เปลี่ยนใจ! สรรพากรจ่อ ‘ผ่อนปรน’ เกณฑ์นำเงินได้จากต่างประเทศกลับไทย หลังเริ่มเก็บเมื่อปี 67 - Forbes Thailand

เปลี่ยนใจ! สรรพากรจ่อ ‘ผ่อนปรน’ เกณฑ์นำเงินได้จากต่างประเทศกลับไทย หลังเริ่มเก็บเมื่อปี 67

ช่วง 1-2 ปีนี้หลายคนที่ไปลงทุนในต่างประเทศไม่ว่าจะกองทุนรวม หรือลงทุนตรงก็ต้องคิดหนักขึ้น เพราะ 1 ม.ค. ปี 2567 ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้บังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีเงินได้ใหม่ซึ่งจะรวมถึง ‘เงินได้จากต่างประเทศ’ ไม่ว่าจะเงินเดือน ดอกผลจากหุ้น อสังหาริมทรัพย์ ถ้านำกลับเข้ามาในไทยต้องมัดรวมยอดเพื่อเสียภาษี (เดิมมีช่องโหว่ว่าหากนำกลับข้ามปีภาษีจะไม่เข้าเกณฑ์) แต่สัปดาห์นี้เหมือนจะมีข่าวดีว่า สรรพากรจะมีการแก้กฎหมายเพื่อผ่อนปรนเงื่อนไขนี้


    ‘ภาณุวัฒน์ เหลืองวิไล’ รองอธิบดีกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง กล่าวว่า หน่วยงานอยู่ระหว่างการร่างเพื่อแก้ไขกฎหมายเรื่องการนำเงินได้จากต่างประเทศกลับเข้าไทย ซึ่งปัจจุบันคนไทยที่มีรายได้จากต่างประเทศส่งกลับเข้าไทย ไม่ว่าในปีภาษีไหนต้องนำมายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในไทย ซึ่งเป็นอัตราภาษีแบบก้าวหน้าที่ 5 - 35% (มีเพียงรายได้ที่เกิดขึ้นก่อน 1 ม.ค. 67 หากนำกลับไทยในปีถัดมาจะไม่เสียภาษี)

    ทั้งนี้ แนวคิดในการปรับแก้ร่างกฎหมายฯ ครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายของ ‘พิชัย ชุณหวชิร’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่สนับสนุนให้คนไทยที่มีรายได้จากต่างประเทศนำกลับมาลงทุนในประเทศ
ภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่นี้ เงินได้จากต่างประเทศถ้านำกลับมาในปีที่ได้รับเงินได้นั้นๆ หรือ ปีถัดไปจะไม่ต้องเสียภาษี แต่หากโอนกลับมาในช่วงปีอื่นๆ หลังจากนั้นจะต้องนำมารวมยื่นภาษีฯ ตามอัตราปกติ เช่น หากมีเงินได้เกิดขึ้นในต่างประเทศปี 2568 และโอนกลับมาที่ไทยในปี 2568 หรือ 2569 จะไม่ต้องเสียภาษี

    ดังนั้นเป้าหมายที่กรมสรรพากรจะปรับเกณฑ์ฯ นี้เพื่อสนับสนุนให้คนไทยที่มีเงินได้ในต่างประเทศกลับเข้ามาลงทุนในไทย และลดความกังวลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกรณีต้องนำเงินได้กลับเข้าไทย



อ้างอิงข้อมูล: Bangkok PostPhoto by Kelly Sikkema on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สภาพัฒน์หั่นเป้า GDP ไทยปี 68 เสี่ยงต่ำสุด 1.3% ส่วนไตรมาสแรกปีนี้โตชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine