การบินไทย 9 เดือนปีนี้ กำไรหมื่นล้าน รายได้ 1.15 แสนล้าน - Forbes Thailand

การบินไทย 9 เดือนปีนี้ กำไรหมื่นล้าน รายได้ 1.15 แสนล้าน

"การบินไทย" พลิกกำไรแล้ว 9 เดือนแรกปี 2566 กำไรหมื่นล้าน รายได้ทะยาน 1.15 แสนล้านบาท หลังขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น


    บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/2566 และงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ โดยงบการเงินรวมสำหรับไตรมาส 3 ปี 2566 ประกอบด้วย งบการเงินเฉพาะกิจการ และงบการเงินของบริษัทย่อย 5 บริษัท ได้แก่ 1) บริษัท ไทย-อะมาดอสเซาท์อีสต์เอเชีย จำกัด 2) บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด 3) บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด 4) บริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัด และ 5) บริษัท ทัวร์เอื้องหลวง จำกัด

    ในไตรมาส 3 ปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) จำนวน 37,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,148 ล้านบาท (12.6%) กำไรสุทธิ 1,546 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดของรายได้ ดังนี้

    -รายได้จากค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกิน 30,921 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,458 ล้านบาท (26.4%) สาเหตุหลักเกิดจากปริมาณการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 22.0% คิดเป็นเงินประมาณ 5,300 ล้านบาท

    ในขณะที่มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารเพิ่มขึ้น อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.3% สูงกว่าปกติซึ่งเฉลี่ย 77.0% 

    รายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วย (รวมค่าธรรมเนีมชดเชยค่าน้ำมันและค่าเบี้ยประกันภัย) เพิ่มขึ้น 0.10 บาท (3.5%) หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท

    -รายได้จากการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ จำนวน 3,461 ล้านบาท ลดลง 2,966 ล้านบาท (46.1%) เป็นผลจากมีรายได้จากพัสดุภัณฑ์เฉลี่ยต่อหน่วย (รวมค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมันและค่าประกันภัย) เท่ากับ 8.95 บาท ลดลง 8.98 บาท (50.1%) หรือประมาณ 3,400 ล้านบาท

    โดยมีอัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freight Load Factor) เฉลี่ย 52.7% ต่ำกว่าปีก่อนที่เฉลี่ย 59.1% ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Revenue Freight TonKilometers : RFTK) เพิ่มขึ้น 7.1% คิดเป็นเงินประมาณ 400 ล้านบาท

    -รายได้จากกิจการอื่น ประกอบด้วย รายได้จากหน่วยธุรกิจ ได้แก่ การบริการภาคพื้น ครัวการบิน การบริการคลังสินค้า และรายได้จากกิจการสับสนุนอื่นๆ รวมจำนวน 2,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 232 ล้านบาท (12.5%)

    โดยหน่วยธุรกิจการบริการภาคพื้นและครัวการบินมีรายได้เพิ่มขึ้นจากจำนวนผู้โดยสารของสายการบินลูกค้าเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้จากธุรกิจคลังสินค้า และการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน มีรายได้ลดลง

    -รายได้อื่นสูงกว่าปีก่อน 424 ล้านบาท เนื่องจากดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้น จากเงินสดที่เพิ่มขึ้น

    สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) จำนวน 29,330 ล้านบาท กำไรสูงกว่าปีก่อน 29,878 ล้านบาท รายได้รวมจำนวน 115,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50,330 ล้านบาท (76.8%)

    สาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากการขนส่งเพิ่มขึ้น 48,291 ล้านบาท (80.0%) โดยมีรายได้จากค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกินเพิ่มขึ้น 129.2% จากปริมาณการขนส่งผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วย (รวมค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมันและค่าเบี้ยประกันภัย) สูงกว่าปีก่อน

    ในขณะที่รายได้จากค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์ลดลง 35.5% จากรายได้พัสดุภัณฑ์เฉลี่ยต่อหน่วยลดลง 44.1% ถึงแม้ว่าปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (RFTK) สูงขึ้น 14.6% ก็ตาม

    นอกจากนี้รายได้จากกิจการอื่นเพิ่มขึ้น 24.6% สาเหตุหลักเกิดจากจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารของสายการบินลูกค้าเพิ่มขึ้น

    ค่าใช้จ่ายรวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจำนวน 86,567 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20,452 ล้านบาท (30.9%) สาเหตุหลักเกิดจากค่าน้ำมันเครื่องบินที่เพิ่มขึ้น 8,227 ล้านบาท (31.6%) เป็นผลมาจากจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณการใช้น้ำมันสูงกว่าปีก่อน ในขณะที่ราคาน้ำมันเฉลี่ยต่ำกว่าปีก่อน 21.0%

    ประกอบกับค่าใช้จ่ายดำเนินงานในส่วนที่ผันแปรตามปริมาณการผลิต/การขนส่งเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายคงที่เพิ่มขึ้น 22.5% โดยส่วนหนึ่งจากค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงานเพิ่มขึ้น 19.3% และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น 50.9%

    บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ส่วนใหญ่เกิดจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เงินตราต่างประเทศ การปรับปรุงค่าเช่าพื้นที่สำนักงานดอนเมือง และผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตาม TFRS 9 ถึงแม้ว่าจะมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ และกำไรจากการขายสินทรัพย์ก็ตาม

    โดยในงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว-สุทธิ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,390 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 16,342 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 27,579 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 16,314 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 7.47 บาท สูงกว่าปีก่อน 12.63 บาทต่อหุ้น

    EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขค่าเช่าเครื่องบิน รวมค่าเช่าเครื่องบินคำนวณจากการใช้งานที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hour) 9 เดือนแรกของปี 2566 มีกำไรจำนวน 31,720 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24,958 ล้านบาท


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : โอกาสของไทยในการเป็นผู้นำ Medical Tourism ยุคหลังโควิด

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine