อุตสาหกรรมการเงินเป็นโลกที่กว้างใหญ่ แต่การแข่งขันกลับรุนแรงไม่แพ้ธุรกิจอื่นๆ ดังนั้นการจะเติบโตในสายงานนี้ต้องทุ่มเทหัวใจในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
Forbes Thailand มีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘โฟร์ท-นฤมล จิวังกูร’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ที่จะเล่าเส้นทางการทำงานจากวันแรกที่เป็นพนักงานในห้องค้าสู่ตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ และการเป็นผู้บริหารระดับสูงหญิงคนแรกของซิตี้แบงก์ประเทศไทย
ทุกงานในห้องค้า ‘แค่เร็วไม่พอต้องแม่นยำ’
โฟร์ท-นฤมล เล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำงานที่ซิตี้แบงก์เมื่อปี 1996 (พ.ศ. 2539) ตั้งแต่ตำแหน่ง Management Associate ที่อาจเปรียบกับเด็กฝึกงาน จนเข้าทำงานเป็น FX Trader ในห้องค้าที่เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และเกือบทั้งหมดจบสายวิศวะฯ กันมา
“จำได้ว่าเราทำ Test ได้ 84 เต็ม 100 หลังจากเข้ามาทำงานแบงก์ได้ 3 วัน ก็คิดว่าคะแนนสูงแล้ว แต่พอมานั่งคุยกับหัวหน้าเขาบอกว่า ผมจ้างคนผิดหรือเปล่าส่วนใหญ่เขาเต็ม 100 กันนะ” นฤมลเล่าต่อว่า “เริ่มต้นเราก็รู้สึกว่าต้องพยายามแล้ว เรื่องนี้เราไม่ได้บอกว่าอะไรผิดถูกหรือเพราะความเป็นผู้หญิง เพราะซิตี้ไม่ได้คิดเรื่องเพศมากจนเกินไป แต่จะวัด Individual กับสิ่งที่อยู่ในนี้ (ตัวเรา) มากกว่า’
ในขณะนั้นยังเกิดวิกฤต Asian Crisis ต้มยำกุ้งที่ทุกอย่าง Chaos ไปหมด ต่อมาในปี 1998 (พ.ศ. 2541) เกิดวิกฤต LTCM (Long-Term Capital Management) กว่า 29 ปีในการทำงานของนฤมลฝ่าฟันมาหลายวิกฤตจึงได้นำประสบการณ์ต่างๆ มาปรับใช้ทั้งการทำงานและการบริหารงานในซิตี้แบงก์
“เราอยู่ในโลกการเงิน ความเข้มข้นของ Conduct ของคน ความเข้มข้นของความแม่นยำ มันต้องหนักอยู่แล้ว เพราะไม่งั้นคุณทำคนอื่นพลาดไปด้วย เพราะคุณกำลังดีลเกี่ยวกับเรื่องเงิน”
“ความเร็วสำหรับเรา ดี แต่ไม่สำคัญเท่าความแม่นยำ ผิดไปเสี้ยวหนึ่งอาจเทกระจาดเลย เราเกิดมาจากโลกของห้องค้า (Global Market) ที่ความแม่นยำและความเร็วคือหัวใจ เพราะว่ามันแค่เสี้ยววินาทีในการที่เราจะได้ดีล เราจะวินไหม เราจะได้ Position นั้นไหม ช้าก็ไม่ได้เพราะไม่ทัน พลาดก็ไม่ได้ ไม่ Accurate ก็ไม่ได้ พอผิดไปมันมีผลเลยทันทีเพราะราคามันเปลี่ยนตลอดเวลา”

เสริมแกร่งให้พร้อมรับโอกาส
‘Welcome to the Firing Zone’
หลายคนมักจะถามว่าการเป็นผู้บริหารหญิงในแวดวงการเงินต้องฝ่าฟันมามากมาย นฤมลเล่าว่า โลกการเงินมันใหญ่มาก ด้วยสภาพแวดล้อมและการสนับสนุนทุกวันนี้ก็เปิดกว้างมากขึ้น นับตั้งแต่ทำงานวันแรกจนถึงทุกวันนี้เธอยังต้องเรียนรู้ทุกวัน เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด จุดสำคัญคือตัวเราต้องพัฒนาตัวเอง และทำให้เต็มที่เสมอเพื่อเตรียมความพร้อมให้ตัวเองก้าวต่อไป
หลังจากทำงานห้องค้าในตำแหน่ง FX Trader มาหลายปี วันหนึ่งซิตี้เปิดรับสมัครตำแหน่งหัวหน้าห้องค้าซึ่งอาจเปรียบเทียบเหมือนรุ่น Heavyweight หรือรุ่นใหญ่ที่ต้องมาพร้อมกับความสามารถในการดูแลทุกอย่างให้อยู่มือไม่ว่าจะ Trader, Sales, Banking Book รวมไปถึงห้องหุ้น ในตอนนั้นภูมิภาคเอเชียใต้ระดับหัวหน้าห้องค้าล้วนเป็นผู้ชายทั้งหมด
นฤมลเล่าถึงตอนตัดสินใจยกมือสมัครตำแหน่งนี้ว่า “เราก็ยกมือ เพราะรู้สึกว่าจะรออะไร ลองเลย” ซึ่งก่อนจะตัดสินใจสมัคร เราต้องจริงใจและประเมินตัวเองก่อนว่าพร้อมที่จะทำงานในตำแหน่งรุ่นใหญ่นี้หรือไม่
“วันที่เข้า (รับตำแหน่งหัวหน้าห้องค้า) ไป มีคนทักเราว่า Welcome to the Firing Zone ปรากฏว่ามันก็เป็นอีกหนึ่ง Catalyst ให้เรารู้สึกว่า เราต้องทำให้ดี เราพลาดไม่ได้ เพราะเราคือผู้หญิงคนแรกใน Region นี้ และตำแหน่งนี้ (MD ซิตี้แบงก์ประเทศไทย) ที่นั่งอยู่ปัจจุบัน เราจะเป็นผู้หญิงคนเดียว ใน South Asia (เอเชียใต้) แล้ววันนี้เราเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเลือก”

Comfort Zone อุปสรรคสู่ความสำเร็จ
สิ่งหนึ่งที่นฤมลจะพูดถึงอยู่บ่อยครั้งคือ Comfort Zone is Your Worst Enemy To Success ถ้าเรารู้สึกสบายจนเราก็ไม่อยากทำอะไรแตกต่างจากเดิม หรืออะไรที่ได้มาง่ายๆ นั่นอาจหมายถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้อาจเล็กเกินไป
ดังนั้น ถ้าคุณทำทุกๆวันเหมือนเดิม แต่หวังว่าผลลัพธ์จะต่างออกไป มันเป็นไปไม่ได้ คุณต้องทำอะไรเปลี่ยนบางอย่างต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ซึ่งอันนี้เราว่าสำคัญทั้งการเรียนรู้กับตัวเอง หรือการดีลกับคนรอบข้าง
ยกตัวอย่างกับการทำงาน ถ้าคุณอยากจะได้ Deeper Relationship กับลูกค้ามากขึ้น จากปกติที่เคยโทรหาช่วง 10 โมงทุกวัน เราต้องหาทางออกที่ต่างออกไป เช่น โทรหาช่วงบ่าย, ติดต่อให้ถี่ขึ้น, ศึกษาหรือพูดคุยถึงความกังวลของเขาเพื่อช่วยลูกค้าแก้ปัญหา เป็นต้น
“ทุกเรื่องในชีวิตมันไม่มีอะไรซับซ้อน ถ้าเราอยากจะสำเร็จต้องลงมือลงแรง ไม่มีความสำเร็จอะไรที่ได้มาง่ายๆ ถ้าได้มาง่ายๆ แสดงว่าเป้าหมายที่คุณตั้งไว้เตี้ยไปกว่าพลังที่คุณมี”

เพิ่มคุณค่าในตัวเองและมูลค่าจะตามมา
การพัฒนาตัวเองให้เป็น Better Version of You นฤมลเชื่อว่าเราสามารถทำได้จนถึงวันที่เราหมดลมหายใจ เพราะเราเชื่อว่าทุกคนสามารถพัฒนาได้ ซึ่งเมื่อคนเรามีสกิลที่ดีขึ้น เขาจะทำให้ความมหัศจรรย์ตรงนั้นต่อยอดออกมาเป็นมูลค่าได้อีกด้วย
ด้วยวัฒนธรรมองค์กรของซิตี้ที่เต็มไปด้วยคนเก่งจากทั่วโลก และพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้ให้ทุกคน กลายเป็นจุดที่เราจะประเมินได้ว่าตัวเองขาดอะไร และสามารถเดินไปถามคนที่มีสกิล และปรับใช้เพื่อพัฒนา Reskill และ Upskill ตัวเองได้เสมอ
“เราเชื่อเรื่อง Better Version of You ว่าคนเราต้องเริ่มสร้างคุณค่าในตัวเองก่อน แล้วมูลค่าจะตามมา Build your value, Money will follow อันนี้เรื่องจริง”
ยกตัวอย่างเช่น ในการทำงานถ้าเราตั้งเป้าที่จะแก้ปัญหา Cash Trap (ไม่สามารถดึงเงินจากต่างประเทศมาใช้ได้) ซึ่งปกติแล้วลูกค้าอาจรู้ตัวตอนปิดงบ หรือตอนจะเรียกใช้เงินแล้วโอนออกมาไม่ได้ ดังนั้นถ้าเรามีสกิลมากพอ เข้าใจสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ก็สามารถเข้าไปคุยให้เร็วและหา Solution ให้ลูกค้าก่อนจะเกิดปัญหาขึ้นได้ หรือการพูดคุยกับลูกค้าสามารถช่วยให้เราเข้าใจความกังวลของลูกค้าและหาทางแก้ไขได้เร็วยิ่งขึ้น
นั่นคือการพัฒนาตัวเราและหาวิธีที่จะทำอะไรสักอย่างให้มีผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น และสร้าง Better Version ของตัวเราขึ้นมา จากเรื่องนี้เชื่อมโยงกับนโยบายขององค์กรอย่าง Deliver One Citi, Think Global และ Speak Solution ได้ง่ายมากๆ เพราะการที่แต่ละคนเป็น Better version องค์กรจะเป็น Better version ไปด้วย
“ให้นึกว่าองค์กรเหมือนคน คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีชีวิต มีหัวใจ ต้องมีการสร้างกล้ามเนื้อตัวเอง ฟังก์ชั่นทุกอย่างต้องประสานกัน เช่น ถ้าเส้นเลือดตีบ ก็ไม่ได้ ดังนั้นพนักงานทุกคนสำคัญต่อองค์กรทั้งหมด”
สุดท้ายนี้ในฐานะผู้บริหารหญิงคนเก่งของซิตี้แบงก์ประเทศไทย โฟร์ท-นฤมล ยังเชื่อว่าผู้หญิงและทุกเพศมีศักยภาพในตัวเองแต่มี 2 อย่างที่เราอาจต้องเลิกทำ คือ 1) เลิกด้อยค่าตัวเอง ไม่ว่าจะคำพูดที่ว่า ฉันคงไม่ไหวหรอก ฉันคงรู้ไม่มากพอ เลิกด้อยค่าตนเองแต่ต้องอยู่บนฐานความจริงที่ไม่หลอกตัวเอง 2) เลิกเป็น Perfectionist ที่เราอาจต้องกล้าลอง กล้าทำให้มากขึ้น อย่ารอให้ทุกอย่างพร้อมทั้ง 100% แล้วค่อยลงมือทำ
“เราจะชอบพูดกับตัวเองว่า Don't let the world change your smile เราต้อง Control ตัวเราเองได้ ต้องรู้ว่าเราต้องการอะไร ต้องพยายาม Assess (ประเมิน) ตัวเองเรื่อยๆ ไม่ปล่อยให้รอบๆ กลายเป็นสิ่งที่ควบคุมเรา”
ภาพ: Citi Thailand
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เมธินี จงสฤษดิ์หวัง ภารกิจท้าทาย “ดีลอยท์ ประเทศไทย”
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine