ผลวิจัย KKP ชี้ไทยโคม่า การศึกษาตกต่ำ ฉุดเศรษฐกิจประเทศไร้กำลังแข่งขัน - Forbes Thailand

ผลวิจัย KKP ชี้ไทยโคม่า การศึกษาตกต่ำ ฉุดเศรษฐกิจประเทศไร้กำลังแข่งขัน

FORBES THAILAND / ADMIN
13 Dec 2023 | 04:59 PM
READ 2294

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เผยรายงานวิเคราะห์ปัญหาการศึกษาไทย หลังคะแนน PISA ออกมาต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งเป็นประเด็นน่าเป็นห่วงที่ควรต้องเร่งมือแก้ไข ด้วยมีความเกี่ยวพันกับระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง ชี้ตลาดแรงงานไทยอาจเติบโตช้าลงหากยังไม่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจและพัฒนาการศึกอย่างจริงจังและตรงจุด


    เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประกาศคะแนน PISA ของปี 2022 ซึ่งเป็นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนในแต่ละประเทศตามมาตรฐานสากล ผลคะแนน PISA ของไทยในปีล่าสุดเป็นที่น่าตกใจเพราะคะแนนของไทยตกต่ำลงในทุกหมวด ที่สำคัญไปกว่านั้นคือเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2012 จำนวนนักเรียนที่ได้คะแนนในระดับต่ำกว่าคะแนนพื้นฐานที่ผ่านเกณฑ์การทดสอบเพิ่มขึ้นถึง 19% ในหมวดคณิตศาสตร์ 32% ในหมวดการอ่าน และ 19% ในหมวดวิทยาศาสตร์

    แม้ว่าคะแนน PISA อาจจะไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพการศึกษาได้ดีที่สุดหรือได้ในทุกมิติ แต่ก็นับว่าเป็นวิธีการวัดผลการเรียนการสอนในเชิงเปรียบเทียบได้ดีระดับหนึ่งตามมาตรฐานสากล ซึ่งชี้ให้เห็นว่า “ไทยใช้เงินมากขึ้นกับการศึกษา จำนวนนักเรียนน้อยลง แต่คุณภาพยังพัฒนาไม่ถึงที่สุด”


    กระทั่งผลการสอบ ONET ในประเทศที่วัดมาตรฐานระดับชาติในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งตรงกับหลักสูตรการศึกษาของไทย ยังพบว่ามีนักเรียนเกินกว่าครึ่งที่ได้คะแนนไม่ถึง 50% และไม่มีทิศทางการพัฒนาที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

    KKP Research ชวนดู 10 เหตุผลว่าทำไมคุณภาพการศึกษาไทยจึงลดลง รากฐานของปัญหาอยู่ที่ไหน และภาครัฐควรจะดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร?

    1. การศึกษาไทยเน้นปริมาณ : งบประมาณด้านการศึกษาของไทยไม่ใช่ปัญหา โดยมีงบอุดหนุนต่อนักเรียน 1 คนที่ระดับประมาณ 20% ของรายได้เฉลี่ยประเทศ ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงประเทศพัฒนาแล้ว แต่มักเป็นการใช้จ่ายไปกับสิ่งที่ไม่ได้ใช้งานจริง เช่น อุปกรณ์ช่วยการสอนที่ครูอาจไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ หรือการเพิ่มเวลาเรียนให้กับเด็กโดยไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพการสอนควบคู่กัน

    2. การจัดสรรงบประมาณที่ไม่ตรงจุด : ขาดการวิจัยและพัฒนาและการปรับปรุงคุณภาพบุคลากร วิธีการจัดสรรงบประมาณในปัจจุบันอาจซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ คือ จัดสรรงบประมาณตามจำนวนหัว โดยนำงบทั้งหมดหารด้วยจำนวนนักเรียน แล้วให้งบแก่โรงเรียนตามจำนวนนักเรียนทั้งหมด ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กเสียเปรียบและได้รับเงินอุดหนุนไม่เพียงพอ

    3. ครูมีจำนวนไม่เพียงพอ : ครูไทยขาดแคลนกว่า 30,000 คนในโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะการจัดสรรครูที่ขาดประสิทธิภาพ โดยการกำหนดจำนวนครูตามขนาดโรงเรียนทำให้ครูในโรงเรียนเล็กมีภาระหนักเกินความจำเป็น ครู 1 คนต้องรับภาระสอนนักเรียนมากกว่า 1 ห้องเรียนและอาจเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนครูที่รุนแรงและทำให้คุณภาพโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลตกต่ำลงเรื่อยๆ



    4. ความเหลื่อมล้ำยังสูง : โรงเรียนต่างจังหวัดคุณภาพต่ำ พบว่าคะแนน ONET กรุงเทพฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ โรงเรียนใหญ่ในเมืองคุณภาพสูงกว่ามาก ในขณะที่ผลคะแนน PISA ชี้ว่ามีนักเรียนจำนวนมากในไทยที่ไม่ผ่านการทดสอบตามเกณฑ์ สะท้อนว่านักเรียนสัดส่วนใหญ่ในไทยยังมีคุณภาพที่ต่ำกว่าเกณฑ์และเด็กเก่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมือง

    5. คุณภาพครูไม่พร้อม : ไทยขาดแคลนบุคลากรที่ผ่านมาตรฐานทั้งในกลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา โดยเป็นปัญหามาจากวิธีการคัดเลือก หลักสูตร และการประเมินผลของครูไทยที่ยังไม่ได้มาตรฐานเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ส่งผลให้ครูไทยอาจขาดความเข้าใจหลักสูตรและสอนตามเป้าหมายของหลักสูตรได้ไม่เต็มที่

    6. เงินเดือนครูไม่พอ แรงจูงใจไม่ตรงเป้า : ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศเริ่มต้นจากการกำหนดให้เงินเดือนครูอยู่ในระดับที่แข่งขันได้กับวิชาชีพอื่น ในกรณีของไทยเงินเดือนครูยังไม่สามารถดึงดูดผู้มีศักยภาพระดับสูงที่สุดมาทำสายอาชีพนี้ได้ ปัญหาที่สำคัญกว่านั้น คือปัญหาด้านแรงจูงใจ เนื่องจากในการพิจารณาขึ้นเงินเดือน น้ำหนักกว่า 70% คือจริยธรรมและผลการปฏิบัติงานมากกว่าทักษะการสอน ทำให้ครูไทยใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่องานนอกห้องเรียน

    7. ครูไทยชีวิตแย่ เป็นหนี้สูง : หนี้ของครูเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านบาท เทียบกับหนี้ครัวเรือนเฉลี่ยที่ 5 แสนล้านบาทเท่านั้น สะท้อนว่าคุณภาพชีวิตครูไทยค่อนข้างอยู่ภายใต้ข้อจำกัดอย่างน้อยในทางการเงิน เมื่อครูอยู่ภายใต้ภาระหรือข้อกังวลของปัญหาในชีวิตส่วนตัวก็อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการสอนในห้องเรียน

    8. ปัญหาของการประเมินผลการศึกษา : แบบทดสอบที่ใช้วัดมาตรฐานการศึกษาของไทยมีข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเรื่องคุณภาพของแบบทดสอบในหลายประเด็น เช่น ไม่ส่งเสริมให้เกิดการคิดวิเคราะห์ ข้อสอบวัดความถนัดเฉพาะที่ใช้สำหรับการเข้ามหาวิทยาลัยมีปัญหาในเรื่องความยาก การไม่ยึดโยงกับหลักสูตร และมาตรฐานที่ไม่เท่ากันในข้อสอบแต่ละปี ผลักให้นักเรียนต้องหาความรู้เพิ่มเติมจากโรงเรียนกวดวิชา



    9. โครงสร้างหลักสูตรและการจัดสรรเวลาเรียน : หลักสูตรของไทยให้เด็กเรียนเยอะ เน้นการประเมินผลจากส่วนกลาง แต่ขาดการสอนทักษะใหม่ๆ เช่น ความรู้ทางการเงิน ทักษะความรู้ด้านดิจิทัล การใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเรียนรู้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเน้นการท่องจำ ไม่กระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์

    10. การศึกษาแบบเก่า ผลิตคนไม่ตรงทักษะที่ต้องการ : โครงสร้างการศึกษาไทยยังเผชิญกับปัญหาผลิตคนไม่ตรงกับความต้องการของตลาดในหลายมิติ คนจบปริญญาตรีทำงานที่ใช้ทักษะต่ำกว่าความสามารถมากถึงประมาณ 34% ส่วนแรงงานในกลุ่มสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญ และกฎหมายขาดแคลน ในขณะที่ภาคเกษตรและค้าปลีกมีมากเกินไป

ไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป

    โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปในอนาคตจะทำให้แรงงานได้รับแรงกดดันมากขึ้น เร่งความจำเป็นในการพัฒนาการศึกษา แม้ไทยจะมีเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็น Thailand 4.0 แต่กลับมีจำนวนการศึกษาในกลุ่ม วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) หรือ STEM ต่ำ

    หากธุรกิจและแรงงานไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพการผลิตให้สูงขึ้นเทียบเท่ากับค่าแรงได้ผลกระทบจะเกิดขึ้นต่อการจ้างงานโดยเฉพาะแรงงานทักษะต่ำที่ถูกทดแทนได้ง่ายด้วยสินค้าทุน หรือแรงงานจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์อาจมีการจ้างงานที่ลดน้อยลงได้

    KKP Research ประเมินแนวโน้มสำคัญอย่างน้อย 5 ข้อที่จะกระทบกับแนวโน้มการเติบโตของค่าจ้างแรงงาน คือ

    1. แรงงานไทยจะมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน (Skill Imbalances) การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น สะท้อนจากการเติบโตของหุ้นในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และ AI ในสหรัฐอเมริกาในช่วงที่ผ่านมา แต่ไทยยังขาดบุคลากรในกลุ่มวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมทั้งความสามารถในภาคบริการมูลค่าเพิ่มสูง (High value added service) ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตขึ้นในระยะหลังโดยเฉพาะในกลุ่มที่สามารถให้บริการทางไกลกันได้ (Tradable service) เช่น บริการด้านกฎหมาย

    2. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทดแทนแรงงานกลุ่มเดิม (Automation) การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสร้างความเสี่ยงต่องานแบบเก่าโดยเฉพาะงานในกลุ่มที่เป็นงานที่ทำซ้ำๆในลักษณะเดิม (Routine tasks) จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลให้การจ้างงานโดยรวมลดลงเพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอาจนำไปสู่การจ้างงานในรูปแบบใหม่ ๆ ได้เช่นกันแต่ต้องใช้ทักษะการทำงานที่ต่างไปจากเดิม



    3. ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงอายุเร็วที่สุดในอาเซียน (Aging population) ซึ่งมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานใน 3 มิติ ได้แก่ ความต้องการบริการสำหรับคนสูงอายุเพิ่มขึ้น การขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาวท่มีประสบการณ์ และความจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานจากต่างประเทศมากขึ้นมาชดเชยแรงงานในประเทศ

    4. Deglobalization กับเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคต่างประเทศ ประเทศไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการส่งออกและนำเข้า และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์โควิด-19 และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศได้สร้างการเปลี่ยนแปลงระยะยาว โดยเฉพาะแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศหรือไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงด้านการเมืองระหว่างประเทศที่ต่ำ

    5. ประเทศคู่แข่งพัฒนาศักยภาพและความสามารถของแรงงานไปไกลกว่าไทย อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและแรงงานของประเทศรอบข้างที่ทำให้ไทยแข่งขันยากขึ้น ปัจจุบันการลงทุนทางตรงจากประเทศ (FDI) มีแนวโน้มไปอยู่ที่เวียดนามและอินโดนีเซียมากขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น ตลาดที่ยังขยายตัวได้ดีตามการขยายตัวของประชากรสวนทางกับไทยที่หดตัว หรือการพัฒนาความสามารถในการจัดการของภาครัฐ ลดการคอร์รัปชั่น และเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน


    KKP Research ประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สะท้อนความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิรูปภาคการศึกษาของไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการเตรียมพร้อมแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป และจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่เป็นตัวกำหนดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว การศึกษาจึงเป็นหนึ่งในทางออกที่สำคัญมากที่สุดในการสร้างความสามารถในการแข่งขันกับโลกได้ในอนาคต


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เส้นทาง JOYOUS ขายกิ๊บ หวี ในเซเว่นฯ รายได้ 300 ล้าน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine