ประเทศไทยรับบทบาท “เมืองหลวงแห่งอาหาร” ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดึงดูดนักท่องเที่ยวสายกินจากทั่วภูมิภาคและทั่วโลก โดยจากการจัดอันดับยอดค้นหาบนแพลตฟอร์ม Traveloka พบว่า กว่า 80 อันดับจาก 100 อันดับแรกของประสบการณ์ด้านอาหารและเครื่องดื่มที่มีการค้นหาสูงสุดในภูมิภาคอยู่ในไทย
กรุงเทพฯ ครองตำแหน่งผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยกว่า 60% ของประสบการณ์อาหารและเครื่องดื่มที่ติดอันดับ Top 100 บน Traveloka อยู่ในกรุงเทพฯ หมวดหมู่ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด ได้แก่
1. การรับประทานอาหารสุดหรู ผสานศิลปะ และความหลากหลาย
นักท่องเที่ยวยุคใหม่มองหาประสบการณ์การรับประทานอาหารที่แตกต่าง โดยเฉพาะหมวดหมู่บุฟเฟต์ระดับพรีเมียม โอมากาเสะ และ ชายามบ่าย ซึ่งสถานที่ที่ได้รับความนิยมสูง ได้แก่ Miracle Lounge สนามบินดอนเมือง, W Omakase, YOU&I Premium Shabu Buffet สาขาเซ็นทรัลเวิลด์, Wisdom International Buffet และ Copper Aquarium เป็นต้น
2. ดินเนอร์บนเรือสำราญ
การล่องเรือสำราญบนแม่น้ำเจ้าพระยากลางกรุงเทพฯ พร้อมมื้อค่ำสุดโรแมนติกในยามค่ำคืน ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ชอบความหรูหรา การเสิร์ฟอาหารชั้นเยี่ยมพร้อมวิวเมืองและดนตรีสด อย่าง Meridian Dinner Cruise, Royal Princess Cruise, Chaophraya Cruise, White Orchid Cruise และ Chao Phraya Princess Dinner Cruise
3. ร้านอาหารและบาร์บนรูฟท็อป
วิวเส้นขอบฟ้าของกรุงเทพฯ เติมเต็มบรรยากาศให้กับมื้อค่ำสุดพิเศษจากร้านอาหารและบาร์บนรูฟท็อป เสริ์ฟค็อกเทลสูตรเฉพาะ เมนูอาหารรังสรรค์พิเศษ โดยร้านยอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ได้แก่ Sky on 20, Vertigo Rooftop โรงแรมบันยันทรี, Sirocco โรงแรม Lebua, Red Sky Rooftop, Axis & Spin และอีกมากมาย
นอกจากกรุงเทพฯ แล้ว ข้อมูลจาก Traveloka พบว่า พัทยา เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต และหัวหิน ก็ยังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องในแง่ของการท่องเที่ยวเชิงอาหาร สะท้อนถึงความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวสายกินในประเทศไทย
ประเทศอื่นๆ ที่ติดอันดับ Top 100
• เวียดนาม มาเป็นอันดับ 2 โดยเว้และนิงห์บิงได้รับความนิยมด้านอาหารท้องถิ่นและบุฟเฟต์พื้นบ้าน
• ญี่ปุ่น และมาเก๊า ครองอันดับ 3 โดยญี่ปุ่นโดดเด่นเรื่องยากินิกุ และบาร์บีคิวระดับไฮเอนด์ในโตเกียว ขณะที่มาเก๊าโดดเด่นเรื่องอาหารลูกผสมระหว่างวัฒนธรรมโปรตุเกสและจีน
• อินโดนีเซีย ลาว และฮ่องกง ก็ติดอันดับด้วยเช่นกัน ได้รับความสนใจจากอาหารเฉพาะถิ่น ชี้แนวโน้มการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
เบื้องหลังความมุ่งมั่นผลักดันยุทธศาสตร์ด้านอาหารของไทย
ประเทศไทยยังคงครองตำแหน่งหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวสายกินอย่างต่อเนื่อง โดยผู้คนจำนวนมากตั้งใจเดินทางมาเพื่อสัมผัสรสชาติและวัฒนธรรมอาหารโดยเฉพาะ ไม่ใช่เพียงแค่ส่วนหนึ่งของการเดินทาง แนวโน้มนี้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ของภาครัฐที่มุ่งผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารระดับโลก โดยตั้งเป้ารายได้จากการค้าขายอาหารจะเกิน 7 แสนล้านบาท (ประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในปี 2568
ขณะเดียวกัน ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมอาหารจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 5% จากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
ฝั่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เดินหน้าอย่างจริงจังในการโปรโมทการท่องเที่ยวเชิงอาหาร โดยจัดแคมเปญ “เมืองน่าเที่ยว Year of Celebration” ในช่วงฤดูฝน (Green Season ระหว่างเดือน มิถุนายน - กันยายน 2568) ส่งเสริม 55 เมืองรองผ่านธีมต่างๆ เช่น “Gastro Nomad #ตามหารส” สำหรับนักท่องเที่ยวที่หลงใหลในการกิน โดยมีเป้าหมายเข้าถึงนักท่องเที่ยวมากกว่า 10 ล้านคน และสร้างรายได้หมุนเวียนในประเทศไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
ในฐานะแพลตฟอร์มท่องเที่ยวแบบครบวงจรชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Traveloka มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารของประเทศไทย ด้วยการจับมือกับหน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางที่น่าจดจำ พร้อมดีลสุดพิเศษและกิจกรรมที่คัดสรรเฉพาะมาอย่างดี
สำหรับ Traveloka การท่องเที่ยวเชิงอาหารไม่ได้หยุดนิยามแค่ “เรื่องการกิน” แต่คือประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม ชุมชน และความทรงจำอันมีคุณค่า ซึ่งอาหารไทยตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวยุคใหม่อย่างลงตัว ด้วยรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ ความคุ้มค่า และความหลากหลายที่พร้อมมอบประสบการณ์ที่แท้จริงและยากจะลืมเลือน
ภาพ: Jana Ohajdova from Pexels
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เที่ยวคุ้มแบบประหยัดต้อง ‘หาดใหญ่’ ผงาด 1 ใน 3 จุดหมายราคาถูกสุดในเอเชีย ราคาห้องพักเฉลี่ยเพียง 1,308 บาทต่อคืน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine