พชร อารยะการกุล บิดจังหวะ บลูบิค ลงล็อกการแข่งขันธุรกิจยุคใหม่ - Forbes Thailand

พชร อารยะการกุล บิดจังหวะ บลูบิค ลงล็อกการแข่งขันธุรกิจยุคใหม่

สองสิ่งสำคัญที่จะนำพาธุรกิจแข่งขันในปัจจุบัน คือ "การวางแผนกลยุทธ์ และ การปรับใช้เทคโนโลยี" สองสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องใหญ่ ยิ่งในยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ที่องค์กรธุรกิจต้องมีความเข้าใจแบบลึกซึ้ง

“กลยุทธ์และเทคโนโลยี” ยังถือเป็นคีย์สำคัญในการสร้างธุรกิจของบลูบิค ธุรกิจที่ปรึกษาสัญชาติไทยที่นำโดย พชร อารยะการกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด ที่นำจิตวิญญาณแบบสตาร์ทอัพมาก่อตั้งธุรกิจและเริ่มต้นรวบรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีมายเซ็ตคล้ายกันหลอมรวมเป็นวิชั่นทางธุรกิจเดียวกัน ตั้งเป้าเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจและเทคโนโลยีให้สามารถแข่งขันในน่านน้ำธุรกิจที่ยั่งยืน   จังหวะของผู้ก่อตั้ง จากความชื่นชอบและโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีจากคอมพิวเตอร์ตั้งแต่วัยเด็กในยุคที่คอมพิวเตอร์แบบประกอบเป็นที่นิยมและมีจำหน่ายในประเทศไทย เมื่อรู้ตัวอีกที พชร ได้พบว่าเวลาในยามว่างหมดไปกับการคลุกคลีกับการค้นคว้าการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ค้นหาองค์ความรู้จากอินเตอร์เน็ต จนสามารถลงแข่งขันการเขียนโปรแกรมระดับประเทศและระหว่างประเทศ ต่อยอดความรู้โดยเลือกสอบเข้าเรียน คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากเรียนจบปริญญาตรี พชร เลือกทำงานกับ ​ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์  หรือ PWC บริษัทที่ปรึกษาข้ามชาติ หนึ่งใน 4 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในด้านของการตรวจสอบบัญชีและการให้คำปรึกษา รับผิดชอบในเรื่องไอที “หลังจากที่เราทำงานในลักษณะของไอที คอนซัลติ้ง ไปได้สักพักหนึ่งเริ่มเห็นตัวเองชัดขึ้น พอได้สัมผัสธุรกิจทางด้านที่ปรึกษาทำให้ชอบมาก อาจจะด้วยพื้นฐานที่เห็นครอบครัวทำธุรกิจมาตั้งแต่เด็กในหลายธุรกิจ” พชร อารยะการกุล ซีอีโอ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด กล่าว การได้นำความรู้ด้านเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาตัวธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์การทำงาน ทำให้ พชร ตัดสินใจเลือกเรียนต่อปริญญาโทด้าน MBA และเริ่มต้นค้นหาว่ามีโรงเรียนธุรกิจ หรือ Business School ที่สามารถต่อยอดความสามารถให้ไปสูงขึ้น จากการค้นหาพบว่า Kellogg School of Management แห่งรัฐ Illinois สหรัฐอเมริกา น่าจะเป็นโรงเรียนธุรกิจระดับโลกที่ใช่สำหรับเขา โดยเฉพาะหลักสูตรที่เกี่ยวกับการวางกลยุทธ์การตลาดที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งยังเป็นแหล่งรวบรวบปรมาจารย์ชื่อดังเข้ามาสอน อาทิ Philip Cotler ปรมาจารย์ด้านมาร์เก็ตติ้ง และรวมไปถึงอาจารย์พิเศษที่เป็นซีอีโอ หรือ ซีเอ็มโอ จากบรรดาบริษัทที่ติดในการจัดอันดับ 500 Fortune เข้ามาแบ่งปันประสบการณ์ ช่วงเวลา 2 ปี ในโรงเรียนธุรกิจแห่งนี้ นอกจากองค์ความรู้ทางด้านธุรกิจที่ได้รับการสอนและทดสอบ  พชร ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่มาจากหลากหลายสายงาน ทั้งวิธีคิดหรือมุมมองการตัดสินใจและการแก้ปัญหาในการทำงานจากมุมมองจากสายงานต่างๆ อาทิ วนิธนกิจ สายการเงิน ผู้บริหารระดับสูง ทำให้เข้าใจลักษณะการทำงานในสายงานต่างๆ เหล่านั้น โดย พชร ไปสะดุดตากับสายอาชีพหนึ่งที่คล้ายกับงานที่เคยทำ เป็นตำแหน่งที่เรียกว่า “ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์” หรือ Strategy Consulting ถือเป็นขั้นสูงสุดของที่ปรึกษา เพราะเป็นการให้คำปรึกษากับ CEO และ ผู้บริหารระดับ C-Level ในการวางกลยุทธ์เพื่อสร้างผลกำไรให้ธุรกิจและการสร้างธุรกิจในระยะยาว ซึ่งหลังจากเรียนจบปริญญาโทที่ Kellogg School of Management เขาจึงมุ่งหน้าตัดสินใจเลือกทำงานที่ BCG หรือ Boston Consulting Group   ไม่รอจังหวะ หลังสั่งสมประสบการณ์ด้านที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ จาก BCG พชรได้มีแนวคิดในการก่อตั้งธุรกิจของตนเองโดยร่วมกับผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 คนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยี การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อน ร่วมกันสร้างฝันให้ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมองเห็นโอกาสในการนำความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีและการทำหน้าที่ในการเป็นที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ โจทย์ใหญ่ของกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งในช่วงเริ่มต้นคือการหา “โมเดลโครงสร้างธุรกิจที่ตอบโจทย์” โดยแนวความคิดเบื้องต้นของพวกเขาคือต้องการสร้างโมเดลธุรกิจแบบสตาร์ทอัพมาสร้างธุรกิจ แต่ไม่ค้นพบรูปแบบที่ชอบที่สุด “หลังจากไม่เจอรูปแบบธุรกิจที่ชอบที่สุดและไม่อยากรอนานเกินไป สุดท้ายเราก็ที่โมเดลที่สามารถสร้างนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศได้” พชร กล่าว โดยเป้าหมายดังกล่าว ต้องการนำ บลูบิค เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยธุรกิจไทยที่ดำเนินกิจการแบบดั้งเดิมพัฒนาธุรกิจให้มีองค์ความรู้ มีส่วนในการช่วยสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์โลกธุรกิจยุคใหม่ เพราะธุรกิจในประเทศยังมีอีก 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ที่เป็นธุรกิจประเภทดั้งเดิมและสามารถสร้างมูลค่าให้กับระบบเศรษฐกิจได้ บลูบิค จึงได้ถือกำเนิดขึ้นจากผู้ก่อตั้ง 3 คน เริ่มต้นสั่งสมคน สั่งสมความรู้ และ กระบวนคิดการทำงาน นำมาประกอบกันเป็นบริการต่างๆ โดยความท้าทายในช่วงเริ่มต้นของบลูบิค คือการบริหารต้นทุนและการสร้างธุรกิจให้ยืนได้ในระยะยาว เนื่องจากทั้ง 3 คนออกจากชีวิตพนักงานประจำมาเริ่มธุรกิจ ก้าวแรกสำคัญเสมอ เขาเริ่มต้นหาทีมงานที่มีความสามารถมีประสบการณ์ในบริษัทที่ปรึกษาข้ามชาติ มีกระบวนการทำงานไปในทิศทางของบริษัทและรุกสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในส่วนที่เป็นดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ซึ่งในช่วงเวลานั้นบริษัทที่ปรึกษาหลายๆ แห่งยังไม่ได้โฟกัส ในช่วงเริ่มต้นลูกค้ากลุ่มแรกๆ ที่พวกเขาได้รับจะเป็นงานจากบางหน่วย บางแผนก ขององค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทย แน่นอนไม่ใช่ดีลสัญญาขนาดใหญ่ แต่เป็นจังหวะก้าวที่สำคัญยิ่งในช่วงเริ่มต้น เพราะเหมือนเป็นการนำธุรกิจไปสร้างความเชื่อมั่น ไปสร้างเครดิตการทำงาน กระทั่งบริษัทเริ่มเป็นที่รู้จักจนเกิดการบอกต่อ “ความเชื่อมั่น” คือกุญแจสำคัญของธุรกิจทุกประเภทโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจที่ปรึกษา แม้ทีมงานจะแบกประสบการณ์จากบริษัทระดับโลกและเป็นกลุ่มคนที่เป็นที่รู้จักในวงการที่ปรึกษา บลูบิค ในช่วงตั้งไข่ที่กำลังสะสมชื่อเสียงและความเชื่อถือ จึงมีบ้างที่ถูกปฏิเสธงาน แต่เมื่อได้รับโอกาสในการทำงาน พวกเขาทำงานอย่างเต็มที่ ทำเกินกว่าขอบเขตการทำงาน และไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดมือ จากทีมงาน 3-4 คนในวันแรก บลูบิค เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องมีทีมงานเพิ่มขึ้น จาก 20 คน สู่ราว 120 คน ในปัจจุบัน “จากตอนแรกที่โดนปฏิเสธเมื่อคนเริ่มยอมรับ ประตูเปิดกว้างมากขึ้นในทุกๆ วันที่เราทำงาน ความคาดหวังมาเท่าไร เราต้องใส่ให้เกินลูกค้าคาด” เร่งจังหวะธุรกิจ เมื่อ บลูบิค ดำเนินธุรกิจได้ระยะหนึ่งในยุคมีทีมงานราว 40 คน พวกเขาได้ตอบโจทย์และแก้ปัญหาการทำงานที่หลากหลายจากลูกค้า และเป็นช่วงเวลาที่ บลูบิค ยกระดับการวางกลยุทธ์ธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบโครงสร้างดิจิทัล ผสมผสานเทคโนโลยีที่ความซับซ้อน มาให้บริการลูกค้าเป็นระบบที่สามารถเอาไปใช้จริงได้ในธุรกิจ “คนที่เราทำงานด้วยเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ เรื่องดิจิทัลคนส่วนใหญ่จะขาดการวางกลยุทธ์ที่ถูกต้อง เพราะไปมองเรื่องดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน เป็นเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว ซึ่งไม่ใช่ เรื่องดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน จริงๆ เป็นเรื่องธุรกิจ เพราะเป็นงานที่สร้างกลยุทธ์ต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าธุรกิจแต่ละประเภทมีจุดไหนที่ต้องปรับปรุง จุดไหนที่เป็นคอขวดของธุรกิจ จุดไหนสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน จุดไหนเป็นจุดที่สร้างกำไรอย่างแท้จริง” พชร กล่าว ปัจจุบัน บูลบิค แบ่งการให้บริการเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ที่ปรึกษาทางธุรกิจ, การพัฒนาองค์กรสู่ดิจิทัล, การออกแบบประสบการณ์ดิจิทัล, ความเป็นเลิศในการดำเนินงาน และ การบริหารข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ขั้นสูง ซึ่งในแต่ละด้านของการบริการเป็นการผสมผสานและนำองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้เพื่อเสริมอาวุธตามจุดประสงค์ทางธุรกิจที่ได้รับจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ Big Data, AI, Blockchain, IoT ซึ่งจะก่อให้เกิดธุรกิจที่ยั่งยืน ท่ามกลางแข่งขันในโลกธุรกิจปัจจุบัน หนึ่งในการสร้างธุรกิจให้ยั่งยืน คือการสร้างและเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล หรือ Data Driven Business เพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางธุรกิจ ผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มจากข้อมูลต่างๆ ที่องค์กรหรือธุรกิจได้สะสม มาผสมผสานเข้ากับองค์ประกอบสำคัญ อาทิ ข้อมูลจากเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งมีจุดเด่นด้านความโปร่งใสและความปลอดภัย อีกองค์ประกอบหนึ่งคือ เครือข่าย Internet of Thing ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลจาก ฮาร์ดแวร์ เซ็นเซอร์ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่มีการเชื่อมต่อเข้าสู่อินเตอร์เน็ต ทำให้เกิดการเก็บข้อมูลในลักษณะ Big Data ซึ่งเมื่อธุรกิจมีข้อมูลมากพอจะนำไปสู่เกิดเทคโนโลยีที่เรียกว่า Deep tech หรือเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะนำไปสู่การทำธุรกิจที่มีต้นทุนต่ำลงก่อให้เกิดผลกำไรมากขึ้นในท้ายที่สุด “พอเริ่มสเกลธุรกิจขึ้นมาในระดับที่แข่งขันได้กับบริษัทต่างชาติ สิ่งที่ทำให้บลูบิคเแตกต่างออกไปคือการหาเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนมากขึ้น มาทำให้ตัวธุรกิจต่อยอดจากเดิมไปได้ จึงเป็นสาเหตุที่เริ่มลงทุนในเซอร์วิสที่เป็นลักษณะของบิ๊กดาต้า เอไอ ไอโอที บล็อกเชนสำหรับเอ็นเตอร์ไพรส์ มากขึ้น แล้วนำพวกเซอร์วิสต่างๆ เหล่านี้ไปประกอบกัน ออกแบบกลยุทธ์ให้ถูกต้องทำให้ตัวเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวธุรกิจได้” นอกจากความเข้าใจและการลงทุนด้านเทคโนโลยีแล้วนั้น จุดแข็งสำคัญของบลูบิค ซึ่งเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนธุรกิจที่ปรึกษาสัญชาติแห่งนี้ หนึ่งคือการมีทีมงานที่มีความเข้าใจในบริบทการทำธุรกิจ สองการมีทีมงานที่มีความรู้ความเข้าใจทางด้านธุรกิจและดิจิทัล และส่วนที่สามคือการส่งมอบผลงานซึ่งเกินความคาดหวังของลูกค้า “บุคลากรของเรามีความรู้ความเข้าใจทั้งในด้านของดิจิทัลและธุรกิจในบุคคลคนเดียวกัน แปลว่าเวลาเราคุยไม่ว่าจะเป็นภาษาด้านดิจิทัลหรือภาษาธุรกิจ บุคลากรของเราสามารถพูดคุยได้แบบจบครบกระบวนความและสามารถที่จะตีโจทย์ได้ เราไม่มองโจทย์สองโจทย์แยกกัน สองเรื่องนี้ต้องไปด้วยกันเสมอ เราจึงพยายามสร้างทีมงานให้เข้าใจโลกทั้งสองโลก” ปัจจุบัน กลุ่มลูกค้าของบลูบิค เป็นกลุ่มธนาคารหลักในประเทศ อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย หรือองค์กระดับประเทศอย่าง กลุ่ม ปตท. โดยหนึ่งในผลงานในฐานะที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัลคือการเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนากลยุทธ์ให้กับ TQM ธุรกิจประกันภัย ที่ตั้งเป้าปรับการทำงานการประกันแบบดั้งเดิมของธุรกิจสู่การเป็น อินชัวร์เทคฯ และเมื่อเกิดสถานการณ์ของโรคระบาดโควิด-19 กระบวนการทำงานต่างๆ ของบริษัทประกันภัยแห่งนี้สามารถเดินได้อย่างราบรื่น ไม่สะดุด เนื่องจากองค์กรได้เตรียมทำงานเพื่อรองรับการทำงานแบบดิจิทัลในระยะหนึ่ง ทำให้เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างโควิด-19 TQM สามารถปรับตัวการทำงานได้อย่างทันท่วงทีไม่ว่าจะเป็นการทำงานทางไกล การประสานงานผ่านระบบเวอร์ชวลในการให้บริการและเดินหน้าสร้างผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างไม่สะดุด การเติบโตของ บลูบิค ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจไทยแสดงให้เห็นได้ว่าการจัดการขึ้นตอนสร้างธุรกิจอย่างเป็นระบบสามารถสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ พชร กล่าวย้ำถึงหลักคิดที่เขายึดมั่นในการทำงานคือการเตรียมความพร้อมและการทำผลงานให้เกินหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์จากโอกาสที่ได้รับ “โอกาสจะมีประโยชน์เฉพาะจากคนที่พร้อมเท่านั้น เพราะฉะนั้นในทุกครั้ง ก่อนที่เราจะได้รับโอกาสอะไรก็ตาม เราต้องทำตัวเองให้พร้อมก่อน” พชร อารยะการกุล กล่าวทิ้งท้ายถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้ บลูบิค ขยายธุรกิจเติบโตอย่างมั่งคงบนน่านน้ำธุรกิจที่ตนเองสร้างและสามารถแข่งขันชิงชัยได้ Forbes Fact: -บลูบิค มาจากคำสองคำ "บลู" มาจาก คำว่า “บลูโอเชียน” คือการพยายามคิดวิธีการต่างๆ เพื่อหาน่านน้ำที่เป็นน่านน้ำสีฟ้ายังไม่มีเลือดนองจากการแข่งขันที่ดุเดือด สำหรับคำว่า "บิค" มาจาก "ลูกบาศก์ของรูบิค" หรือที่เรียกกันว่า "ลูกรูบิก" ที่ต้องหมุนให้ทั้ง 6 ด้านสีตรงกัน เป็นสัญลักษณ์แห่งการแก้ปัญหา การทำงานของสมองที่เป็นระบบ ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine