ปริญญาอาจ ‘ล้าสมัย’ ในวันที่ AI เข้ามามีบทบาทในโลกการทำงาน วิธีรับมือคือ ‘ไม่หยุดเรียนรู้และใช้เทคโนโลยีให้เป็น’ - Forbes Thailand

ปริญญาอาจ ‘ล้าสมัย’ ในวันที่ AI เข้ามามีบทบาทในโลกการทำงาน วิธีรับมือคือ ‘ไม่หยุดเรียนรู้และใช้เทคโนโลยีให้เป็น’

รายงาน 2025 AI Jobs Barometer ซึ่งจัดทำโดย PwC และเผยแพร่เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ชี้ว่า ความต้องการพนักงานที่จบมหาวิทยาลัยและมีใบปริญญาของนายจ้างกำลังลดลงในทุกสาขาอาชีพ แต่ที่รวดเร็วที่สุดเห็นจะเป็นอาชีพที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก้าวเข้ามามีบทบาท


    “AI ช่วยให้ผู้คนสามารถสร้างและใช้งานความรู้ระดับสูงได้อย่างรวดเร็ว...ซึ่งอาจทำให้คุณสมบัติที่ต้องผ่านการรับรองความเชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษามีความสำคัญน้อยลง” รายงานระบุ โดยวิเคราะห์จากข้อมูลการโฆษณาตำแหน่งงานนับพันล้านรายการรวมถึงข้อมูลทางการเงินของบริษัทต่างๆ จากทั้ง 6 ทวีปทั่วโลก

    เทคโนโลยี AI ยังก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเรื่องของทักษะและความรู้ที่พนักงานจำเป็นต้องมีเพื่อความสำเร็จ ซึ่งอาจตีความได้ว่า ใบปริญญาจะ ‘ล้าสมัย’ เร็วขึ้น

    ทักษะที่นายจ้างมองหากำลังเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นถึง 66% โดยเฉพาะอาชีพที่ AI สามารถเข้ามามีบทบาทในการทำงานได้ อาทิ นักวิเคราะห์การเงิน เมื่อเทียบกับอาชีพที่ AI ยังยากจะแทรกเซง อาทิ นักกายภาพบำบัด ซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นจาก 25% ในปีที่แล้ว ตามข้อมูลของ PwC

    “สำหรับคนทำงาน การให้ความสำคัญกับทักษะมากกว่าปริญญาในการจ้างงานอาจช่วยสร้างความเท่าเทียมด้านโอกาส โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ขาดเวลาและทรัพยากรในการเรียนปริญญา” รายงานกล่าว “ในสาขาอาชีพที่ AI กำลังเข้ามามีบทบาท สิ่งสำคัญคือ ‘อะไรที่พวกเขาสามารถทำได้ในวันนี้’ ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาเคยเรียนในอดีต”


ปริญญาจะล้าสมัยจริงหรือ?

    ปัจจุบัน การศึกษาไม่จำกัดอยู่แค่ในสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยอีกต่อไปแล้ว เพราะคุณสามารถเรียนรู้ผ่านเครื่องมือ AI และ LLMs (โมเดลภาษาขนาดใหญ่) ได้ ตามที่ Joe Atkinson ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่าย AI ระดับโลกของ PwC เผยกับ CNBC Make It และเพื่อปรับตัวรวมถึงเตรียมความพร้อมสำหรับเส้นทางอาชีพในอนาคตบนภูมิทัศน์การงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เขาแนะนำให้พัฒนาทักษะด้าน AI ที่บ้าน

    “ผมคิดว่าความสามารถของคนๆ หนึ่งในการเข้าถึงความรู้จำนวนมหาศาลนั้นเป็นสิ่งที่ได้รับการสนับสนุนในยุคของ AI” Atkinson กล่าว ซึ่งสิ่งนี้เองที่นำไปสู่เศรษฐกิจแบบใหม่ที่ “มาตรฐานของทุกคนสูงขึ้น เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ต่างๆ ได้มากขึ้น”

    Atkinson ยังเสริมว่า “สมรรถนะของ AI กำลังถูกพัฒนาในอัตราเร็วอันเหลือเชื่อ…ผมคิดว่าใครที่ไม่รู้สึกอึดอัดใจกับการต้องพยายามตามให้ทันตลอดเวลา อาจจะไม่ได้ใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย”

    เขาแนะนำให้ลองสำรวจโมเดล AI ที่มีอยู่มากมาย หาความแตกต่างระหว่างพวกมัน เรียนรู้วิธีการใช้คำสั่งกับ LLMs คอยส่องบล็อกเกี่ยวกับเทคโนโลยี และฝึกใช้เครื่องมือต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

    “สิ่งสำคัญที่สุดคือทักษะ AI เป็นทักษะที่ใช้ได้จริง นำไปประยุกต์ใช้ได้...คุณแค่ต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็น” เขากล่าว การทุ่มเทเรียนรู้ด้วยตนเองในยุคนี้กำลังกลายเป็น “มาตรฐานใหม่ หากคุณไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ คุณก็จะล้าหลังอย่างรวดเร็ว”

    Atkinson แนะว่า “อันที่จริงเราต้องไม่กลัวเทคโนโลยี เราต้องโอบรับมัน”

    ทว่าท้ายที่สุดแล้ว การศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยนั้นหาได้หมายถึงเพียงการได้มาซึ่งความรู้และทักษะ “มันเกี่ยวข้องกับคนๆ หนึ่งทั้งหมด” เขากล่าว “เกี่ยวกับวิธีคิด วิธีการมีปฏิสัมพันธ์ และวิธีการวิจารณ์ ผมคิดว่าความสามารถขั้นสูงเหล่านี้…จะมีค่ามากขึ้นในอนาคต ไม่ใช่น้อยลง”


แปลและเรียบเรียงจาก The rise of artificial intelligence can make college degrees ‘out of date’: Upskill in AI or fall behind, says expert

ภาพปกโดย Feyza Tugba from Pexels​


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “กลัว AI แย่งงานได้ ไม่ผิด แต่จงเรียนรู้ที่จะใช้มันด้วย” คำแนะนำจาก Reid Hoffman ผู้ก่อตั้ง LinkedIn ถึง Gen Z จบใหม่

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine