นักลงทุนรุ่นเก๋า “ชัย โสภณพนิช” ถอดบทเรียน BKI บริหารพอร์ตลงทุนกู้วิกฤต - Forbes Thailand

นักลงทุนรุ่นเก๋า “ชัย โสภณพนิช” ถอดบทเรียน BKI บริหารพอร์ตลงทุนกู้วิกฤต

“ในวิกฤตย่อมมีโอกาส” เป็นประโยคทองที่ทุกคนได้ยินบ่อยมาก โดยเฉพาะในโลกแห่งการลงทุนตลาดการเงิน เมื่อใดที่เกิดเรื่องร้ายๆ ขึ้น ตลาดสินทรัพย์ต่างๆ มักเกิดความปั่นป่วนและความผันผวนสูงราวกับเผชิญมรสุมพัดหลายระลอก ถ้าคนที่มีสายตาแหลมคม มองไกล อ่านเกมทะลุ ย่อมเสาะหาโอกาสในการลงทุนเพื่อเก็บเกี่ยวดอกผลที่จะทำกำไรได้ก่อนเพื่อน


    เช่นเดียวกับนักลงทุนรุ่นเก๋า ชัย โสภณพนิช ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) (BKI) หรือเจ้าสัวชัย ทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูลใหญ่ “โสภณพนิช” ในตำนานเมืองไทย โดยเป็นบุตรชายคนที่ 5 ของเจ้าสัวชิน โสภณพนิช ผู้ก่อตั้งอาณาจักรธุรกิจทางการเงินยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ในประเทศไทยและภูมิภาคนี้

แม้ปัจจุบันเจ้าสัวชัยจะถอยฉากจากการเป็นผู้บริหารธุรกิจใน BKI โดยได้ส่งไม้ต่อให้กับผู้บริหารมืออาชีพ ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน เข้ามาดูแลบริหารธุรกิจประกันวินาศภัยที่เป็น core business แต่เขาก็ยังคงทำงานอยู่เบื้องหลังในด้านการบริหารพอร์ตลงทุน ซึ่งถือเป็นอีกฝั่งสำคัญที่สร้างผลงานกำไรให้แก่ BKI ฟันฝ่าวิกฤตขาดทุนรอดมาได้หลายยุคหลายสมัย ภายใต้หมวกประธานกรรมการลงทุนของ BKI เรียกได้ว่าเป็นแม่ทัพใหญ่ที่กุมบังเหียนรั้งท้ายเพื่อประคองให้ BKI รอด

    ผ่านร้อนผ่านหนาวในทุกสมรภูมิรบ เป็นพญามังกรที่ยืนผงาดด้วยฐานะทางการเงินมั่นคงและแข็งแกร่งในทุกวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตน้ำท่วม และล่าสุด วิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19

“จริงๆ แล้วธุรกิจกรุงเทพประกันภัยก็ถูกกระทบมา ถ้าดูย้อนหลังตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2539-2540 เมื่อ 25-26 ปีที่แล้ว ตลาด clash เยอะ ก็ได้เข้าไปลงทุนหุ้นไทย ช่วงนั้นหุ้นตกทั้งตลาด ตัวอย่างเช่น เราเข้าไปหุ้นปูนซิเมนต์ไทย หุ้นแอดวานซ์ฯ เพราะเห็นว่าคนยังต้องใช้มือถืออยู่ และจำนวนคนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หรือปูนซีเมนต์ก็คิดว่าอีกไม่นานต้องมีการเริ่มก่อสร้างบ้าน จึงคิดว่าราคาไม่ควรจะกระทบมาก และประเมินว่าทิศทางตลาดจะเป็นอย่างไร

และเข้าไปซื้อถือลงทุนระยะยาว ซึ่งอาจไม่เห็นผลใน 1-2 ปี แต่ 3-4 ปี ข้างหน้าน่าจะเห็นผล แต่ก็มีบางทีที่ต้องขายหุ้นออกไปเพราะผลการดำเนินงานไม่ได้ตามที่คิดไว้ แม้แต่ตอนเจอน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เกิดผลกระทบเกือบทั้งตลาดหลักทรัพย์

เพราะบริษัทเสียหายหนักจากน้ำท่วม และเราต้องจ่ายเคลมค่อนข้างมากจนขาดทุน ก็ต้องขายหุ้นในพอร์ต เอากำไรมาช่วยชดเชยขาดทุนจากฝั่งธุรกิจประกันเช่นกัน” ชัยกล่าวถึงการบริหารพอร์ตทำกำไรช่วยแก้ปัญหาธุรกิจขาดทุน


ขายหุ้นได้กำไรช่วงพีก


ในปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่กรุงเทพประกันภัยประสบปัญหาจากภาระจ่ายเคลมค่าสินไหม “ประกันภัยโควิด เจอ จ่าย จบ” จำนวนสูงถึง 8.7 พันล้านบาท แม้ตัวธุรกิจประกันภัยจะสามารถทำรายได้จากการขยายงานด้านเบี้ยประกันภัยรับรวม

    ได้เกินเป้าหมาย โดยเบี้ยประกันภัยรับรวม 2.67 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 8.8% ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถรองรับภาระขาดทุนก้อนใหญ่ได้ ผลจากการขายหุ้นบางส่วนในพอร์ตออกมาทำให้ BKI มีรายได้สุทธิจากการลงทุน 6.25 พันล้านบาท ทำให้บริษัทขาดทุนน้อยลง อยู่ที่ 638 ล้านบาท และยังสามารถจ่ายเงินปันผลประจำปี 2565 ให้แก่ผู้ถือหุ้น 15.50 บาทต่อหุ้น สูงกว่าปี 2564 ที่มีกำไร และจ่ายเงินปันผล 15 บาทต่อหุ้น

    “ปีที่แล้วเราเห็นสถานการณ์แล้วก็คิดว่าจะต้องขายหุ้นบางส่วนเพื่อเอากำไรมาช่วยผลกระทบจาก COVID-19 แล้วเราค่อยไปซื้อกลับคืนมาบ้าง ตอนนั้นก็เจอสถานการณ์ COVID-19 แล้วไม่ใช่ว่าตลาดหุ้นดีด้วย แต่ที่เราขายได้กำไรเป็นเพราะหุ้นที่เราซื้อเก็บมานาน 10 ปีที่แล้ว ระหว่างทางหุ้นก็มีราคาตกเหมือนกัน

    ถ้าดูช่วง 2-3 ปีที่แล้ว (ปี 2563) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไหลลงอยู่ระดับ 1,100-1,200 จุดเท่านั้น แต่ปีที่แล้วดัชนีฯ ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 1,600 จุด ฉะนั้นตอนที่เราขายก็ใกล้เคียงกับจุดพีก ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับ 4-5 ปีที่แล้ว ราคาก็ขึ้นมา 20-30%”

    สำหรับรายได้จากการขายเงินลงทุนกว่า 6.2 พันล้านบาท จะแยกเป็นเงินกำไรจากการขายหุ้นกว่า 5,100 ล้านบาท ซึ่งตัวหลักๆ ที่ขาย คือ หุ้น BH หรือ บมจ. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ นอกจากนี้ยังมีหุ้น BBL หรือธนาคารกรุงเทพ และหุ้น BLA หรือ บมจ. กรุงเทพประกันชีวิต ที่ขายออกมาได้กำไรตัวละ 500 ล้านบาท หุ้น TQM หรือ บมจ. ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น ส่วนที่เหลืออีก 1,000 กว่าล้านบาท มาจากเงินปันผลและดอกเบี้ยส่วนอื่นๆ

    ชัยเปิดพอร์ต BKI สิ้นปี 2565 มีมูลค่าพอร์ตรวม 4.97 หมื่นล้านบาท เทียบจากราคาทุนรวมทั้งหมดอยู่ที่ 2.48 หมื่นล้านบาท (ดูตารางประกอบ) ภายในพอร์ตแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ การลงทุนใน Fixed Income (ตราสารทางการเงินรวมเงินฝาก) มูลค่ารวม 1.51 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 30% ของพอร์ต ณ สิ้นปีที่แล้ว

ขณะที่ราคาทุน 1.53 หมื่นล้านบาท สัดส่วนสูง 61% ของพอร์ต ซึ่งหลักๆ จะเป็นเงินฝากประจำที่ธนาคาร เพิ่มขึ้นมาเกือบ 9 พันล้านบาท (ณ สิ้นปี 2565) และพันธบัตรและตั๋วเงินคลัง มูลค่า 4 พันล้านบาท ที่เหลือเป็นหุ้นกู้นอกตลาดหลักทรัพย์ และเงินให้กู้ยืมโดยมีหลักทรัพย์จำนอง เป็นต้น แม้ปีที่แล้วพันธบัตรและตั๋วเงินคลัง หุ้นกู้นอกตลาดหลักทรัพย์จะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ต้องบันทึกตามราคาตลาด จึงมีมูลค่าลดลง แต่ก็ไม่ได้เกิดผลขาดทุนเพราะยังไม่ได้ขายออก

    ส่วนการลงทุนในตราสารทุนมีมูลค่าตามราคาตลาด 3.46 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของพอร์ต ณ สิ้นปี 2565 ขณะที่ราคาทุน 9.52 พันล้านบาทเท่านั้น ถ้าพิจารณาในพอร์ตตราสารทุน ส่วนใหญ่จะลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทยมากสุด โดยมีราคาตลาดสูงถึง 29,756 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของพอร์ต ณ สิ้นปีที่แล้ว

    ขณะที่ราคาทุนอยู่ที่ 7.25 พันล้านบาท ซึ่งสะท้อนชัดว่าพอร์ตลงทุนหุ้นไทยของ BKI ตามราคาตลาดก็ยังมีกำไรซ่อนอยู่อีกกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท (ณ สิ้นปี 2565) และอีกส่วนที่ลงทุนได้ผลกำไรโดดเด่นคือหุ้นนอกตลาด ที่มีราคาเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 พันล้านบาท (คำนวณจากมูลค่าทางบัญชีของกิจการ) จากราคาทุน 780 ล้านบาท โดยโครงสร้างพอร์ตของ BKI มีน้ำหนักการลงทุนในตราสารทุนสัดส่วนทะลุ 60% ของพอร์ต ขณะที่ Fixed Income มีสัดส่วน 30% ของพอร์ต ซึ่งตรงข้ามกับภาพรวมของราคาทุนที่ Fixed Income มีน้ำหนักถึง 61% และตราสารทุนมีน้ำหนักเพียง 38% ของพอร์ตราคาทุน

    นอกจากนั้นชัยยังฉายภาพต่อว่า หลังจากที่ปีที่แล้วได้ขายหุ้นทำกำไร ก็ต้องกลับมาทยอยซื้อหุ้นคืน อย่างหุ้น TQM ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ BKI มาเป็นเวลานาน 10 กว่าปี โดยถือ TQM ตั้งแต่ IPO (ราคาจอง 23 บาท) ขายทำกำไรถัวเฉลี่ย 50 บาทต่อหุ้น แต่ตอนเริ่มทยอยซื้อคืนส่วนหนึ่งก็มีราคาเฉลี่ย 50 บาท

    ปรากฏว่าตอนนี้ราคาหุ้นในตลาดตกลงมาเหลือ 37-38 บาทต่อหุ้น ซึ่งการซื้อคืนถือว่าขาดทุนตามราคาตลาด ทำให้ขาดทุนกำไร ประกอบกับทุนเดิมไม่ได้แพงมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่าหุ้น TQM ค่าพี/อี (อัตราส่วนกำไรต่อราคาหุ้น) อยู่ระดับสูง แต่เนื่องจากความสัมพันธ์เป็นพันธมิตรทางธุรกิจจึงไม่ต้องการให้หุ้นมีสัดส่วนลดลง ตอนนี้ในพอร์ตจึงมีหุ้น TQM ที่ขาดทุนเพราะราคาหุ้นตก

    ขณะที่การซื้อหุ้นคืนอย่างธนาคารกรุงเทพที่ราคาหุ้นขึ้นไปเรื่อยๆ หลังจากที่ซื้อคืนกลับมาในราคา 130 บาทต่อหุ้น ขณะนี้ก็ขึ้นไป 150 บาทต่อหุ้น นอกจากนี้ก็ซื้อหุ้น BLA และ BH กลับคืนมาบ้างแล้ว

    “ปีนี้ BKI ได้เตรียมเงินลงทุนอีกราว 1 พันล้านบาท กลยุทธ์ลงทุนคือค่อยๆ เข้าไปซื้อหุ้นสะสม การเลือกหุ้นไทยก็ไม่ได้เน้นต้องเป็นหุ้นใหญ่ หรือ Big Cap 50-100 ตัวแรกของตลาด ส่วนใหญ่จะดูอนาคตของธุรกิจหุ้นที่จะลงทุน สิ่งที่เราคาดไว้คือถ้าเป็นบริษัทเล็ก ตามหลักความเสี่ยงจะสูงกว่า แต่เราก็หวังว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงด้วย

    ถ้าคุณซื้อหุ้น Big Cap อาจแน่นอนว่าความเสี่ยงต่ำกว่า แต่ก็หากำไรจากหุ้นยากเหมือนกัน ซึ่งตอนนี้เราก็มองหาหุ้น Big Cap เพราะมีความแน่นอนกว่าในกรณีที่ตลาดอยู่ในภาวะไม่แน่นอนหรือเศรษฐกิจกำลังตกต่ำอยู่ ขณะที่บริษัทขนาดกลางและเล็กจะถูกกระทบมากกว่า ปัจจุบันในพอร์ตมีถือหุ้นใหญ่ SET100 อย่าง BBL, BH ที่เหลือเป็นหุ้นทั่วๆ ไป”




เลือกหุ้นผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 5%


    สำหรับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตลอด 1 ปี ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของธนาคาร หลังจากที่เกิดปัญหาธนาคารท้องถิ่น SVB ล้มขึ้น และตามด้วยอีกหลายธนาคาร ขณะนี้คาดว่าน่าจะกระทบธนาคารอีกหลายแห่งที่จะมีกำไรลดลงมาก และเศรษฐกิจอเมริกาน่าจะเกิดภาวะถดถอยในปีนี้ ผลดำเนินงานของหุ้นในอเมริกาน่าจะลดลงจากปีที่แล้ว ฉะนั้นหุ้นอเมริกาน่าจะยังตก ซึ่งหากหุ้นตกมากก็จะกระทบกระเทือนมาถึงตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น

    “เราจะต้องทำการบ้านว่าหุ้นตัวไหนที่ไม่ควรจะตก ตลาดหุ้นตกเพราะสะท้อนเรื่องของอเมริกา บางทีนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย หุ้นเอเชีย เพื่อจะนำเงินกลับไปอุ้มหุ้นที่อเมริกา เพราะฉะนั้นต้องค่อยๆ ดูว่าหุ้นไหนที่ได้รับผลกระทบทั้งๆ ที่ไม่ควรจะตกเพราะไม่ได้เกี่ยวกับอเมริกาเลย ก็เป็นจังหวะของการลงทุน โดยเน้นเลือกหุ้นราคาถูก ธุรกิจไหนที่อนาคตจะดี และต้องพิจารณาบริษัทที่มีความสามารถในการบริหารธุรกิจได้ดีกว่าบริษัทอื่น หรืออยู่ในอันดับต้นของธุรกิจเดียวกัน เป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดี” ชัยกล่าวถึงโอกาสการลงทุน

    ส่วนหลักทรัพย์ที่สนใจ เช่น หุ้น AH หรือ บมจ. อาปิโก ไฮเทค ที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อีกตัวคือหุ้น STANLY หรือ บมจ. ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า ผลิตหลอดไฟรถ ทั้งสองตัวนี้
อยู่กับตลาดหุ้นมานาน 20 ปีแล้ว ธุรกิจยังทำได้ดีและมีการเติบโตดี แม้จะมีการใช้รถ EV แต่ก็ยังต้องใช้ชิ้นส่วนรถของทั้งสองบริษัท และผลตอบแทนจากเงินปันผลค่อนข้างดี แม้เป็นบริษัทเล็ก

    “เวลาเราซื้อจะเน้นดูหุ้นที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลระดับ 4-5% และดูประวัติผลดำเนินงานที่ผ่านมา 5-6 ปี หรือ 10 ปีย้อนหลังว่าเป็นอย่างไร หุ้นเล็กหุ้นน้อยมีจำนวนเยอะ ถ้าต้องเลือกลงทุนก็ต้องยอมรับความเสี่ยงในการซื้อหุ้น เช่น ถ้าเราซื้อ 5 หุ้น ก็ต้องคิดว่าควรจะมีสัก 3 หุ้นดี อีก 2 หุ้นไม่ดี อย่างน้อยก็ยังมีกำไรอยู่บ้าง ก็ถือว่าดีกว่าเรานั่งเฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย เพราะถ้าไม่ลงทุนก็ไม่มีกำไร หรือถ้าจะฝากธนาคารก็มีแต่ดอกเบี้ยที่ต่ำปีละ 1.5-2% เท่านั้น”

    นอกจากนั้นคือกลุ่มธนาคารไทยเกือบทุกตัว เพราะคาดว่าปีนี้กำไรจะเพิ่มขึ้นมากจากส่วนต่างดอกเบี้ยที่สูงตามภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น แม้มีเรื่องหนี้เสีย แต่ก็คิดว่าไม่น่ากระทบกำไรมากนัก ซึ่งจะเพิ่มสัดส่วนลงทุนได้อีก กลุ่มโรงพยาบาลที่มีการขยายไปพวกเนิร์สซิงโฮมบ้าง เวลเนสบ้าง ก็มีอนาคตเติบโตตามสังคมสูงวัย

    “ถ้าตลาดปั่นป่วนยิ่งมาก โอกาสทำกำไรก็ยิ่งสูงขึ้น แต่ถ้าทุกอย่างดูแจ่มใส ผมคิดว่าทุกคนคงจะเข้าไปแย่งซื้อ ก็จะมีความเสี่ยงสูง แต่ถ้าเป็นช่วงวิกฤต ซึ่งไม่มีใครกล้าซื้อ ผมก็คิดว่าเป็นช่วงที่น่าจะเข้าไปซื้อ ซึ่งผมมองว่าอีก 4-5 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มหุ้นน่าจะตก ตอนนี้เราก็ค่อยๆ สะสมซื้อเก็บไว้ก่อน ถ้าตอนโน้นอาจจะตกเนื่องจากเรื่องอเมริกาเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ควรที่จะเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มขึ้น ถือลงทุนระยะยาวอย่างน้อย 5 ปี ก็จะเห็นโอกาสกำไรเยอะ”

เรื่อง: วิไล อักขระสมชีพ ภาพ: บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)


อ่านเพิ่มเติม: กฤษชนก ปัทมสัตยาสนธิ ILM ปรับตัวฝ่าคลื่นอนาคต

คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับพิเศษเดือนมิถุนายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine