Josef Lakonishok วิถีการลงทุนแนวขี้เกียจ - Forbes Thailand

Josef Lakonishok วิถีการลงทุนแนวขี้เกียจ

FORBES THAILAND / ADMIN
30 Jul 2024 | 09:01 AM
READ 1549

กฎสามัญข้อหนึ่งของนักสังเกตการณ์ตลาดผู้มากประสบการณ์อย่าง Josef Lakonishok ก็คือ อย่าไปตื่นเต้นเวลาที่บริษัทไหนคุยโม้ถึงผลประกอบการที่เติบโตอย่างสวยหรู


    ศาสตราจารย์ 3 คนร่วมกันตีพิมพ์งานวิจัยฉบับหนึ่งเกี่ยวกับความผิดปกติของตลาด นั่นคือ ในระยะยาวหุ้นคุณค่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นเติบโต และทั้งสามคนก็เห็นพ้องต้องกันว่าไหนๆ ก็ค้นพบทฤษฎีนี้แล้วน่าจะลองพิสูจน์ความจริงกันดูสักตั้ง และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของ LSV Asset Management เมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันมีเม็ดเงินที่อยู่ภายใต้การบริหารสูงถึง 9.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

    บริษัทแห่งนี้มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ Chicago และมีกลยุทธ์การลงทุน 25 แบบ ซึ่งมีส่วนผสมการลงทุนที่แตกต่างกัน ครอบคลุมบริษัทขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก  ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชีย และตลาดเกิดใหม่ โดยทุกพอร์ตการลงทุนของบริษัทจะใช้สูตรเดียวกันหมด นั่นคือ เฟ้นหาบริษัทที่เติบโตช้าและไม่น่าสนใจ

    Josef Lakonishok ซึ่งเป็นแกนนำของหุ้นส่วนทั้งสามคนและตัวย่อของนามสกุลเขาคือตัว L ในชื่อของบริษัทอธิบายโดยยกตัวอย่างว่า เขาไม่ชอบหุ้น Nvidia ซึ่งเป็นหุ้นที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งจากการผลิตชิปสำหรับปัญญาประดิษฐ์ แต่เขารักหุ้นอย่าง La-Z-Boy ซึ่งเขามองว่าเป็นเหมือนหุ้นคลาสสิกยอดนิยม โดย LSV ถือหุ้น 4.4% ในบริษัทผลิตเก้าอี้เลานจ์แห่งนี้ “ผมเป็นคนที่มักจะสวนกระแสอยู่เสมอ” Lakonishok กล่าว “ผมไม่ชอบที่จะเป็นเหมือนคนอื่นๆ” 

    การลงทุนแบบเน้นคุณค่าไม่ใช่แนวคิดที่แปลกใหม่แต่อย่างใด อันที่จริงคำว่า “สวนกระแส” นั้นเป็นคำพูดที่ใช้กันเกร่อมาตั้งแต่สมัยที่นักบริหารการเงิน David Dremen ทำให้คำนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายจากหนังสือของเขาที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1977 แต่มีนักลงทุนเพียงไม่กี่คนหรอกที่จะกล้ายึดแนวทางการลงทุนในหุ้นนอกสายตาในช่วงที่นักลงทุนส่วนใหญ่พากันตื่นตูมไปกับหุ้นเติบโต ทั้งนี้ Lakonishok บอกว่า แนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่าใช้การได้เพียง 60% ของช่วงเวลาทั้งหมดเท่านั้น

    หุ้นคุณค่าเพิ่งผ่านช่วงที่เลวร้ายมาหมาดๆ  โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาภาวะตลาดกระทิงทำให้หุ้นยอดนิยมอย่าง Microsoft และ Nvidia พุ่งทะยานถึง 10 เท่าและมากกว่านั้น ในขณะที่หุ้นหงอยๆ ในพอร์ตที่ LSV ถืออยู่ เช่น ExxonMobil และ Comcast ตามหลังอยู่ห่างลิบๆ 

    ทั้งนี้ ในบรรดาลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งแต่ละแห่งมีการบริหารพอร์ตการลงทุนแยกจากกัน และเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของ LSV มีหลายแห่งที่มีมุมมองการลงทุนแบบยาวมากๆ LSV บอกว่า ผลตอบแทนของลูกค้าเฉลี่ยดีกว่าอัตราผลตอบแทนอ้างอิงที่เกี่ยวข้องมากกว่า 2% ต่อปี ทั้งนี้จากข้อมูลของ Morning Star ตลอด 5 ปีที่ผ่านมามีเม็ดเงินไหลออกจากกองทุนรวม 7 กองของ LSV (ปัจจุบันมีมูลค่ารวม 2 พันล้านเหรียญ) มากกว่าเม็ดเงินที่ไหลเข้า 

    เมื่อนักลงทุนที่ซื้อหุ้นคุณค่าเลิกหวังราคาหุ้นที่ถูกอยู่แล้วก็ยิ่งถูกลงไปอีก ซึ่งปรากฏการณ์นี้ส่งผลรุนแรงที่สุดกับบริษัทขนาดเล็ก จากการคำนวณโดย LSV พบว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยของหุ้นบริษัทขนาดเล็กที่ถูกที่สุดจำนวน 1 ใน 3 ของตลาดเท่ากับ 12 เท่าของกำไร (P/E 12 เท่า) ในขณะที่ราคาหุ้นบริษัทขนาดเล็กที่แพงที่สุดจำนวน 1 ใน 3 ของตลาดเท่ากับ 61 เท่าของกำไร (P/E ที่สูงถึง 61 เท่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะบางบริษัทมีผลขาดทุนซึ่งถูกนำเข้ามาร่วมคำนวณด้วย) แต่ในวันนี้ สัดส่วน P/E เฉลี่ยของหุ้นกลุ่มที่ถูกที่สุดอยู่ที่ 9 เท่า และของหุ้นกลุ่มที่แพงที่สุดอยู่ที่ 113 เท่า

    โดยสรุปแล้วถ้าคุณเลือกซื้อหุ้นของบริษัทที่พยายามจะเป็นแบบ Tesla  หรือหุ้นกิจการสตาร์ทอัพที่พูดถึง AI คุณต้องจ่ายเงินซื้อมันในราคาที่แพงสุดๆ ซึ่งจะทำให้คุณพลาดโอกาสซื้อหุ้นชั้นดีในสายตาของ LSV เช่น  Atkore (ผู้ผลิตท่อร้อยสายไฟ) ที่ P/E อยู่ที่ 9 เท่า หรือ Greif (บริษัทขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางเรือรายใหญ่) ที่ P/E อยู่ที่ 10 เท่า เท่านั้น

    Lakonishok จบปริญญาเอกจาก Cornell และเคยมีผลงานตีพิมพ์บทความวิชาการมาแล้วมากมาย รวมถึงเคยมีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยทั้งในทวีปอเมริกาเหนือและในต่างประเทศมาแล้ว ตอนที่เขาก่อตั้ง LSV เมื่ออายุ 47 ปี หุ้นส่วนอีก 2 คนของเขาคือ Andrei Shleifer นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังจาก Harvard ซึ่งขายหุ้นออกไปก่อนหน้านี้แล้ว และ Robert Vishny ศาสตราจารย์ด้านการเงินที่ University of Chicago ซึ่งไม่ได้มีบทบาทในการบริหาร LSV แล้ว แต่ยังคงถือหุ้นอยู่

    ปัจจุบัน Lakonishok อายุ 77 ปีแล้ว และผ่านวัฏจักรการขึ้นและลงของตลาดมาหลายรอบ ซึ่งช่วงที่ยากลำบากของ LSV คือ ช่วงที่ฟองสบู่ดอทคอมกำลังฟูฟ่องประมาณปี 1998-2000 โดยในตอนนั้น P/E ของหุ้นอย่าง Oracle, Qualcomm และ Yahoo พุ่งขึ้นไปถึงกว่า 100 เท่า ซึ่งทำให้หุ้นคุณค่าดูโง่ไปเลย “ถ้ามันยังไปต่ออีกสักปี 2 ปีเราคงอยู่ไม่ถึงตอนนี้หรอก” เขากล่าว “เฉียดฉิว”

    Lakonishok ใช้คำว่าเฉียดฉิวกับเหตุการณ์อื่นๆ ในชีวิตของเขาด้วยเช่นกัน ตอนที่เขาอายุ 13 ปี ครอบครัวของเขาซึ่งพื้นเพเป็นชาวลิทัวเนียนสามารถเล็ดลอดออกจากหลังม่านเหล็กมาได้ เพราะอาศัยช่องว่างทางกฎหมายจากการที่แม่ของเขามีเชื้อสายชาวโปแลนด์ จากนั้นครอบครัวของเขาย้ายมาตั้งรกรากที่อิสราเอล โดยภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 5 ของ Lakonishok เขาเล่าถึงประสบการณ์ตอนสอบเอ็นทรานซ์ว่า ภาษาอังกฤษเป็นอุปสรรคสำหรับเขา เพราะตอนนั้นเขาไม่รู้จักศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า “คี่” กับ “คู่” ด้วยซ้ำ

    เพื่อความรอบคอบเขายังคงทำงานเป็นศาสตราจารย์ประจำ University of Illinois ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2004 ทุกวันนี้ดูเหมือนเขาจะไม่ต้องการเงินเดือนแล้ว เพราะถึงแม้ Lakonishok และ ครอบครัวของเขาจะถือหุ้น LSV อยู่ไม่ถึง 1 ใน 3 แต่เมื่อคำนวณคร่าวๆ จากค่าธรรมเนียมเฉลี่ยของบริษัทที่ 0.4% และ ค่าใช้จ่ายพนักงานที่มีจำนวนเพียง 43 คน ก็พอจะสรุปได้ว่าส่วนแบ่งกำไรของครอบครัวเขาในแต่ละปีน่าจะสูงถึง 8 หลักเลยทีเดียว 

    หัวใจสำคัญในการคัดหุ้นของ LSV คือ ดูจากตัวเลขเป็นหลัก นักวิเคราะห์ของ LSV ไม่ไปเยี่ยมชมบริษัทที่ลงทุน และไม่ค่อยใส่ใจนักกับสินทรัพย์ที่น่าสนใจของ Greif อย่างเช่น ผืนป่า 175,000 เอเคอร์ที่ตกค้างมาตั้งแต่สมัยที่บริษัทยังผลิตถังไม้ขาย แต่พวกเขาใส่ใจกับตัวเลขทางการเงินมากกว่า

    Lakonishok ตอบว่า “เราไม่เคยทำอะไรที่ฝืนสามัญสำนึก” การที่คนเราชอบหุ้นดาวเด่นในตลาด มันเป็นไปตามสามัญสำนึก แม้ว่านักปราชญ์ในยุค 1930s อย่าง Benjamin Graham จะเคยกล่าวเตือนถึงพฤติกรรมทำนองนี้เอาไว้แล้ว และมันก็เป็นไปตามสามัญสำนึกอีกนั่นแหละ ที่นักลงทุนจะประเมินความสามารถของบริษัทอย่าง Qualcomm ในปี 2000 หรือ Nvidia ในวันนี้ไว้สูงเกินจริงว่าจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตที่ร้อนแรงต่อไปได้เรื่อยๆ 

    คำแนะนำข้อที่ 2 ของ Lakonishok ซึ่งถือหุ้นแต่ละตัวนานเฉลี่ย 4 ปีก็คือ "นักลงทุนที่ขี้เกียจควรที่จะขี้เกียจยิ่งขึ้น พวกเขาควรซื้อขายน้อยกว่านี้อีก" เขาทิ้งท้ายว่า "ถ้าคุณกล้าพอที่จะเป็นนักลงทุนที่เน้นหุ้นคุณค่าก็ถือมันยาว 30 ปีไปเลย"


เรื่อง: William Baldwin เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา ภาพ: Nate Ryan



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Todd Boehly เศรษฐีการลงทุน เจ้าของอาณาจักรหมื่นล้าน

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2567 ในรูปแบบ e-magazine