วอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพฯ เส้นสายแห่ง Art Deco จาก New York สู่ Bangkok - Forbes Thailand

วอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพฯ เส้นสายแห่ง Art Deco จาก New York สู่ Bangkok

เป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เครือโรงแรม Hilton ส่งแบรนด์ ‘วอลดอร์ฟ แอสโทเรีย’ สู่ตลาด แบรนด์ที่มีอายุ 87 ปีจาก New York เมื่อมาเปิดตัวในกรุงเทพฯ การออกแบบจึงใช้กลิ่นอายความหรูหราแบบ Art Deco ด้วยเส้นสายโลหะทองเหลืองผสานเข้ากับรายละเอียดศิลปะไทยที่สอดแทรกไว้ วอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในอาคาร mixed-use แมกโนเลีย ราชดำริ บูเลอวาร์ด ซึ่งมีทั้งคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน และโรงแรมวอลดอร์ฟฯ ซึ่งส่วนโรงแรมจะใช้อาณาบริเวณชั้น 1-16 และชั้น 55-57 ของตึกรูปทรงโค้งมนและเล่นลวดลายเกลียวคลื่นสีขาวสื่อถึงกลีบดอกแมกโนเลียแห่งนี้ ในงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการของโรงแรมเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2018 Martin Rinck รองประธานบริหารและหัวหน้าใหญ่กลุ่มโรงแรมและรีสอร์ตสายลักชัวรี แอนด์ ไลฟ์สไตล์ เครือ Hilton รับหน้าที่อธิบายความเป็นมาของวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 แบรนด์ระดับลักชัวรีของเครือร่วมกับแบรนด์ Conrad ที่คนไทยรู้จักดี, แบรนด์ LXR และแบรนด์ Canopy
ภายนอกอาคาร โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพฯ
สำหรับวอลดอร์ฟ แอสโทเรียนั้นได้รับการก่อตั้งครั้งแรกโดย Conrad Hilton ตั้งแต่ปี 1931 ที่ New York ขณะนี้สาขา New York อยู่ระหว่างรีโนเวทใหม่พร้อมเปิดให้บริการอีกครั้งในปี 2021 และจะกลับมาด้วยห้องพักขนาด 650 ตร.ม. ซึ่งใหญ่ที่สุดใน New York ทั้งนี้ ในภูมิภาคเอเชีย แบรนด์วอลดอร์ฟ แอสโทเรีย เคยเปิดตัวมาแล้วที่ Beijing, Shanghai และ Chengdu ประเทศจีน การเปิดตัวที่กรุงเทพฯ จึงนับเป็นแห่งที่ 4 ของเอเชีย และจะตามมาด้วยการเปิดตัวที่มัลดีฟส์ปีหน้า วอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพฯ ออกแบบภายในโดยบริษัท AFSO และ AvroKO สถาปนิกชาวฮ่องกง Andre Fu จาก AFSO อธิบายคอนเซปท์การออกแบบของเขาโดยภาพรวมว่า เป็นการนำความทรงจำจากวอลดอร์ฟฯ สาขา New York ซึ่งเต็มไปด้วยงานดีไซน์แบบ Art Deco มาใช้ แต่ลดทอนสไตล์อเมริกันลงและเติมรายละเอียดศิลปะไทยลงไป
โถงบันไดโค้งสีขาวผสานกับโลหะทองเหลือง
การออกแบบของเขาทั้งส่วนล็อบบี้ ร้านอาหาร ห้องฟังก์ชันจัดเลี้ยงต่างๆ จึงเน้นวัสดุลายหินอ่อนสีขาวและสีน้ำตาลอ่อน ผสมกับการใช้โลหะทองเหลืองเป็นจุดร่วม วางเส้นสายแบบ Art Deco ที่ให้ความรู้สึกหนักแน่นตัดกับสีขาวที่อ่อนช้อย บริเวณที่ Forbes Thailand ได้เข้าเยี่ยมชม อาทิ โถงก่อนขึ้นห้องบอลรูมซึ่งเป็นบันไดโค้งสีขาวขนาดใหญ่ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับงานแต่งงาน เชื่อมต่อกับห้องบอลรูมที่รองรับแขกได้ 330 คน เป็นห้องที่ Fu ออกแบบแชนเดอเลียร์สั่งทำด้วยดีไซน์คล้ายกับโคมที่ให้กลิ่นอายศิลปะไทย
ห้องบอลรูม Art Deco กับแชนเดอเลียร์ที่อ้างอิงศิลปะไทย
ด้าน The Brasserie บนชั้น Upper Lobby เป็นห้องอาหารฝรั่งเศสออกแบบทางเดินรูปเกือกม้าในบรรยากาศผ่อนคลาย ชมวิวเมืองฝั่งราชกรีฑาสโมสรได้อย่างสบายตา ส่วนในห้องพักแต่ละห้องนั้นเราได้ชมห้องพักแบบ 50 ตร.ม.และ 75 ตร.ม. ซึ่งตกแต่งด้วยสีน้ำตาลอ่อน ทั้งสองห้องมี walk-in closet ในตัวและอ่างอาบน้ำ การจัดสรรฟังก์ชันในห้องค่อนข้างแน่นพอสมควรแต่แลกมาด้วยวิวเมืองที่สวยงามของหน้าต่างบานกว้าง นอกจากนั้นแล้ว แขกในวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพฯ จะได้รับบริการผู้ช่วยส่วนตัว (PA) ทุกห้อง
ห้องน้ำในชุดห้องพักแบบ Deluxe
อีกหนึ่งพื้นที่ไฮไลต์ของวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพฯ คือร้านอาหารและบาร์บนชั้น 55-57 ซึ่งส่วนนี้ออกแบบโดย William Harris จาก AvroKO ซึ่งใช้คอนเซปท์ภาพรวมแบบเดียวกับ Fu แต่สร้างความแตกต่างด้วยการใช้โทนสีดำเป็นหลัก เหมาะกับฟังก์ชันงานกลางคืนของบาร์ ชั้น 55 เริ่มต้นด้วยร้านอาหาร Bull & Bear ชื่อเดียวกับร้านใน New York ที่ได้ไอเดียมาจากรูปปั้นกระทิงบน Wall Street โดย Harris ใส่ความเป็นไทยผ่านรูปแกะสลักไม้ Bull & Bear ลวดลายไทยและทำโดยฝีมือช่างไทย รวมถึงโคมไฟเพดานที่ทำจากแก้วลายขนนกซึ่งเขาต้องการจะสื่อถึงขนของพญาครุฑ ร้านนี้เสิร์ฟอาหารทะเลและปิ้งย่างให้ได้หนักท้องก่อนขึ้นไปสู่บาร์ชั้นต่อไป
ประติมากรรม Bull & Bear และแชนเดอเลียร์ขนนกพญาครุฑ
ชั้น 56 คือร้าน The Loft มีความแตกต่างจากชั้นล่างเพราะให้ความเป็นผู้หญิงมากกว่า ด้วยการผสานสีชมพูลงไปในตัวทองเหลือง บาร์ และโซฟา คอนเซปท์โดยรวมเป็นห้องของศิลปินสตรีที่เปิดบ้านให้ทุกคนเข้ามาสังสรรค์กับค็อกเทลสูตรเฉพาะและอาหารว่าง ประดับตกแต่งด้วยโต๊ะบาร์ขนาดใหญ่ที่เลอะสี กล่องเครื่องมือ และงานดราฟท์ภาพศิลปะที่ติดตามผนัง
The Loft บาร์ค็อกเทลแบบอาร์ตนูโวสีชมพู
ขึ้นสู่ชั้น 57 ผ่านทางบันไดสีทองหรูหราที่สื่อความเป็น Art Deco เต็มเปี่ยม ด้านบนคือ The Champagne Bar ครั้งแรกในกรุงเทพฯ ที่มีการเปิดบาร์แชมเปญโดยเฉพาะที่รวบรวมแชมเปญหลายแบรนด์จากหลายแหล่งผลิตมารวมไว้ รวมถึงการออกแบบพื้นที่ให้มีความเป็นส่วนตัว ลึกลับด้วยสีดำแบบผู้ชาย และวิวกรุงเทพฯ ในมุมที่น่าประทับใจ จากการเยี่ยมชมมีเกร็ดที่น่าประทับใจของโรงแรมอย่างการเลือกลดการใช้พลาสติก โดยใช้หลอดโลหะทดแทน และให้น้ำดื่มในกล่องกระดาษแทนขวดพลาสติก รวมถึงการนำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมาใช้ เช่น เบียร์ในมินิบาร์ของห้องเป็นแบรนด์สิงห์ และ วาฬ คราฟท์เบียร์ของไทย
สระว่ายน้ำบนชั้น 16
 
​วิวราชกรีฑาสโมสรชั้น Upper Lobby จากร้าน The Brasserie
 
บันไดสีทองเชื่อมต่อชั้น 55-57
  https://youtu.be/bmbk1lsLTwE   Forbes Facts เจ้าของผู้พัฒนาอาคารแมกโนเลีย ราชดำริ บูเลอวาร์ด คือ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) ภายใต้การนำของ ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ ลูกสาวคนสุดท้องของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ MQDC เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เน้นพัฒนาโครงการระดับกลางถึงบนและโครงการ mixed-use ขนาดใหญ่ เช่น ไอคอนสยาม (ร่วมทุนกับสยามพิวรรธน์และเครือซีพี) วิสซ์ดอม 101 ปุณณวิถี และเดอะ ฟอเรสเทียส์ บนถนนบางนา-ตราด