โลกการลงทุนไม่เคยง่ายดาย แต่ถ้าเราเรียนรู้ให้มากกว่าเมื่อวาน โอกาสก็อาจมากขึ้นไปด้วย Forbes Thailand มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผู้นำกระแสการลงทุน VI เข้ามาสู่ประเทศไทย และเป็นอีกบทพิสูจน์ของคำว่า 'วิกฤตคือโอกาส' เพราะเขาสามารถพลิกชีวิตจากชายที่เผชิญการเลิกจ้างในปี 2540 สู่การเป็นเศรษฐหุ้นไทยพอร์ตพันล้านที่หลายคนต้องติดตาม
จุดเริ่มนักลงทุนเพราะถูกเลย์ออฟในปี 40
ดร.นิเวศน์ เล่าว่า ช่วงที่ทำงานประจำมีโอกาสได้ทำงานเกี่ยวกับหลักทรัพย์ ตอนนั้นเป็นคนกินเงินเดือน มีเงินก็เข้าบัญชีเราก็เข้าไปเล่นธรรมดา สมัยก่อนเรียกว่า ‘เล่น’ เพราะซื้อขายช่วงสั้นๆ จังหวะนี้ดีอาจซื้อสัก 2-3 เดือนและขายให้ได้กำไร เล่นเพื่อหาค่ากับข้าว ส่วนพอร์ตเราที่เหลือเป็นเงินฝากทั้งหมดไม่ได้ทำเรื่องอื่น
กระทั่งถึงวันที่เศรษฐกิจไทยเจอวิกฤตปี 2540 หรือต้มยำกุ้ง เราซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ฯ ที่จะปรับโครงสร้าง วันนั้นก็ได้รับซองขาวให้ออกเดี๋ยวนั้นเลยเป็นการยื่นซองขาวแบบที่เมืองไทยก็ไม่เคยเจอ
“ตอนนั้นเราก็เคว้งคว้าง” ดร.นิเวศน์ เล่าถึงค่าใช้จ่ายหลักคือ ค่าเล่าเรียนหลักแสนของลูกสาวคนเดียวที่ตั้งใจส่งเรียนโรงเรียนอินเตอร์มาตลอดเพื่อให้เป็นแต้มต่อในชีวิต และสร้างความแตกต่างจากชีวิตของเขาที่ตอนเด็กไม่ได้เรียนและภาษาไม่ดีนัก ขณะที่ส่วนตัวค่าใช้จ่ายไม่เยอะมากเพราะอยู่ร่วมกับทางบ้านภรรยา ใช้รถคันที่มีอยู่เดิม และยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง
“ถ้าคุณอายุ 44 ปีมีเงินเก็บก้อนหนึ่งในชีวิต 10 ล้านบาท มีลูกที่ยังเรียนอินเตอร์ รายจ่ายต่อปีก็หนักหนาพอสมควร สมัยก่อนตีเสียว่า 5 แสนบาท ช่วงปี 40 ถือว่าสูงมาก”
ในเวลานั้นคำถามหลักของเขาคือ เราจะอยู่อย่างไรถ้าเกิดไม่ได้งานที่ดีต่อไปเพราะสมัยนั้นสถาบันการเงินปิดหมด คนที่อยู่ในแวดวงการเงินไม่มีที่ไปเพราะมีแต่คนออก ยิ่งอายุมากกว่า 40 ปี จึงต้องคิดว่าจะหางานอย่างไร แต่ก็เริ่มคิดหาทางออกอื่นๆ ที่จะสร้างรายได้ให้เพียงพอเพื่อใช้ชีวิตแบบเดิม
ท่ามกลางวิกฤตราคาอสังหาริมทรัพย์ดิ่งลงมา ดร.นิเวศน์เล่าว่า ตอนนั้นคอนโดถูกมาก คนไม่มีเงินถูกบังคับขายหมด เงิน 10 ล้านกว่าบาทซื้ออพาร์ทเมนท์ได้ทั้งตึก แต่พอคำนวณรายได้ต่อห้องทั้งตึกแล้วยังไม่พอค่าใช้จ่าย อีกทางหนึ่งคือทำงานที่ปรึกษา หรือไปทำธุรกิจซึ่งด้วยสถานการณ์ช่วงนั้นมองว่าธุรกิจเสี่ยงที่จะเจ๊งสูงมาก
จนเรากลับมามองเรื่องหุ้นที่เคยลงทุนแบบน้อยๆ จึงเริ่มศึกษาสิ่งที่เรียกว่า Value Investing หรือการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ถือเป็นของใหม่ที่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก โดยหลักการคือ ก่อนจะลงทุนในหุ้นต้องวิเคราะห์ ประเมินมูลค่าโดยอิงกับผลประกอบการของกิจการ เสมือนการทำธุรกิจที่คุณลงทุนไปเท่าไร จะมีรายได้ กำไร และได้ปันผลกลับมาเท่าไร ที่สำคัญคือคุณจะยอมจ่ายใน ‘ราคา’ เท่าไรถึงจะคุ้ม
สุดท้าย ดร.นิเวศน์ เลือกจะนำเงิน 10 ล้านบาท มากระจายความเสี่ยงซื้อหุ้นหลายตัวซึ่งตอนนั้นราคาถูกมากเพราะอยู่ในช่วงวิกฤตที่ไม่มีใครซื้อกัน โดยมีเป้าหมายคือได้ปันผลอย่างน้อยปีละ 1 ล้านบาทเพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในบ้าน
“ผ่านมาตอนนี้เกือบ 30 ปี จากปันผลที่เราบอกว่าได้ปีละหนึ่งล้าน เดี๋ยวนี้ได้วันละหนึ่งล้าน โดยเฉลี่ยนะไม่ได้พร้อมๆ กัน (ช่วงเวลาการจ่ายปันผลของแต่ละหุ้นต่างกัน) เพราะว่าหุ้นเราก็โตใหญ่ไปหลายสิบเท่าหลายร้อยเท่า มันก็ขึ้นไปอย่างงี้ เราก็ยังทำอย่างเดิมอยู่ คิดแบบเดิมทำอย่างเดิม เพียงแต่ว่ามันทวีคูณเข้าไป”

HOW TO คัดหุ้น ให้พอร์ตโตจากหลักสิบสู่หลักพันล้าน
วิกฤตคือโอกาสของนักลงทุน นี่เป็นคำแนะนำที่ดร.นิเวศน์ พูดถึงบ่อยที่สุดในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ แต่ด้วยเงิน 10 ล้านบาทที่จะล้มเหลวไม่ได้ ในขณะนั้นดร.นิเวศน์ ใช้เวลาคัดสรรหุ้นที่ใช่ ในราคาที่ต้องการอยู่พักหนึ่ง และเลือกกระจายความเสี่ยงในหุ้น 5 ตัวโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์ 5 เรื่องหลัก ได้แก่
1. ธุรกิจต้องไม่ตาย เกิดวิกฤตแต่ยังอยู่ได้ ตัวอย่างเช่นตอนนั้นเราเลือกหุ้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ไม่ว่าคนรวยจนก็ต้องกิน เศรษฐกิจแย่คนก็ซื้อกิน ช่วงฟื้นตัวก็ยังขายดีเป็นหุ้นหรือกิจการที่อนาคตยังสดใส
2. กิจการต้องแข็งแกร่ง พร้อมสู้กับคู่แข่ง ในช่วงนั้นก็ไปเจอหุ้นบริษัทหนึ่งที่มีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 50% แบบคุมทั้งตลาด เราก็ดูแล้วว่าเขาแข่งขันได้ไม่แพ้แน่ๆ
3. ทำกำไรได้ดี เพราะว่าบางธุรกิจขายแล้วขาดทุนก็มี หรือราคาอาจถูกกำหนดในตลาดโลก เช่น น้ำมัน ฯลฯ ดังนั้นเมื่อต้นทุนคุณลดไม่ได้จึงมีความเสี่ยงเจ๊งได้เหมือนกัน
4. วิเคราะห์ผู้บริหาร ต้องมีทั้งฝีมือ ความซื่อสัตย์ ทำงานเก่ง
5. ราคาหุ้น ต้องวิเคราะห์ให้ดีว่ากำไรต่อหุ้นเพียงพอไหม เหมาะสมกับราคาที่จะจ่ายเพื่อซื้อหุ้นนั้นๆ แค่ไหน ซึ่งช่วงวิกฤตจะกลายเป็นโอกาสในการคัดหุ้นดีราคาถูกได้มากขึ้น
ในส่วนตัว ดร.นิเวศน์ ให้น้ำหนักถึงนโยบายการจ่ายปันผลของหุ้นนั้นๆ ด้วย เพราะในช่วงวิกฤตแม้จะซื้อหุ้นมาถูกและราคาปรับตัวขึ้น แต่อาจยังไม่มีคนซื้อ จึงต้องดูเงื่อนไขนี้หากต้องการสภาพคล่อง
“เราเข้ามาในจังหวะที่ถูกต้อง ทั้งที่เป็น Timing ที่เกิดวิกฤติ ตอนนั้นผมถือว่าวิกฤติเป็นโอกาสมีโอกาสเยอะมาก ปี 2008 เกิดวิกฤติอีกก็เป็นโอกาสอีก คือนักลงทุนอย่างเราบอกว่าวิกฤติเป็นโอกาสแทบจะเสมอ เพราะวิกฤติมันทำให้หุ้นมันถูก เราก็ไปซื้อของถูกๆ แล้วพอวิกฤติผ่านไป ของที่เราซื้ออย่างหุ้นมันก็แพงขึ้นๆ ราคาเพิ่มๆ เราก็รวย แต่ว่าตอนนี้ก็ต้องระวังนะ ที่ผมเริ่มพูดว่าวิกฤติในเมืองไทย ตอนนี้อาจจะโอกาสไม่ค่อยมี เหตุผลเพราะว่าเศรษฐกิจเรามีปัญหาเยอะ การเติบโตอย่างที่เคยเห็นมันน้อยลง”
บทเรียนของ ‘นักสู้’ สู่การเป็น ‘นักเลือก’
กว่าจะมาเป็นนักลงทุนเจ้าพ่อสาย VI อย่าง ดร.นิเวศน์ ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาเล่าถึงบทเรียนครั้งสำคัญจากประสบการณ์ที่สั่งสมมากว่า 70 ปีว่า “เพราะตอนเด็กเรายากจน เราต้องสู้อุปสรรคทุกอย่าง ต้องเรียน/แข่งกับเขา ต้องทำงานแข่งกับเขา ก่อนที่ผมจะเข้ามาเป็นนักลงทุน ผมเป็นนักสู้มาตลอด เข้าไปทำงานก็สู้ ทำงานหามรุ่งหามค่ำเกือบจะตายเพราะทำงานก็มี เป็นโรคหัวใจ คือเราสู้มันเครียด”
การเป็นนักสู้เครียดมากเพราะเจออะไรก็สู้สุดใจ จนกระทั่งมาค้นพบสัจธรรมว่า จริงๆ แล้วคุณต้องเป็นนักเลือกก่อนที่จะสู้ นักเลือกคือเราต้องรู้ว่าจะเลือกทำอะไร ประเมินถึงปัจจัยที่จะต้องเจอ วิเคราะห์ตัวเองว่าจะชนะในเรื่องอะไรที่เลือกทำ ไม่ว่าจะงาน ธุรกิจ หรือการแข่งขันต่างๆ
“ก่อนที่เป็นนักลงทุน ผมเป็นรับจ้างทำงานออฟฟิศหามรุ่งหามค่ำ แต่เราไม่รู้หรอกว่า การทำงานออฟฟิศต้องใช้ปัจจัยในความสำเร็จหลายอย่าง เช่น ต่อให้เราคิดว่าเราเก่งแต่อาจขาดบางอย่าง เช่น คุณต้องเป็นคนที่เพื่อนฝูงรักใคร่ชอบ มี EQ ดี และอื่นๆ”
ในการทำงานมีปัจจัยอีกมากมายที่ต้องคำนึงถึง แต่การเป็นนักลงทุนแทบจะเป็นสิ่งเดียวที่ไม่สนใจเรื่องอื่น จะพูดจาโผงผาง จะเป็นแบบไหน แต่งตัวแบบซอมซ่อไปเดินตลาดไม่สำคัญเลย สิ่งสำคัญมีเพียงสมองของคุณ คิดให้ถูก วิเคราะห์เก่งเลือกถูก ก็จบเพราะฉะนั้นผมไม่เสียเปรียบใครเลย
“ถ้าคุณเป็นผู้บริหาร คุณต้องมีจิตวิทยา ดูแลลูกน้องทำนู้นทำนี้ คุณเป็นนักการเมือง คุณต้องเข้ากับคนได้ พูดจาหวาน แต่นักลงทุนไม่ต้องการอะไรเลย ยกเว้นความคิดที่ถูกต้อง สมองที่ถูกต้อง ไม่ BIAS ซึ่งเราไม่แพ้ใคร”

เป็นนักลงทุนที่ยอดเยี่ยม ต้องไม่ BIAS
ดร.นิเวศน์ เล่าว่าการลงทุนไม่ใช่เพียงทฤษฎีการลงทุน หรือเทคนิคต่างๆ แต่เป็นศาสตร์ที่ต้องผสมผสานหลายความรู้เข้าด้วยกันเพื่อให้มองภาพได้กว้างขึ้น ต้องเข้าใจโลก และเข้าใจชีวิตด้วย ดังนั้นการจะเลือกอะไรให้ดี ให้เหมาะกับตนเองเราต้องวิเคราะห์ทั้งจุดแข็งจุดอ่อน ที่สำคัญต้องไม่ BIAS เพราะไม่งั้นคุณเจ๊งแน่ เช่น บางทีคุณไปเจอหุ้นตัวหนึ่ง เจอผู้บริหารที่คุยเก่งมากเลย แต่คุณต้องอย่า BIAS และต้องขี้สงสัยว่าข้อมูลนั้นจริงไหม ไม่จริงเพราะอะไร โดยวิเคราะห์ให้ลงลึก
ช่วงหลังนี้ผมมองว่ามีอีกศาสตร์หนึ่งที่ทำให้วิเคราะห์หุ้นง่ายขึ้นคือ ศาสตร์เรื่องยีนของมนุษย์จากพื้นฐานที่ต้องการเอาตัวรอดและเผยแพร่เผ่าพันธุ์ ซึ่งทำให้เห็นภาพในอนาคตว่าธุรกิจไหนจะเติบโต เช่น Health Care เป็นธุรกิจที่เพิ่มโอกาสในการเอาตัวรอด ซึ่งคนที่ต้องการธุรกิจนี้มากที่สุดคือ คนสูงอายุที่มีมากขึ้นทั่วโลกแบบนี้ธุรกิจโตขึ้นแน่ แต่ต้องไปวิเคราะห์อย่างละเอียดว่าบริษัทไหนจะเติบโต โรงพยาบาลไหนจะดี เป็นต้น ไปจนถึงธุรกิจเทคโนโลยีและการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ในโลก ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสในการเอาตัวรอด ย่อมจะเติบโตเช่นกัน
ทุกวันนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป แต่เราต้องศึกษาเรื่อยๆ แต่ศึกษาให้มันถูก ผมเชื่อว่าจะช่วยให้เข้าใจโลกมากขึ้น อย่างเรื่องจิตวิทยา หรือยีนของมนุษย์ที่กลัวเลยทำให้ช่วงหุ้นตกทำไมคน Panic sell หุ้นตกเป็นบ้าเป็นหลังเลยมีแต่คนขาย ไม่มีคนซื้อ ซึ่งนักลงทุนที่เก่งจะเห็นช่องทาง รู้ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยน สุดท้ายหุ้นดีจะกลับมาจึงเข้าไปเก็บหุ้นก่อน อย่าง Warren buffett, Charlie Munger พวกเขาจึงรวยจากเรื่องนี้มาหลายรอบแล้ว

มุมมองของดร. นิเวศน์กับหุ้นไทย
ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ซบเซา และปัจจัยลบรอบด้าน ดร.นิเวศน์มองว่า วิกฤติในเมืองไทยตอนนี้โอกาสอาจไม่ค่อยมี เหตุผลเพราะเศรษฐกิจไทยมีปัญหาเยอะ อย่างสังคมสูงวัยเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องโครงสร้างที่เปลี่ยนได้ยากมาก เพราะฉะนั้นถ้าคนน้อยลงเรื่อยๆ เศรษฐกิจต้องโตช้าลงเรื่อยๆ หรือไม่โต ถ้าเศรษฐกิจไม่โตแล้วส่วนใหญ่หุ้น ตลาดทุนก็ไม่ค่อยโตไปด้วย
