สินนท์ ว่องกุศลกิจ “บ้านปู เน็กซ์” ผู้นำธุรกิจพลังงานสะอาด - Forbes Thailand

สินนท์ ว่องกุศลกิจ “บ้านปู เน็กซ์” ผู้นำธุรกิจพลังงานสะอาด

เมื่อพลังงานจากฟอสซิลมีจำกัด แต่ความต้องการใช้พลังงานมีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปี พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานจึงเป็นอีกทางเลือกที่สำคัญ


    ปลายปี 2562 บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกาศจัดตั้ง บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด (BANPU NEXT) เพื่อลงทุนและพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน เดินหน้าสร้างการเติบโตทางธุรกิจที่ตอบรับกับเทรนด์พลังงานแห่งโลกอนาคต รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของกลยุทธ์ Greener & Smarter ผลักดันให้บ้านปูฯ เป็นผู้ให้บริการสมาร์ทโซลูชันด้านพลังงานอย่างครบวงจร โดยจะเพิ่มสัดส่วนของธุรกิจด้านพลังงานสะอาดรวมกันมากกว่า 50% ของธุรกิจในกลุ่มบริษัทบ้านปูฯ ภายในปี 2568 และมี สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) นำทัพ

    กลางปี 2565 บ้านปู เน็กซ์ มีผู้บริหารคนใหม่ “สินนท์ ว่องกุศลกิจ” ซึ่งเป็นทายาทของ “ชนินท์ ว่องกุศลกิจ” ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง บมจ. บ้านปู สินนท์มีพี่น้อง 3 คน เขาเป็นลูกคนกลาง และถูกส่งไปเรียนอังกฤษตั้งแต่อายุ 12 ปี โดยเรียนจบหลักสูตรปริญญาตรี Business and Marketing Management จาก Oxford Brookes University ประเทศอังกฤษ และหลักสูตรปริญญาโทด้าน Global Management Pathway in Finance and Business Development จากมหาวิทยาลัย Regent's University London และกลับมาทำงานที่ประเทศไทยในปี 2557 เริ่มต้นชีวิตเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ บมจ. บ้านปู ซึ่งเขามีแรงบันดาลใจตั้งแต่มาฝึกงานที่นี่ขณะเรียนชั้นปีที่ 2   

    “คุณพ่อไม่เคย push ว่าเราต้องเป็นอะไร ปล่อยให้มี freedom เลือกทางเดินของเราเอง ซึ่งผมเลือกตั้งแต่เข้ามาทำงานวันแรกแล้วละว่าต้องมาทางนี้ พอมีบ้านปู เน็กซ์ เกิดขึ้น คิดว่าคนรุ่นใหม่อย่างเราต้องสนใจ energy และเทคโนโลยีมากขึ้น อยากทำให้เป็นบริษัทชั้นนำพลังงานสะอาดใน region และดึงพนักงานเด็กๆ ที่มี passion ทางเดียวกันมาทำงานด้วย” สินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจ. บ้านปู เน็กซ์ (BANPU NEXT) เล่าถึงแรงบันดาลใจที่เข้ามาทำงานในบริษัท 

    ความที่เป็นคนชอบเล่นกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลจึงนำวิธีคิดมาประยุกต์ใช้ในองค์กร เขาอธิบายว่า เป็นการบริหารจัดการโดยนำผู้เล่นไปใส่ตำแหน่งที่ถูกต้อง เพราะแต่ละคนมีความเก่งไม่เหมือนกัน “จะหยิบกองหลังใส่กองหน้าก็ไม่ work เป็นการสอนให้เรารู้ว่าเราควรมีนักเล่นตำแหน่งไหน คุณพ่อสอนเสมอว่ามีแต่กองหลังจะชนะยังไง...กอล์ฟสอนให้เราอยู่กับตัวเอง วงสวิงเป็นสิ่งที่คิดมาแล้ว ฝึกฝนแล้ว ถ้าผิดพลาดองศาเดียว (ลูกกอล์ฟ) ไปไหนก็ไม่รู้...ส่วนการพัฒนาตัวเองกับทีมเวิร์ก ผมใช้ Formula 1 เป็นกีฬารถแข่งที่มีทั้งความเร็วและทุกสิ่ง ถือถ้าเราเลี้ยวผิดโค้งก็พลาดเลย” 

ในวัย 30 ปีเศษ และรับตำแหน่งเป็นเบอร์ 1 ขององค์กร สินนท์บอกว่า ไม่รู้สึกกดดันแต่อย่างใด 




ตอบทุกโจทย์ธุรกิจพลังงานสะอาด

    บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด (BANPU NEXT)  จัดตั้งขึ้นในปี 2563 โดยเป็นผู้ให้บริการโซลูชันพลังงานสะอาดชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter ของกลุ่มบ้านปูฯ ด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่า “เพื่อให้ทุกชีวิตเข้าถึงโซลูชันพลังงานที่ไร้ขีดจำกัด” ประกอบด้วย 5 กลุ่มธุรกิจ ดังนี้ 

    1. ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (renewable power) ดำเนินธุรกิจผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งการผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและโซลาร์ลอยน้ำ ปัจจุบันมีพอร์ตโฟลิโอทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และไทย 

    2. ธุรกิจแบตเตอรี่ (energy storage) เป็นการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานสำหรับยานพาหนะไฟฟ้าทุกชนิดและสำหรับติดตั้งอยู่กับที่ (stationary) เช่น การใช้ร่วมกับระบบโซลาร์และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องในทุกสถานการณ์ ดำเนินการผ่าน บจ. ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ บริษัทจากสิงคโปร์ซึ่งเป็นผู้นำด้านระบบแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานแบบลิเธียมไอออนระดับโลก มีโรงงานผลิตแบตเตอรี่อยู่ที่จีน และเตรียมสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ในไทยเพื่อบุกตลาดอี-โมบิลิตี้ ทรานสปอร์เตชั่นในประเทศ

    นอกจากนี้ ยังเข้าลงทุนใน บริษัท กรีน ไล-ออน จำกัด ประเทศสิงคโปร์ ผู้พัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่เพื่อนำเสนอโซลูชันด้านแบตเตอรี่ได้ครบวงจรยิ่งขึ้น ทั้งการผลิต จำหน่าย และการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ หรือรีไซเคิลเพื่อสร้างมูลค่าในธุรกิจ 

    3. ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (energy trading) ดำเนินธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าให้กับกลุ่มลูกค้าในต่างประเทศและสร้างผลกำไรจากส่วนต่างราคาซื้อขาย พร้อมมุ่งขยายสู่ตลาดไฟฟ้าเสรี โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักคือ ผู้ให้บริการระบบไฟฟ้า (electricity grid operator) สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และโรงพยาบาล 


    “Business model คือ ซื้อไฟตอนราคาถูก ขายไฟตอนราคาแพง และกินส่วนต่าง มันจะลิงก์กับธุรกิจแบตเตอรี่คือ ชาร์จไฟตอนราคาไฟถูก ปล่อย discharge แบตฯ ตอนราคาสูง...ที่เราทำตอนนี้มีโปรเจกต์ที่ญี่ปุ่น ตำบล Tono เป็นแบตเตอรี่ฟาร์มขนาด 58 เมกะวัตต์-ชั่วโมง...ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อตอบสนองเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

    “ตลาดที่สามารถ trade ไฟได้เสรี เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อเมริกา ในประเทศไทยค่อนข้าง regulated คิดว่าในอนาคตอาจเปลี่ยนแปลงเป็น full energy trading ได้... เราขายเป็น wholesale market และมีคนซื้อมาทำ distribute เป็น retail ผู้ซื้อเป็น private company”

    4. ธุรกิจอี-โมบิลิตี้ (e-Mobility) ให้บริการในรูปแบบการสัญจรทางเลือกครบวงจร (Mobility-as-a-Service หรือ Maas) เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนส่งและการเดินทางของลูกค้า ทั้งระบบจัดการการเดินทางและขนส่งด้วยยานพาหนะไฟฟ้าผสานดิจิทัลแพลตฟอร์ม และบริการด้านพลังงานสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า พร้อมบริการหลังการขาย ซึ่งมี 3 บริการคือ  Vehicle-as-a-Service เป็นการออกแบบระบบจัดการการเดินทางและขนส่งด้วยยานพาหนะไฟฟ้า ซึ่งมีทั้งมอเตอร์ไซค์ รถ 3 ล้อ รถยนต์ ขณะนี้ยังให้บริการเฉพาะในกรุงเทพฯ และมีแผนจะขยายบริการไปยังภาคอื่นๆ 

    Energy-as-a-Service เป็นบริการด้านพลังงานสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า ทั้งแบตเตอรี่ สถานีชาร์จและสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ และ Platform-as-a-Service เป็นการออกแบบดิจิทัลแพลตฟอร์มให้ใช้งานง่าย เพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการยานพาหนะ ช่วยบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตและประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น แพลตฟอร์มสำหรับบริการโมบิลิตี้แชร์ริ่ง ไรด์แชร์ริ่ง ระบบจัดการยานพาหนะ ระบบจัดการซ่อมบำรุง และระบบจัดการแบตเตอรี่ เป็นต้น 

    5. ธุรกิจพัฒนาเมืองอัจฉริยะและจัดการพลังงาน (smart city & energy management) นำเสนอโซลูชันพลังงานสะอาดแบบครบวงจรและระบบจัดการพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจและการจัดการพลังงานด้วยเทคโนโลยี AI และ IoT ทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบการใช้พลังงาน โดยร่วมมือกับพันธมิตรซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพของประเทศไทย  

    “เรามองว่าธุรกิจเกี่ยวกับการ manage ไฟในอาคาร ตอนนี้อาคารเป็น industry ใช้ไฟเยอะมาก เรามองว่าเทรนด์ของการเป็น energy management ในอาคารใดก็ตามน่าจะมีการใช้ไฟมากขึ้น เรามี solution ในการทำให้พลังงานความเย็นในอาคารมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้ซอฟต์แวร์ที่ผลิตเองเพื่อ manage energy load ในอาคารหรือนิคมฯ ช่วยลดการใช้พลังงานและลดค่าไฟฟ้าของอาคารนั้นๆ ด้วย”

    นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนในอีกหลายประเทศ เกณฑ์ในการเลือกดูจากการที่เป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ระดับหนึ่งหรือกำลังเติบโตทางเศรษฐกิจ ปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้ประมาณ 3 พันล้านบาท มีกำไรจากการขายธุรกิจ 5 พันล้าน เฉพาะครึ่งปีแรกของปี 2566 มีรายได้ประมาณ 3.8 พันล้าน เติบโตจากปีที่แล้ว 100% และปี 2567 คาดว่าจะเติบโตในอัตราใกล้เคียงกัน 




ดีมานด์ของโลก เค้กก้อนใหม่ 

    สินนท์เอ่ยถึงเป้าหมายการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยอิงจากความต้องการใช้พลังงานของทั้งโลก ซึ่งอยู่ที่ 30,000 เทราวัตต์-ชั่วโมง โดยครึ่งหนึ่งเป็นดีมานด์ของเอเชีย (รวมจีนและอินเดีย) ตามที่คาดการณ์ไว้คือปี 2050 จะมีความต้องการเป็น 50,000-70,000 เทราวัตต์-ชั่วโมง

    “ครึ่งหนึ่งของ 30,000 เทราวัตต์-ชั่วโมงเป็นเอเชีย global demand เพิ่มเป็นเท่าตัว แปลว่าจะมีโลกอีกใบหนึ่งเป็นเอเชียทั้งหมด เป็นพลังงานสะอาด เราเลยมองว่า positioning ในเอเชียเป็นพลังงานสะอาด”

    อุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษมากที่สุดคือ การผลิตไฟฟ้า เช่น ผลิตจากถ่านหิน แก๊ส ส่วนการเดินทางโดยยานพาหนะต่างๆ เช่น รถไฟ เครื่องบิน เรือ รถ ก็ใช้พลังงานไม่น้อยเช่นกัน รวมถึงการใช้พลังงานในอาคารหรืออุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ กิจกรรมทั้งหมดนี้บริโภคพลังงานจำนวนมหาศาล และเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องได้รับการแก้ไข ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค หรือระดับโลก ซึ่งบ้านปู เน็กซ์ สามารถหาโซลูชันมาตอบโจทย์ให้กับกิจกรรมข้างต้นได้ เพราะบริษัทมีธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจอี-โมบิลิตี้ และการจัดการพลังงาน 

    “เราเป็น tailor-made solutions สำหรับลูกค้า เรามี total solutions ในการ customize ให้ลูกค้า ไม่ว่าเป็นโรงงาน อาคารเชิงพาณิชย์ บริษัทโลจิสติกส์...ตัว energy source ทั้งถ่านหิน แก๊ส อยู่เท่าเดิม แต่เค้กก้อนใหญ่ขึ้น ทางด้านพลังงานตลาดโลกแต่ละประเทศโตไม่เหมือนกัน ยุโรปใช้พลังงานสะอาดได้เพราะเป็น develop country ไปแล้ว แต่ Southeast Asia ยังทำไม่ได้ ไม่งั้นค่าไฟจะแพงมาก คิดว่าบ้านปูก็เหมือนกัน ต้องแคร์ environment และ social ด้วย คนจะอยู่ยังไงถ้าค่าไฟแพง...

    “ผมมองว่าบ้านปู เน็กซ์ จะเข้าไปมีส่วนร่วมค่อนข้างเยอะ ในตลาด retail การใช้ไฟในช็อปปิ้งมอลล์ โรงงาน โรงเรียน หัวใจของเราคือตัว energy management platform เป็นจุดที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการ manage ไฟใน retail ต่างๆ และนำ solution ทั้งหมด ซึ่งเรามีอยู่แล้ว (5 กลุ่มธุรกิจ) ไปให้บริการลูกค้า ซึ่งตลาด Southeast Asia จะทำเรื่องนี้ได้ในอนาคต แต่เราไม่ได้มองแค่ Southeast Asia เรามองตัวเองว่าเป็น Asia-Pacific ที่มีจีน ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ” 


ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และ BANPU NEXT



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : นำพล มลิชัย ผนึกกำลังติดปีก SCGD

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine