์เลี้ยง โดยจุดเริ่มต้นคือการขยายประกันสัตว์เลี้ยงเพื่อเสนอขายพร้อมกับผลิตภัณฑ์ประกันอื่นๆ เช่น เมื่อขายประกันภัยบ้าน และลูกค้ามีสัตว์เลี้ยงจึงขายประกันนี้เพิ่มเติม แต่ต่อมาความต้องการในตลาดยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้เร่งพัฒนาแบบประกันให้มีครอบคลุมความคุ้มครองที่ตลาดต้องการมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีเป้าหมายในการควบคุมอัตราค่าสินไหมทดแทนให้อยู่ในระดับปัจจุบันที่ราว 30%

    ธุรกิจสัตว์เลี้ยงยังมีโอกาสอีกมากทั้งในตลาดการส่งออกอาหารสัตว์ที่ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดในระดับสูง แต่เมื่อเทรนด์การเลี้ยงสัตว์เสมือนคนในครอบครัวยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจด้านสินค้าและการบริการในประเทศน่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ในระยะต่อไปยังต้องติดตามว่าท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวเทรนด์นี้จะขยายตัวในทิศทางใด



ภาพ: KTC, ttb analytics, Matteo del Piano on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ทาสหมาแมวพร้อมเปย์! กสิกรฯ คาดตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงไทยปี 68 โต 12%

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine