กมลพัทธ์ พหลโยธิน สานภารกิจน้ำมันหล่อลื่น “Shell” เติบโตยั่งยืน - Forbes Thailand

กมลพัทธ์ พหลโยธิน สานภารกิจน้ำมันหล่อลื่น “Shell” เติบโตยั่งยืน

เชลล์ โกลบอล วางเป้าหมาย Net Zero ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ในปี 2593 หรืออีก 26 ปีข้างหน้า บนเส้นทางแห่งการปรับตัวแน่นอนทุกบียูของเชลล์ต้องรับรู้และมีแผนรองรับชัดเจน


    เชลล์ (Shell) ธุรกิจน้ำมันจากอังกฤษ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจน้ำมันในไทยยาวนานกว่า 132 ปี จากจุดเริ่มต้นด้วยน้ำมันก๊าด “Shell เป็นพ่อค้าจากอังกฤษที่ล่องทะเลขายเปลือกหอยและสินค้าน้ำมันตัวแรกที่ขายในไทยคือน้ำมันก๊าดตรามงกุฎ” กมลพัทธ์ พหลโยธิน กรรมการบริหาร ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ย้อนอดีตที่มาของเชลล์กับทีมงาน Forbes Thailand

    ด้วยประวัติศาสตร์ยืนยาวกว่าศตวรรษที่ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันแบรนด์ดังรายนี้เข้ามามีบทบาทในไทย ทั้งนำนวัตกรรมด้านปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่หลากหลายซัพพอร์ตอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจเติบโตคู่กับสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง เชลล์ยังจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น (lubricants) ครองอันดับ 1 ของโลกถึง 17 ปีซ้อน ด้วยนวัตกรรมที่พัฒนาไม่หยุดทำให้เชลล์ครองใจผู้ใช้เป็นอันดับต้นๆ

    “สำหรับประเทศไทยน้ำมันหล่อลื่น Shell ถือเป็นผู้นำอันดับ 1 ในกลุ่มน้ำมันสังเคราะห์ 100% ของแบรนด์อินเตอร์ที่จำหน่ายในไทย” จุดเด่นของเชลล์คือ นวัตกรรมและความยั่งยืน ทำให้เป็นที่ยอมรับของตลาดมายาวนาน


ร่วมคิดค้น-ผลิตกับพาร์ตเนอร์

    เชลล์ได้การยอมรับทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น โดยมีพาร์ตเนอร์ที่ร่วมธุรกิจกับเชลล์มายาวนานถึง 100 ปี ในรายการแข่งขันรถฟอร์มูล่าวัน (F1: FIA Formula One World Championship)

    “Shell เป็นพาร์ตเนอร์กับ Ferrari ตั้งแต่ปี 2493 ที่จริงยาวกว่านี้เพราะผู้ก่อตั้ง Ferrari ใช้น้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันเชื้อเพลิงของ Shell มากว่า 100 ปี” โดยทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นของเชลล์เป็นผลิตภัณฑ์แนะนำ ทั้ง Shell และ Shell Helix มากกว่า 70 ปีในการแข่งขัน F1 และรถยนต์ Ferrari ทุกคันที่ผลิตในอิตาลีล้วนใช้น้ำมันของเชลล์


    นอกจากรถแข่งรายการดังอย่าง F1 แล้ว เชลล์ยังร่วมในการแข่งขันความเร็วรถมอเตอร์ไซค์ด้วย “เราเป็นพาร์ตเนอร์ Ducati มากว่า 20 ปี คล้ายกับ Ferrari โดยเป็นพาร์ตเนอร์ตั้งแต่รายการ Superbike 1999”

    นอกจากนี้ เชลล์ยังได้ร่วมเป็นพาร์ตเนอร์การแข่งขันรถยนต์ไฟฟ้ากับทีม Nissan เอฟไอเอ ฟอร์มูล่าอี รายการแข่งขันรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งใช้น้ำมันอีฟลูอิด โดยเชลล์เป็นโคพาร์ตเนอร์พัฒนาร่วมกับ Nissan เพื่อให้ได้น้ำมันที่เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุด โดยเน้นจุดสำคัญเรื่องความยั่งยืน

    “การได้พัวพันกับวงการความเร็วอย่าง F1 ช่วยให้ Shell สามารถนำเทคโนโลยีความเร็วเหล่านั้นมาพัฒนาให้ลูกค้าและพาร์ตเนอร์” กมลพัทธ์ย้ำ ไม่เฉพาะในเรื่องของการแข่งขัน ในอุตสาหกรรมรถยนต์เชลล์ก็มีส่วนร่วมกับโรงงานผลิต

    “โรงงานผลิตรถยนต์ในไทยกว่า 90% เป็นพาร์ตเนอร์กับ Shell ทั้ง Toyota, Honda, Isuzu, Nissan ใช้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ 100% ของ Shell ซึ่งเป็นสูตรที่ Shell ผลิตร่วมกับ Toyota และ Isuzu” โดยร่วมกันพัฒนาและตรวจสอบกับลูกค้าออกมาเป็นสูตรของเชลล์ในแบรนด์ของลูกค้า และมีบางรายเป็นลักษณะการโคแบรนด์ ซึ่งผลิตให้ตามความต้องการลูกค้าด้วยการร่วมมือกันในรายละเอียด

    การเติบโตของเชลล์ตลอด 132 ปีเป็นการดูแลพาร์ตเนอร์ ทำงานเคียงข้างกันมาตลอด โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของการใช้ เช่น รถยนต์ในประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองร้อนย่อมต่างกับการใช้รถในเมืองหนาว และด้วยความที่ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ส่งออกไปหลายประเทศต้องคำนึงและพัฒนาสูตรให้เหมาะสมกับสภาพอากาศของประเทศผู้ใช้งาน “เมืองร้อน เมืองหนาว ต้องการใช้น้ำมันเครื่องที่แตกต่างกัน Shell เทเลอร์ให้ตามความเหมาะสม”


เปิดโลกนวัตกรรมพลังงาน

    ความร่วมมือเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นสิ่งที่เชลล์ทำมาอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ทำให้ได้เห็นข้อมูลความต้องการและการใช้ของผู้บริโภค เป็นการพัฒนาไปในทิศทางตามความต้องการของตลาด เช่น ทุกวันนี้ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตผู้คน เชลล์ก็มีการใช้ช่องทางดิจิทัลในการสื่อสารกับลูกค้า

    “เราทำ LINE Official Account เป็นช่องทางที่สามารถทำทุกอย่างผ่านมือถือได้ ติดต่อสื่อสารลูกค้าได้ดีขึ้น ทำมา 3 ปีแล้วครอบคลุมการใช้งานได้กับลูกค้าทุกกลุ่ม” กมลพัทธ์ย้ำว่า ดิจิทัลทำให้เชลล์เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นเข้าใจพฤติกรรมลูกค้ามากขึ้น สามารถให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ


    นอกจากการจำหน่าย เชลล์ยังมองเรื่องบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องด้วยตัวเองเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยเริ่มจากกลุ่มผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ ซึ่งทุกวันนี้คนใช้มอเตอร์ไซค์วิ่งงานกลางวันจบกลางคืนอู่ซ่อมก็ปิดทำการ เชลล์จึงริเริ่มทำเซลล์เซอร์วิส “ตู้กดน้ำมันหล่อลื่น” โดยพัฒนาร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

    ตู้กดนี้ผู้ใช้สามารถขับรถมอเตอร์ไซค์เข้าไปหยอดเหรียญและเสียบสายเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องได้เลย ให้บริการ 24 ชม. ออกแบบให้มีสายติดกับเครื่องให้ใช้งานง่าย ทั้งถ่ายเทน้ำมันเครื่องเก่าและเติมน้ำมันเครื่องใหม่เข้าโดยอัตโนมัติ เพิ่งเริ่มทดสอบ 1 จุด ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างดีจากวัยรุ่นและนักศึกษา

    “คิดว่าจะทยอยเปิดในปี 2567 ตามปั๊ม Shell และมหาวิทยาลัย ซึ่งยังไม่มีใครทำ Shell ประเทศไทยทำเป็นที่แรกของ Shell ทั่วโลก” กมลพัทธ์เล่าว่า โครงการนี้ได้เปิดตัวตอนประชุมเชลล์ระดับภาคพื้นกว่า 100 ประเทศ พบว่าตัวแทนเชลล์ประเทศอื่นให้ความสนใจไม่น้อย การพัฒนาสินค้าและบริการของเชลล์เดินหน้าตลอด จากประเทศที่เชลล์เข้าไปค้าขายด้วยมากกว่า 100 ประเทศ

    เชลล์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและนวัตกรรม โดยเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีมานานกว่า 100 ปี และเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในบรรดาบริษัทน้ำมันและก๊าซนานาชาติ ด้วยการใช้งบประมาณมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 4 หมื่นล้านบาทในแต่ละปีเพื่อเปลี่ยนความคิดให้กลายเป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์


4 เสาหลักเติบโตยั่งยืน

    แนวทางที่ร่วมพัฒนากับลูกค้าเป็นหนึ่งในแผนงานของเชลล์ที่จะสร้างการเติบโตในตลาดน้ำมันเครื่องอย่างยั่งยืน กมลพัทธ์เผยว่า เป็นการทำงานตามสโลแกนของกลุ่มธุรกิจน้ำมันเครื่องเชลล์ที่ต้องการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของโลกวันนี้เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีขึ้น ด้วยคำมั่นว่า “We Keep The World Progress Today for The Better Tomorrow” ซึ่งในนิยามนี้มีแนวทางปฏิบัติ 4 เสาหลักในการดำเนินงาน

    เริ่มจากเสาหลักแรก Innovation Sustainability คือ การพัฒนานวัตกรรมน้ำมันเครื่องและความยั่งยืนในผลิตภัณฑ์ของเชลล์

    เสาหลักที่ 2 Business Partnering คือ การมีข้อตกลงและคำมั่นสัญญากับลูกค้า สร้างความเชื่อมั่นและอยู่เคียงข้างคู่ค้า

    เสาหลักที่ 3 Digital Technology Leadership คือ เชลล์จะเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในการบริการ

    และเสาหลักที่ 4 Empowering Life คือ เชลล์จะสนับสนุนชุมชนไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน โดยทุกอย่างที่เชลล์เข้าไปเกี่ยวข้องจะทำให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมมีความสุข

    “ใน 4 pillar สิ่งที่ขาดไม่ได้คือคน Shell ส่งเสริมพัฒนาคนใน 3 กลุ่มคือ พนักงาน หุ้นส่วนทางธุรกิจ และคนในสังคม” กมลพัทธ์ย้ำว่า คนคือปัจจัยสำคัญ การสื่อสารสร้างความเข้าใจให้ตรงกันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และในที่นี้ยังต้องมองความแตกต่างของพื้นที่ ความต้องการของตลาดที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคหรือหุ้นส่วนทางธุรกิจ เช่น ไทย ลาว กัมพูชา แต่ละท้องถิ่นความต้องการต่างกัน เสาหลักนี้การดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตย่อมต่างกัน


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สมพร ธีระโรจนพงษ์ PSI ปรับสัญญาณรีโมทธุรกิจโซลาร์

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ในรูปแบบ e-magazine