Ai Weiwei จับ Monet ใส่เลโก้ ณ นิทรรศการศิลปะที่พิพิธภัณฑ์ในลอนดอน - Forbes Thailand

Ai Weiwei จับ Monet ใส่เลโก้ ณ นิทรรศการศิลปะที่พิพิธภัณฑ์ในลอนดอน

    Ai Weiwei เปิดม่านนำเสนอผลงานศิลปะชิ้นใหม่ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานเลื่องชื่อของ Claude Monet ซึ่งก็คือภาพวาด “Water Lilies” (1914-26) โดย “Water Lilies #1” ของ Ai นั้นเป็นการนำผลงานชิ้นเอกของศิลปินอิมเพรสชันนิสม์ชาวฝรั่งเศสระดับตำนานมาสร้างสรรค์ใหม่ผ่านตัวต่อเลโก้

    

    หลังจากเลือกงานของ Monet มาเป็นแบบ เขาก็เริ่มต้นประดิดประดอยผลงานผ่านตัวต่อพลาสติกและสีที่ตายตัวจากโรงงาน ศิลปินและนักกิจกรรมชื่อดังชาวจีนผู้นี้ต้องการพาเราไปท้าทายแนวคิดด้านความจริงและความงาม

    

    ด้วยความยาวมากกว่า 15 เมตรและทำมาจากตัวต่อเลโก้ 22 สีรวมเกือบ 650,000 ชิ้น “Water Lilies #1” เป็นผลงานจากเลโก้จำนวนมากที่สุดเท่าที่เขาเคยทำมาจนถึงขณะนี้ และกำลังจะได้ครอบพื้นที่ตลอดแนวกำแพงฝั่งหนึ่งของห้องจัดแสดงใน Design Museum ที่ลอนดอนในงานนิทรรศการศิลปะซึ่งกำลังจะมีขึ้นในเดือนหน้า โดยเป็นส่วนหนึ่งของ “Ai Weiwei: Making Sense,” ซึ่งเป็นงานนิทรรศการที่เน้นไปที่การออกแบบครั้งแรกและยังเป็นการจัดแสดงที่ใหญ่ที่สุดของเขาในสหราชอาณาจักรในรอบแปดปี

    “Water Lilies” คือจุดมุ่งหมายหลักในการสร้างสรรค์ผลงานของ Monet ในช่วงเวลาหลายทศวรรษสุดท้ายของชีวิต โดยนำเสนอความงามอันแสนสงบของธรรมชาติ ทว่าบ่อบัวและสวนในภาพเหล่านั้นต่างก็เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ Monet ออกแบบบ่อน้ำสำหรับสวนที่บ้านของเขาใน Giverny ที่ Normandy หลังจากที่เขาผันน้ำจากแม่น้ำ Epte ใกล้ๆ มาส่วนหนึ่งเพื่อสร้างภูมิทัศน์ในอุดมคติแห่งนี้

    

    

    ดังนั้น ในการนำทัศนียภาพอันโด่งดังนี้มาสร้างสรรค์ใหม่ แทนที่สีสันและฝีแปรงสุดสะเอียดอ่อนของ Monet ด้วยชิ้นส่วนและสีที่ผลิตจากแม่พิมพ์โรงงาน Ai จึงท้าทายผู้ชมให้คิดทบทวนเกี่ยวกับการที่เราตัดสินความจริงและความงาม

    และเพื่อเพิ่มความสับสน ทางขวามือของชิ้นงานปรากฏภาพของอุโมงค์อันมืดมิดซึ่งเป็นภาพแทนของประตูสู่โพรงใต้ดินในเขตซินเจียงที่ตัวเขาในวัยเยาว์และ Ai Qing พ่อที่เป็นหนึ่งในกวีเอกของจีนจำต้องอาศัยอยู่หลังถูกเนรเทศในช่วงทศวรรษที่ 1960s สิ่งนี้ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับสระบัวดุจสรวงสวรรค์ที่ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาพ

    

    

    “สำหรับ Water Lilies #1 ผมผสมผสานภาพวาดแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ของ Monet, ส่วนหนึ่งจากแนวคิดของลัทธิเซนแห่งตะวันออก และประสบการณ์อันเป็นรูปธรรมของพ่อกับผม นำมาดัดแปลงเป็นภาษาดิจิทัลและพิกเซล” Ai อธิบาย “การใช้ตัวต่อของเล่นสร้างสรรค์ผลงานเพราะคุณภาพด้านความแข็งแรงและการที่สามารถแยกชิ้นส่วนพวกมันได้ สะท้อนลักษณะของภาษาในยุคสมัยแห่งการพัฒนาอย่างรวดเร็วซึ่งความรับรู้ของมนุษย์นั้นถูกแบ่งแยกอยู่เสมอ”

    Justin McGuirk หัวหน้าภัณฑารักษณ์แห่ง Design Museum เสริมว่า “Ai Weiwei นำเสนออีกมุมมองหนึ่งของสวนสวรรค์ผ่านผลงาน Water Lilies #1 ในด้านหนึ่งเขาได้เติมตัวตนโดยการใส่ประตูของบ้านในวัยเด็กอันแร้นแค้นของเขาลงไป แต่ในอีกด้านหนึ่งเขาก็ได้ทำลายตัวตนนั้นผ่านการใช้ภาษาเฉพาะอย่างตัวต่อเลโก้ที่แยกย่อยเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ได้”

    

    

    Ai ทดลองใช้เลโก้มาตั้งแต่ปี 2014 โดยในตอนนั้นเขาใช้ตัวต่อเหล่านี้กับความขี้เล่นในการทำภาพเหมือนของเหล่านักโทษทางการเมือง

    “Water Lilies #1” จะถูกนำมาจัดแสดงร่วมกับผลงานสำคัญจากเลโก้อีกชิ้นนั่นคือ “Untitled (Lego Incident)” และจะมีการเปิดตัวระดับนานาชาติที่ Design Museum ในเดือนเมษายนนี้ โดยผลงาน “Untitled (Lego Incident)” จะเป็น “สนาม” อันกว้างขวางห้าแห่งที่เต็มไปด้วยสิ่งของนับร้อยนับพันชิ้นวางอยู่บนพื้นห้องจัดแสดงซึ่งรวมไปถึงเลโก้ที่ได้รับบริจาคจากสาธารณชนอันเป็นการตอบโต้ที่ทางบริษัทเลโก้ปฏิเสธจะขายสินค้าให้กับ Ai ในปี 2014

    

    

    “โลกของเรานั้นซับซ้อนและกำลังพังทลายสู่อนาคตอันยากจะคาดเดา” Ai กล่าว “เป็นเรื่องสำคัญที่ปัจเจกบุคคลจะค้นหาภาษาเฉพาะของตนในการแสดงออกซึ่งประสบการณ์ในการท้าทายสภาวะเหล่านี้ การแสดงออกเฉพาะตัวกำเนิดมาจากการค้นหาอัตลักษณ์ผ่านประวัติศาสตร์และความทรงจำขณะสร้างสรรค์ภาษาและการเล่าเรื่องแบบใหม่ หากปราศจากการเล่าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว การเล่าเรื่องในงานศิลปะก็จะสูญเสียคุณภาพไป”

    นิทรรศการ “Ai Weiwei: Making Sense” จัดแสดงที่ Design Museum London ตั้งแต่ 7 เมษายน ถึง 30 กรกฎาคม 2023

    

    แปลและเรียบเรียงจากบทความ Ai Weiwei Shows His Largest-Ever Lego Artwork At Design Museum London ซึ่งเผยแพร่บน Forbes

    อ่านเพิ่มเติม : Martin Roscheisen พาเพชรสังเคราะห์ฝ่าตลาดอัญมณีสู่โลกเทคโนโลยี

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine