สวก. หนุนงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร - Forbes Thailand

สวก. หนุนงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร

ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หรือกลุ่มประเทศที่ประชากรยังมีรายได้น้อย ทำให้รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวพ้นจากกับดักความยากจน ซึ่งอุปสรรคใหญ่อย่างหนึ่งคือ รายได้ของแรงงานภาคการเกษตรที่ยังไม่มากพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

    เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ยังทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ขาดการศึกษาวิจัยที่จะมาช่วยทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าที่ผลิตออกมา จึงทำให้เกิดหน่วยงานวิจัยด้านการเกษตรโดยเฉพาะขึ้นมาภายใต้ชื่อ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) หรือ สวก. Agricultural Research Development Agency (Public Organization) โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้งานวิจัยแก้ปัญหาความยากจนให้กับเกษตรกร ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของเกษตรกรให้ดีขึ้น

    ในช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีงานวิจัยด้านเกษตรไม่น้อยที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง แต่ก็ยังมีงานวิจัยอีกมากมายที่ถูกเก็บเอาไว้บนหิ้งจนฝุ่นเกาะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย สวก. เล็งเห็นถึงปัญหานี้จึงมีแนวคิดที่จะปัดฝุ่นรวบรวมงานวิจัยด้านการเกษตรที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ มาต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกร

    และด้วยความที่ สวก. เป็นองค์การมหาชนที่อยู่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงสามารถนำงานวิจัยของหน่วยงานในสังกัดเดียวกันไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยของกรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมวิชาการเกษตร ฯลฯ มาพิจารณาดูว่างานวิจัยชิ้นไหนสามารถเอาไปต่อยอดได้ ซึ่งจะช่วยหาพาร์ตเนอร์มาร่วมลงทุนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

    นอกจากนี้ ยังจะรวบรวมงานวิจัยด้านการเกษตรที่กระจายอยู่ในหลายแหล่งหลายที่มาไว้ที่เดียวกันเพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการหยิบจับเอามาใช้ประโยชน์ และประเด็นสำคัญนับจากนี้ไปงานวิจัยด้านการเกษตรที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สวก. ร้อยละ 80 ต้องนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่วิจัยแล้วขึ้นหิ้งทิ้งให้ฝุ่นเกาะเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

     ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของเกษตรกรในช่วงที่ผ่านมาคือ ผลิตไม่มีตลาดรองรับ นั่นคือการที่เกษตรกรปลูกพืชพันธุ์อะไรออกมาแล้วไม่มีตลาดรองรับ ทั้งนี้เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากเลือกเพาะปลูกตามความเคยชิน บรรพบุรุษเคยปลูกอะไรมาก็จะทำอย่างนั้น โดยที่ไม่รู้ว่าตลาดต้องการอะไร การจะแก้ปัญหาการปลูกหรือผลิตอะไรออกมาแล้วขายไม่ได้ เกษตรกรจำเป็นต้องปรับวิธีคิด ปรับ mindset ใหม่ โดยต้องเปลี่ยนจากผลิตหรือปลูกตามเคยชินมาเป็นผลิตหรือปลูกในสิ่งที่ตลาดต้องการ

    แต่เรื่องนี้จะให้เกษตรกรทำโดยลำพังคงไม่ได้ เพราะเกษตรกรอาจจะขาดองค์ความรู้ ขาดเงินทุน จึงจำเป็นต้องนำเอางานวิจัยเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพการผลิตและแปรรูป ถ้าเกษตรกรผลิตและแปรรูปสินค้าออกมาอย่างที่ตลาดต้องการได้ นอกจากจะลดความเสี่ยงผลิตออกมาแล้วล้นตลาด ลดปัญหาการผลิตแล้วขายไม่ได้ เมื่อขายได้ก็เป็นการช่วยเพิ่มรายได้ เมื่อมีรายได้ดีคุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้นตามไปด้วย

    อะไรที่ตลาดต้องการสูงต้องเอางานวิจัยไปช่วยส่งเสริมการผลิตส่วนนั้น นอกจากช่วยส่งเสริมของเก่าแล้ว ยังต้องมีงานวิจัยเพื่อผลิตสินค้าไปขยายหรือสร้างตลาดใหม่ๆ และใช้งานวิจัยเพื่อแก้ปัญหากีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่กำแพงภาษีซึ่งเริ่มมีมากขึ้นด้วยขายลิขสิทธิ์ต่อยอดธุรกิจ

     ในฐานะที่ สวก. ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2546 ทำให้มีงานวิจัยที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนออกมาจำนวนมาก มีหลายชิ้นงานที่ถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เมื่อใช้งานวิจัยเป็นพื้นฐานนำการผลิตก็ทำให้ได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ตัวอย่างงานวิจัยที่ถือเป็นดาวเด่น เช่น งานวิจัยสารสกัดจากข้าวสังข์หยด เอาไปใช้ทำแชมพูสระผมแก้ปัญหาผมหลุดร่วงง่าย บำรุงรากผมให้แข็งแรง งานวิจัยนี้มีเอกชนมาซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตแชมพูในแบรนด์ของตัวเองมากกว่า 10 ราย มีการผลิตและจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปขายต่างประเทศ

    ส่วนผลงานวิจัยระดับมาสเตอร์พีซที่สามารถขายลิขสิทธิ์ให้เอกชนได้ราคาหลายสิบล้านบาท เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพมุกน้ำจืดที่เราสามารถพัฒนาคุณภาพทัดเทียมกับมุกน้ำจืดของญี่ปุ่นได้ ซึ่งเอกชนที่ซื้องานวิจัยไปใช้สามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้มหาศาล

    ส่วนกลุ่มสมุนไพรล่าสุดเราจะมีผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นคอจากฟ้าทะลายโจรออกมาจำหน่าย ซึ่งได้มีบริษัทเอกชนซื้อลิขสิทธิ์ไปเรียบร้อยแล้ว และยังมีในกลุ่มเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่มีผู้มาซื้อสิทธิ์ไปแล้วเช่นเดียวกัน

    ความสำคัญของงานวิจัยนอกจากมิติของการช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรแล้ว ยังมีความสำคัญอีกมิติที่คนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยรู้คือ การวิจัยเพื่อแก้ปัญหากีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่กำแพงภาษี ซึ่งหลายประเทศเริ่มนำมาใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้ามากขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น ในอดีตไทยเคยมีปัญหาเรื่องส่งออกปลาโอดำบรรจุกระป๋อง ซึ่งประเทศผู้ซื้ออ้างว่าเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ยกเลิกคำสั่งซื้อ ทำให้ประเทศเสียรายได้ไปหลายพันล้านบาท

    สวก. ได้ให้ทุนทำวิจัยเพื่อเอาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ไปยืนยันว่า เรามีวิธีการบริหารจัดการและส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนอย่างไร ทำเสร็จแล้วก็ส่งไปให้บริษัทผู้ประเมินเรื่องความยั่งยืนพิจารณา เมื่อเขาพิจารณาแล้วให้ผ่าน เราก็กลับมาส่งออกได้ตามปกติ

    หรือในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักในช่วงแรกจีนงดนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยหลายตัว โดยอ้างว่าตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 เราก็ได้ทำวิจัยไล่ดูตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว การผลิต การขนส่ง นำหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือไปยืนยัน ทำให้จีนกลับมารับซื้อสินค้าตามปกติ

     ทั้งนี้เพื่อลดความสูญเปล่าของงบประมาณด้านการวิจัยที่ สวก. ได้รับจัดสรรมาประมาณปีละ 500-600 ล้านบาท และเพื่อให้งานวิจัยเอามาใช้ประโยชน์ได้จริง จากนี้ไปเมื่อมีนักวิจัยทำเรื่องมาขอทุนจาก สวก. จะมาตัวคนเดียวไม่ได้ ต้องเอาผู้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยมาทั้งหมดมาด้วย เช่น ถ้าจะวิจัยแปรรูปสินค้าเกษตรสักอย่างหนึ่งก็ต้องเอาคนปลูกและคนที่จะแปรรูปร่วมในคณะมาด้วย เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกด้วย

    สำหรับเรื่องลิขสิทธิ์งานวิจัยนั้น ในอดีตลิขสิทธิ์จะเป็นของ สวก. ในฐานะเป็นผู้ให้ทุน เมื่อขายงานวิจัยได้ รายได้ก็แบ่งกันระหว่าง สวก. กับผู้ทำวิจัย ซึ่ง สวก. จะนำเงินที่ได้ไปหมุนเวียนสนับสนุนงานวิจัยต่อไป แต่หลังจากที่มีกฎหมายใหม่เกี่ยวกับสิทธิบัตรออกมา ลิขสิทธิ์จะตกเป็นของผู้ทำวิจัย

    เมื่อได้งานวิจัยออกมาผู้ทำวิจัยก็สามารถนำไปขายให้เอกชนที่สนใจลงทุนต่อยอดทำธุรกิจได้ และเพื่อไม่ให้มีปัญหาในกรณีที่ทำวิจัยเป็นหมู่คณะมีผู้เกี่ยวข้องหลายคน เวลาที่ยื่นขอทุนทำวิจัยเข้ามาจะต้องแจกแจงรายละเอียดเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ในกลุ่มผู้วิจัยแนบมาให้พิจารณาด้วย โดยที่ สวก. จะช่วยดูว่ามีความเหมาะสมเป็นธรรมกับทุกฝ่ายหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง

    แม้งานวิจัยเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้เกษตรกรพ้นจากความยากจนได้เนื่องจากยังมีองค์ประกอบอื่นอีกหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง แต่งานวิจัยก็ถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรทำงานได้ดีขึ้น ถ้ามีงานวิจัยที่ดีเป็นงานวิจัยที่แก้ปัญหาได้เกษตรกรใช้ได้จริง งานวิจัยก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เกษตรพัฒนาคุณภาพงาน พัฒนาคุณภาพชีวิตได้ดีเทียบเท่าสากลแบบยั่งยืน

บทความโดย
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง
ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.)


คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine