Forbes 400 ชี้ ฝันชาวอเมริกัน ยังดีอยู่ - Forbes Thailand

Forbes 400 ชี้ ฝันชาวอเมริกัน ยังดีอยู่

FORBES THAILAND / ADMIN
27 Jan 2017 | 11:20 AM
READ 3174

แม้หัวข้อเรื่องผู้อพยพจะกลายเป็นเป้าให้ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาบางรายใช้ในการโจมตีเพื่อหาเสียง ทว่า ผลจากการจัดอันดับ Forbes 400 ในปีนี้นั้นกลับตรงกันข้าม เพราะมากกว่า 10% ของสมาชิกทำเนียบอภิมหาเศรษฐีอเมริกาที่ติดอันดับเป็นผู้อพยพ นับเป็นสัญญาณที่ดีของการประกอบธุรกิจในอเมริกาและอัตราการจ้างงานที่เติบโต

ท่ามกลางประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในวงการเมืองว่าผู้อพยพเป็นต้นเหตุของภาวะเงินไหลออกและเป็นความเสี่ยงต่อภัยก่อการร้าย ผู้อพยพกลับประสบความสำเร็จเดินหน้าสู่ความมั่งคั่งในอัตราก้าวหน้า ย้อนกลับไป 10 ปีก่อนหน้านี้ จำนวนมหาเศรษฐีชาวอพยพที่ติดทำเนียบ Forbes 400 มีเพียง 35 คน เทียบกับ 26 คนเมื่อ 20 ปีที่แล้วและ 20 คนเมื่อ 30 ปีก่อนหน้านี้ นอกจากผลผลิตจากอุดมคติแบบ American Dream จะเจริญงอกงามดังที่เห็นได้จากตัวชี้วัดความสำเร็จอย่างการจัดอันดับ Forbes 400 แต่ตัวเลขยังผลิดอกออกผลอย่างแข็งแกร่งที่สุดเท่าที่เคยผ่านมา ทรัพย์สินสุทธิในครอบครองของ 42 มหาเศรษฐีชาวอพยพมีมูลค่ารวมกัน 2.48 แสนล้านเหรียญ ข้อมูลจาก Kauffman Foundation ระบุว่าผู้โยกย้ายถิ่นมายังสหรัฯ มีแนวโน้มที่จะเปิดธุรกิจมากกว่าชาวอเมริกันโดยกำเนิดเกือบ 2 เท่า Partnership for a New American Economy องค์กรอิสระไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดก่อตั้งโดย Rupert Murdoch และ Michael Bloomberg ซึ่งติดโผรายชื่อ Forbes 400 เช่นกันรายงานว่า 28% ของการก่อตั้งธุรกิจใหม่ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2011 เกิดขึ้นโดยผู้อพยพมาจากต่างถิ่นและการจ้างงานพนักงานชาวอเมริกันทุก 1 ใน 10 คนมาจากธุรกิจเหล่านี้และก่อให้เกิดรายได้ 7.75 แสนล้านเหรียญ แน่นอนว่าบางธุรกิจเป็นกิจการขนาดเล็ก เช่น ร้านอาหารและร้านซ่อมรถยนต์ แต่สำหรับธุรกิจอื่นๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น National Foundation for American Policy องค์กรวิจัยอิสระเผยว่าจากบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญ 87 แห่ง มี 44 แห่งจากจำนวนนี้ที่ก่อตั้งขึ้นโดยผู้ประกอบการต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของธุรกิจเหล่านี้ติดโผบุคคลร่ำรวยที่สุดของอเมริกาทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ขอบคุณเทคโนโลยีที่ทำให้การปลุกปั้นธุรกิจจนเติบโตเป็นบริษัทใหญ่เป็นเรื่องง่ายกว่าเดิมซึ่งต้องยอมรับว่า ภาคธุรกิจและการประกอบกิจการที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอเมริกามาเป็นเวลานานเกือบ 250 ปีนั้น ล้วนถูกปั้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงจากนักธุรกิจผู้เป็นพวกอพยพมาทั้งนั้น Robert Morris เดินทางออกจาก Liverpool ตอนอายุ 13 ปี เขาเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนในการปฏิวัติของอเมริกาและเป็นผู้ลงนามในคำประกาศอิสรภาพ (Declaration of Independence) และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ Stephen Girard ย้ายถิ่นฐานมาจากฝรั่งเศสและได้ก่อตั้งธนาคารซึ่งเป็นผู้ออกโรงค้ำประกันเงินกู้เกือบทั้งหมดของรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงสงครามปี 1812 และได้ช่วยประเทศจากหายนะทางการเงิน John Jacob Astor นักผลิตเครื่องดนตรีหนุ่มจากเยอรมนีสร้างความมั่งคั่งจากธุรกิจค้าขนสัตว์และอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ และขึ้นแท่นเป็นมหาเศรษฐีผู้บริจาคเงินเพื่อการกุศลมูลค่ามหาศาลที่สุดรายแรกของประเทศ Friedrich Weyerhaeuser เพื่อนร่วมชาติจากเยอรมนีไต่เต้าสู่การเป็นเจ้าของอาณาจักรธุรกิจไม้รายใหญ่ของสหรัฐฯ Andrew Carnegie เกิดในสกอตแลนด์แต่สร้างความร่ำรวยจากธุรกิจเหล็กในอเมริกา และเช่นเดียวกับ Astor ที่อุทิศเวลาช่วงบั้นปลายชีวิตให้แก่การกุศล ทางด้าน Kraft และ DuPont ผู้ก่อตั้งบริษัท Procter & Gamble ก็เป็นชาวต่างชาติที่ย้ายมาตั้งรกรากในสหรัฐฯ เช่นกันจุดเริ่มต้นแรกของการอพยพย้ายประเทศแฝงไปด้วยรากฐานของความเป็นผู้ประกอบการอันเป็นการตัดสินใจเลือกเสี่ยงเพื่อมุ่งหน้าสู่ชีวิตที่ดีกว่า โดยรวมแล้วมหาเศรษฐีผู้อพยพที่ติดอันดับ Forbes 400 แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มแรกซึ่งประกอบด้วยผู้มีปูมหลังที่ต้องอพยพเพราะหนีอะไรบางอย่าง อาทิ Sergey Brin ย้ายมายังสหรัฐฯ ตอนเขาอายุ 6 ปีเพื่อหนีจากกระแสการเหยียดเชื้อชาติชาวยิว George Soros รอดชีวิตในช่วงที่กองทัพนาซีเข้ายึดครองประเทศฮังการี ส่วนครอบครัว Igor Olenicoff ถูกบีบให้ออกจากสหภาพโซเวียตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากพวกเขามีความเกี่ยวข้องกับจักรพรรดิของรัสเซีย ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งมีความพรั่งพร้อมและมีทางเลือกจะอยู่ในประเทศใดก็ได้ แต่มองว่าอเมริกาเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยโอกาส Elon Musk เข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนของแอฟริกาใต้ ส่วนพ่อของ Murdoch เป็นผู้จัดพิมพ์โฆษณาหนังสือพิมพ์ชาวออสเตรเลียที่ได้รับแต่งตั้งเป็นขุนนางชั้นอัศวิน ขณะที่พ่อของ Omidyar ประกอบอาชีพศัลยแพทย์ไม่ว่ามั่งมีหรือยากจน แนวคิดแบบผู้ประกอบการคือสิ่งที่เชื่อมโยงพวกเขาเข้าด้วยกัน ผู้เลือกเส้นทางมาแสวงโชคในอเมริกาชื่นชมโอกาสและเข้าใจถึงการลงมือทำจนประสบความสำเร็จอันหมายความว่าคุณไม่สามารถวาดหวังรอใครมาหยิบยื่นโอกาสหรือความเห็นใจแต่จะต้องลงมือด้วยตนเอง
มหาเศรษฐีผู้อพยพแห่ง Forbes 400 Thomas Peterffy และ สามี-ภรรยา ผู้ก่อตั้ง Forever 21 มหาเศรษฐีผู้อพยพแห่ง Forbes 400 Romesh Wadhwani และ Douglas Leone
ร่วมติดตามมหาเศรษฐีผู้อพยพ ซึ่งติดในอันดับ Forbes 400 ในบทความต่อไป และร่วมติดตาม "Forbes 400 ชี้ฝันชาวอเมริกัน ยังดีอยู่" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2559