ดังนั้นแม้พอร์ตลงทุนส่วนใหญ่ของผมจะอยู่ในหุ้นไทย แต่ช่วงไหนที่หุ้นที่มีอยู่ปรับตัวดีขึ้น ก็ทยอยขายหุ้นเก็บเป็นเงินสดไว้เพื่อคว้าโอกาสที่อาจเข้ามา โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าหากเก็บเงินสดได้ 30% จะเตรียมไว้สำหรับลงทุนหุ้นโลกแต่ยังต้องรอจังหวะที่ราคาลงเพราะช่วงนี้ราคาถือว่าสูง
“ผมเก็บเงินสดมานานแล้ว (เกิน 2 ปี) ตอนนี้ก็มีอยู่ 10% แล้วแต่ยังไม่ทำอะไรเลยนะผมฝากออมทรัพย์ไว้เฉยๆ ได้ดอกเบี้ยครึ่งเปอร์เซ็นต์ก็ยังต้องยอม ดีกว่าเป็นหุ้น เพราะหุ้นมันลง ตอนนี้เป็นช่วงของการสะสมเงินสดที่จะไปหุ้นโลก”
สำหรับผมสัดส่วนใหญ่ของพอร์ตราว 50% ยังอยู่ในหุ้นไทย ซึ่งได้ปันผลราว 7-8% มากินมาใช้ทุกปี ถือเป็นหุ้นกลุ่มปลอดภัยที่เป็นเหมือนกองหลังที่ช่วยอุดประดูไม่ให้เราลำบาก เพราะการไปลงทุนต่างประเทศถ้าหุ้นตกแรง ค่าเงินเปลี่ยนแปลงมีความเสี่ยงขาดทุนได้
แต่สำหรับกองหน้าผมไปลงทุนในเวียดนามราว 30% ของพอร์ตทั้งหมด เพราะมองว่าเป็นหุ้นเติบโต เวียดนามเป็นเหมือนไทยสัก 20 ปีก่อนที่กำลังพัฒนาและมีโอกาสเติบโตสูงในระยะยาว ซึ่งลงทุนผ่านบริษัทที่ชื่อตีแตก ซึ่งเปรียบเสมือนการทำตามความฝันครั้งสุดท้าย
ดร.นิเวศน์เล่าถึงความตั้งใจที่จะพัฒนาบริษัทฯ การลงทุนที่ใช้หลักการ VI ให้เติบโตต่อไป ซึ่งอยากจะต่อยอดเข้าจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ (เหมือนกับ Berkshire Hathaway Inc.) ซึ่งเป็นแผนที่ไม่ได้ระบุเวลา เพราะมันขึ้นอยู่กับว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะถ้าไม่สำเร็จย่อมดึงดูดนักลงทุนไม่ได้
“อายุเราเยอะแล้ว ถ้าเราส่วนตัว (พอร์ตลงทุน) มันอาจจะตายไปกับเราทุกอย่าง แต่ถ้าเป็นบริษัท มันก็ยังอยู่ แล้วอาจจะมีคนมาทำต่อ มีลูกหลานมาทำต่อ เพียงแต่เขาก็ Carry Legacy ของเราเหมือนกับธุรกิจ เขาก็ต่อยอด ทุกวันนี้ไปดูครอบครัวต่างๆ ที่คนก่อตั้งตายไปแล้ว แต่ลูกหลานเขาก็มาต่อยอด เราก็มีความคิดอย่างนั้นนะ เป็นฝันครั้งสุดท้ายของผม”
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “พาตัวเองไปอยู่กับคนเก่ง” คำแนะนำจาก Warren Buffett ถึงนักลงทุนรุ่นใหม่
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine