ชินดนัย ไชยยอง “AMARC” ติดปีกธุรกิจมาตรฐานโลก - Forbes Thailand

ชินดนัย ไชยยอง “AMARC” ติดปีกธุรกิจมาตรฐานโลก

​ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซียเดินหน้าภารกิจตรวจวิเคราะห์และรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์มาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคไทยและต่างประเทศพร้อมใบเบิกทางสร้างชื่อสินค้าเกษตรและอาหารของไทยข้ามพรมแดน


    เบื้องหลังความสำเร็จของสินค้าส่งออกที่สามารถสร้างการยอมรับในผลิตภัณฑ์และระบบการจัดการมาตรฐานสากลบนเวทีโลก ด้วยความทุ่มเทของบรรดานักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจำนวนนับร้อยคนในศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยภาคเอกชนของไทย ซึ่งให้บริการทางวิทยาศาสตร์ด้านเกษตร อาหาร ยา ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจรเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า 18 ปี ภายใต้การนำของ ดร.ชินดนัย ไชยยอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMARC

    “เราเริ่มต้นจากการเป็นแล็บทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลลาดพร้าวจนถึงช่วงที่ผมบริหารโรงเรียนสองภาษา ซึ่งอยู่ในเครือโรงพยาบาลลาดพร้าว และเด็กนักเรียนเกิดอาการอาหารเป็นพิษทั้งโรงเรียน ทำให้เราเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างห้องแล็บเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยในอาหารและสินค้าเกษตรของไทย โดยมุ่งมั่นต้องการทำให้อาหารปลอดภัยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ”

    ชินดนัยกล่าวถึงการปรับเปลี่ยนธุรกิจจากการให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ของบริษัทในช่วงเริ่มต้นปี 2547 ที่มีสัดส่วนรายได้กว่า 90% เป็นการให้บริการตรวจวิเคราะห์ ทดสอบ และวิจัยด้านอาหาร ผลิตผลการเกษตร และยา มากขึ้นในปี 2551 โดยสามารถสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมีสัดส่วนรายได้จากการให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางการเกษตรเป็นสัดส่วนกว่า 90% ในปี 2554 และไม่ได้พึ่งพิงการให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์เพียงอย่างเดียวเช่นในอดีต



    ขณะเดียวกันบริษัทยังได้รับการขึ้นทะเบียนการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการสำหรับธุรกิจบริการตรวจวิเคราะห์และธุรกิจบริการสอบเทียบเครื่องมือและอุปกรณ์ตามมาตรฐานสากลระบบ ISO/IEC 17025:2017 รวมถึงธุรกิจการตรวจสอบและรับรองระบบคุณภาพ 

    ซึ่งบริษัทได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองความสามารถในฐานะหน่วยตรวจตามมาตรฐาน ISO/IEC 17020:2012 ในฐานะหน่วยรับรองผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17065:2012 และในฐานะหน่วยรับรองระบบการจัดการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17021-1:2015 ทั้งยังได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐานและความสามารถการตรวจวิเคราะห์และการตรวจสอบและรับรองตามขอบข่ายที่กำหนดโดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

    “ผมเข้ามาที่ AMARC ตั้งแต่ปี 2551 โดยจุดเปลี่ยนของบริษัทเกิดขึ้นหลังจากเราได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐานสากล ISO 17025 ซึ่งถือเป็นใบเบิกทางในการสร้างการเติบโตและความน่าเชื่อถือของบริษัท เนื่องจากเป็นมาตรฐานสากลที่สำคัญสำหรับสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ”

    สำหรับในปัจจุบันการประกอบธุรกิจของบริษัทแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วยธุรกิจบริการตรวจวิเคราะห์ (testing) ตามประเภทของผลิตภัณฑ์ 3 ประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร (agriculture and food) ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อม (agricultural factor and environment) รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยา สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง (pharmaceutical)

    ด้านผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารเป็นการให้บริการตรวจวิเคราะห์เพื่อการขอขึ้นทะเบียนกับ อย. การรับรองความปลอดภัยเพื่อการบริโภคในประเทศ การรับรองกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อการส่งออก และบริการทดสอบเพื่อการควบคุมคุณภาพ

    ส่วนการให้บริการตรวจวิเคราะห์ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ น้ำ ดิน ปุ๋ย และวัตถุอันตรายทางการเกษตร เช่น ยาปราบศัตรูพืช เพื่อการขอขึ้นทะเบียนการผลิต หรือเพื่อการควบคุมคุณภาพ


    นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการตรวจวิเคราะห์ยา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร สารสกัด อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร งานเพื่อการตรวจวิเคราะห์ส่วนประกอบและคุณภาพ และให้บริการงานวิจัยและพัฒนายา

    ขณะที่บริษัทยังประกอบธุรกิจสอบเทียบเครื่องมือและอุปกรณ์ (calibration) สำหรับห้องปฏิบัติการ โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล เพื่อให้การรับรองว่าเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติงานมีความแม่นยำ น่าเชื่อถือ และพร้อมนำไปใช้งานตามมาตรฐานสากลของระบบมาตรวิทยาได้ โดยแบ่งเป็นการสอบเทียบด้านอุณหภูมิ

    สำหรับการสอบเทียบด้านมวล เช่น การสอบเทียบเครื่องชั่งและตุ้มน้ำาหนักเครื่องชั่งอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องชั่งสปริง และการสอบเทียบด้านปริมาณ โดยเฉพาะเครื่องแก้วที่ใช้ในงานทดสอบ

    นอกจากนั้น บริษัทยังให้บริการตรวจสอบและรับรองระบบ (inspection body and certification body) ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดการ กระบวนการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี กระบวนการผลิตที่ได้ผลิตผลปลอดภัย โดยให้บริการสำหรับฟาร์มเกษตร ฟาร์มประมง โรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหาร และสิ่งแวดล้อมตามระบบคุณภาพและมาตรฐานสากล รวมถึงบริการตรวจมาตรฐานเฉพาะด้านสำหรับสถานประกอบการและอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น


    “สัดส่วนรายได้หลักของเรามาจากเกษตรและอาหาร 80% ที่เหลือ 20% จากการตรวจวิเคราะห์รับรองยาและวัตถุอันตรายทางการเกษตร การสอบเทียบเครื่องมือและอุปกรณ์ รวมถึงการตรวจสอบและรับรองระบบ ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะส่วนของยาและเครื่องสำอางจากเทรนด์ความใส่ใจในสุขภาพทำให้ผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบและรับรองระบบให้ครอบคลุม”


- หนุนส่งออกไทยมาตรฐานสากล -

    แนวโน้มการเติบโตของสินค้าส่งออกไทยและนโยบายของภาครัฐทั่วโลกที่ให้ความใส่ใจสุขภาพผู้บริโภคในประเทศและคู่ค้าการส่งออกของไทยที่เพิ่มมาตรการควบคุมความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหารเข้มงวดขึ้น ทำให้ชินดนัยเชื่อมั่นในโอกาสการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อจัดซื้อเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์และเกษตรครบวงจร การชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนการประกอบธุรกิจ รวมถึงการเพิ่มความน่าเชื่อถือในระดับสากลให้เป็นที่รู้จักของผู้ใช้บริการทั้งในและต่างประเทศ

    นอกจากนั้น ชินดนัยยังวางแผนขยายสาขาหรือศูนย์รับตัวอย่างจากเดิมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอยู่ระหว่างดำเนินการที่มหาวิทยาลัยบูรพา รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในพื้นที่ต่างๆ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น พร้อมให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านวิจัยวิชาการกับสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากร และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมถึงการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน



    ขณะเดียวกันชินดนัยยังสนใจการขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา ซึ่งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ถือเป็นโอกาสการเติบโตสำคัญในอนาคตจากการเปิดการค้าเสรีที่การตรวจวิเคราะห์สินค้าทั้งด้านอาหารและผลผลิตทางการเกษตรเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการนำเข้าและส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ

    “คีย์สำคัญทางธุรกิจอยู่ที่เรื่องคน เทคโนโลยี และนโยบายของภาครัฐที่ต้องการยกระดับความปลอดภัยทางด้านเกษตรอาหารและถ่ายโอนภารกิจภาครัฐมายังเอกชน รวมถึงข้อได้เปรียบของเราที่เข้าใจคนไทยและความใส่ใจช่วยเหลือลูกค้า ทำให้เขาส่งตัวอย่างมาให้เราตรวจมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจุดแข็งด้านนี้ยังสามารถใช้กับประเทศเพื่อนบ้านได้ เพราะมาตรฐานสากลเดียวกัน”

    ชินดนัยย้ำถึงการเป็นห้องปฏิบัติการสัญชาติไทยที่มีเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการที่มีความทันสมัย ซึ่งสามารถให้บริการตรวจที่มีคุณภาพในระดับสากล ทั้งยังมีการทำวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการวิเคราะห์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางห้องปฏิบัติการให้ดีขึ้น ภายใต้กลยุทธ์การมุ่งสู่การเป็นศูนย์ห้องปฏิบัติการด้านการตรวจวิเคราะห์ ทดสอบและวิจัยด้านอาหาร ผลิตผลการเกษตรและยาแห่งอาเซียนที่มีระบบรายงานผลการวิเคราะห์อย่างถูกต้อง เที่ยงตรง รวดเร็ว ทันเวลา ด้วยมาตรฐานเช่นเดียวกับห้องปฏิบัติการและศูนย์วิจัยชั้นนำในต่างประเทศ


​ดร.ชินดนัย ไชยยอง

    “ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจเฉพาะทางจริงๆ และผู้ให้บริการส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นบริษัทต่างชาติ ซึ่งตั้งแต่เริ่มเปิดมาถึงปัจจุบันคู่แข่งเรายังเท่าเดิม เพราะเข้ามายาก กว่าจะได้มาตรฐานแต่ละอย่างต้องทำเรื่องขอและให้เขาเข้ามาตรวจว่าทำได้จริงหรือไม่ โดยบางอย่างเรายังขาดเครื่องมือ ซึ่งการระดมทุนซื้อเครื่องมือจะทำให้เราไม่ต้องส่งไปตรวจที่ต่างประเทศแล้ว เราสามารถทำให้ครบจบที่นี่ที่เดียวได้”

    ดังนั้น แม้การแข่งขันในธุรกิจยังมีข้อจำกัดสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่และส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการจากต่างประเทศ แต่บริษัทสามารถสร้างการยอมรับในฐานะหนึ่งในศูนย์ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ วิจัยของภาคเอกชนไทยเพียงไม่กี่รายที่สามารถให้บริการการตรวจวิเคราะห์ได้ตามมาตรฐานระดับสากล


ภาพ: AMARC

อ่านเพิ่มเติม:

>> Kevin Hart กับบทบาทใหม่ในโลกธุรกิจ

>> จับตา "เศรษฐกิจดิจิทัลไทย" ทะลุแสนล้านปี 2573


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine