ศิรอาภา ศิริวิริยะกุล เพิ่มพลังทรัพย์ในดิน KTIS - Forbes Thailand

ศิรอาภา ศิริวิริยะกุล เพิ่มพลังทรัพย์ในดิน KTIS

ต้นกล้าที่ได้รับการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งพร้อมผสานศาสตร์กระบวนการคิดเชิงออกแบบสานต่อความยั่งยืนอาณาจักรหมื่นล้านของครอบครัวเดินหน้าผลัดใบรับโอกาสในธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มากกว่าน้ำตาลสู่การขับเคลื่อนองค์กรสุขสมดุล ตอกย้ำปรัชญา “ชาวไร่อ้อยมั่งคั่ง กลุ่ม KTIS มั่นคง”


    ภาพการทำงานหนักขยายกิจการครอบครัวให้เติบโตควบคู่กับการสร้างสรรค์คุณค่าทางสังคมได้รับการถ่ายทอดในความทรงจำตั้งแต่เริ่มต้นยุคบุกเบิกจากร้านโชห่วย “แพ่ ซ่งง้วน” ของจรูญและหทัย ซึ่งข้ามน้ำข้ามทะเลแดนมังกรมาตั้งรกรากที่จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมปลูกฝังความมุ่งมั่น อดทน และความซื่อสัตย์ให้ทายาท 9 คน ยึดเป็นหลักสานต่อเส้นทางการค้าที่สามารถขยายขอบเขตครอบคลุมภาคเหนือตอนล่าง โดยมีประพันธ์ซึ่งเป็นบุตรชายคนที่ 2 ของจรูญและหทัยเป็นกำลังหลักในรุ่น 2 ต่อยอดการเป็นยี่ปั๊วกระจายสินค้าน้ำตาลทรายในจังหวัดนครสวรรค์สู่บริษัทผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายครบวงจรรายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ ได้แก่ น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายดิบ และน้ำเชื่อม

    นอกจากนั้น กลุ่มครอบครัวศิริวิริยะกุลยังเล็งเห็นโอกาสการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจรจากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายที่ทำให้เกิดวัสดุเหลือใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาล ได้แก่ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งใช้ชานอ้อยเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลเป็นวัตถุดิบหลัก นำไอน้ำและไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาล-ทรายของกลุ่มบริษัท และจำหน่ายไฟฟ้าส่วนที่เหลือให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมถึงธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายเอทานอล ทั้งเอทานอลที่ใช้ในอุตสาหกรรมและใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยใช้กากน้ำตาลจากโรงงานน้ำตาลทรายของบริษัทเป็นวัตถุดิบหลัก



    ขณะเดียวกันยังต่อยอดธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย และบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากเยื่อชานอ้อย ได้แก่ เยื่อกระดาษชนิดแห้ง เยื่อกระดาษชนิดเปียก บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากเยื่อชานอ้อย เช่น ภาชนะชานอ้อย และหลอดชานอ้อย รวมทั้งธุรกิจผลิตและจำหน่ายวัสดุปรับปรุงดินและปุ๋ยอินทรีย์ โดยใช้กากตะกอนหม้อกรอง (filter cake) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลและกากตะกอนจากกระบวนการผลิตก๊าซชีวภาพและการผลิตเอทานอลนำมาผลิตเป็นวัสดุปรับปรุงดินและปุ๋ยอินทรีย์ชนิดผงและชนิดเม็ด

    “ธุรกิจแรกของครอบครัวเป็นร้านโชห่วยที่นครสวรรค์ และขยายเป็นยี่ปั๊วกระจายสินค้า ซึ่งคุณปู่คุณย่ามีแนวทางการขายที่เน้นความซื่อสัตย์ จริงใจ เช่น ถ้าราคาสินค้าจะลงก็บอกไม่ให้ซื้อจำนวนมาก หรือให้ซื้อเก็บไว้ถ้าราคากำลังจะขึ้น ทำให้เราสามารถขยายกิจการเป็นซัพพลายเออร์ใหญ่อันดับต้นๆ ของนครสวรรค์ จนกระทั่งมีโรงงานน้ำตาลประกาศขาย เราก็รวมเงินกันลงทุนโรงงานน้ำตาล โดยคุณพ่อเข้ามาช่วยคุณปู่เริ่มต้นธุรกิจน้ำตาลจากขนาดเล็กอันดับ 2 ของไทยเติบโตติดอันดับ top 3 ของประเทศ และต่อยอดธุรกิจ more than sugar เพิ่มมูลค่าของเสียจากกระบวนการผลิตน้ำตาล เช่น การผลิตไฟฟ้า แอลกอฮอล์ ซึ่งช่วงโควิด-19 ที่ทั่วโลกขาดแคลนแอลกอฮอล์คุณพ่อบอกว่า เราเป็นผู้ผลิตแอลกอฮอล์เองจะไม่ปล่อยให้คนไทยไม่มีแอลกอฮอล์ใช้ เราจึงทำโครงการแอลกอฮอล์ช่วยชาติกระจายทั่วประเทศ”

    ศิรอาภา ศิริวิริยะกุล ผู้อำนวยการสำนักกลยุทธ์องค์กร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS วัย 39 ปี เล่าถึงการสานต่อธุรกิจของครอบครัวรุ่นที่ 4 ในฐานะบุตรสาวคนกลางของประพันธ์ ซีอีโอกลุ่ม KTIS และศิริวรรณ ด้วยความสามารถแปรเปลี่ยนความรู้ปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยครอบครัวปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารได้สำเร็จ และรับมอบหมายให้รับผิดชอบการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2557

    “เราเกิดในช่วงที่คุณพ่อกำลังทุ่มเททำงานหนัก พอเริ่มโตอายุไม่ถึง 10 ขวบคุณพ่อก็ให้ไปเดินในโรงงานทำให้ซึมซับการทำธุรกิจโดยไม่รู้ตัว จนถึงวันที่เริ่มเข้ามาช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งทำให้เรียนรู้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาวางแผนกับไฟแนนซ์ การดึงผู้ร่วมทุนสิงคโปร์เข้ามา การเจรจากับธนาคาร สุดท้ายประมาณ 1 ปีก็สำเร็จและจากการเรียนเศรษฐศาสตร์ทำให้มองว่า การเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยให้เรามีระบบการทำงานเป็นมืออาชีพและสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน เราจึงนำเสนอไอเดียกับคุณพ่อและพี่น้องคุณพ่ออีก 8 คนให้เข้าใจภาพการเข้าตลาดฯ จนกระทั่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบโปรเจกต์นี้”


    หลังจากนั้นศิรอาภาจึงตัดสินใจศึกษาต่อปริญญาโท Master of Science in Management จาก Stanford Graduate School of Business และหลักสูตร Design Leadership โรงเรียน Stanford Design School ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) ที่สามารถปรับใช้ได้ในธุรกิจ และเป็นแนวทางที่สตาร์ทอัพใช้สร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ในขณะนั้น

    “ช่วงที่เรียนต่อปริญญาโทหลักสูตรธุรกิจเราได้เรียนวิชาที่ชอบมากเกี่ยวกับ design thinking ซึ่งเป็นวิชาที่คนทั่วโลกตั้งใจบินมาเรียนที่นี่ รวมถึงได้ลองทำโปรเจกต์ design thinking แก้ปัญหาให้ SAP อเมริกา ทำให้เราได้เรื่องความคิดนอกกรอบและ improvisation หรือการแสดงละครแบบไม่มีบท เพราะในชีวิตจริงไม่มีวันพร้อม เราไม่ต้องรอให้พร้อมทุกอย่างแต่ต้องเริ่มเลย โดยแนวคิดนี้ช่วยให้เรากล้าทำสิ่งต่างๆ อย่างการเปิดคอร์สสอน design thinking ที่อเมริกาเพิ่มประสบการณ์ความรู้เกี่ยวกับ design thinking และเรียนจบกลับมาก็ยังจัด workshop ให้น้องๆ บรรยายมหาวิทยาลัยหรือองค์กรต่างๆ”


เสริมความแข็งแกร่งธุรกิจ

    ผลงานพิสูจน์ความสามารถของทายาทคลื่นลูกใหม่สะท้อนชัดในกลยุทธ์การดำเนินงานที่นำกระบวนการคิดเชิงออกแบบหรือ design thinking ปรับใช้ในการบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว ด้วยการแก้ปัญหาและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ช่วยให้ทรัพย์ไพรวัลย์รีสอร์ท และศูนย์การเรียนรู้ช้างพิษณุโลกบนพื้นที่ 900 ไร่ สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงเสริมความแข็งแกร่งให้อาณาจักรน้ำตาลและธุรกิจเกี่ยวเนื่องเดินหน้าขยายธุรกิจต่อเนื่องในระยะยาว

    “งานแรกเรานำ design thinking ใช้ในโปรเจกต์ทรัพย์ไพรวัลย์รีสอร์ท ซึ่งเรามีช้างที่ดูแลอยู่ 5 เชือก ทุกเช้าช้างจะมาหาลูกค้าที่รีสอร์ทและเราสังเกตเห็นความเครียดของช้าง เราจึงร่วมกันคิดหาทางแก้ปัญหากับทีมงานด้วยการให้ลูกค้าเข้าป่ามาหาช้างแทน นอกจากช้างไม่เครียดยังสร้างความประทับใจให้ลูกค้าได้ใกล้ชิดธรรมชาติหลังจากงานอสังหาฯ เราเข้ามาช่วยงานในกลุ่ม KTIS ฝ่ายกลยุทธ์และดูแลเรื่องบุคลากรด้วย โดยคุณพ่อให้โจทย์เรากับน้องๆ รุ่นที่ 4 ว่า ท่านและรุ่น 3 จะเกษียณอายุใน 3 ปี ท่านต้องการเห็นองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ผ่านมาแล้ว 1 ปี เรากำลังวางโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ในรุ่น 4 ให้ชัดเจนขึ้น ร่วมกันทำงานกับมืออาชีพสร้างการเติบโตให้บริษัทตามเป้าหมายที่วางไว้”

    ศิรอาภากล่าวถึงการผนึกกำลังร่วมกันรับโจทย์สร้างองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยเล็งเห็นความสำคัญในการปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานจากรูปแบบธุรกิจครอบครัวในระบบเถ้าแก่ที่เน้นการลงพื้นที่ทำทุกอย่างเอง ทุกโรงงานพัฒนาเป็นการเพิ่มความสามารถทีมงานและระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมสานต่อปรัชญาการทำธุรกิจ “ชาวไร่อ้อยมั่งคั่ง กลุ่ม KTIS มั่นคง”

 


ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยยังหวาน! SCB EIC คาดรายได้ปี 2025 ขยายตัวดี ผลผลิตอาจแตะ 10.6 ล้านตัน

​อ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2568 ในรูปแบบ e-magazine