นพพร วาทิน ต่อยอดธุรกิจ “Thai Fight” ดังไกลทั่วโลก - Forbes Thailand

นพพร วาทิน ต่อยอดธุรกิจ “Thai Fight” ดังไกลทั่วโลก

นพพร วาทิน ชื่อนี้อยู่ในวงการบันเทิงมากว่า 30 ปี แต่มีคนไม่มากนักที่รู้จักเขาอย่างจริงจัง แม้จะสร้างหนังทำละคร ทำงานกับเจ้าพ่อวงการบันเทิงอย่าง “ประวิทย์ มาลีนนท์” แห่งทีวีสีช่อง 3 ทำธุรกิจเคียงบ่าเคียงไหล่มากว่า 20 ปี แต่ชื่อของนพพรเป็นที่รู้จักเฉพาะในแวดวงบันเทิงเป็นหลัก


    คนส่วนใหญ่เพิ่งคุ้นเคยกับชื่อเสียงของ นพพร วาทิน ในช่วง 10 กว่าปีหลังนี้เมื่อเขาลุกขึ้นมาทำแบรนด์ “Thai Fight” ส่งออกวัฒนธรรมการต่อสู้ “มวยไทย” ให้ดังไกลไปทั่วโลก ไม่แพ้รายการกีฬาดังอย่างลีกฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ และอเมริกันฟุตบอลของสหรัฐอเมริกา

    “ผมทำละครทำหนังมากี่ร้อยเรื่องไม่มีใครจดจำ ผมทำเรื่องเด็กเสเพลเรตติ้งสูงมาก ให้คุณโน้ต เชิญยิ้มทำหนังหลวงพี่เท่งทำเงินไปไม่น้อย ร่วมทีมนำองค์บากไปบุกเบิกถึงเมือง Cannes คนก็ยังไม่รู้จัก”

    นพพรเริ่มต้นเล่าที่มาของชีวิตการทำงานในวงการบันเทิงที่ผ่านมาหมดทุกอย่างแล้ว ทั้งทำละคร เป็นผู้จัด ผู้สร้าง ผู้กำกับ ทำละครได้เรตติ้งสูงแค่ไหนก็ไม่มีใครจดจำ แต่พอมาทำ Thai Fight ครั้งเดียวดังเปรี้ยงคนรู้จักทันที เป็นเพราะรายการมวยของเขาไม่ได้เป็นแค่การแข่งขันชกมวยแต่มันคือ branding มวยไทยเป็นมรดกของชาติ สร้างการยอมรับได้ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ

    เขาจัด Thai Fight มาแล้ว 13 ปี ที่ผ่านมาจะจัดปีละ 8 ไฟท์เท่านั้น แต่กระแสตอบรับเรียกว่าดีตั้งแต่ไฟท์แรกที่จัด และที่ผ่านมาได้จัด Thai Fight เวทีใหญ่ๆ มากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น จัดที่ลานพระบรมรูปทรงม้า คนดูเต็มแน่นลานมากกว่า 30,000 คน “ผมจัด Thai Fight ที่ลานพระบรมรูปฯ 2 ครั้ง ไม่เคยมีใครได้จัดแบบนี้” เขาเล่าอย่างออกรสด้วยน้ำเสียงและแววตาที่ยังคงตื่นเต้นสนุกสนาน


เสน่ห์งานบันเทิงเพิ่มสีสัน

    การพูดคุยในวันนั้นเป็นการเล่าเรื่องมากกว่าบทสัมภาษณ์ ในขณะที่นพพรบอกเล่าประสบการณ์และความประทับใจกับกิจการ Thai Fight คนฟังก็พลอยสนุกตื่นเต้นไปกับเขาด้วย 

    และจากประสบการณ์ที่เป็นผู้กำกับและผู้สร้างทั้งละครและภาพยนตร์ที่โด่งดังมาหลายเรื่อง จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเวที Thai Fight ที่ผ่านมาจึงเต็มไปด้วยสีสัน แสงเงาสวยงาม พร้อมเสียงพากย์ที่ตื่นเต้นเร้าใจ และบรรยากาศเวทีเต็มไปด้วยชีวิตชีวา เพราะพื้นความรู้ด้านบันเทิงมีส่วนสำคัญในการทำให้เวที Thai Fight แตกต่างจากการแข่งขันมวยทั่วไปอย่างสิ้นเชิง

    นพพรบอกว่า Thai Fight เป็นที่ฮือฮาของวงการมวยและทีวี เพราะครั้งแรกที่ถ่ายทอดเรตติ้งพุ่งไปถึง 23 หลายคนอาจนึกภาพไม่ออก เขาจึงเปรียบเทียบกับเรตติ้งละครดังเมื่อไม่นานมานี้ บุพเพสันนิวาส เรตติ้งดีมากคือ 17 แต่ของ Thai Fight สูงกว่านั้นมาก 

    ไม่แปลกเลยที่หลายคนอยากให้เขาไปจัดเวทีมวยในพื้นที่ต่างๆ ด้วยวัตถุประสงค์ต่างกันไป ทั้งสร้างความสนุกสนาน สร้างความเชื่อมั่น และสร้างความฮึกเหิม ซึ่งกีฬามวยสามารถกระตุ้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ดี

    “ก่อนหน้านี้ต้องบอกว่า มีระเบิดที่ไหนจะต้องมี Thai Fight ตามไปจัดเวทีที่นั่น เพราะรัฐต้องการสร้างความเชื่อมั่นในพื้นที่ให้กลับมา” นพพรบอกเล่าเป็นเรื่องราวร้อยเรียงต่อกันเหมือนทุกอย่างอยู่ในสมอง 

    เขายกตัวอย่างพื้นที่เสี่ยงภัยที่ Thai Fight ไปจัด เช่น เมื่อครั้งเกิดเหตุระเบิดอุยกูร์หรืออย่างที่จังหวัดยะลา และอีกหลายพื้นที่สามารถรวมคนดูหลักหลายหมื่นคนได้โดยสงบ ซึ่งเขาบอกว่า เกมกีฬามวยมีข้อดีคือ คนดูไม่ตีกัน เพราะเชียร์นักกีฬาคนเดียวกัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นเกมกีฬาที่คนดูสมัครสมานกันดี

    ทั้งหมดที่กล่าวมาคือข้อดีและความแข็งแรงของกีฬา “มวยไทย” ซึ่งนพพรบอกว่า เขาจัด Thai Fight ขึ้นเป็นที่ฮือฮามาก แบรนด์ Thai Fight แข็งแรงมาก เขาเล่าว่า ชื่อนี้ใช้เวลาคิดอยู่ 8 เดือนกว่าจะได้มาเป็นชื่อที่ลงตัว สื่อสารเข้าใจง่าย มีพลังและชัดเจน แน่นอนช่วงเริ่มแรกเขามีหุ้นส่วนซึ่งไม่ใช่คนไกลตัวนั่นคือ ประวิทย์ มาลีนนท์ เจ้าพ่อทีวีช่อง 3 นั่นเองที่ร่วมกันสร้างแบรนด์ Thai Fight

    เหตุผลที่เขาและหุ้นส่วนลุกขึ้นมาจัด Thai Fight ก็เนื่องมาจากธุรกิจกีฬาข้ามชาติที่ไทยต้องซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดทุกปีๆ ละหลายพันล้านบาท “แต่ก่อนกีฬาดังเราซื้อลิขสิทธิ์อย่างเดียว บอลโลก บอลยูโร พรีเมียร์ลีกแพงมาก ราคาปั่นไปเป็นหมื่นล้าน ของเรามีมวยไทยของดีทำไมไม่ทำเอง” นี่คือที่มาของการจัด Thai Fight ซึ่งนพพรบอกว่า เขาคิดไม่ผิดเพราะรายการติดตลาดตั้งแต่ไฟท์แรก

    “มวยไทยเป็น soft power เผยแพร่วัฒนธรรมไทยที่เราทำมา 13 ปีแล้ว ผมถือว่าตัวเองโชคดีได้รับความเมตตาจากในหลวง ร.9 ท่านพระราชทานถ้วยในหลวง ร.9 ให้ Thai Fight ถึง 3 ถ้วย” นพพรเล่าด้วยน้ำเสียงชื่นชมในพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งไม่เฉพาะในหลวง ร.9 ทว่าในหลวง ร.10 ก็ทรงเมตตาพระราชทานถ้วยให้ Thai Fight รวมถึงถ้วยพระราชินี และถ้วยกรมสมเด็จพระเทพฯ ทำให้ Thai Fight มีมวยหญิงตามมา”


จากเวทีมวยสู่เชนโรงแรม

    เมื่อแบรนด์ Thai Fight ติดตลาดและเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ นพพรวางสเต็ปต่อไปของการเติบโต ด้วยแบรนด์มวยไทยที่มีชื่อเป็นสากลนี้นำมาเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ให้กับโรงแรมที่เขาตั้งนิยามไว้ว่าเป็นตำนาน (legend) 

    Thai Fight Hotel แห่งแรกจึงถูกพัฒนาขึ้นที่เกาะสมุย เป็นการเข้าไปซื้อโรงแรมเก่า (Mercure Samui) ที่หาดเฉวง มาพัฒนาใหม่ให้เป็นคอนเซ็ปต์โรงแรมมวยไทย ที่ทุกการตกแต่งและบริการเน้นสัญลักษณ์ “มวยไทย” เป็นหลัก ซึ่งในที่นี้คือ Thai Fight แบรนด์ซึ่งติดตลาดแล้ว คนรู้จักแพร่หลาย

    Thai Fight Hotel Samui เป็นโรงแรมแห่งแรกของเขาที่ลงทุนร่วมกับ กฤษน์ ศรีชวาลา ในการซื้อโรงแรมเก่ามาปรับปรุงใหม่ ใส่หน้าตารูปลักษณ์และสีสันความเป็น Thai Fight เข้าไปแทบทุกอณูของพื้นที่ เริ่มตั้งแต่ล็อบบี้ที่ตกแต่งสวยงามด้วยงานประติมากรรมไทย และมีภาพนักมวยดังของเวที Thai Fight เป็นเสมือนห้องสมุดนักมวยให้แขกผู้มาเยือนเลือกชมนักมวยที่ชื่นชอบ และสามารถขอเรียนกับครูมวยและนักมวยดังๆ เหล่านั้นได้

    ภายในโรงแรมยังมีห้องยิมเนเซียมเป็นสนามมวยขนาดย่อมให้แขกมาใช้บริการ และภายในห้องพักที่มีกว่า 70 ห้อง การตกแต่งภายในจะมีลูกเล่นอุปกรณ์กีฬามวยต่างๆ ให้สัมผัส เช่น ป้ายบอกเลขห้องเป็นกระสอบทรายเล็กๆ เขียนหมายเลขห้องกำกับไว้ ภายในห้องพักทุกห้องจะมีกระสอบทรายของจริงพร้อมนวมจริงให้แขกใช้สวมซ้อมจริง หรือเพียงถ่ายรูปเล่นเพลินๆ

    “ขวดน้ำดื่มนี่เราสั่งทำพิเศษ ขวดน้ำฝาจุกเป็นรูปนวมชกมวย หาที่ไหนไม่ได้ เราสั่งทำขายขวดละ 20 บาท เวลาไปแข่งต่างประเทศขายดีไม่แพ้เสื้อ” นพพรเล่าถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาทำสามารถแปลงมาเป็นรายได้มหาศาล น้ำดื่มขวด 600 มล. ขายได้ 200,000-300,000 ขวด มากเท่าที่ทีมงานจะขนไปได้ 

    และเสื้อ Thai Fight ซึ่งจะทำเป็นแต่ละไฟท์ไม่เหมือนกันก็ขายดีคราวละ 30,000-40,000 ตัว แค่รายได้จากการขายเสื้อก็แตะหลัก 1 ร้อยล้านบาท ยังไม่รวมสปอนเซอร์การแข่งขันที่เป็นรายได้หลักซึ่งส่วนใหญ่ผูกสัญญาระยะยาว

    “Isuzu เป็น main sponsor ให้ Thai Fight สัญญา 10 ปี” ทุกอย่างที่นพพรบอก เล่ามันคือรายได้ที่ผูกพันต่อเนื่อง ตอกย้ำคำกล่าวของเขาที่ว่า แบรนด์ Thai Fight ติดตลาดแล้วไม่เฉพาะในไทย แต่ติดตลาดระดับสากลด้วย

    อีกสิ่งที่ตอกย้ำคำกล่าวของนพพรได้ดีนั่นคือ หลังจากที่เขาเปิดบริการโรงแรม Thai Fight Hotel แห่งแรกที่สมุย หลายคนมีโอกาสได้มาสัมผัส เกิดความสนใจอยากให้เขาไปทำโรงแรมคอนเซ็ปต์มวยไทยแบบนี้ให้หลายประเทศ

    “ที่จีนมีแน่นอนแล้วที่ Shandong เพิ่งเซ็นสัญญาไป จะเดินหน้าทันทีเมื่อจีนเปิดประเทศในปี 2566 นี้” นั่นคือการก้าวออกสู่ต่างประเทศครั้งแรกในฐานะเชนโรงแรม Thai Fight โรงแรมคอนเซ็ปต์มวยไทยแห่งแรกของประเทศ และอาจเป็นแห่งแรกของโลกด้วยคอนเซ็ปต์นี้

    “ล่าสุดมีโรงแรมที่อังกฤษ 4 แห่งติดต่อเราเข้ามาให้ไปเปิดโรงแรม Thai Fight ที่นั่น” นพพรเล่าอย่างตื่นเต้นเขาไม่คาดคิดว่าการตอบรับจะดีและเร็วขนาดนี้ ก่อนจะบอกว่า ล่าสุดเขาและหุ้นส่วนกำลังจัดทำรายละเอียดเรื่องเชนโรงแรมให้เป็นรูปธรรม “เรากำลังทำคัมภีร์ Thai Fight กันอยู่ว่าจะกำหนดอะไรบ้าง ใจผมต้องการใส่ทุกอย่างที่เป็นไทย Thai Fight, Thai Food Thai Culture ไปในคราวเดียวกัน”

    เรื่องราวของ Thai Fight และเส้นทางเติบโตในอนาคตของนพพรเขามองไกลกว่าแค่รายการมวยหรือโรงแรม เขาตั้งเป้าว่า จะนำกิจการ Thai Fight เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก่อน จากนั้นจะไปที่ฮั่งเส็ง ฮ่องกง เนื่องจากมีผู้เสนอมาแล้ว

    เขามุ่งมั่นจะสร้างชื่อมวยไทยให้ดังไกลไปทั่วโลก ขยายธุรกิจต่อเนื่อง merchandise ต่างๆ รวมถึงอาหาร เครื่องดื่มของไทยในโอกาสต่อไป “ผมคิดว่าอีก 5 ปีเราจะเห็นภาพชัดขึ้น” เขาสรุปเพียงสั้นๆ กับความฝันที่ต้องบอกว่าไม่ไกลเกินจริง


ภาพ: API, Thai Fight


อ่านเพิ่มเติม:

>> Andrianto Jayapurna “เฮงเค็ล” ซื้อธุรกิจต่อยอดความยั่งยืน


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine