Ninja Van สตาร์ทอัพโลจิสติกส์สิงคโปร์ ที่เติบโตไปพร้อมอี-คอมเมิร์ซ - Forbes Thailand

Ninja Van สตาร์ทอัพโลจิสติกส์สิงคโปร์ ที่เติบโตไปพร้อมอี-คอมเมิร์ซ

แพ็คสินค้าที่เรียงตั้งสูงขึ้นมากว่าผู้คนในศูนย์คัดแยกที่ใหญ่ที่สุดของ Ninja Van ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือ Jurong ของสิงคโปร์ กำลังจะถูกทยอยจัดส่งให้กับผู้รับ หลังผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง Shopee เพิ่งจัดแคมเปญช็อปปิ้งออนไลน์ 9/9 ซึ่งทุบสถิติด้วยยอดสั่งซื้อกว่า 17 ล้านออร์เดอร์ในวันเดียว และบริษัทโลจิสติกส์รายนี้ได้กลายเป็นผู้จัดส่งให้กับออร์เดอร์ส่วนใหญ่

เราใช้เวลาหลายเดือนเพื่อเตรียมพื้นที่รองรับความจุออร์เดอร์เหล่านี้ ทั้งยังตรวจสอบให้มั่นใจว่าเราได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานให้ดีขึ้น และมีคนส่งของเพียงพอLai Chang Wen ผู้ก่อตั้ง Ninja Van วัย 32 ปีกล่าว

ปัจจุบัน โลจิสติกส์น้องใหม่รายนี้ส่งพัสดุราว 1 ล้านชิ้นทั่วภูมิภาค มีพนักงานส่งของที่เป็นพนักงานประจำราว 20,000 คน โดยนินจาคือคำที่ใช้เรียกพนักงานของเขา ทั้งนี้ ยอดขายของบริษัทในปี 2017 เติบโตขึ้น 9% จากปีก่อนหน้ามาสู่ 13 ล้านเหรียญสหรัฐ และ Lai ชายหนุ่มสิงคโปร์รายนี้ก็ถูกจัดอันดับให้อยู่ในทำเนียบ Forbes 30 Under 20 Asia ในปี 2016

สตาร์ทอัพด้านการขนส่งรายนี้สามารถระดมทุนไปได้แล้ว 140 ล้านเหรียญ จากกลุ่มนักลงทุนซึ่งรวมถึง B Capital และ Grab

พวกเขาเป็นผู้นำในกลุ่ม last-mile delivery (last-mile delivery คือการขนส่งสินค้าจากร้านค้าสู่ที่อยู่ปลายทางของลูกค้าโดยตรง) เราเชื่อมั่นในพวกเขา เราเชื่อว่าพวกเขาให้บริการที่ดีที่สุดในอัตราการจัดส่งนี้ ทุกความสำเร็จที่เขาได้รับเกิดจากการใช้เทคโนโลยี ซึ่งช่วยเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าได้Eduardo Saverin ผู้ร่วมก่อตั้ง B Capital ทั้งยังเป็นหนึ่งในกรรมการของบริษัท (และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook) กล่าว

Lai ร่วมก่อตั้งบริษัทโลจิสติกส์นี้ในปี 2014 หลังจากทำงานในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า Barclays และมาเปิด Marcella ร้านตัดเสื้อผ้าผู้ชายในสิงคโปร์ ที่ทำให้เขาได้พบกับ Lim Kuo-Yi หุ้นส่วนผู้จัดการของ Monk’s Hill Venture ซึ่ง Lim จำ Lai ได้ระหว่างการมา pitch ขอเงินลงทุนร้านเสื้อของ Lai แต่ที่ทำให้ Lim ทึ่งก็คือการนำเสนอโซลูชั่นในการจัดส่งสินค้าของเขาต่างหาก

และโซลูชั่นนั้นก็กลายมาเป็น Ninja Van ในวันนี้ บนโจทย์ที่พวกเขาวางไว้คือการนำเสนอหนทางที่มีประสิทธิภาพให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดส่งสินค้าของพวกเขาจากการขายผ่านอี-คอมเมิร์ซ ที่กำลังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคนี้

ข้อมูลจาก Bain, Google และ Temasek ระบุว่า ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 150 ล้านคนซื้อและขายของออนไลน์ โดยตัวเลขนี้มากกว่าตัวเลขในปี 2015 ถึง 3 เท่าสิ่งที่สตาร์ทอัพรายนี้ได้แสดงให้เห็นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คือความสามารถในการขยายธุรกิจ 3 เท่าต่อปี Lim กล่าว

ทั้งนี้ Ninja Van คือหนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์ด้วยการส่งสินค้าให้กับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ โดยผู้เล่นรายอื่นๆ ได้แก่ Lalamove, GoGoVan, UrbanFox หรืออย่างในไทยก็คือ Kerry

Photo Credit: Sean Lee/Forbes Asia

Lai กล่าวว่า การแข่งขันด้านราคา, ความเร็ว และความน่าเชื่อถือนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป แต่บริษัทของเขายังทำงานร่วมกับ SMEs เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เขาได้เปิดตัวโปรแกรมที่ชื่อว่า Ninja Academy ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จะมีการสอนผู้ประกอบการเกี่ยวกับโซเชียลมาร์เก็ตติ้ง, การจัดการสินค้าในคลัง, การจัดซื้อ และกลยุทธ์การขาย

สตาร์ทอัพรายนี้ยังวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อค้นหาประสิทธิภาพที่ซ่อนอยู่ อย่างเช่น เมื่อผู้ประกอบการหลายคนกำลังจะซื้อสินค้าเดียวกัน บริษัทสามารถเป็นตัวแทนในการซื้อสินค้าจำนวนมากในราคาที่ต่ำกว่า โดยเป็นการซื้อในนามลูกค้าหลายราย เช่นเดียวกับกรณีของการซื้อพื้นที่ในการจัดส่งสินค้าด้วยเราเป็นผู้ซื้อ (พื้นที่) รายใหญ่ที่สุดในการส่งสินค้าทางอากาศในอินโดนีเซีย” Lai กล่าว

ทั้งนี้ การลงทุนใน Ninja Van ของ Grab นั้นมีการพูดคุยอย่างต่อเนื่องถึงการทำงานร่วมกันเรายังคงหาวิธีที่จะทำงานร่วมกัน” Lai ผู้ที่เมื่อ 4 ปีก่อนได้เข้าไปพูดคุยกับ Anthony Tan ผู้ร่วมก่อตั้ง Grab เกี่ยวกับการทำงานร่วมกันของพวกเขาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น

แต่ท้ายที่สุด ทั้งสองบริษัทก็ตัดสินใจที่จะทำงานแยกกัน เพราะดูแล้วต่างคนต่างอยู่จะมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ก็มีการพัฒนาความร่วมมือด้วยกัน โดยลูกค้า Grab สามารถเข้าถึงบริการของ Ninja Van ในรูปแบบการส่งพัสดุด่วนบนแอปพลิเคชั่น Grab หรือที่เรียกว่า GrabExpress โดยให้บริการแล้วในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงเวียดนามเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ปัจจุบัน Lai ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย (ที่ซึ่งบริษัทของเขาเริ่มให้บริการในปี 2015) เขากล่าวว่าภูมิทัศน์ตอนนี้เรียกได้ว่าน่าตื่นเต้นมาก เพราะร้านค้าเล็กๆ จำนวนมากต่างขยายช่องทางการตลาดของตัวเอง Lai กล่าว อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่แท้จริงของเขา คือไปไกลมากกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้การไหลเวียนของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมีเพิ่มขึ้นทั่วโลก และแน่นอนว่า สหรัฐอเมริกาคือเป้าหมายของเรา

  แปลและเรียบเรียงจาก Keeping Up With E-commerce: Last Mile Delivery Service Deploys 'Ninjas' In Online Shopping Boom   Photo Credit: Sean Lee/Forbes Asia