เมื่อ "ธนาคารกลาง" หมดน้ำยา ตลาดยังเหลือความหวังอะไรอีก? - Forbes Thailand

เมื่อ "ธนาคารกลาง" หมดน้ำยา ตลาดยังเหลือความหวังอะไรอีก?

ท่ามกลางการระบาดของโรค COVID-19 ที่แผ่ขยายไปทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ธนาคารกลาง หรือ Fed ได้ตัดสินใจเรียกประชุมฉุกเฉิน และประกาศลดดอกเบี้ยลงถึง 50bps ในวันที่ 3 มี..ที่ผ่านมา แต่แทนที่หุ้นจะวิ่งรับข่าวดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับปิดลบถึง 3% ในคืนวันนั้น และยังลงยาวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เพราะเหตุใดมาตรการลดดอกเบี้ยที่ ธนาคารกลาง เคยใช้ได้ผลมาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงกลับกลายเป็นกระสุนด้าน ที่ไม่เพียงแต่จะล้มเหลวในการเรียกความเชื่อมั่นให้กับตลาด แต่ยิ่งกลับสร้างความตื่นตระหนกและจุดชนวนให้เกิดการเทขายหุ้นซ้ำอีก?

การลดดอกเบี้ยฉุกเฉินครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 8 ในประวัติศาสตร์ โดย 7 ครั้งก่อนหน้านี้เป็นการลดดอกเบี้ยในช่วง 3 เหตุการณ์ ได้แก่ 1) วิกฤตเศรษฐกิจในรัสเซียและการล้มของกองทุน Hedge Fund LTCM ในปี 1998 2) ช่วงวิกฤต Dot-com และการก่อการร้าย 9/11 ในปี 2001 รวม 3 ครั้ง และ 3) ในช่วงวิกฤต Subprime ปี 2007-2008 รวม 3 ครั้ง 

การลดดอกเบี้ยฉุกเฉินที่ผ่านมา หลายครั้งกลับเป็นการส่งสัญญาณลบต่อตลาดหุ้น เนื่องจากนักลงทุนมองว่า Fed ประเมินเศรษฐกิจแย่กว่าที่คาด จึงจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างเร่งด่วน โดยการลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 7 ครั้งที่ผ่านมามักอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเกิด Recession และตลาดหุ้น (ดัชนี S&P500) มักให้ผลตอบแทนติดลบ -6.8% โดยเฉลี่ยในช่วง 1 ปีหลังการลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุด ยิ่งเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นของตลาดซ้ำไปอีก

ไม่เพียงแต่เฉพาะ Fed ที่ล้มเหลวในการพยายามฟื้นความเชื่อมั่นให้กับตลาด ธนาคารกลางอื่นๆ ที่ทยอยประกาศมาตรการการเงินตามมาก็ไม่สามารถชะลอการเทขายหุ้นได้เช่นกัน เช่น แบงก์ชาติของอังกฤษ (BoE) ที่ประกาศลดดอกเบี้ยลง 50bps สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.25% ในการประชุมฉุกเฉินวันที่ 11 มี.. และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ประกาศจะเพิ่มการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) มูลค่ารวม EUR120bn ไปจนถึงสิ้นปี   

เมื่อตลาดหมดความเชื่อมั่นกับมาตรการของธนาคารกลางแล้ว ปัจจัยอะไรที่จะฟื้นความเชื่อมั่นและทำให้ตลาดหุ้นฟื้นตัวกลับมาได้? เรามองว่าตลาดต้องการข่าวดีจาก 3 ปัจจัย ดังต่อไปนี้

หนึ่ง มาตรการการคลัง เช่น การออกมาตรการลดภาษี หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีขนาดใหญ่มากเพียงพอที่จะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นฟื้นตัวได้อย่างฉับพลัน ซึ่งในระยะสั้น การออกมาตรการการคลังเหล่านี้ยังดูเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในประเทศใหญ่ๆ เช่น สหรัฐฯ ซึ่งจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงปลายปีนี้ และพรรค Democrat ที่ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทน ยังน่าจะออกเสียงคัดค้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะช่วยหนุนคะแนนของ Trump ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง 

สอง การควบคุมโรคระบาด จำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังเพิ่มขึ้นเร็วต่อเนื่องในหลายๆ ประเทศ นับเป็นปัจจัยหลักที่กดดันเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น ซึ่งหากยังควบคุมไม่ได้เป็นเวลานาน ก็อาจลุกลามจนทำให้เกิดการปลดคนงาน หรือการผิดนัดชำระหนี้ระลอกใหญ่ ซึ่งเป็นชนวนให้เกิด Recession แต่หากการระบาดของโรคควบคุมได้เร็ว ความเสี่ยง Recession ก็จะลดลงอย่างมาก

สาม การกลับมาเจรจาลดปริมาณการผลิตน้ำมันระหว่างซาอุฯ และรัสเซีย ซึ่งจะช่วยให้ราคาน้ำมันฟื้นตัวขึ้น และลดความเสี่ยงที่ผู้ผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ จะผิดนัดชำระหนี้ก่อนที่ตลาดจะผันผวนไปมากกว่านี้ แต่การกลับมาเจรจากันก็ดูจะยังเป็นไปได้ยากในเวลาอันสั้น เนื่องจากซาอุฯ ยังดูมีท่าทีที่แข็งกร้าว และยังเดินหน้าที่จะผลิตน้ำมันเพิ่มเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดอย่างต่อเนื่อง

หากไม่มีปัจจัยบวกดังกล่าวมาช่วย ความเชื่อมั่นของตลาดของนักลงทุนก็จะถูกบั่นทอนไปเรื่อยๆ จนอาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในที่สุด

   

โดย คมศร ประกอบผล

หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)


ไม่พลาดบทความด้านธุรกิจ กดติดตามได้ที่ Facebook Fanpage: Forbes Thailand Magazine