ธีระ กนกกาญจนรัตน์ Arincare อัพระบบร้านยาดิจิทัล - Forbes Thailand

ธีระ กนกกาญจนรัตน์ Arincare อัพระบบร้านยาดิจิทัล

สตาร์ทอัพสัญชาติไทยยกระดับแพลตฟอร์มร้านขายยาออนไลน์สำหรับเภสัชกรและร้านขายยาชุมชน 3,000 รายทั่วประเทศ พร้อมผนึกกำลังพันธมิตรต่อยอดบริการครบมิติสุขภาพ สู่การเชื่อมต่อระบบนิเวศสาธารณสุขประเทศ ด้วยความมั่นใจในเป้าหมายการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2569


    เทรนด์การดูแลสุขภาพหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ทำให้ตลาดเกี่ยวกับสุขภาพสามารถเติบโตจาก 3.5 หมื่นล้านบาทในปี 2562 หรือเติบโตเฉลี่ย 7% และคาดการณ์เติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 13-17% ในปี 2565 มีมูลค่าราว 4 หมื่นล้านบาท 

    รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลได้กลายเป็นโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจ Health Tech ที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการรองรับความต้องการด้านสุขภาพในอนาคต
“เรามี passion เรื่อง Healthcare ว่า ทำอย่างไรให้คนดูแลสุขภาพได้ดีขึ้น และธุรกิจที่ทำต้องได้ value กับสังคมด้วย 

    ซึ่งเมื่อเราเก็บข้อมูลจากร้านยาแถวบ้านจริงก็พบว่า คนส่วนใหญ่เจ็บป่วยเล็กน้อยก็ไปร้านยาแถวบ้านมากกว่าจะไปโรงพยาบาล และร้านขายยาถือเป็นด่านหน้าของสาธารณสุขเมืองไทยที่ในปัจจุบันมีจำนวนมาก 18,000 ร้าน ดังนั้น ไอเดียของเราจึงเป็นการทำให้คนไข้ในชุมชนดูแลตัวเองได้และไปโรงพยาบาลน้อยลง”

    ธีระ กนกกาญจนรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อรินแคร์ จำกัด กล่าวถึงความมุ่งมั่นตั้งใจทำธุรกิจที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับสังคม ด้วยความรู้และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมตลอดเส้นทางตั้งแต่ยังศึกษาปริญญาตรี ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จาก Simon Fraser University แคนาดา 

    โดยได้ร่วมงานทั้งบริษัทซอฟท์แวร์ขนาดเล็กและองค์กรระดับโลก รวมถึงการร่วมก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพและรับหน้าที่นักพัฒนาระบบเวชระเบียนสาธารณสุขเพื่อการแพทย์ ประเทศแคนาดา

    “คุณพ่อคุณแม่เป็นคนจันทบุรีเปิดร้านขายของต่างจังหวัด ทำให้เราเข้าใจวงจรของธุรกิจที่ความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ และการเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างไม่ใช่เรื่องใหญ่ ซึ่งสมัยเรียนเราสอบตกแทบทุกวิชา เพราะไม่ค่อยสนใจการเรียน แต่จะได้ A+ วิชาคอมพิวเตอร์และภาษาอังกฤษ ทำให้เลือกเรียนด้านโปรแกรมเมอร์ที่ต่างประเทศ 

    ครอบครัวเราก็สนับสนุน ซึ่งระหว่างเรียนก็ทำงานหารายได้พิเศษมาตลอดทั้งร้านอาหาร รับจ้างเขียนเว็บ ทำกราฟฟิก และทำงานที่ Oracle แคนาดา ทำให้รู้จักคนจำนวนมากและได้รับการจองตัวทำงานตั้งแต่ก่อนจบ รวมทั้งทำสตาร์ทอัพเกี่ยวกับโรงพยาบาล”



    อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ทำงานสตาร์ทอัพโรงพยาบาลที่แคนาดาไม่สามารถนำมาใช้ได้ในประเทศไทย ด้วยความแตกต่างด้านระบบสุขภาพและโครงสร้างสาธารณสุขรวมถึงจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้ธีระทำให้ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางธุรกิจ 

    โดยมุ่งเน้นด้าน Telepharmacy ให้บริการแพลตฟอร์มร้านขายยาออนไลน์สำหรับเภสัชกรและร้านขายยา ซึ่งเปรียบเหมือนประตูให้คนไทยเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และเชื่อมโยงระบบนิเวศเกี่ยวกับสาธารณสุขบนแพลตฟอร์ม เพื่อช่วยเติมเต็มช่องว่างบริการทางการแพทย์ของไทยที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

    “ก่อนจดทะเบียนบริษัทในเดือนพฤษภาคม 2559 เราเริ่มคุยไอเดียกับผู้ร่วมก่อตั้งคือ คุณชายพงษ์ นิยมกิจ ปัจจุบันเป็น CFO ของบริษัท และเพื่อนเภสัชกรที่เราเชิญมาเป็นที่ปรึกษาในช่วงแรก ซึ่งการเริ่มต้นในไทยทุกอย่างเรียนรู้ใหม่หมดเหมือนมาจากติดลบ 

    เราสองคนต้องเดินตามร้านยากรุงเทพฯและต่างจังหวัดเสนอ product ให้เขาเห็นข้อดีของการใช้ระบบเรา ซึ่งอาศัยเดินให้เยอะเข้าไว้ ถ้าเดิน 10 ร้านได้ 1 ร้าน เราก็เดิน 100 ร้านจะได้ 10 ร้าน เพราะเราเป็นซอฟท์แวร์ไทย ทำให้หลายร้านไม่เชื่อถือ 

    ดังนั้นเราจึงแก้ด้วยการนำซอฟท์แวร์ประกวดจนได้รางวัลชนะเลิศในไทยและเอเชียแปซิฟิก โดยเราเป็นซอฟท์แวร์ร้านยาเกี่ยวกับเภสัชกรรายเดียวในไทยที่ได้มาตรฐาน ISO ทำให้ลูกค้ามั่นใจซอฟท์แวร์ของเรา”

    สำหรับในปัจจุบันบริษัทมีร้านยาชุมชนจำนวนมากกว่า 3,000 รายทั่วประเทศใช้บริการ Arincare Software and Application ระบบบริหารจัดการออนไลน์ E-Pharmacy สำหรับร้านยาหรือโปรแกรมร้านขายยารูปแบบใหม่ 

    ซึ่งเป็นโปรแกรมช่วยควบคุมบริหารสต็อกสินค้า รายงานทางบัญชี รายงานวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ฐานข้อมูลประวัติคนไข้ รวมถึงโปรแกรมสำหรับขายหน้าร้าน โดยสามารถช่วยเภสัชกรบริการคนป่วยมากกว่า 600,000 ครั้งต่อเดือนและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

เชื่อมมิติ Telepharmacy

    พัฒนาการสำคัญของบริษัทยังเกิดจากความร่วมมือกับบริษัท เอสซีจี เอ็กซ์เพลส จำกัด (SCG Express) และ LINE ประเทศไทย ผนึกกำลังยกระดับซัพพลายเชนและลดช่องว่างการเข้าถึงยา ด้วยการเชื่อมต่อพันธมิตรบริษัทยาและผู้ค้าส่งเวชภัณฑ์ทั่วประเทศผ่านการพัฒนาแอปพลิเคชัน MedCare MINI APP 

    บริการ Telepharmacy บนไลน์แพลตฟอร์มที่สามารถเข้าถึงผู้ใช้งาน 50 ล้านคนทั่วประเทศและเชื่อมโยงผู้ป่วยได้รับบริการจากเภสัชกรชุมชนมากกว่า 10,000 ครั้ง หลังจากเปิดตัว 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้กับร้านยาชุมชนหลายแสนบาทต่อเดือนทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดมากกว่า 60 พื้นที่ทั่วไทย


    “ปัจจุบันร้านยาใช้ ARINCARE ทำทุกอย่างที่ต้องการในลักษณะ workflow ตั้งแต่รับสินค้าเข้า ดูแลคลังยา จ่ายยาหน้าร้าน เก็บประวัติคนไข้ ทำรายงานส่งอย. รายการทางธุรกิจ ส่วน Consumer เราบริการ Virtual Pharmacy เชื่อมโยงคนไข้และร้านยาที่ใกล้ที่สุดให้เข้าไปใน Line Mini App 

    ซึ่งเราทำงานร่วมกับ LINE ทำให้เขาสามารถแจ้งอาการและขอคำปรึกษาเภสัชกรในร้านยาที่ใกล้ที่สุดได้ทันทีทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 มีดีมานด์ล้นหลามมาก ซึ่งเภสัชกรชุมชนสามารถให้บริการช่วยเหลือในเบื้องต้นได้ 

    โดยเภสัชกรทุกคนในระบบของเราต้องแสดงเอกสารและใบอนุญาตที่มีการต่อทุกปี ซึ่งเราถือเป็นความรับผิดชอบของเราในการคัดกรองและการันตีเภสัชกรจริง”

    ขณะเดียวกันในช่วงต้นปีนี้บริษัทยังร่วมผนึกกำลังครั้งใหญ่กับกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) เชื่อมต่อบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในเป็นหนึ่งเดียว และกับ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) (PTG) เพื่อแตกไลน์ต่อยอดธุรกิจและบริการครบวงจรยิ่งขึ้น

    “แม้เราจะเป็นสตาร์ทอัพ แต่เราทำงานจริงจังเหมือนบริษัท โดยก่อนการระดมทุนทุกรอบเราต้องคุยเกี่ยวกับความคาดหวังและเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งเราให้ความสำคัญกับ Alignment มากกว่าเรื่องเงิน ได้แก่ Objective Alignment หรือ Value Alignment โดยเราโชคดีที่พาร์ทเนอร์ต้องการสร้าง Value Healthcare เช่นเดียวกัน 

    และ Strategy Alignment กลยุทธ์สร้างการเติบโตทางธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งเชิงการลงทุนหรือการคืนทุน Investment Alignment จะเป็นช่วงไหน ซึ่งความกดดันต้องมีอยู่แล้ว แต่ต้องชัดเจนก่อนว่า Alignment ตรงกันจึงร่วมมือกัน”

    ธีระกล่าวถึงการได้รับเงินระดมทุน Series B มูลค่า 4 ล้านเหรียญฯ โดยมีกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) เป็นผู้ร่วมลงทุนหลักและสนับสนุนการเชื่อมต่อบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในเข้าด้วยกัน 

    ด้วยการนำเทคโนโลยีที่อยู่บนแพลตฟอร์ม ARINCARE โดยเฉพาะระบบ e-prescription ซึ่งเป็นการแชร์ข้อมูลของผู้ป่วยให้กับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อการดูแลรักษาที่ต่อเนื่อง พร้อมนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยประมวลผลการวินิจฉัยให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    สำหรับการผนึกกำลังลงทุนของบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) มุ่งเน้นการเติมเต็ม Health Tech Ecosystem ของไทย ซึ่งเป็นการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสูง โดยผ่าน MAX Ventures ผูกพันธมิตรทางธุรกิจ 

    พร้อมสร้างโอกาสเป็น New S-Curve รวมถึงการสร้างความแข็งแกร่งและต่อยอดธุรกิจในเครือข่ายของ PTG ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ธุรกิจ Healthcare ที่เป็นอุตสาหกรรมอนาคต และตอกย้ำแนวทางธุรกิจของ PTG ที่ต้องการเป็นสถานีบริการที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการรอบด้าน 

    ทั้งร้านค้า และร้านขายยาโดย NEXX Pharma ที่บริการทั้งจำหน่ายยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์จากเภสัชกรผู้มีประสบการณ์ ซึ่งวางแผนให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ



    ดังนั้น กลยุทธ์ทางธุรกิจที่วางไว้ในปีนี้ได้มุ่งเน้นการขยายตลาด ด้วยการร่วมมือกับกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) บนทิศทางการมุ่งสร้าง Healthcare ecosystem ที่สมบูรณ์ระหว่างโรงพยาบาลและหน่วยบริการสุขภาพท้องถิ่น 

    เชื่อมโยงไปถึงเภสัชกรในร้านยาชุมชนบนเครือข่าย ARINCARE มากกว่า 3,000 ราย เข้ากับทีมการแพทย์ของ CHG เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลสุขภาพคนในชุมชนได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ

    ขณะเดียวกันยังร่วมจับมือกับ MaxCard ของ PTG เข้าถึงผู้บริโภคคนไทยให้มากทที่สุด โดยเสริมความเข้มแข็งให้กับเภสัชกรและร้านยาชุมชนที่เป็น SME ท้องถิ่น 

    รวมถึงการดูแลและบริการด้านสุขภาพให้คนไทยผ่าน MaxCard มากขึ้น พร้อมเดินเกมรุกเป้าหมายการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2569

    “หลังจากระดมทุน เราแบ่งการทำงาน 3 ส่วน ได้แก่ การปรับซัพพลายเชน และโครงสร้างให้ขั้นตอนลดลง เพื่อผนวกเฟสต่างๆเข้าด้วยกันได้เร็วขึ้น ซึ่งการทำงานของเราต้องเสถียรและระบบหลังบ้านสามารถรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากได้ 

    โดยเรายังต้องลงทุนพัฒนา Advance technology เช่น การนำ AI เข้ามาทำให้ร้านขายยาหลุดจากกรอบเดิม รวมทั้ง เราต้องทำ Internal Control ให้การทำงานเป็นขั้นตอนและมีมาตรฐานเดียวกันในการบริหารจัดการทั้ง 3 กลุ่ม เพื่อเดินหน้าตามเป้าหมายการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 2569 

    ซึ่งจำนวนร้านยาน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวหรือ 6,000 ร้านและคนไข้ที่ลงทะเบียนในระบบเราประมาณ 300,000 คนในอีก 3 ปีข้างหน้า พร้อมขยายไปต่างประเทศจากปัจจุบันที่มีผู้ใช้งานในประเทศเพื่อนบ้านและอนาคตอาจจะเพิ่มผลิตภัณฑ์กลุ่ม Healthcare เช่น อาหารเสริม เครื่องสำอาง โดยยังมีอีกหลายอย่างที่สามารถต่อยอดได้”

    ธีระย้ำความมุ่งมั่นเสริมความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการเจ้าของร้านยา ทั้งร้านขายยาขนาดกลาง ถึงขนาดเล็ก ที่เป็น SME รวมทั้งเภสัชกร ได้มีเครื่องมือที่ช่วยบริหารธุรกิจและบริการผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงการทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยระหว่างแพทย์ 

    และเภสัชกร เพื่อยกระดับบริการสาธารณสุขประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ใหม่ในการมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนและแนวโน้มการเติบโตครอบคลุมผลิตภัณฑ์สุขภาพ

    “หลักการบริหารของอรินแคร์คือ ทำงานดี ร่วมงานได้ เนื่องจากเรามีทีมงานที่หลากหลาย ทำให้เราต้องมีการกำหนด core value เหมือนเป็นข้อตกลงร่วมกันให้รู้ความคาดหวังของเพื่อนร่วมงานหรือปฏิบัติตัวอย่างไร 

    ซึ่งเราให้ความสำคัญกับการคัดเลือกพนักงานตั้งแต่แรก เพราะการทำงานดีดูง่าย แต่ร่วมงานได้ดูยาก บางครั้งสัมภาษณ์พูดคุยกันอาจจะไม่ได้ถามเรื่องงานเลย แต่ถามความสนใจและ personal growth ต้องการเติบโตแบบไหน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของเขา 

    โดยการบริหารองค์กรของเราเน้นความชัดเจน โปร่งใส และยึดหลักความเป็นจริง” ซีอีโอวัย 39 ปีปิดท้ายถึงหลักการบริหาร “ทำงานดี ร่วมงานได้”


ภาพ : วรัชญ์ แพทยานันท์



อ่านเพิ่มเติม: สรรชาย นุ่มบุญนำ จัดทัพอินฟอร์มาฯ ตั้งเป้าอันดับ 1 อาเซียน


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine