The 1 Insight เผยบทวิเคราะห์ Solo Economy ชี้ ‘คนโสด’ คือกลุ่มผู้บริโภคที่ทรงอิทธิพลต่อเศรษฐกิจ พร้อมด้วยกำลังซื้อสูง ปัจจุบันครองสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของการใช้จ่ายรวม สร้างปรากฏการณ์ Self Splurge หรือ “เปย์หนักเพราะรักตัวเอง” โดดเด่นในกลุ่มการใช้จ่ายเพื่อภาพลักษณ์ เสริมสุขภาพ ทานอาหารนอกบ้าน และสินค้าลักชัวรี่
ปัจจุบัน การมีคู่หรือสร้างครอบครัวใหญ่ไม่ใช่เป้าหมายของทุกคนอีกต่อไป ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2566 ระบุว่า คนไทยถึง 25% อยู่ในสถานะโสด โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเมือง
คนโสดในกรุงเทพฯ มีสัดส่วนสูงถึง 50% ของประชากรในพื้นที่ ซึ่งถือว่าสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศ เมื่อพิจารณาในแง่ประชากรภาพรวมพบว่า 75% ของคนโสดในไทยเป็นเพศหญิง อีกทั้งสัดส่วนของคนโสดยิ่งสูงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะช่วงอายุ 25-34 ปี (30%), 35-44 ปี (25%) และลดลงในช่วง 45-54 ปี (20%)
ข้อมูลเหล่านี้แสดงแนวโน้มที่ชัดเจนว่า ยิ่งอายุน้อยลง สัดส่วนคนโสดยิ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของค่านิยมใหม่ในการใช้ชีวิต ที่เปลี่ยนไปจากกรอบครอบครัวแบบเดิมอย่างมีนัยสำคัญ
ข้อมูลจาก The 1 Insight เจาะลึกการใช้จ่ายของคนโสด ที่กำลังเลือกใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ให้คุณค่ากับการดูแลตัวเองโดยไม่ต้องรอให้ใครมาเติมเต็ม โดยพบว่าคนโสดมียอดใช้จ่ายเติบโตสูงกว่าตลาดภาพรวมอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันการใช้จ่ายของผู้บริโภคกลุ่ม ‘คนโสด’ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของตลาด แสดงให้เห็นว่า Solo Economy (เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยคนโสด) ไม่เพียงแค่มีขนาดใหญ่อยู่แล้ว แต่ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ในส่วนของรายละเอียดการใช้จ่าย สิ่งที่แตกต่างชัดเจนระหว่างกลุ่มคนโสดและคนมีครอบครัวคือ ‘วัตถุประสงค์ในการใช้จ่าย’ โดยคนโสดมักใช้จ่าย ‘เพื่อตัวเอง’ เป็นหลัก จึงสามารถใช้จ่ายเพื่อความต้องการเฉพาะตน ขณะที่กลุ่มครอบครัวมีการใช้จ่ายกว่าครึ่งเพื่อครอบครัว โดยเฉพาะของใช้จำเป็น
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่คนโสดใช้จ่ายเพื่อภาพลักษณ์ในหมวด Fashion & Beauty มากถึง 30% จากการใช้จ่ายทั้งหมด ทั้งยังชื่นชอบสินค้าหมวด Sport มากกว่า 3 เท่า แสดงถึงความใส่ใจการดูแลสุขภาพ นิยมทานอาหารนอกบ้าน และหมวด Dining ก็มีการใช้จ่ายมากกว่า 3 เท่าเช่นกัน
คนโสดยังสนใจและพร้อมจ่ายกับสินค้าลักชัวรี่มากกว่า 2 เท่า ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนสะท้อนถึงความตั้งใจของคนโสดในการลงทุนกับตัวเองอย่างจริงจัง ทั้งในแง่ของการพัฒนาคุณภาพชีวิต การแสดงออกถึงตัวตน และการให้รางวัลกับตัวเอง
นอกจากนี้ The 1 Insight ยังพบว่าคนโสดพร้อมจ่ายหนักเพื่อประสบการณ์และกิจกรรมยามว่าง ซึ่งการใช้จ่ายต่อคนเป็น 2 เท่าเทียบกับคนมีครอบครัว อาทิ ของสะสม ใช้จ่ายเพื่อเรียนเสริมทักษะด้านภาษา เวิร์กช็อปยามว่าง เช่น ทำอาหาร จัดดอกไม้ หรือเวิร์กช็อปงานดีไซน์ต่างๆ รวมถึงยังโดดเด่นในใช้จ่ายกับ Fitness Center และ Wellness Center ไปจนถึง บัตรคอนเสิร์ตและการเดินทางท่องเที่ยว

เมื่อพิจารณาเชิงเปรียบเทียบระหว่าง ‘คนโสดในเมือง’ และ ‘คนโสดต่างจังหวัด’ จะพบความแตกต่างด้านพฤติกรรมการใช้จ่ายในบางแง่มุม โดยเฉพาะในเรื่องลำดับความสำคัญของหมวดสินค้า คนโสดในเมืองจะมียอดใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่าราว 1.2 เท่า และเน้นในกลุ่ม Beauty & Premium Lifestyle ขณะที่คนโสดในต่างจังหวัดมีแนวโน้มใช้จ่ายในหมวด Home & Appliance มากกว่า เช่น อุปกรณ์ก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ หรือเครื่องใช้ในครัวเรือน ซึ่งสะท้อนบริบทการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน
ในโอกาสนี้ The 1 Insight ยังเผย 3 หมวดสินค้ามาแรงครองใจคนโสด ได้แก่ Beauty, Fashion และ Home Decoration โดยในหมวด Beauty มีใช้จ่ายมากกว่ากลุ่มคนมีครอบครัวถึง 4 เท่า ซึ่งนอกจากจะเลือกใช้สินค้าอย่างเซรั่ม มอยส์เจอร์ไรเซอร์ ครีมกันแดด และผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่มอย่าง Anti-Aging หรือ Brightening พวกเขายังนิยมเข้าคลินิกเสริมความงาม ทำหัตถการความงามต่างๆ อีกด้วย
ส่วนหมวด Fashion คนโสดใช้จ่ายมากกว่าถึง 3 เท่า โดยลงทุนกับทั้งแบรนด์แฟชั่นระดับลักชัวรี่ เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ กระเป๋า และนาฬิกา และแบรนด์แมสพรีเมียมที่เน้นคุณภาพและดีไซน์ที่สื่อถึงตัวตน ไม่ว่าจะเป็นสไตล์มินิมัล เรียบหรู หรือแฟชั่นสายครีเอทีฟ สะท้อนแนวคิดที่ว่า “การดูแลภาพลักษณ์ไม่ใช่ความฟุ่มเฟือย แต่คือการลงทุน”
ที่น่าแปลกใจคือ ในหมวด Home Decoration กลับพบว่า คนโสดยังมีแนวโน้มใช้จ่ายมากกว่าคนมีครอบครัวถึง 4.5 เท่า ทั้งนี้เพราะค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการจัดการพื้นที่อยู่อาศัยตกเป็นภาระของคนคนเดียว ต่างจากคนมีครอบครัวที่มักแบ่งภาระร่วมกันกับคู่ชีวิตหรือสมาชิกในครอบครัวใหญ่
กล่าวคือ คนโสดไม่มี ‘ตัวหาร’ ตั้งแต่งานก่อสร้างไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ หรือของใช้จิปาถะในบ้าน ล้วนต้องจ่ายด้วยตนเองทั้งหมด ขณะเดียวกัน พวกเขายังมีอิสระในการเลือกซื้อสินค้าที่ตอบโจทย์รสนิยมของตนเองโดยไม่ต้องประนีประนอมกับใคร ทำให้กล้าลงทุนกับของตกแต่งดีไซน์เฉพาะตัว หรือสินค้าคุณภาพสูงที่สะท้อนไลฟ์สไตล์และความเป็นตัวตนอย่างแท้จริง
พฤติกรรมเหล่านี้สะท้อนว่า คนโสดในเมืองคือกลุ่มผู้บริโภคที่พร้อมจ่ายเพื่อคุณภาพชีวิตของตัวเอง พวกเขาไม่จำเป็นต้องมีครอบครัวเพื่อแสดงสถานะหรือเป้าหมาย แต่ใช้เงินอย่างตั้งใจเพื่อเติมเต็มความพึงพอใจในชีวิตประจำวัน ด้วยพฤติกรรมที่เฉพาะเจาะจง มีเหตุผล และเต็มไปด้วยแรงผลักดันจากภายใน
ธุรกิจที่เข้าใจกลุ่มนี้และสามารถออกแบบสินค้า บริการ หรือประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกับแนวคิด “ดูแลตัวเองในทุกมิติ” ได้อย่างแม่นยำ จะกลายเป็นผู้ชนะในตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจของคนโสดอย่างแท้จริง
อินโฟกราฟิกโดย The 1 Insight
ภาพปกโดย Look Studio on Unsplash
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เพราะเป็น ‘ความหรูหรา’ ที่เข้าถึงง่าย ดัน Specialty Coffee ไทยโตแกร่ง ปี 68 มูลค่าตลาด 30,000 ล้านบาท
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine