เปิดแผนบูม อีอีซี ดึงลงทุน 2 ล้านล้าน - Forbes Thailand

เปิดแผนบูม อีอีซี ดึงลงทุน 2 ล้านล้าน

ภาครัฐ-เอกชน ผนึกกำลังขับเคลื่อนพื้นที่เศรษฐกิจอีอีซี หวังดึงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท เผยความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง สนามบิน เหนือคู่แข่งประเทศเพื่อนบ้าน เผยอุตสาหกรรมยานยนต์เล็งลงทุนอีวีคึกคัก ระดมจัดอีเวนต์ Re-design ประเทศไทยดึงนักลงทุนต่างชาติ

ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วทางการเมือง และแนวโน้มราคาพลังงานพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นตัวเร่งให้เกิดการย้ายฐานการผลิต ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนไทยมองว่าวิกฤตเป็นโอกาสในการดึงลงทุนจากต่างชาติผ่านโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป้าหมายของรัฐบาลสำหรับโครงการอีอีซี เฟส 2 คาดว่าจะมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท คณิศ แสงสุพรรณ ที่ปรึกษาพิเศษ ด้านการพัฒนาการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี กล่าวถึงความคืบหน้าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคม ขนส่งในอีอีซี ซึ่งมี 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้รัฐสามารถส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนได้ภายในปี 2565 และเอกชนจะเริ่มลงทุนก่อสร้างในต้นปี 2566 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 ส่วนท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 คืบหน้าแล้วประมาณ 15% ขณะที่สนามบินอู่ตะเภา ล่าสุดได้ทำข้อตกลงการใช้พื้นที่ร่วมกับกองทัพเรือในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะสามารถเปิดให้บริการเที่ยวบินเอกชนได้ ทั้งนี้ โครงการลงทุนในอีอีซี ได้ผ่านระยะที่ 1 โดยมีเงินลงทุน 1.7 ล้านล้านบาท นอกจากระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ยังมีการวางโครงสร้างพื้นฐานระบบ 5 จี โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) การพัฒนาบุคคลากร โดยในระยะที่ 2 อีอีซีต้องบูรณาการความร่วมมือกับเอกชนเพื่อดึงการลงทุนให้ได้ตามเป้าหมาย 2 ล้านล้านบาท โดยจะจับมือกับภาครัฐและเอกชนจัดงาน EEC FAIR 2024 เพื่อสร้างการรับรู้ต่อสายตานักลงทุนต่างชาติ

ค่ายรถยนต์เตรียมลงทุนอีวีคึกคัก

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Re-design Thailand's sustainable future together: อีอีซี โอกาส การเติบโต และศักยภาพของประเทศไทย” ว่า ภาครัฐและเอกชน นำโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติ (องค์การมหาชน) เตรียมจัดงานอีอีซี แฟร์ ในปี 2024 เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน การแบ่งขั้วทางการเมืองของโลก และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้มีการย้ายฐานผลิตของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก “ท่ามกลางวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก การแบ่งขั้วทางการเมือง และ สงครามที่เกิดขึ้น กระทบต่อราคาพลังงานโลก เป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการย้ายฐานผลิต ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพไม่แพ้เพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเป้าหมายของรัฐบาลในการดึงการลงทุน ภายใต้ยุทธศาสตร์ Better and Green Thailand 2030 และการจัดงานอีอีซี แฟร์จะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ร้อยละ 10 ภายใน 3 - 5 ปีข้างหน้า” ม.ล.ชโยทิต กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้วางยุทธศาสตร์ Better and Green Thailand 2030 โดยมีเป้าหมายเพิ่มจีดีพีประเทศไทยอีก 1.7 ล้านล้านบาท ดึงการลงทุนจากต่างประเทศ 2 ล้านล้านบาท สร้างงาน 625,000 คน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ร้อยละ 13 โดยให้ความสำคัญกับการ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมที่สร้างการเติบโตใหม่ให้กับประเทศ (เอสเคิร์ฟ) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สมาร์ทอิเลกทรอนิกส์ ท่องเที่ยว ดิจิทัล “อุตสาหกรรมยานยนต์ ไทยถือเป็นฐานผลิตสำคัญอันดับ 10 ของโลก รวมทั้งยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ด้วย เพราะรัฐบาลได้สร้างดีมานด์ในตลาด สนับสนุนให้คนไทยหันมาใช้รถอีวี ทำให้ล่าสุดมียอดจองถึง 18,000 คัน ขณะที่หลายคนกังวลว่าอินโดนีเซียจะเป็นฐานผลิตอีวี ปัจจุบันมีดีมานด์แค่ 300 คน ด้วยดีมานด์ดังกล่าว ทำให้ค่ายรถยนต์ให้คำมั่นว่าจะใช้ไทยเป็นฐานผลิตอีวีในอาเซียน ทั้งมิตซูบิชิ ฮอนด้า ฟอกซ์คอน บีวายดี บีเอ็ม และเบนซ์ เป็นต้น” นอกจากนี้ ไทยมีแผนขยายความร่วมมือด้านยานยนต์ไฟฟ้า กับซาอุดิอาระเบีย โดยเฉพาะการเป็นฮับพลังงานสะอาด เพื่อรองรับไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในภูมิภาค โดยมีแผนความร่วมมือระหว่างไทยกับซาอุฯในการเป็นทวินฮับ แหล่งสำรองน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งญี่ปุ่นจะมีความร่วมมือกับไทยในการเป็นศูนย์กลางผลิตไฮโดรเจนในภูมิภาค รวมถึงมีผู้สนใจลงทุนดาต้า เซ็นเตอร์ และคลาวด์ เซอร์วิสในประเทศไทย ซึ่งจะสนับสนุนให้ไทยก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้

ระดมเมกะอีเวนต์บูมอีอีซีแฟร์

จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า รัฐบาลมอบหมายให้ทีเส็บเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมและนิทรรศการมหกรรมระดับนานาชาติในประเทศไทยเพื่อดึงการจัดงานระดับเมกะ อีเวนต์เข้ามาในพื้นที่อีอีซี โดยใช้กลไกของไมซ์ (MICE) เพื่อเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ทั้งภาคการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในพื้นที่อีอีซี ก่อนจะนำไปสู่การจัดงานใหญ่อีอีซี แฟร์ในอีก 2 ปีข้างหน้า ในปี 2566 ทีเส็บ วางโรดแมปการจัดงานอีเวนต์และแสดงสินค้าในพื้นที่อีอีซีไม่ต่ำกว่า 25 งาน ระหว่างปี 2566-2570 ก่อนเข้าสู่การจัดงานอินเตอร์เนชันแนลแอร์โชว์ในปี 2570 ซึ่งเป็นงานใหญ่ในพื้นที่อีอีซี และมีการใช้เงินลงทุนมากถึง 2,599 ล้านบาท โดยจะช่วยสร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ 4,777 ล้านบาท และมีการจ้างงาน 18,760 ล้านบาท “ขณะที่งานอีอีซีแฟร์ จะเป็นหนึ่งในอีเวนต์สำคัญที่เราจะสร้างขึ้นเอง เหมือนบีโอไอแฟร์ ที่เคยจัดเมื่อปี 1995 ความร่วมมือกับภาคเอกชนในครั้งนี้ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จร่วมกันของภาครัฐและเอกชน และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยโตได้ใน 2 – 5 ปีข้างหน้า” จิรุตถ์กล่าว ขณะที่ สุวรรณา โดตี้ ประธานเขตพื้นที่ภาคตะวันออก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่อีอีซี มีศักยภาพสูงในการรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง ก่อนโควิดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีประมาณ 12 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 400,000 ล้านบาท โดยอีอีซี เหมาะจะเป็นต้นแบบการรีดีไซน์ใหม่ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ให้เข้าสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูง ทั้งการแพทย์ กีฬา อาหาร และการท่องเที่ยวในเชิงรับผิดชอบ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เปลี่ยนไปหลังโควิด อ่านเพิ่มเติม: ถอดกลยุทธ์ค้าปลีก เฟรเซอร์สฯ 3 ปี หนุนโต “สามย่าน มิตรทาวน์”

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine