“ผมไม่ได้ซื้อคริปโต” คำต่อคำ ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ตั้งแต่สินทรัพย์ดิจิทัลจนถึง Virtual Bank - Forbes Thailand

“ผมไม่ได้ซื้อคริปโต” คำต่อคำ ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ตั้งแต่สินทรัพย์ดิจิทัลจนถึง Virtual Bank

แม้จะจัดตั้งบริษัท “กัลฟ์ ไบแนนซ์” และให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายและนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยตั้งแต่เมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมา และประกาศตั้งเป้าเป็นเบอร์ 1 ในไทย แต่มหาเศรษฐีอย่าง “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่ได้ซื้อคริปโตฯ (ยกเว้น BNB)


    นับตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยก็มีแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ตัวใหม่อย่าง Binance TH by Gulf Binance (“Binance TH”) ให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแก่ผู้ใช้งานทุกคน

    แพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นโปรดักต์ของ บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด (“Gulf Binance”) ที่เกิดขึ้นจากการร่วมทุนระหว่าง บริษัท ไบแนนซ์ แคปปิตอล แมเนจเมนท์ จำกัด (Binance Capital Management Co.,Ltd.) บริษัทภายในเครือของ Binance ของ CZ หรือ Changpeng Zhao และบริษัท กัลฟ์ อินโนวา จำกัด (Gulf Innova Co., Ltd.) ของมหาเศรษฐีพลังงาน-สื่อสารของไทยอย่าง “สารัชถ์ รัตนาวะดี”

    โดย Binance TH นั้นได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจากกระทรวงการคลังของประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ก่อนที่จะได้รับการอนุมัติให้เริ่มประกอบธุรกิจในฐานะศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยได้ในเวลาต่อมา

    เป้าหมายของ Binance TH ที่ประกาศชัดเจนในงานแถลงข่าววันที่ 19 มีนาคม 2567 คือการตั้งเป้าเป็นผู้นำเบอร์ 1 แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ไม่ใช่แค่ในแง่ของปริมาณการซื้อขาย แต่ยังรวมถึงการสร้างระบบนิเวศ การให้ความรู้ โดยจะมีการร่วมมือกับพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ เพื่อผลักดันให้ระบบนิเวศนั้นเดินไปสู่เส้นทางที่ถูกต้อง

    สารัชถ์ รัตนาวะดี ให้ความเห็นถึงการร่วมมือกับ Binance ในครั้งนี้ว่า “เรารู้จักกับไบแนนซ์อยู่แล้ว กับตัว CZ เจ้าของที่ไม่ได้มา ก็ค่อนข้างคุ้นเคยกัน ตอนที่เริ่มสนใจการลงทุนเกี่ยวกับดิจิทัลแอสเสท ก็พยายามมองหาคนที่มีความรู้จริงๆ ที่สามารถมาให้ความรู้เราได้ มาเป็นพาร์ทเนอร์กับเราได้ มีหลายบริษัทที่มีโอกาสได้คุยกัน แต่ก็ล้มหายตายจากไปเยอะตามข่าว แต่จริงๆ แล้วที่เลือก Binance เพราะดูแล้วเขามี stability มีความมั่นคง

    “โลกดิจิทัลแอสเสท สำคัญคือมันต้องมีความโปร่งใส ชัดเจน เพราะเงินอยู่ในวอลเล็ตเกือบหมด เทคโนโลยีก็ต้องเสถียรมาก จะซื้อจะขายเมื่อไหร่ก็พร้อมทำได้ ซึ่งระบบบล็อกเชนของ Binance มีเทคโนโลยีค่อนข้างดี

    “ในเรื่องคริปโตที่ทำกับ Binance เขาก็เป็นแพลตฟอร์มอันดับ 1 ของโลก เขามีความรู้เยอะ”

    แต่ถึงอย่างนั้น ดูเหมือนว่ามหาเศรษฐีอันดับ 5 ของไทย จากการจัดอันดับโดย Forbes จะไม่ได้ลงทุนในคริปโตฯ เท่าไหร่นัก โดยเมื่อผู้สื่อข่าวถามเขาว่ามีมุมมองต่อตลาดคริปโตฯ อย่างไรบ้าง เขาตอบว่า “ตลาดคริปโตฯ ผมไม่ได้ซื้อเหมือนกัน แต่เขาว่ามันน่าจะไปต่อได้ แต่ก็ตอบไม่ได้ ตลาดนี้ก็คือการลงทุน มันก็คือความเสี่ยง ต้องแล้วแต่การตัดสินใจ แต่เท่าที่ฟังดู มันก็เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเองของตลาดคริปโตฯ น่าจะมีโอกาสอีกเยอะ”

    เขายังให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า “ที่ไม่ได้ลงทุนเพราะไม่มีเวลา ดูไป ว่าจะซื้อแล้วก็ยุ่ง วุ่นวาย ไม่ได้ทำสักที แต่มีซื้อ BNB Coin ไว้เยอะเหมือนกัน ที่ลงทุนเพราะไปเชื่อมโยงกับ Binance เราเป็นพาร์ทเนอร์กับเขา ก็เชื่อว่ามันต้องไปได้ดี เรามีการลงทุนกับ Binance หลายเรื่องเหมือนกัน ทั้งสตาร์ทอัพเกี่ยวกับคริปโตฯ ด้วย”

    สำหรับการแนวทางการจับมือร่วมกันระหว่าง Binance และ AIS นั้น สารัชถ์ระบุว่า “จริงๆ Binance กับ AIS คุยกันอยู่ ซึ่ง Binance เพิ่งเปิด ถือว่าเปิดช้าด้วยซ้ำ เพราะเงื่อนไขและรายละเอียดของ ก.ล.ต. เข้มงวดมากขึ้น แต่ผมว่าดี เพราะว่า Binance เกิดขึ้นมาบนกฎระเบียบที่ค่อนข้างเคร่งครัดมากของ ก.ล.ต. และ ปปง. ผมว่าค่อนข้างปลอดภัยที่มาใช้เทคโนโลยีของไบแนนซ์ที่มีอยู่”

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี (ซ้าย) กรรมการ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และนายริชาร์ด เทง (ขวา) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Binance


จับมือพันธมิตรลุย Virtual Bank

    นอกจากจะก้าวเข้าไปอยู่ในโลกการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว กัลฟ์ยังกระโดดเข้ามาโลกการเงินด้วย โดยข่าวล่าสุดคือการร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง AIS และธนาคารกรุงไทย เตรียมยื่นขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ด้วยเงินทุนเริ่มต้น 5,000 ล้านบาท ถือหุ้นคนละ 33%

    “ข่าวที่ว่าเราจะทำ Virtual Bank กับกรุงไทยและ AIS ก็เชื่อว่าทั้งสองบริษัทจะมีความพร้อมในเรื่องบริษัทและความเข้าใจในเรื่องของธุรกิจ ธนาคารกรุงไทยก็ทำบริการเกี่ยวกับเรื่องการโอนเงินมาเยอะ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่พร้อมยื่นใบสมัคร เขา (ธปท.) ให้เวลายื่น 6 เดือน ยื่นไปตอนนี้ก็ยังไม่พร้อมอยู่ดี”

    “Virtual Bank เท่าที่ฟังดูจะทำให้การเข้าถึงของคนมากขึ้น สำหรับคนที่ไม่มีโอกาสที่จะกู้เงิน เพราะไม่มีหลักประกันอะไรมาวาง คงใช้จากระบบ ดูเรื่องเครดิต ดูเรื่องการเก็บเงิน และจะเป็นการใช้ข้อมูลของมือถือและของแบงก์ว่าลูกค้ามีความสามารถในการยื่นกู้ขนาดไหน ผมคิดว่าเป็นการทำให้คนมีโอกาสเข้าถึงมากขึ้น ดอกเบี้ยคงจะไม่สูงอย่างที่เราได้ยินตามข่าวต่างๆ

    “แผนธุรกิจเวอร์ชวลแบงก์ เกณฑ์ของแบงก์ชาติที่ค่อนข้างเข้มงวดแล้วนั้นดีแล้ว เพราะค่อนข้างปลอดภัยกับคนที่เข้าไปทำ และปลอดภัยกับคนที่ไปฝากเงิน มากู้เงิน เพราะมันเป็นดิจิทัลแอสเสท อะไรที่มันมา มันก็อาจจะหายไปได้”

    สารัชถ์ยังระบุอีกว่า ปัจจุบันแผนการทำธุรกิจ Virtual Bank ยังไม่ได้คุยกันอย่างชัดเจน แต่การที่สามารถเข้าถึงฐานลูกค้าของธนาคารกรุงไทยและ AIS ได้ ก็น่าจะทำให้มีโอกาสในธุรกิจมากขึ้น ทั้งยังมองเห็นกลุ่มเป้าหมายลูกค้าสินเชื่อชัดมากขึ้นด้วย

    “ผมคิดว่าเวอร์ชวลแบงก์คงไม่ได้ปล่อยรายใหญ่เป็นล้านบาทหรอก ปล่อยสินเชื่อ 30,000 บาท 50,000 บาท เต็มที่ 100,000-200,000 บาท เหมือนกับเป็นการให้คนส่วนมากทั้งประเทศเข้าถึงได้ โดยไม่ต้องเอาหลักประกันเช่นที่ดินหรือรถไปวาง เราก็ปล่อยโดยดูจากบิลมือถือบ้าง เพื่อดูว่ามีความสามารถในการชำระคืนเป็นอย่างไร”

    “ส่วนในเรื่องการแข่งขัน ผมคิดว่ามันอยู่ที่เทคโนโลยีว่าใครเสถียร ไม่ใช่ว่าเราจะเก่งหรือเสถียร แต่วันนั้นใครที่เอาเทคโนโลยีมาใช้แล้วค่อนข้างมีเสถียรภาพ ที่คนสามารถ access ได้ตลอดเวลา คล้ายๆ กับคริปโตฯ ที่สามารถเข้าถึงได้ 7 วัน 24 ชั่วโมง Virtual Bank ก็คงต้องเป็นลักษณะคล้ายๆ อย่างนั้น ที่มันสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา และมีเสถียรภาพ”



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 'บิตคอยน์-ทองคำ' มีโอกาสพุ่งต่อ หลังราคาสร้างจุดสูงสุดใหม่

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine